Skip to main content
sharethis



ผลการเลือกตั้งในมาเลเซียแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจรัฐบาลเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่รัฐมีกลไกกึ่งเผด็จการหลายอย่างในการหนุนให้พรรครัฐบาลได้เสียงข้างมาก แต่คะแนนเสียงพรรคแนวร่วมรัฐบาลลดลงเป็นประวัติศาสตร์ พรรคฝ่ายค้านได้รัฐ Penang, Selangor, Perak, Kedah, Kelantan โดยที่พรรคมุสลิม P.A.S.ขยายฐานเสียงทางเหนือติดพรมแดนไทย พรรค D.A.P. ของชาวจีนที่ออกซ้ายนิดๆ ได้ปีนัง และพรรค Keadilan ของอันวาห์ก็ได้ที่นั่งด้วย


คุณหมอคูมา Dr Kuma ของพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย P.S.M. ได้รับเลือกเป็น ส.ส. คนแรกของพรรคสังคมนิยมในเขต Sungai Siput และ Nasir Hashim ประธานพรรคได้ที่นั่งในสภาระดับรัฐท้องถิ่นที่ Kota Damansara นับเป็นชัยชนะสำคัญสำหรับพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย และเป็นชัยชนะทั้งๆ ที่รัฐไม่ยอมจดทะเบียนให้พรรคอีกด้วย ผู้แทน P.S.M. ซึ่งประกาศตัวเป็นนักสังคมนิยมอย่างชัดเจนต้องลงสมัครภายใต้ร่มของ Keadilan


พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Parti Socialis Malaysia - P.S.M.) ก่อตั้งจากการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาชนหลายกลุ่มตั้งแต่ปี 1991 และมีการประชุมใหญ่เพื่อเขียนธรรมนูญพรรคในปี 1995 พรรคนี้เป็นพรรคที่สืบทอดมรดกความคิดจากนักสังคมนิยมมาเลเซียตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคเก่าในยุคนั้นชื่อ Malaysian Peoples Socialist Party (P.S.R.M.) แต่ภายหลังมีการทิ้งอุดมการณ์สังคมนิยมในปี 1990 นักสังคมนิยมมาเลเซียจึงหันมาสร้างพรรคใหม่ จุดเด่นของ P.S.M. คือเป็นพรรคเดียวในมาเลเซียที่ปฏิเสธการเล่นการเมืองเชื้อชาติ


 


0 0 0


 


 


การเมืองเชื้อชาติและชนชั้นในมาเลเซีย


 


โดย: ใจ อึ๊งภากรณ์


 


ชนชั้นปกครองมาเลเซียใช้การเมืองเชื้อชาติเพื่อกดทับการเมืองชนชั้นมานาน การแช่แข็งการเมืองโดยแบ่งแยกและปกครองตามเชื้อชาติพร้อมๆ กับการใช้มาตรการกึ่งเผด็จการ มีเป้าหมายในการทำลายการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา และเป็นวิธีการที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ


 


มาเลเซียแบ่งเป็นสามเชื้อชาติหลักคือ คนจีน คนอินเดีย และคนมาเลย์ โดยที่คนจีนเป็นนายทุนและกรรมกร คนอินเดียมีกรรมกรภาคเกษตรและผู้ค้าขายรายย่อย และคนมาเลย์เป็นข้าราชการ ซุลต่าน และชาวนายากจน


 


นักการเมืองมาเลเซีย โดยเฉพาะที่สังกัดพรรครัฐบาล U.M.N.O. (United Malay National Organisation) จะอ้างถึงการจลาจลพฤษภาคม 1969 เพื่อให้ความชอบธรรมกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นเชื้อชาติ (New Economic Policy - N.E.P.) นโยบายนี้ให้สิทธิพิเศษสำหรับคน "พื้นเมือง" มาเลย์ (bumiputera หรือภูมิบุตร) การจลาจล 1969 ที่มีการตีกันระหว่างคนจีนกับคนมาเลย์ มักถูกอ้างเสมอเพื่อ "พิสูจน์" ว่าในสังคมอย่างมาเลเซีย ที่มีหลายเชื้อชาติดำรงอยู่ ต้องมีการบริหารสังคมเพื่อลดความขัดแย้งตาม "ธรรมชาติ" ระหว่างเชื้อชาติต่างๆ พร้อมกันนั้นมักมีการปลุกกระแสในหมู่คนมาเลย์ว่าต้องออกมาปกป้องผลประโยชน์ของเชื้อชาติตนเองจากการ "คุกคาม" ของคนจีน ตัวอย่างที่ดีคือหนังสือของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ The Malay Dilemma ที่เขียนในปี 1970 หลังการจลาจลและก่อนที่เขาจะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ


นักวิชาการอย่าง Harold Crouch และ ชัยโชค จุลศิริวงศ์ (คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ) เป็นตัวแทนของสำนักคิดที่เน้นเชื้อชาติ และเป็นผู้ที่สนับสนุนนโยบายการปกครองกึ่งเผด็จการของรัฐบาลมาเลเซีย โดยอ้างว่าในประเทศอย่างมาเลเซียที่มีหลายเชื้อชาติ "การปกครองแบบประชาธิปไตยใช้ไม่ได้" เพราะมีข้อสมมุติฐานว่าระบอบประชาธิปไตยแก้ความขัดแย้งทางเชื้อชาติไม่ได้ มีการอ้างถึงงานของ Lijphart ซึ่งเป็นนักวิชาการสำนัก "โครงสร้างหน้าที่" ว่าในกรณีแบบนี้ต้องใช้การปกครองแบบ "Consociationalism"


 


Consociationalism คือระบบการปกครองที่ "บริหาร" เชื้อชาติ โดยมีการจัดให้ทุกเชื้อชาติมีตัวแทนของตนเองในรัฐบาล ซึ่งมีการใช้รูปแบบการปกครองอย่างนี้ในไอร์แลนด์เหนือหรือในบอสเนีย ในกรณีมาเลเซีย เราจะเห็นว่ารัฐบาล "แนวร่วมชาติ" ประกอบไปด้วยพรรคของชาวมาเลย์ (U.M.N.O.) พรรคของชาวจีน (M.C.A. - Malay Chinese Association) และพรรคของชาวอินเดีย (M.I.C. - Malay Indian Congress)


 


แต่ประเด็นปัญหาสำคัญคือตัวแทนของเชื้อชาติจะมาจากชนชั้นไหน และจะเลือกกันอย่างไร? ประเด็นชนชั้นแบบนี้ไม่มีการพิจารณาเลย เพราะคนที่เสนอ Consociationalism มักมองว่าชนชั้นไม่สำคัญ อย่างไรก็ตาม Crouch เองมองว่าการที่พรรค "เถ้าแก่จีน" (พรรค M.C.A.) ถูกเลือกมาเป็นผู้แทนของชาวจีนทั้งหมดจะเป็นปัญหาถ้ามวลชนไม่ถูกทำให้สงบนิ่งเพื่อตามการนำของอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นการปกครองแบบ Consociationalism ย่อมประกอบไปด้วยระบบ "เผด็จการอ่อนๆ" เพื่อควบคุมความขัดแย้งทางเชื้อชาติเสมอ สรุปแล้วมีการยกความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาเป็นข้ออ้างในการลดทอนสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย


 


มาเลเซียในมุมมอง "สำนักชนชั้น"


นักวิชาการฝ่ายซ้าย "สำนักชนชั้น" มีข้อสรุปตรงข้ามกับคนอย่าง มหาธีร์ Crouch หรือ ชัยโชค เพราะมองว่าระบบเผด็จการไม่ได้มาจากความขัดแย้ง "ธรรมชาติ" ระหว่างเชื้อชาติแต่อย่างใด David Brown เสนอว่า "ลักษณะชนชั้นของรัฐมาเลเซียคือสิ่งที่อธิบายนโยบายเชื้อชาติของรัฐนี้ได้" เพราะนโยบายเชื้อชาติมีวัตถุประสงค์ในการระงับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนชั้นล่าง รัฐบาล U.M.N.O. ใช้ประเด็นเชื้อชาติเป็น "หน้ากากบังหน้า" เพื่อให้ความชอบธรรมกับการปกครองทางชนชั้น โดยอ้างว่ารัฐบาลผสมของแนวร่วมชาติเป็นตัวแทนของทุกเชื้อชาติ ขณะที่ในความเป็นจริงมันเป็นแนวร่วมระหว่างนายทุนเอกชน(นายทุนจีนและอินเดีย)กับนายทุนข้าราชการ(นายทุนมาเลย์) สรุปแล้วการเมืองชนชั้นถูกปราบปรามตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน และกระบวนการทางการเมืองถูกออกแบบใหม่เพื่อสะท้อนเชื้อชาติ สำหรับ Brown ความคิดเชื้อชาติเป็นเครื่องมือที่รัฐต่างๆ ใช้เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจหรือปัญหาข้อกังวลของประชาชนที่มาจากโครงสร้างสังคมแบบชนชั้น "รัฐต่างๆ จะเปิดพื้นที่ให้แนวความคิดเชื้อชาติเจริญเติบโต แล้วพยายามบริหาร และใช้แนวนี้เป็นเครื่องมือ"


 


Martin Brennan อธิบายว่าตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองมาลายู ชนชั้นปกครองใช้นโยบายการบริหารเชื้อชาติ เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย ตั้งแต่ปี 1969 (ปีที่มีจลาจล) ชนชั้นปกครองมาเลเซียใช้นโยบายชาตินิยม-เชื้อชาติเพื่อสร้างฐานสนับสนุนในหมู่ชาวนาและกรรมาชีพมาเลย์ โดยพยายามสร้างภาพปลอมว่าคัดค้านนายทุนจีนและนายทุนต่างชาติ และในขณะเดียวกันมีการปราบปรามขบวนการทางสังคมที่สังกัดชนชั้น


 


สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำอธิบายของ Brennan คือ การปลุกระดมการเมืองเชื้อชาติของชนชั้นปกครองมาเลเซีย เพื่อสร้างฐานสนับสนุนทางการเมือง เป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติแต่แรก ซึ่งถ้าไม่ควบคุมก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคงในการปกครอง ดังนั้นมาตรการเผด็จการของรัฐมาเลเซียมีไว้เพื่อกดขี่การเคลื่อนไหวทางชนชั้น และเพื่อควบคุมความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่รัฐสร้างขึ้นมาแต่แรก


 


ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์มาเลเซียเราจะพบว่าอังกฤษเผชิญหน้ากับขบวนการทางการเมืองสองประเภทคือ 1. การเมืองของคนชั้นล่างที่ประกอบไปด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม และสหภาพแรงงานต่างๆ ที่เน้นชนชั้นเหนือเชื้อชาติ และ 2. การเมืองของพวกอภิสิทธิ์ชนที่พยายามเน้นการเมืองเชื้อชาติของชาวมาเลย์ ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมีการนัดหยุดงานทั่วไปที่อังกฤษปราบปราม ที่สำคัญคือขบวนการแรงงานไม่แบ่งแยกตามเชื้อชาติ พรรคคอมมิวนิสต์มาเลย์มีสมาชิกหลายเชื้อชาติ และแม้แต่ขบวนการชาวนาก็มีมุมมองทางการเมืองที่ปฏิเสธการเมืองของอภิสิทธิ์ชน และมีการเสนอให้รวมชาติในลักษณะสากลกับประเทศอินโดนีเซียเป็นต้น


 


ในการยกเอกราชให้มาเลเซียเราคงไม่แปลกใจที่อังกฤษเลือกยกอำนาจให้อภิสิทธิ์ชน โดยออกแบบรัฐในรูปแบบ Federation of Malaya ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของ U.M.N.O. เพื่อให้มีสิทธิพิเศษสำหรับชาวมาเลย์ แทนที่จะยอมกับข้อเรียกร้องของฝ่ายซ้ายให้มีรัฐแบบ Malay Union ที่ทุกเชื้อชาติมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และก่อนที่อังกฤษจะยกเอกราชให้ ก็ต้องมีการปราบปรามขบวนการแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายในช่วง "ฉุกเฉิน" (Emergency) ระหว่างปี 1948-1960 ในสถานการณ์แบบนั้นที่การเมืองชนชั้นถูกระงับ ความเป็นไปได้ที่จะปลุกระดมความขัดแย้งทางเชื้อชาติก็มีมากขึ้น


 


ในขบวนการนักศึกษา ฝ่ายซ้ายพยายามจัดตั้งข้ามเชื้อชาติ แต่ถูกรัฐและนักการเมืองเชื้อชาติอย่าง Anwar คอยสกัดกั้นและสร้างอุปสรรค์ นโยบายการสำรองที่พิเศษให้นักศึกษามาเลย์ในสถาบันการศึกษาต่างๆ และการปราบปรามของรัฐเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างปัญหา แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่อาจคิดในกรอบเชื้อชาติน้อยลง และพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Malaysian Socialist Party - PSM) เป็นพรรคที่พยายามทวนกระแสหลัก โดยใช้การเมืองชนชั้นและรับสมัครสมาชิกจากทุกเชื้อชาติ


 


แม้แต่ในมาตรฐานของนักการเมืองเชื้อชาติเอง นโยบาย N.E.P. และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้สิทธิพิเศษกับชาวมาเลย์ ไม่ได้ยกระดับของชาวมาเลย์ทุกคน ความเหลื่อมล้ำระหว่าง bumiputera คนรวยกับคนจนเพิ่มขึ้น และการขยายการถือหุ้นในธุรกิจของชาวมาเลย์ กระทำไปผ่านรัฐวิสาหกิจที่ซื้อหุ้นในบริษัทตะวันตก ในขณะที่ฐานะของนายทุนจีนไม่เปลี่ยนแปลง และนโยบายที่กีดกันสิทธิของคนจีนมีผลต่อคนจีนระดับล่างมากกว่านายทุนเสมอ    สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการที่ UMNO อ้างความเป็นตัวแทนของชาวมาเลย์เพื่อปกป้องเขาจากการ "คุกคาม" ของนายทุนจีนคือ ในช่วงแรกของการปกครองหลังเอกราช พรรค U.M.N.O. อาศัยเงินทุนจากนายทุนจีนในพรรค M.C.A. เพื่อหาเสียง แต่พอ U.M.N.O. เข้ามามีอำนาจในรัฐ เริ่มมีแหล่งเงินทุนสาธารณะที่พรรคนำมาใช้ได้แทน และเมื่อพรรคอาศัยเงิน M.C.A. น้อยลงก็สามารถประกาศนโยบาย N.E.P. ได้ โดยไม่เกร็งใจนายทุนจีนหรือกลัวว่าจะทำลายแนวร่วมระหว่าง U.M.N.O. กับ M.C.A. เพราะนายทุนจีนจาก M.C.A. ไม่เคยเสียผลประโยชน์จากการปกครองของ U.M.N.O. เลย


 


ทั้งๆ ที่การจลาจล 1969 ถูกอ้างเสมอเพื่อให้ความชอบธรรมกับนโยบายการเมืองแบบเชื้อชาติ แต่ข้อมูลประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการจลาจลครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเช่น U.M.N.O. กับพรรคนายทุนจีน M.C.A. ลดลง พรรคที่ได้คะแนนเพิ่มเป็นพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับคนชั้นล่างทั้งๆ ที่ยังอาจอยู่ในกรอบเชื้อชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่นพรรค Democratic Action Party (D.A.P.) ที่ได้เสียงจากคนงานจีน พรรค Gerakan (พรรคฝ่ายซ้ายในปีนัง) และพรรค Parti Islam SeMalaysia (P.A.S.) ที่ได้คะแนนเสียงจากชาวนาเชื้อชาติมาเลย์ ในสถานการณ์แบบนี้องค์กรเยาวชนของ U.M.N.O. เป็นผู้ก่อความรุนแรงก่อน โดยเข้าไปโจมตีชาวจีนเพื่อปลุกกระแสความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของรัฐที่จะประกาศกฎหมายฉุกเฉินและปราบปรามพรรคฝ่ายค้าน


 


อ่านเพิ่ม


Harold Crouch (1996) Government and society in Malaysia. Cornell University.


ชัยโชค จุลศิริวงศ์ (๒๕๔๒) "การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในมาเลเซีย" สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


David Brown (1994) The state and ethnic politics in south-east Asia. Routledge.


Martin Brennan (1985) Class politics and race in modern Malaysia. In Higgott, R. & Robison, R. Essays in the  political economy of structural change. Routledge.


 


0 0 0


 


ถามทาง: พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (P.S.M.) ชนะสองที่นั่งในการเลือกตั้ง


 


เมื่อต้นเดือนมีนาคมพรรคสังคมนิยมมาเลเซียสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วประเทศและได้สองที่นั่งคือ สหายหมอ ไชยาคูมา (Dr Jeyakumar)ชนะอดีตรัฐมนตรีจากพรรคแนวร่วมรัฐบาล แซมมี่ เวลู โดยชิงที่นั่งในรัฐสภาแห่งชาติเขต ซุไง ซิพุด (Sungai Siput) คูมาได้คะแนน 16,458 เสียง มากกว่าคู่แข่งเกือบ 2 พันเสียง ส่วนสหายหมอ นะเซีย ฮะชิม (Dr. Nasir Hashim) ชนะที่นั่งในสภาของรัฐ โคตา ดามันซารา (Kota Damansara) ด้วยคะแนน 11,846 เสียง มากกว่าคู่แข่ง 1 พันเสียง  สหายคูมาเป็น ส.ส. สังคมนิยมคนแรกของมาเลเซียในรอบ 40 ปี ครั้งสุดท้ายที่นักสังคมนิยมได้ที่นั่งในรัฐสภาระดับชาติคือในปี 1964 โดยที่แนวร่วมสังคมนิยม (Socialist Front) ได้ 2 ที่นั่ง และครั้งสุดท้ายที่นักสังคมนิยมได้ที่นั่งในสภาระดับรัฐคือปี 1969 เมื่อพรรคสังคมนิยมประชาชนมาเลเซีย (Parti Sosialis Rakyat Malaysia -PSRM) ได้ 4 ที่นั่งในรัฐปีนังและปาหัง


 


ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (Parti Sosialis Malaysia - PSM) จำเป็นต้องลงสมัครภายใต้ร่มของพรรคฝ่ายค้านคือ Parti Keadilan Rakyat (P.K.R.) และ Parti Islam Se-Malaysia (P.A.S.) เพราะรัฐบาลมาเลเซียไม่ยอมจดทะเบียนให้พรรคสังคมนิยมทั้งๆ ที่สู้กันในระดับศาลในเรื่องนี้มานาน อย่างไรก็ตามสมาชิกพรรค P.S.M. ที่ลงสมัครทุกคนจะเสนอนโยบายสังคมนิยมอย่างชัดเจนและประกาศว่าตนเป็นสมาชิก P.S.M. หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ น.ส.พ. เลี้ยวซ้าย ได้ สัมภาษณ์สหายอารุล (S. Arutchelvan) เลขาธิการพรรค P.S.M. เรื่องชัยชนะของพรรค   สหายอารุล เองได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐ ซะเมนนี (Semenyih) แต่ได้คะแนน 10,448 เสียงแพ้ผู้แทนของพรรคแนวร่วมรัฐบาลประมาณ 1 พันเสียง


 


ถ้าต้องการดูรายละเอียดเกี่ยวกับพรรคสังคมนิยมมาเลซียควรดูเวปไซท์พรรค  http://parti-sosialis.org


 


สัมภาษณ์สหาย อารุล จากพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย 


 


ชัยชนะของ P.S.M. เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ กรุณาอธิบายว่าพรรคได้ชัยชนะเพราะเหตุใด และชัยชนะนี้ทำให้เรามองอนาคตของสังคมนิยมอย่างไร พรรค P.S.M. สามารถผลักดันการเมืองชนชั้นแทนการเมืองเชื้อชาติได้มากน้อยแค่ไหน?


การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่เราลงสมัคร ก่อนหน้านี้ในปี 1999 เราลงแข่งในหนึ่งที่นั่ง และในปี 2004 เราลงใน 4 ที่นั่ง เป้าหมายสำคัญของเราคือการชนะอย่างน้อยในหนึ่งที่นั่ง เพื่อเป็นการโฆษณาการทำงานของพรรคและเพื่อขยายพรรคต่อไป เราดีใจมากกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้  ในการเลือกตั้งมีการใช้การเมืองเชื้อชาติและศาสนาเพื่อโจมตีฝ่ายค้านโดยพรรคแนวร่วมรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประเด็นที่ประชาชนสนใจมากขึ้นคือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เช่นเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง และค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประชาชนไม่พอใจการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล และการแทรกแซงสื่อและศาลโดยฝ่ายรัฐอีกด้วย ในเขตเมืองต่างๆ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการลงคะแนนเสียงตามเชื้อชาติหรือศาสนาเท่าไร แต่สนใจนโยบายพรรคมากกว่า นี่คือปรากฏการณ์ที่ดี และมันช่วยพรรคเรามาก แต่การผลักดันการเมืองชนชั้นให้สำคัญกว่าการเมืองเชื้อชาติคงจะเป็นการต่อสู้ยาวนาน



พรรคของคุณต้องลงสมัครภายใต้ร่มของพรรค P.K.R. แต่ P.S.M. มีแถลงการณ์เฉพาะของตนเอง แถลงการณ์นี้มีเนื้อหาอะไรบ้าง?


แถลงการณ์เรามีทั้งหมด 7 ประเด็นคือ


1.       ต้องปกป้องสิทธิแรงงาน เช่นค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม การยอมรับสหภาพแรงงานโดยอัตโนมัติ และสิทธิลาคลอด 90 วัน


2.       ยกเลิกนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เช่นการแปรรูประบบสาธารณสุข การศึกษา และสาธารณูปโภค


3.       ยกเลิกสัญญาค้าเสรีกับจักรวรรดินิยมตะวันตก


4.       รัฐต้องจัดสรรที่อยู่อาศัยราคาถูกและคุณภาพดีให้ชาวเมืองและชาวชนบท


5.       ยกเลิกการเมืองเชื้อชาติเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชน


6.       ต้องปราบปรามการคอร์รับชั่นและการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาล


7.       ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม


 


จริงๆ แล้วมีการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ 7 ข้อนี้มากมาย แต่พิมพ์เป็นภาษามาเลย์ จีน และทมิฬ นอกจาก 7 ข้อนี้เรามีคำมั่นสัญญากับประชาชนในกรณีที่เราชนะการเลือกตั้งคือ


 


1.       จะจัดตั้ง "คณะกรรมการประชาชน" ในพื้นที่ มีเวทีทุกเดือนให้ประชาชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายในสภาและเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือการพัฒนา


2.       ผู้แทนพรรคจะประกาศเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวอย่างชัดเจน


3.       เราจะตั้ง "ศูนย์บริการประชาชน" ของพรรค


4.       เราจะพิมพ์วารสารข่าวการเมืองเพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลทุก 4 เดือน


5.       จะเปิดสมุดบันทึกให้ชาวบ้านมาแสดงความเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง


6.       จะช่วยจัดตั้งสหภาพแรงงานในพื้นที่


7.       จะต่อสู้ในประเด็นของประชาชนในพื้นที่


 


พรรค P.S.M. น่าจะเป็นที่รู้จักของประชาชนในเขตที่คุณชนะ ช่วยอธิบายว่าพรรคทำอะไรบ้างในพื้นที่ ก่อนการเลือกตั้ง?


P.S.M. จะลงสมัครแค่ในพื้นที่ที่พรรคและผู้แทนมีประวัติการทำงานเพื่อประชาชนมาอย่างน้อย 5 ปี งานหลักๆ ของเราในพื้นที่ที่เราทำตลอดปีคือ


 


1. เรามี "คณะแรงงาน" ที่ช่วยจัดตั้งคณะกรรมการกรรมกรและผลักดันประเด็นกรรมกร มีการประสานกันระหว่างหลายกรรมการภายใต้ร่มของ JERIT (ย่อจากคำว่า "เครือข่ายมวลชนผู้ถูกกดขี่")


2. เรามีอีกคณะกรรมการหนึ่งที่ทำงานกับคนจนในเมือง และคนงานไร่เกษตร เราต้องทำงานรากหญ้าในคณะกรรมการต่างๆ มากมาย และต้องเชื่อมโยงกันในพื้นที่ต่างๆ


3. เรามีใบปลิวในประเด็นร้อนๆ และหนังสือพิมพ์ของพรรค มีการขายในตลาดเช้าและตลาดกลางคืน มีการขายตามสถานที่ทำงานและในชุมชนอีกด้วย


4. เรามีสำนักงานพรรคที่เป็น "ศูนย์บริการประชาชน" ที่เปิดสองสามวันต่อสัปดาห์


5. เรามีกลุ่มศึกษาการเมืองที่พูดคุยเรื่องปากท้องและเรื่องการเมืองภาพกว้าง


 


และพอมีการเลือกตั้งเราก็ต้องส่งทีมไปหาเสียงทั่วพื้นที่อีกด้วย


 


การได้รับการเลือกตั้งเป็นชัยชนะสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันมันสร้างภาระมหาศาลให้กับพรรค คุณจะจัดการกับภารกิจดังกล่าวอย่างไร? และจะสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานภายในรัฐสภา กับการเคลื่อนไหวข้างนอกอย่างไร?


ปัญหาแบบนี้เราจะคุยกันอย่างละเอียดในการประชุมคณะกรรมการกลางของพรรค สองวันในเดือนเมษายน คำขวัญของพรรคคือ"สร้างพลังประชาชน" เราไม่มีความหลงใหลในระบบรัฐสภา และเรากำลังศึกษาบทเรียนสำคัญเรื่องการใช้รัฐสภาและการลงประชามติจากประเทศในลาตินอเมริกา เช่น Venezuela และBolivia เราชัดเจนว่าเราต้องสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง บทเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนรัฐบาลต้องมาจากการเคลื่อนไหวของมวลชน เราจะสามารถล้มทุนนิยมได้หรือไม่ในอนาคตก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง


 


ขณะนี้เราต้องสร้างสองแนวพร้อมกัน เราจะไม่มีวันประนีประนอมและลดความสำคัญของงานพรรคที่ทำมาหลายปีเพราะเหตุผลแค่ว่าเรามีสองผู้แทนในสภา การทำงานมวลชนต้องทำต่อไป เราต้องใช้โอกาสในสภาเพื่ออธิบายกับประชาชนว่าเราต่างจากพรรคอื่น เราต้องบริการพื้นที่ที่เรามีผู้แทน ต้องเสริมสร้างพลังมวลชน เราต้องเจียมตัว ไม่อวดเก่ง และทำงานต่อไปอย่างสม่ำเสมอ


 


กรุณาขยายความเรื่อง "คณะกรรมการประชาชน" ที่พรรคจะจัดตั้ง?


เรามีแผนจะตั้งคณะกรรมการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนส่วนต่างๆ ของภาคประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ตัวแทนเหล่านี้จะประชุมเพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาท้องถิ่นและเสนอประเด็นเพื่อให้ส.ส.เรานำเรื่องเข้าสภา องค์กรนี้จะเป็นสื่อระหว่างผู้แทนเรากับประชาชน และจะเป็นวิธีควบคุมและตักเตือนผู้แทนของพรรคด้วย เราพูดมานานแล้วว่าประชาชนจะหมดสิทธิ์หลังการเลือกตั้งทุกครั้ง เราจึงพยายามจะสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมและการใช้อำนาจอย่างต่อเนื่องของประชาชน มันเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน และเราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ


 


 P.S.M. กำลังจะร่างระเบียบการปฏิบัติของ ส.ส. พรรค เรื่องนี้สำคัญ ช่วยอธิบาย?


มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัดส่วนเงินเดือนที่ ส.ส. ต้องให้พรรค การทำงานให้พรรค และท่าทีของพรรคเราต่อพรรคฝ่ายค้านในประเด็นต่างๆ เราจะร่วมมือในเรื่องไหนบ้าง และเราจะอิสระในเรื่องไหน แต่รายละเอียดคงจะออกมาหลังการประชุมคณะกรรมการกลาง


 


ในอดีตพรรคแนวสังคมนิยมเคยชนะการเลือกตั้งในมาเลเซีย มีบทเรียนอะไรบ้างจากยุคนั้น?


