เปิดตัวหนังสือ "สาละวิน : บันทึกแม่น้ำและการเปลี่ยนแปลง"

 

 

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.51 มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดงานเปิดตัวหนังสือ "สาละวิน : บันทึกแม่น้ำและชีวิตในกระแสการเปลี่ยนแปลง" ณ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นมิติใหม่ของขบวนการอนุรักษ์ เพราะในอดีตนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต้านการทำลายนิเวศน์มักเขียนเฉพาะเรื่อง สัตว์ พืช ภูมิภาคและระบบนิเวศน์ แต่หนังสือนี้มีมิติที่รวมไปถึงประวัติศาสตร์พื้นที่ระหว่างคน ธรรมชาติ มานุษยวิยาชนกลุ่มน้อย และการเมืองในพื้นที่ที่หมายถึงรัฐบาลพม่าใช้กำลังกดขี่ขับไล่ประชาชนอย่างเป็นระบบซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำเขื่อนสาละวิน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นบูรณการของนักอนุรักษ์ ไม่เคยมีหนังสือประเภทนี้มาก่อนจึงสำคัญมาก เป็นสัญลักษณ์ของผลงานเชิงวิชาการและการอนุรักษ์ที่มีคุณค่าที่สุด

 

นายไกรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในเวลาเพียง 5 ปี จีนสร้างเขื่อนถึง 500 เขื่อน มี 4-5 เขื่อนสร้างบนต้นน้ำลำธารแม่น้ำโขง ในวิธีคิดเดียวกัน ประเทศพม่าที่ได้อิทธิพลจากจีนค่อนข้างมากและรัฐบาลมักขายสิ่งที่ไม่ต้องบริหารแก่ประเทศอื่นแบบเหมาไปได้แก่ ทรัพยากร เช่น การเหมาขายไม้ให้จีน หรือให้ลงทุนเรื่องก๊าซธรรมชาติ ไทยเองรับซื้อ 16,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ใช้จริงเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

ในด้านการสร้างเขื่อนเพื่อขายไฟฟ้าให้ไทย พม่ายังนำตัวอย่างจากลาว คือ เขื่อนน้ำเทิน 1 และ 2 โครงการสร้างเขื่อนจึงเกิดทั่วพม่าเพื่อขายไฟฟ้าให้ไทยและจีน

 

"แต่ที่เป็นห่วงมากที่สุดและเป็นเพชรของภูมิภาคนี้คือ แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำสายเดียวในโลกที่ยังไม่มีเขื่อน และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อาจจะตั้งแต่หลายหมื่นปีมาแล้ว " นายไกรศักดิ์ กล่าว

 

นายไกรศักดิ์ อธิบายสภาพทั่วไปของสาละวินว่า เป็นแม่น้ำที่ชาวกระเหรี่ยงที่ใช้ขนส่งสินค้าไทย - พม่า และเป็นเขตสู้รบปลดแอกของกระเหรี่ยง KNU มาตั้งแต่ ค.ศ. 1960 เป็นพื้นที่สู้รบที่ยังไม่มั่นคงและเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เขื่อนหนึ่งสร้างสูงถึง 228 เมตรซึ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในขณะเดียวกันหน่วยทหารในพื้นที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพราะจะสร้างความขัดแย้งสูงและทำให้ความปลอดภัยหายไป

 

อีกประเด็นหนึ่งที่นายไกรศักดิ์ชี้ให้เห็นคือ การสร้างเขื่อนสาละวินทำให้เกิดปัญหาการเสียดินแดน เพราะมีอนุสัญญาเกี่ยวกับชายแดนระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษที่ใช้แม่น้ำสาละวินเป็นแนว เส้นดินแดนคือริมตลิ่งที่ติดกับไทย  หากน้ำเอ่อล้นจะทำให้ชายแดนพม่าขยายตัวเข้ามา  พื้นที่ทำมาหากินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีที่ราบเป็นที่ทำกินน้อยอยู่แล้ว จะหายไป 10 -15 % 

 

นายภากร กังวารพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงที่มาของหนังสือว่า มาจากการตื่นตัวเรื่องข้อมูลของชาวบ้าน หลังจาก  กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา ชุดที่มีนายไกรศักดิ์เป็นประธาน ลงพื้นที่บริเวณเขื่อนท่าตาฝั่ง คนในตำบลจึงพูดคุยกันด้วยความอยากรู้ข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบ พลังงาน สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ จึงจัดเวทีและเชิญนักวิชาการกับปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้ ส่วนการจัดเวทีครั้งที่ 2 เชิญตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มานำเสนอโครงการเขื่อน แต่เมื่อมีคำถามกลับได้รับคำตอบว่า "อยู่ในขั้นตอนการศึกษา"

