Skip to main content
sharethis

 







ผู้กำกับรางวัลออสการ์เตรียมเสนอ "บันทึกประวัติศาสตร์" การทรมานนักโทษที่อาบูกราอิบ


 


 


ฉากหนึ่งในสารคดีเรื่อง S.O.P. ที่พูดถึงการทรมานนักโทษที่เรือนจำอาบูกราอิบ


 


S.O.P. หรือ Standard Operating Procedure คือ ภาพยนตร์สารคดีบอกเล่าเรื่องราวของ (อดีต) นักโทษจากเรือนจำ "อาบูกราอิบ" ที่แสนอื้อฉาว กำลังจะออกฉายกลางเดือนเมษายนนี้ ในฐานะผลงานล่าสุดของผู้กำกับชาวอเมริกัน "เออรอล มอริส" ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมไปครองในปี 2547 โดยสารคดี S.O.P.จะินำเสนอบทสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เพื่อบอกเล่าถึงกระบวนการทรมานนักโทษและสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองของผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคน


 


สารคดีเรื่อง S.O.P. จะออกฉายในสหรัฐอเมริการะหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ได้รับรางวัล Grand Jury จากเทศกาลภาพยนต์นานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นักวิจารณ์กล่าวว่า สารคดีเรื่องนี้ของผู้กำกับมอริสน่าจะสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการตั้งคำถามกับกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการ "ทรมานนักโทษ" และในขณะเดียวกันก็จะเป็นการทบทวนประวัติศาสตร์ของคดีอาบูกราอิบไปด้วย


 


เจ้าหน้าที่ในกองทัพสหรัฐฯ บางส่วนถูกลงโทษหลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทำทารุณต่อนักโทษจำนวนมากที่ถูกคุมขังในเรือนจำอาบูกราอิบ ประเทศอิรัก เมื่อปี 2547 ซึ่งสารคดีของผู้กำกับมอริสได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าวว่าเป็นเพียงการหา "แพะรับบาป" มาเป็นจำเลยของสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งที่จริงๆ แล้ว พวกเขาเป็นเพียงแค่คนรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชามาอีกต่อหนึ่ง


 


ผู้กำกับมอริสกล่าวว่าจะมีการสร้างเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ภาพการทรมานนักโทษในเรือนจำอาบูกราอิบ และใช้พื้นที่ดังกล่าวในการบันทึกความเป็นไปของประวัติศาสตร์ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลของภาพการทรมานนักโทษแต่ละภาพ เพื่อให้รายละเอียดว่า ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่ ใครเป็นคนถ่าย ใครเป็นคนถูกทรมาน และภาพเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่เคยนำไปใช้ในการพิจารณาคดี โดยมอริสได้กล่าวปิดท้ายว่า สารคดีและเว็บไซต์รวบรวมภาพเหล่านี้จะช่วย "เตือนความจำ" ให้รัฐบาลและประชาชนชาวอเมริกันได้ตระหนักและรำลึกถึงความโหดร้ายของตนด้วย


 


 







แฮคเกอร์เยอรมันเย้ยรัฐบาล โชว์ "ลายนิ้วมือ" รมต.มหาดไทย


ต้านนโยบายการเก็บข้อมูลชีวภาพ


 


 


Wolfgang Schaueble รัฐมนตรีมหาดไทยของเยอรมนี


 


เมื่อวันที่ 29 มีนาคม กลุ่ม Chaos Computer Club หรือ CCC ได้เผยแพร่ภาพลายนิ้วมือของ วูล์ฟกัง ชอว์เบิล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแห่งเยอรมนี โดยตีพิมพ์ลงในวารสารของกลุ่ม พร้อมกับระบุว่า การตามเก็บลายนิ้วมือของบุคคลไม่ใช่เรื่องยาก แม้ว่าคนๆ นั้นจะเป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็ตาม ซึ่งการเสนอข้อมูลดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านนโยบายการเก็บข้อมูลชีวภาพของประชาชน และนำข้อมูลดังกล่าวไปเก็บไว้ในไมโครชิปของพาสปอร์ตรุ่นใหม่ โดยรัฐบาลเยอรมันคาดหวังว่าการระบุข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคลลงไปในหลักฐานต่างๆ จะทำให้การปลอมแปลงเอกสารต่างๆ ลดน้อยลง


 


ทว่า "กลุ่มซีซีซี" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของแฮคเกอร์ทั่วประเทศเยอรมนีและประเทศอื่นในแถบยุโรปที่ใช้ภาษาเยอรมัน ต่อต้านนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยให้เหตุผลว่า การระบุข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ได้ผล เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถรวบรวมได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย และการไว้วางใจในเทคโนโลยีมากเกินไปจะทำให้มาตรการป้องกันและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ หละหลวมและมีช่องโหว่มากขึ้น


 



สัญลักษณ์ประจำกลุ่ม CCC หรือ Chaos Computer Club


 


ในวารสารดังกล่าวระบุว่า สมาชิกของกลุ่มซีซีซีตามไปเก็บลายนิ้วมือของ รมต.ชอว์เบิล ได้จาก "แก้วน้ำใบหนึ่ง" ภายในงานสังคมที่ รมต.เข้าร่วม พร้อมทั้งยืนยันว่า มีผู้คนจำนวนมากที่ต่อต้านนโยบายการเก็บข้อมูลชีวภาพคอยให้เบาะแสกับทางกลุ่มว่าบุคคลสำคัญต่างๆ จะเดินทางไปที่ไหน เพื่อที่พวกเขาจะได้ตามไปเก็บลายนิ้วมือมาแสดงให้เห็น


 


ล่าสุด ในวันที่ 31 มีนาคม ตัวแทนของกลุ่มซีซีซีได้ประกาศเตือน นายกรัฐมนตรีแองเกล่า เมอร์เคล ให้เตรียมรับมือกับการขโมยลายนิ้วมือมาเผยแพร่เป็นรายต่อไป หากรัฐบาลไม่ทบทวนนโยบายการเก็บข้อมูลชีวภาพเสียใหม่


 


 


 


 







กลุ่มต้านระเบิดประณามผู้สร้าง "หุ่นยนต์สงคราม" เกรงเทคโนโลยี "ฆ่าโดยไม่ต้องคิด"


 



หุ่นยนต์ควบคุมรุ่น Sword Robot ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ ใช้อยู่ในปัจจุบัน


 


เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิตยสารไวร์นำเสนอเรื่องพิมพ์เขียวของหุ่นยนต์รุ่น Black Knight ซึ่งเป็น "หุ่นยนต์รบอัตโนมัติ" สำหรับใช้ในพื้นที่สงคราม ทั้งยังมีรายงานอีกด้วยว่า กองทัพจาก 150 ประเทศ สนใจคุณสมบัติของหุ่นยนต์รุ่นดังกล่าว และมีแนวโน้มว่าจะจัดซื้อจัดหาไปใช้ เนื่องจากหุ่นยนต์รุ่นนี้ไม่ต้องอาศัยการบังคับควบคุมจากมนุษย์ ซึ่งคาดกันว่าหุ่นยนต์รุ่นนี้น่าจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตของทหารและเจ้าหน้าที่รัฐได้


 


แต่ทันทีที่มีกระแสหุ่นยนต์แบล็กไนท์เกิดขึ้น กลุ่ม Landmine Action ซึ่งรณรงค์่ด้านการเก็บกู้และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด ได้ออกมาคัดค้านโครงการทดลองดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า แม้จะเป็นเทคโนโลยีสมองกลที่สามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องรอการป้อนคำสั่งจากมนุษย์ แต่หุ่นยนต์ไม่มีทางแยกแยะเหตุผลโดยใช้หลักทางมนุษยธรรมได้ และจะยิ่งเป็นอันตรายในพื้นที่สงคราม เพราะหุ่นยนต์รบย่อมสังหารพลเรือนได้อย่างไม่ลังเลใจ เพราะไม่อาจแยะแยะได้ว่าใครเป็นศัตรูหรือใครเป็นผู้บริสุทธิ์


