Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 29 มี.ค.51 เวลา 7.30 น. รายการมองคนละมุม โดย โครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ออกอากาศทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ความถี่ FM 100 MHz นายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้สัมภาษณ์ในประเด็นของทิศทางการพัฒนาเชียงใหม่ในอนาคต และคาดหวังว่าการพัฒนาจะมาจากการมีส่วนร่วมจากส่วนล่างของสังคมไปสู่ส่วนบน

 


 


0000


 


 


เรื่องการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ มีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง ?


มีการรวมตัวและมีพัฒนาการจัดการของชุมชนโดยชุมชนเป็นหลัก มีองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่คอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการทำงานขององค์กรชาวบ้าน เป็นเวลาร่วม 30 กว่าปี รวมๆ แล้วมีกว่า 400 องค์กรชุมชน ที่เกิดขึ้นบนฐานการพัฒนาที่เน้นชาวบ้านเป็นหลัก


 


เมื่อวันที่ 27 มีนา ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งได้พูดถึงว่า ทิศทางการพัฒนาของภาครัฐเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อดูวิสัยทัศน์ของจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังพูดถึงการเป็นนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่งเหมือนกับเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการมองคนละมุมกับองค์กรภาคประชาสังคม ที่อยากจะเห็นเรื่องของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ที่เอาเรื่องความสุขเป็นที่ตั้ง หากจะเป็นความมั่งคั่งก็ควรจะเป็นความมั่งคั่งด้านความสุข ไม่ใช่การเอาความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจมาเป็นตัวตั้ง


 


จากการแลกเปลี่ยนความรู้ขององค์กรภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ สิ่งแรกก็คือเราเสนอให้เอาความสุขเป็นที่ตั้งและเอาคนเชียงใหม่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาราชการหรือบุคคลภายนอกหรือผลประโยชน์ของหน่วยงานมาเป็นที่ตั้ง


 


 


แนวความคิดนี้สอดคล้องกับแผนงานของจังหวัดที่กำหนดไว้แล้วอย่างไร ?


ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดี คือภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้ความสำคัญของเรื่องสิทธิ การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิของชุมชนท้องถิ่น เราเห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มสิทธิให้กับประชาชน และขณะนี้ได้มีกฎหมายลูกตามมาอย่างเช่น พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ที่จะต้องมีกองทุนที่สนับสนุนการพัฒนาด้านการเมืองของภาคพลเมือง และจะทำให้มีสภาตั้งแต่ในระดับชาติลงมา จังหวัดก็จะมีสภาพัฒนาการเมืองในระดับจังหวัด


 


 


รูปแบบของสภาจังหวัดมีความเหมือน-แตกต่างกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอย่างไร ?


ไม่เหมือนครับ เพราะจะเป็นสภาที่ให้พื้นที่กับตัวแทนประชาชนจากทุกภาคส่วน


 


อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าภาคประชาชนจะใช้เป็นโอกาสเพื่อก่อให้เกิดการประสานและรวมพลังของเครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายภาคประชาชน ขณะนี้มีกฎหมายที่ประเทศใช้แล้วก็คือ พ.ร.บ.สภาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งก็จะเป็นสภาที่ให้ตัวแทนของชาวบ้านจริงๆ มาร่วมพูดคุยและให้เรียนรู้ร่วมกัน มีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอให้กับท้องถิ่นกับในส่วนของราชการ


 


ภาคประชาชนเราก็ได้คิดว่าทิศทางและยุทธศาสตร์ภาคประชาชนของจังหวัดเชียงใหม่ เราจะมีอยู่ 2 - 3 เรื่องที่ได้มีการพูดคุยเมื่อวันที่ 27 มีนา เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกัน เนื่องจากประสบการณ์ที่เราทำงานมานั้นมีผู้นำชาวบ้านและภาคประชาสังคมร่วมกันมากมาย คิดว่าจะจัดทำเป็นคณะหรือกลไกที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรชาวบ้านด้วยกันเองกับภาคประชาสังคม ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้กับภาคประชาชนกับส่วนราชการและภาคธุรกิจ


 


จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดคนก่อน (นายวิชัย ศรีขวัญ) ท่านได้ให้ความสำคัญและให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงสร้างการบริหารงานราชการในจังหวัดเชียงใหม่ก็ยึดหลักว่าจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในโครงสร้างของการบริหารจังหวัด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะติดตามนโยบายและความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ องจังหวัด และนำข้อมูลมาช่วยกระจายผ่านเครือข่ายให้ลงสู่ภาคประชาชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดคนเก่าได้วางกลไกไว้แล้วเรียบร้อย แต่ว่าที่ผ่านมาตัวแทนภาคประชาชนอาจจะยังไม่มีบทบาทที่จะทำในเชิงรุก ยังอยู่ในภาวะเชิงรับที่ภาครัฐคอยกำหนดว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร


 


ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือคนทำงานต่างๆ ทำงานแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายมาก ประมาณ 10 กว่าประเด็นที่กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ เช่น เรื่องการจัดการป่า การทำการเกษตรยั่งยืนที่ไม่ใช่สารเคมี โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เรื่องเอดส์ การศึกษา และอีกหลายๆ เรื่องที่คิดว่าเป็นพื้นที่ที่จะใช้ขยายผลของการพัฒนาแนวร่วมของภาคประชาชน โดยมีความคิดที่จะทำการเชื่อมโยงกับทางสถาบันราชการ หรือองค์กรในมหาวิทยาลัยมาประสานงานร่วมกันที่จะทำหน้าที่ประมวลรวบรวมความรู้เหล่านี้ และนำมาขยายผลให้มากขึ้น


 


 


โอกาสของการร่วมมือทางด้านความคิดเชิงนโยบาย ในเรื่องของการกำหนดยุทธศาสตร์ของภาคราชการกับภาคประชาชนเป็นอย่างไร ?


อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 87 กำหนดไว้ว่า เรื่องที่จะวางแผนการพัฒนา เช่น แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาท้องถิ่นในระดับเทศบาล อบต. กำหนดไว้ว่าจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมวางแผนงานพัฒนาในทุกระดับ โดยขณะนี้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน กำหนดไว้เลยว่า แผนพัฒนา 4 ปี ในระดับจังหวัดหรือแผนยุทธศาสตร์นั้นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า จังหวัดจะต้องเป็นหน่วยทำงานของบประมาณเพื่อนเสนอไปยังรัฐบาล รัฐบาลส่วนกลางจะต้องกระจายอำนาจลงมาที่จังหวัด แต่แผนงบประมาณหรือยุทธศาสตร์ของจังหวัดจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้


 


 


การให้แต่ละจังหวัดนำเสนอแผนนโยบายและงบประมาณ มีผลดีอย่างไร ?


ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า โครงการหรือแผนพัฒนาจังหวัดนั้น นอกจากจะมาจากส่วนราชการและส่วนต่างๆ แล้ว จะต้องมีโครงการที่มาจากส่วนของชุมชนด้วย ผลดีคือ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ชุมชนหรือประชาชนนอกจากจะใช้งบประมาณจากท้องถิ่นแล้ว ชุมชนก็ยังสามารถเข้าถึงการใช้งบประมาณของภาครัฐจากหน่วยงานของจังหวัดอีกด้วย


 


 


พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินที่ทางจังหวัดสามารถทำแผนงบประมาณได้โดยตรงนั้น จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ?


ตอนนี้สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ผ่านมาถูกร่วมโดยส่วนราชการเป็นหลัก และจากประสบการณ์เวลาการมองถึงการมีส่วนร่วมภาคประชาชนนั้น ส่วนใหญ่เป็นแค่ช่วยออกความคิดเห็น แต่กระบวนการตัดสินใจยังมีอยู่น้อย โดยจะไปอยู่ในส่วนของทางราชการมากกว่า และอีกปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมที่จะใช้งบประมาณจากทางราชการระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการพัฒนามาถึงขั้นนี้ นอกเหนือจากการแค่มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็น


 


ทั้งนี้ ภาคประชาชนก็ควรศึกษาถึงระเบียบการใช้งบประมาณด้วย เพราะที่ผ่านมาทางราชการได้อ้างถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องของการเบิกงบประมาณมาใช้ในชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่บางส่วนก็เข้าใจและอยากให้งบประมาณลงสู่ชุมชน แต่ก็ติดปัญหาตรงที่ระเบียบและการจัดการงบประมาณ ที่ยังไม่สามารถจะจัดการได้ในรูปแบบของการให้เงินกองทุนของชุมชนโดยตรง โดยไม่ต้องขึ้นตรงกับภาคราชการ


 


เราคิดว่าจะใช้โอกาสในช่วงนี้ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนพัฒนา 4 ปี ซึ่งทางราชการได้ยกร่างไว้แล้ว โดยส่วนใหญ่จะรับฟังความคิดเห็นจากการมีส่วนร่วม แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำลังอยู่ในขั้นการประกาศพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศออกมาแล้ว ภาคราชการจะต้องเปิดให้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของภาคประชาชน ซึ่งได้มีการพูดคุยว่า เราจะประสานงานกับทางจังหวัดโดยจะขอข้อมูลและวางแผนพัฒนา 4 ปี ของจังหวัดว่าเป็นอย่างไร และระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ว่านั้นจะได้มีการวิเคราะห์ให้ชัดเจนอีกครั้ง และหลังจากนั้นก็จะประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชนที่มีแผนงานอยู่แล้วนั้น อาจจัดเวทีที่จะดูแผนและโครงสร้างขององค์กรภาคประชาชนหรือชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ว่ามองการพัฒนาเป็นอย่างไร และนำแนวทางภาคประชาชนนี้เสนอสู่จังหวัด


 


อยากจะฝากถึงประชาชนที่อยู่นอกเขตจังหวัดเชียงใหม่ แต่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ว่าอย่างไรบ้าง ?


เราควรมาร่วมกันคิดจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนา โดยมีความสุขเป็นเป้าหมาย และนำความสุขเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา และคิดว่าเรามีบทเรียนจากหลายชุมชนที่มีการพัฒนาแบบตามกระแสหลัก โดยเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ซึ่งเราควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงนี้ เพื่อให้เกิดการปรับตัว โดยเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เพื่อก่อให้เกิดความสุขจากการมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ โดยมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อบ้านที่ดี


 


นอกจากนี้เรามีศูนย์ประสานงาน ซึ่งเป็นขององค์กรภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดประสานงานเบื้องต้น ซึ่งสามารถติดต่อผ่านทาง โทรศัพท์ 053 - 810623 - 4


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net