 

จากการหาข้อมูลทำให้เกิดโครงการสาละวินศึกษาโดยองค์กรชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน และทำจนออกมาเป็นหนังสือ ปัจจุบันในพื้นที่มีการศึกษาทางโบราณคดีลุ่มน้ำสาละวินต่อเนื่องโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจะตั้งเป็นศูนย์การศึกษาที่หมู่บ้านแม่ตาฝั่ง

 

"หวังอย่างยิ่งให้หนังสือเล่มนี้ผลักดันสู่การเรียนท้องถิ่น ปกติเด็กได้เรียนแต่เรื่องแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน แต่ไม่รู้จักสาละวิน คนแม่สะเรียงเองยังไม่รู้เลยว่าแม่น้ำสาละวินอยู่ตรงไหน"

 

นายภากรบอกถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า  เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา กฟผ. ขอเข้าชี้แจงในพื้นที่เพื่อนำเสนอการสร้างเขื่อนฮัตจีบนแม่น้ำสาละวินซึ่งจะห่างจากหมู่บ้านสบเมย 48 กิโลเมตรไปในเขตพม่า ตัวแทน กฟผ.ระบุว่าจะไม่มีผลกระทบเลยในเขตไทย เขื่อนนี้รัฐบาลไทยร่วมทุนกับบริษัทจีน และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเสร็จปลายเดือนมีนาคมนี้ และจะเริ่มสร้างเขื่อนฮัตจี ในปี 2551

 

ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักวิชาการคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หลังจากทำวิจัยที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพบแหล่งโบราณคดีกว่า 200 แหล่ง จึงไปสำรวจที่บริเวณบ้านท่าตาฝั่งซึ่งมีความพิเศษคือ อยู่ใกล้แม่น้ำสาละวินและเป็นลำห้วยสบ บริเวณลักษณะดังกล่าวสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีแหล่งโบราณคดี

 

จากการสำรวจพบเศษกระเบื้อง เครื่องมือหิน และกล้องยาสูบดินเผามากมาย มันมีความหมายที่บอกภูมิหลังพื้นที่ว่าก่อนหน้าชุมชนกระเหรี่ยงที่มาตั้งถิ่นฐานเมื่อ 60 ปีก่อน มีการตั้งถิ่นฐานก่อนนานแล้ว และหมู่บ้านต่างๆ มักเลือกตั้งถิ่นฐานซ้ำพื้นที่คนโบราณ จากการข้ามไปสำรวจอีกฝั่งก็พบการกระจายตัวของโบราณวัตถุเช่นกัน

 

"คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมในเรื่องแหล่งโบราณคดีทดแทนได้ยากมาก ในขณะที่คนในพื้นที่เวลานั้นไม่รู้เลยว่ามีสิ่งสำคัญอยู่" รศ.รัศมี กล่าว

 

จากนั้นระบุว่าจากการวิคราะห์ ชุมชนน่าจะมีอายุราว 500 ปี มาแล้ว โดยตั้งชุมชนขนานไปตามริมแม่น้ำ มีความเจริญอยู่ในสมัยล้านนา โบราณวัตถุที่พบคือเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย ซึ่งตรงกับสมัยล้านนาหรืออยุธยาตอนปลาย โบราณวัตถุแบบนี้ส่วนมากจะเจอตามศาสนสถานและตามราชวังโบราณ นอกจากนี้ยังพบภาชนะ ดินเผารูปแบบแหล่งเตาเวียงกาหลง กล้องยาสูบดินเผาคล้ายกับที่พบมากในประเทศลาว สันนิษฐานว่าพื้นที่นี้ไม่น่ามีความสำคัญเพียงท้องถิ่น เส้นทางสาละวินน่าจะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ แต่ยังไม่มีการสำรวจ

 

ผศ.ดร.รัศมี ระบุว่าในการสร้างเขื่อนจะต้องพูดถึงการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น การสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เคยรายงานการพบแหล่งโบราณคดีโนนนกทา แต่การสร้างเขื่อนสาละวิน ยังไม่มีการรายงานการค้นพบทางโบราณคดี และการสำรวจก่อนหน้านี้มีเพียงครั้งเดียวโดยนักโบราณคดีชาวเยอรมัน

