รัฐบาลสมัครกับประชานิยมแบบทักษิณ ประชาชนจะเหลืออะไร

อานุภาพ นุ่นสง

การแถลงนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาลระหว่างวันที่ 18-20 ..ที่ผ่านมา หลายคนคงมีความชัดเจนแล้วว่าทิศทางการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช จะเป็นไปในแนวทางใด ขณะเดียวกันคงปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายหลักหลายนโยบายล้วนเป็นแนวนโยบายเก่าของรัฐบาล พ...ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขยายและเพิ่มศักยภาพระบบชลประทาน การเร่งรัดแก้ปัญหายาเสพติดและปราบปรามผู้มีอิทธิพลโดยเด็ดขาด ที่สำคัญแนวนโยบายหลักอีกประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้และนับเป็นการต่อยอดนโยบายจากสมัยรัฐบาล พ...ทักษิณ นั่นคือนโยบาย"ประชานิยม" อาทิ การเพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้าน โครงการเอสเอ็มแอล โครงการโอทอป โครงการพักชำระหนี้ ฯลฯ

สำหรับนโยบายประชานิยมนั้น ที่ผ่านมาทั้งนักวิชาการและภาคประชาชนจากหลายส่วนเคยแสดงความเห็นไว้ว่า นโยบายประชานิยมหรือนโยบายที่สร้างให้ประชาชนนิยมรัฐบาลนั้น ระยะแรก ๆ อาจทำให้ชาวบ้านพึงพอใจที่มีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าชาวบ้านมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เพราะการอัดฉีดเงินสู่ระดับรากหญ้า กระตุ้นการใช้จ่ายบริโภคจนเกินตัวจนเกิดปัญหาหนี้สินตามมา กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนไม่สามารถพึ่งตัวเองได้เลย

กรณีดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา "สำนักข่าวประชาธรรม"ได้นำเสนอบทเรียน ปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้นโยบายประชานิยม ทั้งโครงการกองทุนหมู่บ้านละล้าน โครงการโอทอป โครงการพักชำระหนี้ โครงการเอสเอ็มแอล รวมไปถึงโครงการเอื้ออาทรทั้งหลายแหล่มาเป็นระยะ ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านโยบายประชานิยมไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนหรือสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้

เช่น กรณีที่ดินยังคงกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูง โครงสร้างภาษีที่ไม่ทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะไม่มีการการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ขณะที่การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รับชั่นในวงราชการก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นนโยบายประชานิยมไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนในเชิงโครงสร้างได้ แต่เหตุที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าใช้ต่อไปก็เพียงเพื่อให้ประชาชนรู้สึกพอใจกับการได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาล อันจะนำไปสู่การรักษาอำนาจทางการเมืองต่อไปเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม การแถลงนโยบายของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชที่ยังคงเดินหน้า "ประชานิยมระลอก 2" สำนักข่าวประชาธรรมจึงประมวลปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมแต่ละตัว รวมทั้งข้อเสนอของประชาชนมานำเสนออีกครั้ง...

หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product ) หรือโอทอป

เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าที่ริเริ่มในสมัยรัฐบาล พ...ทักษิณ โดยโฆษณาว่าสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกทำรายได้เข้าประเทศ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น) แถลงยอดขายสินค้าโอทอปในรอบ 10 เดือนปี 2546 อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท พร้อม ๆ กับเร่งส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าโอทอปกันอย่างกว้างขวาง

อีกด้านหนึ่งชุมชนระดับรากหญ้าเริ่มมีกระแสเสียงแล้วว่า การส่งเสริมผลิตสินค้าโอทอปนั้นมิใช่สวยหรูอย่างที่รัฐบาลว่าไว้ มีเสียงสะท้อนในหลายเรื่อง คือ เจ้าหน้าที่รัฐมักจะส่งเสริมเฉพาะกลุ่มที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ทำให้กลุ่มเล็ก ๆ ไม่ได้รับการส่งเสริม เท่ากับว่าไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจรากหญ้าจริง นอกจากนี้ไม่ได้ส่งเสริมการบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะความรู้ด้านการตลาด การคิดค้นผลิตภัณฑ์ ทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนผลิตไปตามแรงส่งเสริม และส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์มีการลอกเลียนแบบ ซ้ำ ๆ กันไม่มีเอกลักษณ์ ทำให้เมื่อผลิตออกมาแล้วก็ไม่สามารถขายได้

อีกทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำตลาดส่งออกอยู่แล้วเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า โดยที่กลุ่มเหล่านี้ทำในลักษณะปัจเจก ไม่ใช่ทำในรูปแบบกลุ่ม องค์กรชุมชน กลายเป็นว่าชุมชนเป็นเพียงแค่แรงงาน แต่รายได้เข้ากระเป๋าผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐพยายามยัดเยียดให้ชุมชนทำการผลิตเพื่อการส่งออกทั้ง ๆ ที่บางชุมชนยังไม่พร้อม โดยชุมชนมีความคิดว่าหากจะทำผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกควรจะสอดคล้องกับทรัพยากรท้องถิ่น และสอดคล้องกับวัฒนธรรมของชุมชน

เจริญศรี ไชยขัตติ์ ประธานกลุ่มพัฒนาสตรี ในฐานะกลุ่มผลิตภัณฑ์ผักตบชวา จ.พะเยา กล่าวว่า ปัญหาโอทอปที่ จ.พะเยาเป็นเพราะกลุ่มแม่บ้านเกือบทุกพื้นที่ผลิตสินค้าซ้ำ ๆ กันจนไม่มีเอกลักษณ์ เช่น ผลิตผักตบชวา เครื่องจักสานไม้ไผ่ และผ้าทอ เป็นต้น นอกจากนี้การเร่งโปรโมตมากเกินไป มีการเปิดงานแสดงสินค้าทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด โดยปราศจากการวางแผน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าสินค้าขายได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วคือผู้ซื้อก็มีจำนวนเท่าเดิม เมื่อผลิตออกมาจึงล้นสต๊อก

กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารชุมชน

อย่างที่รู้ ๆ กัน กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นการสร้างภาระ เพิ่มหนี้สินให้กับชาวบ้าน เพราะกระตุ้นให้ชุมชนซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น เช่น มอเตอร์ไซด์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือบางหมู่บ้านก็นำเงินไปลงทุนทำเกษตรเชิงพาณิชย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทำกันมาก่อน

นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายกองทุนหมู่บ้านขึ้นมา พบว่าแต่ละครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากการสำรวจของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เดิมปี 2543 คนไทยมีหนี้สินรวม 9,051,573 ครัวเรือน แต่เมื่อมีการใช้นโยบายประชานิยมปี 2544 มีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านครัวเรือน เป็น 10,189,798 ครัวเรือน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ระบุว่าปี 2545 หนี้สินครัวเรือนของคนไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 20 % หรือเฉลี่ย 82,458 บาทต่อครัวเรือน จากเดิมปี 2544 มีหนี้สินพียงแค่ 69,500 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นกลายเป็นว่ากองทุนหมู่บ้านช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่คนรวย มากกว่าที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า คนที่รวยขึ้นก็คือเจ้าของบริษัทมือถือ เจ้าของบริษัทขายปุ๋ย ยาและเมล็ดพันธุ์ เกษตรกร คนเล็ก ๆ ในชุมชนก็แบกภาระหนี้สินกัน

ครูชบ ยอดแก้ว ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์แบบพัฒนาคุณภาพครบวงจรชีวิต บ้านน้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า การที่รัฐทุ่มเทงบประมาณมาให้ชาวบ้านโดยไม่มีการเตรียมการมาก่อน และมีระยะเวลาเร่งรัด ต้องการให้คนจนมีทุนทำอาชีพ แต่ความจริงกลายเป็นการสร้างหนี้ ชาวบ้านนำเงินไปซื้อรถ ซื้อมือถือ ถึงเวลาคืนเงินก็ไปกู้เขามา คืนเสร็จก็กู้ใหม่เอาไปใช้หนี้ เท่ากับเป็นการสอนให้ชาวบ้านบริหารหนี้มากกว่า แม้ว่ากองทุนหมู่บ้านระบุให้เอาดอกผลไปจัดสวัสดิการให้ชุมชน แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถทำได้จริง เพราะไม่ได้เกิดจากการสร้างจิตสำนึก

"รัฐควรส่งเสริมให้ชุมชนออมเงินก่อน ได้เท่าไหร่แล้วรัฐก็สมทบตามจำนวนที่ชุมชนสะสมได้ ให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง" ครูชบ กล่าว

พักชำระหนี้เกษตรกร

ภาคเกษตรกรรมของไทยประกอบด้วยประชากรประมาณ 5.6 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 28 ล้านคน จากการสำรวจของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(...) ในปี 2543 ระบุว่า เกษตรกรไทยมีหนี้สินรวมกันประมาณ 411,699 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบ 396,299 ล้านบาทและเป็นหนี้นอกระบบ 15,400 ล้านบาท

อย่างภาคเหนือเกษตรกรทั้งภาคมีหนี้สินทั้งในและนอกระบบรวมกันกว่า 70,000 ล้านบาท เกษตรกร 90% ตกอยู่ในฐานะเป็นหนี้ ปัญหานี้สินที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายโดยการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำ ดอกเบี้ยสูง ที่ผ่านมาเกษตรกรรวมตัวกันเสนอไปยังรัฐบาลให้มีการปลดเปลื้องหนี้สินเหล่านี้อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดของเกษตรกร รวมทั้งเสนอให้ปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งต้องปรับทิศทางของเกษตรให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งพร้อมทั้งมีทางเลือกที่หลากหลายและยั่งยืน ดังนั้นโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรจึงเกิดขึ้น

แต่ทว่า จากการศึกษาของ ดร.สมชัย จิตสุชน นักเศรษฐศาสตร์มหภาค สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า คนที่เข้าโครงการพักชำระหนี้มากกว่า 1 ล้านคนไม่ใช่คนจน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีฐานะ ส่วนเกษตรกรยากจนมักจะไปกู้นอกระบบ คือมีคนจนเพียง 1.4 แสนคนเท่านั้นที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ เพราะโดยข้อเท็จจริงชาวบ้านยังต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการ"ปลดหนี้" มากกกว่าการ "ชำระหนี้"นั่นเอง ทั้งนี้เพราะหลังจากหมดระยะเวลาการพักหนี้เกษตรกร 3 ปีแล้ว เกษตรกรก็กลับเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้เช่นเดิม

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมนั้นถือเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้เพื่ออัดฉีดระบบเศรษฐกิจ หากจัดการไม่ดีในอนาคตอาจจะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ กลายเป็นหนี้สาธารณะแอบแฝง ซึ่งเกิดปัญหาแล้วในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินนโยบายเอื้ออาทรทั้งหลาย จึงควรมีการอภิปรายในสภาอย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนได้รับรู้อย่างโปร่งใส เพราะนั่นคือภาษีของประชาชน ประชาชนจึงควรมีสิทธิที่จะรับรู้

.ดร.วอลเดน เบลโล ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ และผู้อำนวยการโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา(Focus on the Global South) ได้วิเคราะห์นโยบายประชานิยมว่า ไม่ใช่เป็นประชานิยมที่อันตราย และไม่ได้ท้าทายอภิสิทธิ์ชน แต่เป็นการสร้างนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลมากกว่า

"ประเทศไทยการนำนโยบายประชานิยมมาใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากประชานิยมที่พบในละตินอเมริกา ที่ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อต่อต้านและล้มล้างชนชั้นอภิสิทธิ์ชนอย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนกลุ่มต่างๆที่ไม่มีอำนาจกลับมามีอำนาจเพิ่มขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษี การปฏิรูปที่ดิน การกระจายทรัพยากรให้คนจนอย่างแท้จริง ขณะที่ประชานิยมของไทยไม่มีการนำแนวทางเหล่านี้มาใช้เลย" ศ.ดร.วอลเดน กล่าว

"ประชานิยม"เหล่านี้คือกรณีตัวอย่างที่เกิดปัญหา ผลกระทบในเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลชุดนี้ยืนยันเดินหน้าประชานิยมระลอก 2 ต่อไปก็ต้องเปิดใจกว้างพิจารณาทบทวน หรือปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ในการดำเนินนโยบายนั้นล้วนมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นการดำเนินนโยบายต่างๆ ต้องมองความยั่งยืน การแก้ปัญหาที่ตรงจุด รวมทั้งการพึ่งตัวเองของประชาชนให้ได้เป็นที่ตั้ง ต้องมองให้ไกลกว่าการใช้กลยุทธด้วยการทำให้ประชาชนรู้สึกเคลิบเคลิ้มกับการได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐ อันจะนำไปสู่การรักษาอำนาจทางการเมืองของรัฐต่อไปเท่านั้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท