Skip to main content
sharethis


สมชาย ปรีชาศิลปกุล : สถานะและข้อจำกัดของขบวนการสิทธิชุมชนในสังคมไทย


งานรำลึก 100 วัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์


เวทีวิชาการ "วนิดากับคนจนและการต่อสู้ของคนรากหญ้า: อดีต ปัจจุบัน อนาคต"


15 มีนาคม 2551


 


 


 


 


 


ถ้าพูดถึงขบวนการประชาชนในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาที่มีอยู่หลายกลุ่ม เช่น ขบวนการเกษตรกร ขบวนการแรงงาน ขบวนการสลัม ซึ่งเคลื่อนไหวในสถานการณ์ประเด็นต่างๆ ในสังคม ผมคิดว่า ขบวนการขององค์กรชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรของตนเองจากการคุกคามของการพัฒนาของรัฐ เช่น ชาวบ้านที่บ้านกรูด ปากมูล จะนะ เรียกโดยรวมว่า "ขบวนการสิทธิชุมชน" เป็นขบวนการที่เข้มแข็งที่สุดในสังคมไทยเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ


 


เราจะอธิบายได้อย่างไรว่า ขบวนการสิทธิชุมชนเข้มแข็ง อย่างน้อยๆ มันมีประเด็นที่เห็นคือ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิชุมชนที่ชาวบ้านเป็นฐานที่สำคัญ มันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ในหลายเรื่อง นโยบายของรัฐที่ไม่เคยถูกตั้งคำถามเลย ถูกตั้งคำถามเพิ่มมากขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน นโยบายพลังงาน การเคลื่อนไหวขององค์กรชาวบ้านทำให้สังคมเห็นว่า โครงการของรัฐมีประโยชน์ แต่ชาวบ้านมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในเชิงนโยบาย มันเริ่มจะเป็นสิทธิความชอบธรรมของกลุ่มองค์กรชาวบ้านในการที่จะตั้งคำถามกับโครงการต่างๆ ที่รุกเข้ามาในท้องถิ่นว่า เขามีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตตนเองมากน้อยขนาดไหน


 


นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ หลายประเด็นได้ถูกทำให้เป็นสถาบัน คือเป็นความสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้แล้ว เช่น เรื่องสิทธิชุมชน เมื่อไรที่มีการสร้างเขื่อนหรือโครงการของรัฐ คำว่า "สิทธิชุมชน" จะถูกดึงเข้ามา ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ในเชิงความหมาย สิ่งที่เรียกว่าสิทธิชุมชนได้ถูกขยายความ ทำให้มีความหมายมากขึ้น อันนี้ไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จทั้งหมด บางที่สำเร็จ บางที่ล้มเหลว แต่มันได้เป็นคำๆ หนึ่งที่ชาวบ้านหรือนักวิชาการหยิบมาใช้ได้อย่างมีพลัง


 


ตัวอย่างง่ายๆ ที่เป็นภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลง ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เขียนเรื่องสิทธิชุมชนไว้ หลังปี 2540 ชาวบ้านหยิบรัฐธรรมนูญมาใช้มากเป็นพิเศษ และได้พบปัญหาว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับก็ถือว่ายังไม่มีสิทธิ เมื่อมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2550 ก็ได้มีการตัดข้อความบางอย่างที่เป็นปัญหาสำหรับการเคลื่อนไหวของชาวบ้านคือคำว่า "ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้" อย่างน้อยการเคลื่อนไหวในช่วง 10 ปี มันได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในระบบกฎหมายหรือในระดับสถาบัน แล้วเกิดความต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขึ้น


 


ถ้าเปรียบเทียบกับขบวนการอื่นๆ ในสังคมไทยที่เคลื่อนไหวอยู่มากมาย มันมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น การเคลื่อนไหวของกรรมกร/ผู้ใช้แรงงาน ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหรือในระดับสถาบันเกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน ผมคิดว่ามีอยู่น้อยมาก ไม่ได้หมายความว่ากรรมกรไม่ได้ประท้วง ประเด็นเคลื่อนไหวของกรรมกรคือ ค่าแรงขั้นต่ำ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ 170-180 บาท โดยที่ไม่สามารถผลักเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในระดับสาธารณะ หรือมีความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหรือสถาบันได้


 


ในกรณีคุณสมบุญ สีคำดอกแค ผู้นำแรงงานที่เป็นโรคปอดฝุ่นฝ้ายจากการทำงานในโรงงานทอผ้า ปอดเสียไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  คุณสมบุญได้ฟ้องศาลแรงงาน ซึ่งมีสโลแกนว่า "รวดเร็ว ฉับไว เป็นธรรม" เพราะคดีแรงงานถ้าช้า ผู้ใช้แรงงานจะเสียเปรียบ  ศาลแรงงานชั้นต้นใช้เวลาพิจารณาคดีว่าคุณสมบุญเป็นโรคปอดหรือไม่ 8 ปี เมื่อฝ่ายนายจ้างฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานใช้เวลาพิจารณาคดีอีก รวม 2 ช่วง เกือบๆ 11 ปี ก็มีคำพิพากษาที่น่าตะลึงพรึงเพริดมากว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ความว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไปรวบรวมข้อเท็จจริงมาใหม่  ผู้ใช้แรงงานค่าจ้างวันละร้อยกว่าบาท ฟ้องศาลมาแล้ว 11 ปี  


 


ประเด็นนี้ ผมคิดว่าเป็นความสำคัญของการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน แต่ในระดับสาธารณะไม่มีการถกเถียงในเรื่องนี้  การเคลื่อนไหวของกรรมกรไม่มีพลังเท่ากับการเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิชุมชน เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่หลังสิ้นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในปี 2519


 


สิ่งที่ขบวนการสิทธิชุมชนเรียกร้องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือ อำนาจในการจัดการทรัพยากรที่ทำให้ตนเองยืนอยู่ในชุมชนได้ แต่สิ่งที่เราจะต้องคิดถึงมากขึ้นคือ กลุ่มหรือชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ในสังคมไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกว้างขวาง  


 


คนในภาคเกษตรไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการยืนอยู่บนภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว ต้องทำอย่างอื่นด้วย ในภาคแรงงาน ปัจจุบันระบบการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือเหมาช่วงกำลังขยายตัวมากขึ้น  ปรากฏการณ์เหล่านี้ คนที่อยู่ในขบวนการสิทธิชุมชนต้องคิดอะไรมากขึ้น การอยู่ในชุมชนด้วยขบวนการสิทธิชุมชนมันไม่พอ มันกำลังจะเป็นข้อจำกัดของขบวนการสิทธิชุมชนหรือเปล่า...???


 


ขบวนการสิทธิชุมชนได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน แต่ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ทำให้การพัฒนารุกเข้ามา ทำให้ระบบการผลิตเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่า เราคงต้องคิดถึงเรื่องอะไรต่างๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น


 


อย่างแรก เราต้องตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มันกำลังเกิดขึ้นอย่างมากและมีผลกระทบกับท้องถิ่น การอยู่ในท้องถิ่นอย่างเดียวโดยขบวนการสิทธิชุมชนกำลังเป็นเงื่อนไขที่จำกัดมากขึ้น คือทำให้เราอยู่ไม่ได้มากขึ้น


 


อย่างที่สอง เราควรต้องคิดถึงปัญหาของคนจนในมิติที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเราอาจต้องเผชิญกับมันด้วย ผู้ใช้แรงงานก็คือคนจนอีกกลุ่ม  ซึ่งในสังคมไทย เกษตรกรที่ยากไร้ มักจะกลายเป็นภาคแรงงานที่ยากจน


 


อย่างที่สาม ข้อเสนอขององค์กรประชาชนรวมทั้งขบวนการสิทธิชุมชนเป็นไปในลักษณะที่เรียกร้องต่อรัฐมากขึ้น ในขณะที่มีนัยยะการต่อสู้ทางชนชั้นน้อยลง เราพูดถึงความเป็นธรรมในสังคมไทยน้อยลง  


 


ในอดีต กรรมกรต่อสู้เพราะมีนายทุนกดขี่ ชาวนาต่อสู้เพราะมีเจ้าที่ดินกดขี่อยู่ เพราะฉะนั้นต้องจัดการกับคนที่กดขี่เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้วย เช่น ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน แต่ในช่วงทศวรรษหลัง การเรียกร้องทั้งหมดเป็นการเรียกร้องต่อรัฐ และเป็นการเรียกร้องในเชิงการสร้างกลไกบางอย่าง เช่น ต้องมีรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) EIA ทำมาไม่ดี เราก็วิจารณ์ แต่มีผลกระทบไปไม่ถึงคนที่อยู่เบื้องหลัง EIA องค์กรประชาชนเรียกร้องอำนาจบางอย่างเพิ่มมากขึ้นจากรัฐ แต่การพูดถึงความเป็นธรรมในสังคมมันหายไป


เมื่อองค์กรประชาชนพูดถึงความเป็นธรรมในสังคมน้อยลง ข้อเรียกร้องต่างๆ บางทีรัฐหรือคนที่มีสถานะก็ไม่ปฏิเสธ เพราะไม่กระทบต่อสถานะของตนเอง  


 


คำถามของผมคือว่า ขบวนการประชาชนที่กำลังเดินหน้าไปโดยไม่แตะเรื่องความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมในสังคม มันจะไปได้ไกลขนาดไหน ข้อเรียกร้อง เช่น รัฐสวัสดิการ สิทธิในการรักษาพยาบาล การศึกษา ฯลฯ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายโดยการเรียกร้องที่ไม่แตะเรื่องความเป็นธรรมในสังคม


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net