 

"ทีมฝั่งเศสเข้าป่าสาละวินเคยพบโลงไม้ อายุ 2000 กว่าปี โดยที่มาอาจจะสัมพันธ์กับจีนในยุคโลหะที่เทียบเท่าแหล่งโบราณดีบ้านเชียง ที่ตำบลย่านปากเป้าพบเครื่องมือหินกระเทาะที่ยังกำหนดอายุไม่ได้ เพราะยังไม่มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ แต่จากรูปแบบเป็นแบบอายุราว 10,000 ปีมาแล้ว การติดต่อสัมพันธ์กันในอดีตอาจจะไม่เฉพาะภูมิภาค การเจอของหลากหลายน่าจะเป็นชุมทางที่ติดต่อกันภายในด้วย สิ่งที่อยากจะบอกคือ ที่นี่เปิดพรมแดนความรู้ อย่างน้อย 500 ปีก่อนถึงปัจจุบัน และถ้าจะสร้างเขื่อนต้องทำการสำรวจทางโบราณคดีอย่างเข้มข้น เวิ้งน้ำที่พบโบราณวัตถุเป็นตำแหน่งค่อนข้างพิเศษ "

 

ผศ.ดร.รัศมี กล่าวว่า ปัจจุบันพบแหล่งโบราณคดีกว่า 10 แหล่ง หากค้นพบอย่างหลากหลาย มีอายุ มีความสำคัญ อาจจะเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญระดับภูมิภาคหรือระดับโลก แหล่งโบราณคดีในถ้ำหลายแหล่งของแม่ฮ่องสอน พบว่าน่าจะมีหมีแพนด้าด้วย

 

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า ขณะนี้ 2 เขื่อนใหญ่ในพม่า คือ เขื่อนท่าซางและเขื่อนฮัตจี ถูกระบุไว้ในแผนพีดีพี ปี 2007 ขณะที่ไม่มีการพูดถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องตระหนักอันดับแรกคือการขาดการมีส่วนร่วมและโปร่งใส ที่ผ่านมาไม่เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ โดย กฟผ.อ้างว่าเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ถ้าคู่สัญญาไม่อนุญาตก็ไม่สามารถเปิดเผยได้

 

ประการที่สอง เงินจากการลงทุนสร้างเขื่อน ค้าไม้ ขายไฟฟ้า จะทำให้รัฐบาลพม่ากดขี่ชนกลุ่มน้อยได้มากขึ้น เขื่อนสาละวินพูดได้ว่าเป็นเขื่อนที่อยู่ในสนามรบ คือ ฉาน คะเรนี และรัฐกะเหรี่ยง ปัจจุบันรัฐบาลพม่าตรึงกำลัง ไว้ 273 กองพัน นอกจากนี้ ปี 2550 ภาคตะวันออกของพม่า มีผู้พลัดถิ่นภายใน 73,000 คน ในขณะที่บางส่วนออกมาอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทยพม่า 10 กว่าแห่ง ส่วนนี้มีนับล้านคน

 

ประการที่สาม การสู้รบทำให้มาตรฐานด้านสุขภาพของผู้คนแย่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีไข้มาลาเรียเป็นสาเหตุหลัก ในขณะที่จังหวัดชายแดนไทยที่ติดกับพม่าก็เป็นไข้มาลาเรียสูง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเพื่อนบ้านมีปัญหาด้านสุขภาพไทยจะต้องได้รับผลกระทบด้วย  และสุดท้าย ไทยไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินเลย สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่าง พารากอน มาบุญครอง เซ็นทรัลเวิร์ล ใช้ไฟฟ้าสูงมากเท่ากับการใช้ไฟใน 16 จังหวัดขนาดเล็ก จึงหมายถึงตามครัวเรือนไม่มีความจำเป็นต้องไฟฟ้าสูง

 

นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิทยาลัยนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในปี 2522 เริ่มมีแนวคิดผันน้ำสาละวินและโขงเข้ามาเจ้าพระยา อีก 12 ปี ต่อมาคือปี 2534  คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ผันน้ำสาละวินลงเจ้าพระยา และให้สร้างเขื่อนสาละวิน ในปี 2549 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกรัฐบาลมีมติเช่นเดียวกัน

 

