Skip to main content
sharethis


เชฟระดับโลกเมินร่วมโปรเจกต์ 'ขายความจน' กับโรงแรมหรูในไทย (20 มีนาคม 2551)


 







 




 


เชฟ "ฌอง-มิเชล โลแร็ง" กับวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร สำหรับงานกาล่าดินเนอร์ มื้อละ 1 ล้านบาท "Epicurean Masters of the World" ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพ, โรงแรมเลอบัว เมื่อวันที่ 6-11 ก.พ.2550 (ภาพจาก AP)


 


 


 


หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า เชฟชาวฝรั่งเศส 3 ราย ขอถอนตัวจากงานกาล่าดินเนอร์ซึ่งจะจัดขึ้นที่ "โีรงแรมเลอบัว" สเตททาวเวอร์ กรุงเทพ ในวันที่ 5 เมษายน 2551 โดยให้เหตุผลว่า การจัดงานดังกล่าว "เป็นประเด็นล่อแหลมและไม่เหมาะสม" เพราะแขกที่ได้รับเชิญมาร่วมงานจะต้องเป็น "มหาเศรษฐี" เท่านั้น และทางโรงแรมจะพามหาเศรษฐีไปเยี่ยมชม "ชีวิตความเป็นอยู่" ของผู้คนในชนบท เพื่อเรียนรู้ถึง "ความยากจน" ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทย (ในที่นี้คือ จังหวัดสุรินทร์) หลังจากนั้นแขกผู้มีเกียรติจะได้กลับมาดื่มด่ำกับอาหารเลิศรส ซึ่งทางโรงแรมจัดให้เป็นของสมนาคุณ


 


นายดีภัค โอหริ ผู้บริหารของโรงแรมเลอบัวให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานกาล่าดินเนอร์ครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากจน เพราะมหาเศรษฐีที่มาร่วมงานต้องบริจาคเงิน หรือร่วมสมทบทุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภคให้กับประชาชนที่ยากจนในประเทศไทยเป็นการตอบแทนสำหรับอาหารชั้นเลิศและที่พัก 1 คืนในโรงแรมระดับ 5 ดาว


 


แต่ นายอแล็ง โซลิแวร์, นายฌอง-มิเชล โลแร็ง และนายมิเชล ทรามา ซึ่งเป็นเชฟที่มีชื่อเสียงระดับโลก และได้รับเชิญให้มาปรุงอาหารสำหรับงานกาล่าดินเนอร์ของโรงแรมเลอบัว ขอถอนตัวจากงานดังกล่าว หลังจากที่สื่อมวลชนในฝรั่งเศสโจมตีว่างานกาล่าครั้งนี้ใช้ "ความยากจน" มาเป็นจุดขาย แต่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้จริง และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมฝรั่งเศส ด้วยข้อหา "บกพร่องทางศีลธรรม" และ "ไร้รสนิยม" จึงเป็นสาเหตุให้เชฟทั้ง 3 ต้องปฏิเสธที่จะร่วมงานนี้ต่อ


 


นายดีภัคกล่าวว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงทำให้การทาบทามเชฟระดับโลกคนอื่นๆ มาปรุงอาหารแทนเชฟทั้ง 3 คน เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งสำนักข่าวเอพีรายงานเพิ่มเติมว่า มีเชฟถึง 12 รายที่ปฏิเสธข้อเสนอของทางโรงแรมไป


 


อย่างไรก็ตาม งานกาล่าดินเนอร์ในวันที่ 5 เม.ย.ก็ยังดำเนินต่อไป และแขกที่มาร่วมงานทั้ง 50 คนก็ตอบรับคำเชิญของทางโรงแรมเรียบร้อยแล้ว ส่วนเชฟที่หามาแทนได้ในที่สุด "เป็นชาวยุโรป" แต่มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร ทางโรงแรมขอปิดเป็นความลับ เพราะไม่อยากให้เชฟเหล่านั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์จนต้องถอนตัวไปอีกกลุ่ม


 


ในปี 2550 โรงแรมเลอบัวเคยจัดงาน Epicurean Masters of the World หรือ "กาล่าดินเนอร์ มื้อละ 1 ล้านบาท" มาแล้ว เงินรายได้ส่วนหนึ่งนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิชัยพัฒนาและองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน แต่งานครั้งนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย" และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกับแนวทางพระราชดำรัส ว่าด้วยเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง"


 


 


 


 


ครบรอบ 50 ปี เครื่องหมาย "สันติภาพ" (21 มีนาคม 2551)


 







 


จากการประท้วงต่อต้านสงครามและการเคลื่อนไหวเื่พื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศอังกฤษเมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้สัญลักษณ์วงกลมล้อมรอบตัวอักษร N (uclear) และ D (isarmament) กลายเป็นเครื่องหมายแห่งสันติภาพที่แพร่หลายไปทั่วโลก


 


เจอรัลด์ โฮลทัม ผู้ออกแบบเครื่องหมายดังกล่าว และเป็นหนึ่งในศิลปินที่เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามมาโดยตลอด ให้เหตุผลว่า สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์จะถูกจดจำได้ง่ายกว่าข้อความ และวงกลมที่อยู่รอบนอกเป็นตัวแทนของ "โลก"


 


โดยโฮลทัมออกแบบเครื่องหมายดังกล่าวในนามของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์ หรือ Ban the Bomb Movement เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงต่อต้านการผลิตอาวุธ รวมถึงการครอบครองระเบิดนิวเคลียร์ของประเทศมหาอำนาจต่างๆ


 


กลุ่มต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์ก่อตั้งขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่สัญลักษณ์ต่อต้านนิวเคลียร์ซึ่งโฮลทัมออกแบบขึ้น ถูกนำไปใช้ทั่วโลก นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นตัวแทน "สันติภาพ" และการเรียกร้องให้ยุติสงครามทั่วโลก


 


วันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา สัญลักษณ์ดังกล่าวมีอายุครบ 50 ปีแล้ว 



 


สัญลักษณ์แห่งสันติภาพและความยุติธรรม ครบรอบ 50 ปี แต่ที่มาของสัญลักษณ์นี้ เกิดจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ "ระเบิดนิวเคลียร์" หรือ Ban the Bomb Movement ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษ (ภาพจาก Getty Images)


 


 


 


เอ็นจีโอต่างประเทศ จัดอันดับ 5 บริษัทยี้ "สร้างภาพ" ธรรมาภิบาล (23 มีนาคม 2551)


 








 


โครงการ Hall of Shame จัดโดยองค์กร CAI ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน ทำหน้าที่เฝ้าระวังผู้ประกอบการธุรกิจ เปิดเผยผลการจัดอันดับบรรษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม, สร้างภาพปกปิดข้อเท็จจริง, ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม


 


 


 


CAI หรือ Corporate Accountability International เป็นองค์กรสากลที่เฝ้าระวังการดำเนินงานของบริษัทมหาชน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลว่าบริษัทต่างๆ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และดำเนินงานอย่างโปร่งใสหรือไม่


 


เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา องค์กรซีเอไอได้เปิดเผยผลการศึกษาและการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทและบรรษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ยังมีการจัดอันดับบริษัทที่บกพร่องด้านการรักษาธรรมาภิบาล เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลและสาธารณชนใส่ใจตรวจสอบบริษัทดังกล่าวต่อไป โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Hall of Shame


 


บริษัทที่ติดอันดับใน Hall of Shame ได้แก่ เอดีเอ็ม, โตโยต้า, แบล็กวอเตอร์, แมทเทล และวอลมาร์ท ซึ่งองค์กรซีเอไอได้ให้เหตุผลว่า บริษัทเหล่านี้ประชาสัมพันธ์ตัวเองว่าดำเนินงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือสร้างผลกระทบให้กับสังคม รวมทั้งรณรงค์เรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริง บริษัทเหล่านี้กลับมีพฤติกรรมตรงข้ามกับที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อ


 


ทั้งนี้ บริษัทเอดีเอ็ม (ADM: Archer Daniel Midland) ผลิตสินค้าทางการเกษตรหลายอย่าง และมีการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่โครงการลงทุนของเอดีเอ็มในประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่น เพราะเอดีเอ็มกว้านซื้อที่ดินมาปลูกปาล์มจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนในอินโดนีเซียถูกทำลาย และการใช้สารเคมีกับต้นปาล์มส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของอินโดนีเซียและภาวะโลกร้อนด้วย


 


ในส่วนของบริษัทโตโยต้า มีการโฆษณาส่งเสริมภาพลักษณ์ของรถยตร์ไฮบริด โดยกล่าวอ้างว่าโตโยต้าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและต้องการช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ในความเป็นจริง ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าในอเมริกากลับไม่ยอมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการควบคุมและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในกระบวนการผลิตรถยนตร์


 


สำหรับ "แบล็กวอเตอร์" ถูกประณามจากนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ในฐานะที่เป็นบริษัทจัดหาทหารรับจ้างและรับดำเนินกิจการต่างๆ ในประเทศที่มีสงคราม การที่แบล็กวอเตอร์เป็นผู้ได้รับสัมปทานรายใหญ่ในสงครามที่อัฟกานิสถานและอิรัก ถูกโจมตีว่าเป็นการใช้เส้นสายของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช


 


ในขณะที่ "แมทแทล" บริษัทผลิตของเล่นรายใหญ่ ส่งออกสินค้าจำนวนมากไปยังเด็กๆ ทั่วโลก โดยที่สินค้าเหล่านั้นมีสารปนเปื้อนของตะกั่ว และ "วอลมาร์ท" ถูกประท้วงและต่อต้านจากชุมชนในหลายประเทศที่วอลมาร์ทวางโครงการว่าจะสร้างห้างสรรพสินค้า โดยให้เหตุผลว่า วอลมาร์ททำลายระบบกลไกตลาดของชุมชน


 


 


 


ทั่วโลกประท้วงอเมริกา "ยุติสงครามยืดเยื้อ" ในอัฟกานิสถานและอิรัก (15-24 มีนาคม 2551)


 












 


เนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีที่สหรัฐอเมริกาส่งกองทัพเข้าสู่ประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน เพื่อประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในสหรัฐอเมริการวมตัวกันเรียกร้องให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยุติสงครามและถอนทหารออกมา เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม และเพื่อทบทวนบทบาทที่ผิดพลาด หลังจากส่งทหารเข้าไปบุกรุกประเทศอื่นในนามของผู้สร้าง "ประชาธิปไตย" แต่กลับทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าเดิม


 


กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยผู้คนต่างสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงทหารผ่านศึก 200 นายที่เคยร่วมรบในอิรักและอัฟกานิสถานมาก่อน ทหารกลุ่มดังกล่าวใช้ชื่อว่า Winter Soldier จัดงานเสวนาเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งหลายครั้งหลายหน ทหารเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงแก่ประชาชนชาวอิรักเสียเอง นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทบทวนนโยบายทางการทหารเสียใหม่ด้วย


 


ขณะเดียวกัน ผู้่ต่อต้านสงครามในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ออกมาชุมนุมในวาระครบรอบ 5 ปีของการบุกอิรักและอัฟกานิสถานด้วยเช่นกัน โดยประเทศที่มีการประท้วงให้หยุดสงคราม ได้แก่ ญี่ปุ่น, ตุรกี, เกาหลีใต้, จีน, นิคารากัว และอังกฤษ เป็นต้น


 


ผู้ประท้วงในแต่ละประเทศไปชุมนุมกันหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็เดินขบวนไปตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสาธารณชน


 


ผู้ประท้วงต่อต้านสงครามในอเมริกาใส่หน้ากากเพื่อสื่อถึง "ความตาย" (ภาพจาก Getty Images)


 



 


ชายชาวนิคารากัวถือธงชาติอิรักร่วมเดินขบวนต่อต้านสงคราม (ภาพจาก AFP)


 



ผู้ชุมนุมชาวญี่ปุ่นชูป้ายประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ (ภาพจาก Reuters)


 



กลุ่มผู้ประท้วงในตุรกี (ภาพจาก Getty Images)


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net