 


ทางด้านกลุ่มนักวิจัยในโครงการทดลองหุ่นยนต์รบอัตโนมัติโต้แย้งว่า การใช้หุ่นยนต์ในพื้นที่สงครามจะยิ่งทำให้การสู้รบดำเนินไปอย่าง "มีมนุษยธรรม" มากขึ้น เพราะหุ่นยนต์ไม่มีความกลัว ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีอคติ ไม่มีอารมณ์โกรธแค้นหรือเกลียดชัง หากทำให้พื้นที่สงครามปราศจากพลเรือนได้ ก็จะช่วยให้ผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตในสงครามลดน้อยลง


 


อย่างไรก็ตาม โครงการทดลองหุ่นยนต์รบอัตโนมัติ ได้รับความสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มว่าอาจจะถูกนำไปใช้ในสงครามต้านการก่อการร้ายต่อไปในอนาคตด้วย


 


 


 







ชะตากรรมมุสลิมกลุ่มน้อย "อุ้ยเก๋อ" ชี้ชัด ปัญหาเชื้อชาติในจีนไม่ได้มีแค่ "ทิเบต"


 


 


ชาวอุ้ยเก๋อส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากตุรกี มีความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากชาวฮั่น


 


สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานสภาพความเป็นอยู่ของชาว "อุ้ยเก๋อ" มุสลิมกลุ่มน้อยในประเทศจีน ซึ่งอาศัยอยู่ใน มณฑลซินเจียง โดยอัลจาซีราอ้างถึงจำนวนผู้ว่างงานชาวอุ้ยเก๋อที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปลายยุค 1990"s เป็นต้นมา และระบุว่า ชาวอุ้ยเก๋อกำลังถูกรุกรานทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างหนัก ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ชาวทิเบตกำลังเผชิญ แต่ในขณะที่ทิเบตกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ชาวอุ้ยเก๋อกลับถูกหลงลืม


 


จากการสัมภาษณ์ชาวอุ้ยเ๋ก๋อในซินเจียง มีผู้กล่าวว่า รัฐบาลจีนเปิดโอกาสให้ชาวฮั่นเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่ทางภาคตะวันตก และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริม "การพัฒนา" ในซินเจียง ปัจจุบัน จำนวนประชากรเชื้อสายฮั่นในมณฑลซินเจียงเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 48 จากเดิมที่เคยมีเพียงร้อยละ 12 และเป็นกลุ่มคนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่าชาวอุ้ยเก๋อซึ่งถูกกีดกันออกจากระบบเศรษฐกิจและการพัฒนา เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าชาวอุ้ยเก๋อไม่รู้ภาษาจีน และมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากชาวจีนมากเกินไป จึงไม่รับชาวอุ้ยเก๋อเข้าทำงาน


 


ขณะเดียวกัน การพัฒนาดังกล่าวสร้างได้ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของชาวอุ้ยเก๋อด้วย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกเวนคืนไปก่อสร้างอาคารและศูนย์การค้า จนแทบจะไม่เหลือพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือศาสนสถาน เด็กรุ่นใหม่ของอุ้ยเก๋อจึงไม่มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมของตนเอง


 


ทางอัลจาซีราได้รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในอดีต รัฐบาลจีนใช้วิธีรุนแรงปราบปรามชาวอุ้ยเก๋อที่ร่วมตัวต่อต้านการรุกรานทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และมีหลักฐานอ้างอิงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า ชาวอุ้ยเก๋อจำนวนมากหายสาบสูญไปหลังจากถูกรัฐบาลจีนจับกุมตัว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net