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ อนุสัญญาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จะทำให้เกิดชายแดนเปลี่ยนหากสร้างเขื่อนสาละวิน หากสรุปใหม่คือการสร้างปัญหาการเสียดินแดน ลองนึกกรณีเขาพระวิหารที่เขมรขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทหารระบุว่าจะทำให้เสียดินแดนอีก 1,500 ไร่ แต่หากสร้างเขื่อน น้ำจะท่วมเท่ากับเสียดินแดน 50,000 ไร่

 

นายธำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า เขตเทือกถนนธงชัย ตะนาวศรี ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนลงมาถึงระนองเป็นรัฐกันชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นปราการธรรมชาติที่ทำให้รัฐลุ่มแม่น้ำอิระวดีกับรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาห่างออกจากกัน ถ้าทำลายป่าก็คือการทำลายการดำรงอยู่อย่างสันติของทั้งสองฝั่งลุ่มแม่น้ำ

 

นอกจากนี้ นายธำรงศักดิ์ ระบุบว่า สิ่งที่ต้องทำคือต้องทำให้เกิดความเข้าใจว่า การเมืองคือการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าของสังคม ดังนั้นทุกคนจึงเล่นการเมือง อบต.ขุนยวมซึ่งอยู่ในโครงสร้างประชาธิปไตยก็อยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องไปร่วมจัดสรรในโครงสร้างนี้

 

อย่างไรก็ตาม นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไปเยือนลาวกลับมาพูดว่า ลาวไม่มีเอ็นจีโอ ก่อนไปลาวก็พูดถึงการผันแม่น้ำโขงมาเติมอีสาน แนวคิดนี้กลับมาอีกครั้งหลังจาก พ.ศ. 2522  นายสมัครเกลียดคอมมิวนิสต์แต่โดยตรรกะคำพูดนายสมัครชอบวิธีการแบบคอมมิวนิสต์ใช่หรือไม่ เมื่อนายสมัครไปพม่าก็ชอบการปกครองแบบพม่า คือ เผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ และคนแบบนายสมัครมีเยอะในการปกครอง ถ้าดูข้อมูล พล.อ.ชาติชาย และพ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นคนแบบนายสมัครทั้งสิ้น

 

ในขณะที่ความยุ่งยากบนแม่น้ำสาละวินในปัจจุบันมาจากการที่ยุคนี้เป็นยุคของการแย่งน้ำและไฟฟ้า แม่น้ำทุกสายจึงถูกแย่งกันหมด ทั้งจีนมีความโหยน้ำและไฟฟ้าและคิดโครงการดูดน้ำไปเติมฮวงโห เบื้องหลังการดูดน้ำเกี่ยวข้องกับความหนาแน่นของจีนด้านตะวันออก เช่น เซี่ยงไฮ้ ที่ถูกนำเสนอให้เป็นตัวแทนความอลังการและแสดงพลังมหาอำนาจของจีนยุคใหม่ที่ไม่มีหลักขงจื๊อแล้ว จีนระบุชัดเจนว่ามีทรัพยากรน้ำและไฟฟ้ามาป้อนเมืองฝั่งตะวันออกจากแม่น้ำลานชาง (โขง) หรือนู่เจียง (สาละวิน) จีนมองว่าเป็นทรัพยากรของจีน ขณะดียวกันไทยเองก็มีความโหยน้ำและไฟฟ้าแบบเดียวกับจีน ต้องการนำมาเติมให้กรุงเทพฯ และภาคกลาง ส่วนภาคอีสานมักถูกยกเป็นข้ออ้างในการจัดการ 

 

ดังนั้น หากมองจากมุมผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน ประเด็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้จะต้องคิดไปถึงระดับสากล ต้องโหนกระแสการไม่มีประชาธิปไตย การปราบปรามและฆ่าพระในประเทศพม่า ต้องระบุว่าการสร้างเขื่อนคือการหนุนรัฐบาลทหารพม่า ซึ่ง อบต.ขุนยวมจะต้องพูดเรื่องนี้ คือพูดเรื่องที่เป็นสากลในระดับนานาชาติ

 

นอกจากนี้ ในสายตาของชาวเมืองคือ ชาวบ้านตายได้ ดังนั้นต้องเอาชาวเมืองไปเป็นส่วนหนึ่งของการพิทักษ์สาละวิน ต้องขยายสาละวินในประเด็นที่เข้ากับคนเมืองได้ง่าย เช่น การนำการท่องเที่ยวไปสัมพันธ์โดยทำให้คนนิยมไพรได้ไปสัมผัสสบเมย เป็นต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท