Skip to main content
sharethis

อ.อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ 


Shukur2003@yahoo.co.uk  


http://www.oknation.net/blog/shukur/2008/03/22/entry-1


 




 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัด  ผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


 


1. บทนำ


เมื่อ 8 มีนาคม 2551 คณะกรรมการเลือกตั้งมาเลเซีย ประกาศว่าพรรครัฐบาล (เดิม) นำโดยพรรค UMNO (United Malays National Organization) เป็นพรรคการเมืองหลักที่เป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย MCA (Malaysian Chinese Association) , พรรคสภาอินเดียมาเลเซีย MIC (Malaysian Indian Congress) , พรรคเอกภาพภูมิบุตรอนุรักษนิยม Gerakan, PPBB (Parti Pesaka Bumiputera Bersatu) , พรรคแห่งชาติซาราวัก SNP (Sarawak National Party ) พรรคเอกภาพประชาชนซาราวัก พรรคซาบาห์ก้าวหน้า และพรรคเสรีประชาธิปไตย คว้าที่นั่งในรัฐสภาไปได้ 137 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 เก้าอี้ หรือได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ (จากรายงานของเบอร์นามา สำนักข่าวแห่งชาติของแดนเสือเหลือง) ที่เหลืออีก 38 เปอร์เซ็นต์เป็นของพรรคพันธมิตรกฝ่ายค้านโดยใช้ชื่อว่า Barisan Alternatif หรือ กลุ่มพันธมิตรทางเลือกคือ พรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia) พรรคกิจประชาธิปไตย DAP (Democratic Action Party) เป็นพรรคตัวแทนของคนมาเลเซียที่เป็นคนจีน พรรค PRM และ พรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party , KeADILan) ในขณะเดียวกันพรรคพันธมิตร ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง ใน ห้ารัฐตอนเหนือ ซึ่งจะส่งผลการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของมาเลเซียในอนาต


อย่างแน่นอน


 


 


2. เหตุผลพรรคร่วมฝ่ายค้านมีเสียงเพิ่มในสภา

               พรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party or KeADILan) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็น ของอดีตรองนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม (ถึงแม้ท่านถูกห้ามลงเลือกตั้ง) ได้เก้าอี้ในรัฐสภาไป 31 ที่นั่ง ถือว่ามากที่สุดในบรรดาพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด (มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งพรรคเกอร์อาดิลันได้ที่นั่งในรัฐสภาชุดปัจจุบันเพียงที่เดียวเท่านั้น)

สำหรับพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) หรือพรรคปาส เป็นพรรคการเมืองในมาเลเซียที่นิยมแนวทางทางศาสนาอิสลาม พยายามต่อสู้เพื่อผลักดันให้นำหลักนิติศาสตร์อิสลามเป็นรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศได้ถึง 23 ที่นั่ง และพรรคพรรคกิจประชาธิปไตย DAP (Democratic Action Party) อันเป็นพรรคคนจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของนายอันวาร์ ได้ 28 ที่นั่ง

              ที่สำคัญพรรครัฐบาลมาเลเซีย (BN-UMNO) ต้องแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นถึง 5 รัฐ คืองกลันตัน ปีนัง สลังงอร์ เคดาห์ และเปรัก โดยที่พรรคยุติธรรมแห่งชาติหรือพรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party or KeADILan) ร่วมกับพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) หรือพรรคปาส สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในสลังงอร์ได้ อันเป็นรัฐใจกลางเมือง ของมาเลเซีย

              ในรัฐเคดาห์ พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือปาสร่วมกับพรรคยุติธรรมแห่งชาติ สามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นได้ (เคดาห์นี้ เป็นบ้านเกิดของนายมหาเธร์ มูหัมมัดอดีตผู้นำมาเลเซีย)

ที่รัฐกลันตันพรรคพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือปาส ยังคงรักษารัฐนี้ไว้ได้ แถมยังได้คะแนนแบบถล่มทลาย โดยพรรคอัมโน ได้รับเลือกตั้งเพียง 6 ที่นั่ง จาก 44 ที่นั่ง ส่วนสมาชิกรัฐสภาในรัฐนี้ อัมโนได้เพียง 2 จาก 14 ที่นั่ง

              ในรัฐปีนังพรรค DAP (ของคนจีน) สามารถร่วมมือกับพรรคยุติธรรมแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐปีนัง โดยมีเสียงของพรรคพาสอีก 1 เสียงเข้ามาร่วมด้วย



               ส่วนที่รัฐเปรัก พรรคยุติธรรมแห่งชาติ ได้รร่วมมือกับพรรค DAP และพรรคปาส เพื่อจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น สามารถโค่นล้มพรรครัฐบาลที่ปกครองมา 50 กว่าปี แต่ต้องพยายามอย่างหนักในการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่น เพราะด้วยคะแนนที่เป็นชัยชนะที่ไม่มากนัก คือ 31 ต่อ 28 เสียง 

              


ผลการเลือกตั้งมาเลเซียที่เปรียบเสมือนสึนามิทางการเมืองครั้งนี้ซึ่งพันธมิตร ฝ่ายค้านได้ ประกาศศักดาคว้าที่นั่งจำนวนมาก รวมทั้งยึดเก้าอี้ที่นั่งในกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงครั้งนี้นักวิเคราะห์ได้ให้เหตุผลดังนี้


2.1   ความไม่ยุติธรรมในการดำเนินนโยบายภูมิบุตรซึ่งรัฐบาลเปิดโอกาสเอื้อประโยชน์ต่อคนเชื้อสายมลายูไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง  เศรษฐกิจและสังคม ยังความไม่พอใจที่เพิ่มสูงขึ้นของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนและอินเดีย ที่อดกลั้นมานานต่อนโยบายภูมิบุตร จนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของชนเชื่อสายอินเดียต่อรัฐบาลของนายอับดุเลาะห์ อะหมัด บัดดาวี[1] ถึงแม้ในกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) จะมีพรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย MCA (Malaysian Chinese Association) และพรรคสภาอินเดียมาเลเซีย MIC (Malaysian Indian Congress) แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขาหลายคนแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้โดยผู้มีสิทธ์ออกเสียง ลงโทษพวกเขาที่ไม่คัดค้านนโยบายภูมิบุตร และไม่สนใจการประท้วงของชนกลุ่มน้อยที่ผ่านมา


2.2   ปัญหาการคอรัปชันและการเล่นพรรคเล่นพวกส่งผลให้รัฐมนตรีอย่างน้อย 4 คนสอบตกอย่างผิดความคาดหมายด้วยเรื่องอื้อฉาวคอร์รัปชัน ในขณะที่การเล่นพรรคเล่นพวกที่คนในพรรคอัมโนยังรู้สึกไม่สบายใจคือการที่นายอับดุเลาะห์ อะหมัด บัดดาวีให้อำนาจกับลูกเขยวัยสามสิบต้นที่ชื่อ นายคอยรี กอมารุดดีนในตำแหน่งสำคัญของพรรคอัมโนคือรองประธานกลุ่มยุวชนพรรค  แล้วให้อำนาจจัดที่นั่ง ส.ส.รัฐเนกรีซัมบีลันที่ฐานเสียงของอัมโนแข็งที่สุดเพื่อที่ว่านายคอยรีจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่[2] 


2.3   ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ราคาน้ำมันและราคาอาหารสูงขึ้นจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมราคาได้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คะแนนเสียงของรัฐบาลลดลง


2.4   นโยบายของ พรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party or KeADILan) โดยนายอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิมคนหนึ่ง  ประกาศชูนโยบายยกเลิกการใช้แผนเศรษฐกิจที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนมลายูมุสลิม  เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนเชื้อชาติอื่นๆ  ปรากฎว่าพรรคของเขาได้รับที่นั่งส.ส. ระดับชาติสูงสุดของพรรคฝ่ายค้านคือ 31 ที่นั่ง[3] 


2.5   การร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งของพรรคพันธมิตร ฝ่ายค้านโดยเฉพาะนายอันวาร์  อิบรอฮีมสามารถรวมพลังพันธมิตร 3 ฝ่าย ซึ่งแตกต่างทั้งเชื้อชาติและอุดมการณ์..โดยสามพรรคดังกล่าวไม่ส่งส่งผู้สมัครลงแข่งกันเอง แต่ใช้วิธีรวมกลุ่มส่งผู้สมัครคนเดียวในแต่ละเขต


3. อนาคตการเมืองการปกครองมาเลเซีย


การที่พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) คว้าที่นั่งในรัฐสภาไปได้ 137 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 เก้าอี้ หรือได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 62 เปอร์เซ็นต์และ ต้องแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นถึง 5 รัฐ คือ กลันตัน ปีนัง สลังงอร์ เคดาห์ และเปรัก ให้ พรรคพันธมิตร ฝ่ายค้านจะยังผลกระทบต่ออนาคตการเมืองการปกครองมาเลเซียดังนี้


3.1     นโยบายการพัฒนาประเทศภายใน ปี 2020[4] อาจจะไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายและทันเวลา อันเนื่องมาจากจะต้องเผชิญปัญหาในการบริหารประเทศ เพราะไม่สามารถครองเสียงในสภาได้มากกว่า 2 ใน 3 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีปัญหาในการออกกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่า 325,000 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้


3.2     ประชาชนจะมีเสรีภาพในการปกระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซียมากขึ้น


เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลกลางในอดีตสามารถควบคุมองค์กรของรัฐและเอกชนได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จโดยเฉพาะสื่อแต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้องค์กรต่างๆโดยเฉพาะสื่อมวลชนกล้ามากขึ้นในการวิภาควิจารณ์การทำงานของภาครัฐ ในขณะเดียวกันจะขยายฐานการเมืองภาคประชาชนให้มีโอกาสตรวจสอบรัฐบาลของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ของนายอับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี


3.3     การปรับเปลี่ยนนโยบายภูมิบุตร

            เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศมาเลเซีย  ประกอบด้วยประชากรชาติพันธุ์ใหญ่ๆ 3 เชื้อชาติ ได้แก่ มลายู จีน และอินเดีย ความเป็นพหุสังคมเช่นนี้ นโยบายภูมิบุตรได้ก่อ
ปัญหาสังคม  ฐานความเชื่อของของรัฐบาลที่คิดว่าประเทศนี้เป็นของตน นำไปสู่การสร้างความเป็นอภิสิทธิ์ชนให้แก่พวกมลายู โดยอาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คนมลายูมีอภิสิทธิด้านต่างๆ  เช่น การทำงานราชการ การศึกษา ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น จะไม่เหมาะสมในอนาคตอีกต่อไปเพราะคนเชื้อสายจีน และอินเดียในอดีตอพยพเข้ามาอยู่ในมาเลเซียแต่คนรุ่นใหม่เกิดในมาเลเซียจึงมีสิทธิและเสรีภาพทุกด้านเหมือนคนมลายู  ดังนั้นท้ายสุดนโยบายภูมิบุตรอาจถูกยกเลิกหรือปรับปรนให้เกิดความยุติธรรมต่อคนเชื้อสายจีน และอินเดียมากขึ้นเป็นอย่างน้อย



3.4     การเมืองอาจเปลี่ยนขั๋วในการเลือกตั้งครั้งต่อไปขึ้นอยู่กับการบริหารรัฐท้องถิ่นทั้งห้าของฝ่ายค้าน


แนวร่วมฝ่ายค้านจะสามารถเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริหารรัฐบาลท้องถิ่นทั้งห้ารัฐของฝ่ายค้านและไม่ใช่ง่ายเช่นกันสำหรับพรรคพรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party or KeADILan) และพรรค DAP (ของคนจีน) ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์การปกครองท้องถิ่นเพราะที่ผ่านมา มีแต่พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) หรือพรรคปาสเท่านั้นที่มีประสบการณ์ปกครองระดับรัฐในขณะเดียวกันการเป็นรัฐบาลผสมในระดับรัฐก็ไม่ใช่ง่ายเช่นกันในการประสานประโยชน์ให้ลงตัวของแต่ละพรรคที่มี่นโยบายต่างกัน


                        


4. สรุป


ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ล่าสุดของมาเลเซียที่เปรียบเสมือนสึนามิทางการเมืองครั้งนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของมาเลเซียในอนาคต อย่างแน่นอน และ ประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะผู้นำอาจ จะต้องเผชิญปัญหาในการบริหารประเทศ เนื่องจากไม่สามารถครองเสียงในสภาได้มากกว่า 2 ใน 3 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีปัญหาในการออกกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่า 325,000 ล้านดอลลาร์ที่ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ และมาเลเซียอาจจะประสบปัญหาตลาดเงินอันส่งผลกระทบด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวต่อไป  ในขณะเดียวกันจะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือการตรวจสอบขอพันธมิตรฝ่ายค้านในการการตรวจสอบปัญหาคณธรรม  จริยธรรมและธรรมมาภิบาลของรัฐบาลและยังท้าทายการบริหารงานท้องถิ่นในห้ารัฐของันธมิตรฝ่ายค้านซึ่งหากพันธมิตรฝ่ายค้านแสดงฝีมือปกครองระดับรัฐได้ ก็เท่ากับพิสูจน์ให้ชาวมาเลเซียเห็นว่าพวกเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้และ คงไม่ใช่เรื่องยากที่พวกเขาจะก้าวไปถึงขั้นได้เป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า


 


 


หมายเหตุ


บทความนี้เรียบเรียงจาก


1.ชบา จิตต์ประทุม. ตามรอยการเมืองมาเลเซีย. นสพ.มติชนรายวัน วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10958 หน้า 6


2. อับดุลสุโก ดินอะ. 2551.ผลการเลือกตั้งในมาเลเซีย. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2551 จาก


http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=710


3.http://www.dnaindia.com/report.asp?NewsID=1135856


4. http://www.harakahdaily.net/


5. http://www.keadilanrakyat.org/


6. http://www.malaysiakini.com/


7. http://www.utusan.com.my/


 




[1] See…Protect Tamils in Malaysia, Karunanidhi urges PM. http://www.dnaindia.com/report.asp?NewsID=1135856



[2] นายคอยรี กอมารุดดีน ได้ตำแหน่ง ส.ส. โดยชนะผู้สมัครฝ่ายค้านเพียงห้าพันคะแนน  และต้องนับคะแนนครั้งที่สองแบบคลุมเครือ



[3] แสดงว่าชาวมลายูมุสลิมเองก็คำนึงถึงความสำคัญของความยุติธรรมมากกว่าความเป็นเชื้อชาตินิยมถึงแม้นโยบายนี้จะเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธอย่างรุนแรงจากชาวมลายูมุสลิม


 



[4] ภารกิจของประเทศภายใต้เงื่อนเวลาที่วางไว้ได้แก่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2020 คือในอีก 12 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ โดยอาศัยพื้นฐานสถานะของประเทศในปัจจุบันที่สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวมดี และได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ ได้รับการยอมรับจากสหรัฐให้เป็นประเทศตัวกลางเพื่อเชื่อมกับประเทศโลกมุสลิม ได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศที่นำการพัฒนาของมาเลเซียไปเป็นต้นแบบ และการนำตนเองไปเข้าร่วมในเวทีระดับโลกหลายเวที เช่น World Economic Forum โดยเริ่มจากภาคใต้ที่รัฐยะโฮร์ในโครงการ IDR  ภาคเหนือที่รัฐปะลิศ เคดาห์ ปีนัง เปรัก ในโครงการ NCER  ภาคตะวันออกที่รัฐกลันตัน ตรังกานู ปะหัง ในโครงการ ECER รัฐซาราวักในโครงการ SCORE รัฐซาบาห์ในโครงการ SDR ซึ่งรัฐบาลได้เปิดตัวไปครบทุกโครงการแล้วตั้งแต่ปี 2007 (โปรดดู ชบา จิตต์ประทุม. ตามรอยการเมืองมาเลเซีย. นสพ.มติชนรายวัน วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10958 หน้า 6)



 






 



 




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net