ก่อนหน้านี้แนวร่วมสังคมนิยมได้ที่นั่งในระดับเทศบาลมากมาย แต่รัฐบาลยกเลิกการเลือกตั้งเทศบาล และพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันมีการเรียกร้องให้กลับมาใช้ระบบเลือกตั้งเทศบาลอีกครั้ง ในอดีตฝ่ายซ้ายเข้มแข็งมากระหว่าง 1959-1964 แต่จะถูกปราบปรามอย่างหนัก มีการจับคุมเข้าคุก เช่นในการเลือกตั้งปี 1969 ผู้นำแนวร่วมสังคมนิยมเกือบทุกคนติดคุกอยู่จึงสมัครไม่ได้ ในยุคนี้เราต้องมารื้อฟื้นความเข้มแข็งอีกครั้ง เราต้องชัดเจนว่าจะต้องไม่ประนีประนอมจุดยืนของพรรคหลังชัยชนะรอบนี้ เรายังถูกกีดกันไม่ให้จดทะเบียนพรรค เราต้องสู้เรื่องนี้อีกนาน การพูดเก่ง ป่าวประกาศ มันไม่พอ เราต้องทำงานอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อสร้างฐาน ในอนาคตเราจะจัดงานเสวนาสองวันในเดือนเมษายน และเชิญพวกฝ่ายซ้ายรุ่นเก่าๆ มาเล่าเรื่องประสบการณ์ของเขา


 


P.S.M. มีข้อตกลง ไม่ลงแข่งกับพรรคฝ่ายค้านในบางเขต และต้องลงสมัครภายใต้ร่มของฝ่ายค้าน พรรคคุณมองพวกพรรคฝ่ายค้านนี้อย่างไร?
เราต้องลงใต้ร่มของ P.K.R. เพราะเรายังจดทะเบียนไม่ได้และ P.K.R. เขายินดีให้เราลงแบบนี้ เพราะผู้แทนของเราเป็นที่รู้จักในพื้นที่ การใช้โลโก้ของ P.K.R. มันง่ายกว่าการลงสมัครในรูปแบบผู้แทนอิสระ ซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน เรามีนโยบายขั้นพื้นฐานที่ตกลงร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่นเราต่อต้านกฎหมายความมั่นคงภายใน (I.S.A.) การจำกัดสิทธิในการแสดงออกและรวมตัวกัน เรื่องการแทรกแซงศาล ฯลฯ นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านทุกพรรคเข้าร่วม "แนวร่วมสาธารณสุขเพื่อต่อต้านการแปรรูป" ซึ่งมี พรรคเราเป็นแกนนำ เราร่วมมือกับ P.A.S. ในเรื่องการคัดค้านการขึ้นค่าเชื้อเพลิงอีกด้วย  แต่ในเรื่องประเด็นอิสลามและประเด็นเชื้อชาติ เราไม่เห็นด้วยกับพรรคเหล่านี้ การร่วมกันต่อต้านพรรคแนวร่วมรัฐบาลเป็นสิ่งดี แต่ทุกพรรคมีนโยบายของตนเองด้วย มันมีกระแสจากรากหญ้าที่ต้องการให้พรรคฝ่ายค้านร่วมมือกันเพื่อล้มแนวร่วมรัฐบาลที่ครองอำนาจมา 50 ปี


 


สุดท้าย คุณมีคำแนะนำอะไรสำหรับนักสังคมนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน?


ผมคิดว่าทุกประเทศมีประสบการและลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แตกต่างกัน เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การสร้างสังคมนิยมเป็นโครงการระยะยาว แต่ที่สำคัญคือต้องขยันทำงานในการสร้างพรรค ในที่สุดมวลชนจะเห็นว่าเราแตกต่างจากพวกกระแสหลักอย่างไร เราต้องให้ความเคารพกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของฝ่ายซ้ายในประเทศเราและในต่างประเทศ บ่อยครั้งเราจะสับสนและถกเถียงกันเรื่องยุทธวิธีและลัทธิการเมือง แต่ที่ต้องคงเส้นคงวาคือพรรคต้องทำตัวให้มีความหมายสำหรับชนชั้นกรรมาชีพและความใฝ่ฝันของกรรมาชีพ นี่คือเรื่องที่ต้องเอาใจใส่มากๆ เราหวังว่าเราจะพัฒนาได้ต่อไป และเราต้อนรับการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะมิตร เพราะเรานักสังคมนิยมทั้งหลายมีเป้าหมายเดียวกัน


 


กรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคี!!


 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net