Skip to main content
sharethis

"การุณ โหสกุล" ส.ส.พปช. เดินตามกระโดดถีบ"สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์" ส.ส.ปชป. ในที่พัก ส.ส. อารารรัฐสภา คาดหมั่นไส้ท้ากลางสภาให้เข้าชื่อถอดหากเห็นว่าขึ้นเวทีพันธิมิตรขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านตั้งทนายฟ้อง สน.ดุสิตดำเนินคดี พร้อมจี้พรรคต้นสังกัดแสดงความรับผิดชอบ

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 2 เม.ย.ภายหลังจากที่ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ท้ากลางห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ให้สมาชิกเข้าชื่อถอดถอนหากเห็นว่า การขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งท้าดวลนอกสภา

 

ปรากฎว่า หลังจากที่อภิปรายเสร็จ นายสมเกียรติ ได้เดินออกจากห้องประชุมและมาพักที่ห้องรับรอง ส.ส.ชั้น 2 ตึกอาคารรัฐสภา 1 นายการุณ โหสกุล ส.ส.เขตดอนเมือง พรรคพลังประชาชน ได้เดินเข้ามากระโดดถีบนายสมเกียรติ แต่เฉียด โดนเพียงนิดหน่อย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอาคารรัฐสภารวมถึง ส.ส.พรรคพลังประชาชนบางส่วนจึงมาห้ามไว้ อย่างไรก็ตามนายการุณ ไม่พอใจ ด่านายสมเกียรติ ว่า ".....ไอ้เอี้ย แ ... งเอ้ย .....!!

 

ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายคน อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายเทพไท เสนพงษ์  ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ปานปลายและสร้างความโกลาหล หลังจากนั้นทั้งสองฝ่าย ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ตกลงกันไม่ได้ นายชัย ชิดชอบ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล จึงเข้ามาพานายการุณไปห้องประธานวิปรัฐบาล และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำรัฐสภา ยืนเฝ้าหน้าห้องอย่างเข้มงวด

 

นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า หลังจากอภิปรายเสร็จ ได้เข้ามานั่งรับประทานอาหารในห้องรับรอง ส.ส. พร้อมกับนายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาพรรคประชาธิปัตย์ ในระหว่างที่รับประทานอาหารอยู่ ปรากฏว่า นายการุณ ได้เดินตรงเข้ามา พร้อมกับถีบจนทำเซ จากนั้น นายการุณพยายามต่อยอีกหนึ่งหมัด แต่นายนิพนธ์ ดึงมือนายการุณไว้ ทำให้นายการุณไม่พอใจ  และได้ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายไม่สุภาพ กว่า 50 คำ

นายสมเกียรติ ระบุว่า อยากให้สังคมตัดสินพฤติกรรมของ ส.ส.พรรครัฐบาลครั้งนี้ว่าสมควรแล้วหรือที่จะทำอย่างนี้ เพราะ ส.ส.มีจริยธรรมและข้อบังคับกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่หวั่นไหวกับพฤติกรรมของ ส.ส.พรรครัฐบาลพรรคนี้ โดยยืนยันจะทำงานต่อไป เพื่อจุดยืนทางการเมือง และถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับ ส.ส.สมัยแรกที่ถูก ส.ส.ให้เกียรติถีบกลางสภาครั้งนี้  ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ มี ส.ส.ในห้องรับรองเป็นพยานได้ 40-50 ปาก

 

จากนั้นนายสมเกียรติได้เดินทางเข้ามารายงานเหตุการณ์ทั้งหมดให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่ห้องผู้นำฝ่ายค้าน และคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้านได้ประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว หลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่ก่อเหตุมีเจตนาคุกคาม ทำร้าย นายสมเกียรติ โดยที่นายสมเกียรติ ไม่ได้ตอบโต้ใด ๆ แต่นายการุณ กลับเดินเข้ามาจะทำร้ายนายสมเกียรติอีกครั้งหลังจากถูกแยกตัวออกไป ถือเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการเตรียมการกันไว้ โดยกลุ่มคนที่ไม่พอใจนายสมเกียรติ น่าจะมีส่วนรู้เห็นทำให้เกิดเหตุขึ้น

        

"ดังนั้นฝ่ายค้านจึงมีมติมอบหมายให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นทนายความ พานายสมเกียรติ เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายการุณ ข้อหาทำร้ายร่างกาย และหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ที่ สน.ดุสิต ในเย็นวันเดียวกันนี้ เพราะไม่ใช่การทะเลาะของคนเพียงสองคน แต่มีเจตนาคุกคามการปฏิบัติหน้าของส.ส. นอกจากนี้ฝ่ายค้านจะหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมสภาเพื่อให้ประธานสภาฯตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดข้อบังคับการประชุมเรื่องประมวลจริยธรรมส.ส.  จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก อีกทั้งขอเรียกร้องให้พรรคพลังประชาชนที่เป็นต้นสังกัดของนายการุณ แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น" นายสาทิตย์ กล่าว

 

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) กล่าวว่า จากการที่นายการุณ โหสกุล ส.ส.พรรคพลังประชาชน พยายามทำร้ายร่างกายนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในรัฐสภานั้น เป็นเรื่องน่าอดสูทางการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐสภาจะต้องทบทวนวินัยทางจริยธรรมของสมาชิกและกำหนดบทลงโทษทางวินัยที่หนักมากขึ้นเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานทางการเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงโดยการใช้กำลังเพราะความเห็นต่างกันทางการเมืองอีกต่อไป

 

และกล่าวอีกว่า การพยายามใช้ความรุนแรงในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากรัฐสภาของผู้ทรงเกียรติ และความเห็นต่างขัดแย้งกัน เพราะนายสมเกียรติไปร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น แสดงว่าสมาชิกพรรคการเมืองหลายคนยังไม่เข้าใจวิถีประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เพราะ ส.ส.ก็มีสิทธิในการชุมนุม ประท้วงบนท้องถนนร่วมกับประชาชนได้โดยสันติวิธี ในต่างประเทศที่สังคมพัฒนาเขาไม่เคยห้ามเรื่องนี้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมือง การเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นตัวกำกับทิศทางและการสนองนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้ว ทำไมไม่มีการไม่ต่อต้านคัดค้านการกระทำของนายประชา ประสพดี ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่พยายามป็นแกนนำจัดม็อบต้านกลุ่มพันธมิตรด้วย

 

"อยากให้นายการุณ ทบทวนทางจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ และอยากให้รัฐสภาจัดหลักสูตรอบรมสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีแก่สมาชิกนักการเมืองด้วย เพื่อเข้าใจประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน" นายเมธา

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ยืนยันว่า พลเมืองมีสิทธิเคลื่อนไหวประชาธิปไตยทางตรงและหรือทางอ้อมผ่านผู้แทน โดยยึดหลักสันติวิธีในสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมที่มีความเห็นต่าง พรรคการเมืองจะต้องกำกับบทบาทสมาชิกอย่าให้ใช้กำลังหรือความรุนแรงขยายสถานการณ์ให้บานปลาย เพราะนโยบายการห้ำหั่นกันด้วยกำลังจะนำปัญหาเช่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ขยายตัวมาถึงกรุงเทพฯ หรือความเกียดชังกันอาจลุกลามเป็นสงครามการเมืองคล้ายที่โซมาเลีย หรือรวันดา หรือเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในอดีต

 

เรียบเรียงจาก : คม ชัด ลึก และ แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net