Skip to main content
sharethis


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องกรณีชาวบ้านสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นำโดยนายสาลี มะประสิทธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านโคกสัก ตำบลสะกอม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 3 คน ฟ้องกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี หรือกรมเจ้าท่าเดิม ที่ 1 และอธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ที่ 2 เนื่องจากผู้ถูกฟ้องทั้งสองเป็นผู้ทำให้ชายหาดบริเวณตำบลสะกอมพังเสียหาย เนื่องจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณบ้านปากบางสะกอมแล้ว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 ในประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสองละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ด้วยการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยไม่เข้าไปดูแลรักษาชายหาดสะกอม เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย


 


ทั้งนี้ ชาวบ้านตำบลสะกอมได้ฟ้องทั้งสอง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 โดยขอให้ชดเชยค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 192,664,149 บาท โดยผู้ยื่นฟ้องทั้งสามเป็นตัวแทนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการของกรมขนส่งทางน้ำฯ เนื่องจากทำให้ชายหาดบ้านตำบลสะกอม ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ สมบัติของชุมชนพังเสียหาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการประกอบอาชีพประมงและจับสัตว์น้ำบริเวณชายหาด ทำให้ขาดรายได้และขาดประโยชน์จากการได้ใช้ชายหาดสะกอม นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 ถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 9 ปี เป็นเงิน 3,664,149 บาท


 


นอกจากนี้ยังขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดสะกอม ให้กลับมามีสภาพดีใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด ปีละ 21,000,000 บาท รวมระยะเวลา 9 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 189,000,000 บาท รวมเป็นเงินยื่นฟ้องทั้งสิ้น 192,664,149 บาท


 


สำหรับเขื่อนดังกล่าว สร้างขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อช่วยชาวประมงได้รับความสะดวกในการสัญจรทางน้ำและเพื่อกำหนดทิศทางน้ำ แต่ส่งผลให้คลื่นกัดเซาะชายฝั่งอีกด้านหนึ่งของเขื่อนดังกล่าว เพราะเขื่อนได้ดักทรายไว้ จึงไม่สามารถถูกซัดไปถมคืนได้ตามลักษณะทางธรรมชาติ ชายฝั่งจึงถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ และเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงมรสุม


 


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายณัฐชัย พลกล้า หัวหน้าศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 (สงขลา) เปิดเผยว่า ทางกรมฯรับทราบเรื่องนี้แล้ว โดยจะมีการตั้งคณะการทำงานแก้ต่างโดยพนักงานอัยการจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้ แต่ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากกรมฯ ให้เป็นพยานในคดีนี้


 


นายณัฐพล กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเข้าใจของชาวบ้าน ที่เห็นว่าสาเหตุการเกิดน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง มาจากการสร้างเขื่อน แต่ในข้อเท็จจริงนั้นต้องพิสูจน์ก่อนว่า เกิดความเสียหายในระดับที่ชาวบ้านเรียกร้องจริงหรือไม่


 


นายณัฐพล กล่าวว่า ที่ชาวบ้านเรียกร้องมี 2 ประเด็น คือเมื่อมีการกัดเซาะแล้วทำให้ทรัพยากรทางทะเลลดลง แต่พิจารณาจากมูลฟ้องแล้วคิดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ซึ่งจะวิเคราะห์ด้านเดียวไม่ได้ อีกประเด็น คือบริเวณชายหาดที่ถูกกัดเซาะทำให้ตลิ่งสูงชันนั้น เป็นสภาพพื้นที่มาตั้งแต่ในอดีต ที่ชายหาดสูงกว่าระดับผิวน้ำประมาณ 7 - 8 เมตร แต่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็คือ เมื่อก่อนแนวชายหาดยื่นลงไปในทะเลมากกว่าปัจจุบัน


 


นายณัฐพล เปิดเผยต่อว่า สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาหาการกัดเซาะนั้น ที่หน่วยงานรัฐทำมีหลายวิธี เช่น การสร้างโครงสร้างการป้องกันที่มีลักษณะเป็นเกาะอยู่ในทะเล ซึ่งสามารถลดแรงกระแทกของคลื่นได้ และอีกวิธีคือการเติมทราย โดยการขนย้ายทรายจากที่อื่นมาเติมบริเวณจุดที่มีปัญหากัดเซาะ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาแบบต่างๆ นั้นจะต้องมีการทำความเข้าใจด้วย โดยเฉพาะการขนย้ายทราย


 


นายณัฐพล เปิดเผยด้วยว่า ในเรื่องการการย้ายทรายนั้น ได้ทำโครงการเพื่อของบประมาณดำเนินการแล้ว แต่ทางสำนักงบประมาณไม่อนุมัติ โครงการนี้จึงยังทำไม่ได้ ทั้งที่ในการออกแบบก่อสร้างนั้น มีการประเมินการกัดเซาะไว้แล้วว่าในละปีจะเกิดการกัดเซาะเท่าไหร่


 


นายณัฐพล เปิดเผยว่า ทางสำนักงบประมาณไม่เห็นว่าจะมีคุณค่าและความสำคัญของโครงการนี้ เพราะเขาเห็นว่าเป็นการขนทรายมาถม เมื่อถูกกัดเซาะอีกก็เอาทรายมาถมอีก จึงเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งๆ ที่การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะหาดทรายนั้น ต้องใช้วิธีถมทรายจึงจะเหมาะสม ซึ่งสำนักงบประมาณไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตามทางกรมฯ กำลังจะจัดเวทีเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้


 


นายณัฐพล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อสำนักงบประมาณไม่อนุมัติ ทางกรมฯ จึงปรับโครงการโดยเพิ่มโครงสร้างไปด้วย แทนที่จะใช้วิธีเติมทรายอย่างเดียว ก็คือใช้วิธีถมหินแล้วตามด้วยการถมทรายทับลงไป ทางสำนักงบประมาณจึงได้อนุมัติ ซึ่งโครงการรูปแบบนี้ได้ทำไปแล้วในพื้นที่นำร่องที่เกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยขณะนี้เริ่มดำเนินการบริเวณชายฝั่งจังหวัดระยอง


 


นายสาลี กล่าวว่า การกัดเซาะนั้นเกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยแต่ละปีมีการกัดเซาะประมาณ 5 - 10 เมตร ซึ่งเกิดจากการทำเขื่อนยื่นออกไปในทะเล จากที่ในอดีตก่อนมีการสร้างเขื่อนเมื่อถึงฤดูมรสุมมีการกัดเซาะเกิดขึ้น แต่เมื่อผ่านฤดูมรสุมไปแล้วชายฝั่งจะกลับคืนสู่สภาพปกติ อีกทั้งเมื่อ 10 ปีก่อนนั้นไม่มีการทำประชาพิจารณ์สอบถามชาวบ้านก่อนการก่อสร้าง


 


"การฟ้องศาลปกครอง เพื่อต้องการให้การกัดเซาะยุติอีก เพราะถ้ามีการก่อสร้างเขื่อนยื่นออกไปอีกจะยิ่งทำให้การกัดเซาะทวีความรุนแรงขึ้น เราต้องการปกป้องชายหาดของเราและต้องการให้ฟื้นสภาพคืนมาเช่นเดิม ถ้ายังมีการพัฒนาโครงการในรูปแบบเดิม ทั้งชายหาดและหมู่บ้านจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะเพิ่มไปตลอดอีก" นายสาลี กล่าว


 


"การที่หน่วยงานรัฐบอกว่า การกัดเซาะเกิดจากปรากฏการณ์โลกร้อนนั้น มันไม่ใช่ เนื่องจากเมื่อก่อนที่ไม่มีเขื่อนสภาพชายหาดสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่เมื่อมีเขื่อนลูกหลานในหมู่บ้านไม่สามารถมาเที่ยวได้ ส่วนการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง หาปลา จับกุ้งเคยนั้นปัจจุบันไม่สามารถทำได้เช่นเดิมอีก เนื่องจากทิศทางและกระแสน้ำเปลี่ยนไป" นายสาลี กล่าว


 


นายสาลี กล่าวอีกว่า การฟ้องร้องเพื่อต้องให้สังคมได้รับรู้ว่าสิทธิของชุมชน ซึ่งมีสิทธิจะปกป้องชุมชนของตนเอง โดยชาวบ้านได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด โดยเฉพาะบ้านตนห่างจากชายฝั่งเพียง 100 เมตร ทำให้ฤดูมรสุมคนในครอบครัวเกิดความหวาดผวาตลอดเวลา กลัวคลื่นกัดเซาะมาถึงบ้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net