Skip to main content
sharethis

 



 



 


พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย จำนวน 200 คน นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข รวมตัวกันบริเวณใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2551 เวลา 10.00 น. และได้เดินรณรงค์กล่าวปราศัยและแจกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อเข้าพบกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน


 


เวลา 13.00 น. กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เข้าพบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องและได้ส่งตัวแทนกลุ่มเข้าเจรจากับ รมต.แรงงาน นางอุไรวรรณ เทียนทอง สำหรับข้อเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 233 บาทเท่ากันทั่วประเทศ  นางอุไรวรรณ ได้แสดงความเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สูงเกินไป องค์กรแรงงานอื่นยื่นข้อเรียกร้องต่ำกว่านี้ และยืนยันว่าการพิจารณาในการขึ้นค่าแรงต้องฟังความเห็นของฝ่ายนายจ้าง


 


ในส่วนของข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานในการให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรงหรือให้พนักงานในระบบรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์ สภาพการจ้างและข้อตกลงสภาพการจ้างเท่าเทียมกับพนักงานประจำนั้น นางอุไรวรรณได้ยืนยันว่าให้ดูผลทางปฏิบัติ หลังจากที่กฏหมายแรงงานที่ผ่านการแก้ไขโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีผลบังคับใช้เสียก่อน และต้องรอดูผลการตีความของศาลก่อนด้วยว่ามีปัญหาหรือไม่


 


สำหรับข้อเรียกร้องให้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.). ขยายสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 350 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 400 บาทต่อเดือน และขยายระยะเวลา 6 ปีเป็น 12 ปี และให้นำเงินดอกผลของกองทุนประกันสังคม มาจ่ายให้ผู้ประกันตนที่มีบุตร และกำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาได้รับเงินช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนเป็นเงินคนละ 2,000 บาท ในวันที่ 1พฤษภาคม 2551 ขยายสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมจากเดิม 500 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อปี นางอุไรวรรณรับแต่เพียงว่า จะนำข้อเสนอเฉพาะที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฏหมายไปพิจารณาปรับแก้โดยใช้วิธีการคำนวนทางคณิตศาสตร์ สำหรับขอเสนอที่ยังไม่ได้ระบุไว้ในกฏหมายจะยังไม่พิจารณา


 


ในกรณีข้อพิพาทแรงงานบริษัทไทยอินดัสเตรียสแก๊ส เนื่องจากบริษัทใช้สัญญาจ้างเหมาค่าแรงไม่เป็นธรรมและเลิกจ้างพนักงาน 9 คน ทางกระทรวงจะนัดหมายนายจ้างให้มาเจรจาภายในสัปดาห์หน้า


 


ในส่วนของข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการที่บริษัทมอลลิเก้เฮลแคร์เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานเป็นการเร่งด่วน นางอุไรวรรณ ได้มอบหมายให้ นายอาฑิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากคนงานอีกครั้ง แต่มีข้อสังเกตุในระหว่างการเจรจาว่า ข้าราชการระดับสูงท่านหนึ่งได้ระบุชัดเจนไปแล้วว่า กรณีพิพาทดังกล่าวเป็นปัญหาส่วนตัวระหว่างนายจ้างกับประธานสหภาพเท่านั้น


 


"รัฐมนตรีไม่ได้แสดงอาการว่ารับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของพวกเราเลย ชอบพูดตัดบท และโยนปัญหาไปให้ข้าราชการ เรามีปัญหากับนายจ้างจึงต้องหันมาพึ่งกระทรวงแรงงาน แต่เมื่อมาพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวง  เราพบว่าเขาพูดเหมือนกันกับที่นายจ้างของเราพูดแทบจะคำต่อคำ กระทรวงแรงงานน่าจะเปลี่ยนไปเป็นกระทรวงนายจ้างมากกว่า" นี่เป็นคำพูดของผู้นำสหภาพท่านหนึ่งที่ได้เอ่ยขึ้นอย่างเหนื่อยอ่อนหลังจากที่ออกมาจากห้องประชุม


 


หลังการเจรจา นายสมยศ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า จากการพูดคุยกับ นางอุไรวรรณ เทียนทอง ทำให้พบว่า  รัฐมนตรีท่านนี้ไม่มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ขาดความกล้าหาญที่จะริเริ่มหรือตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน เป็นนักการเมืองที่ปล่อยตัวให้ข้าราชการครอบงำ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็มักจะโยนให้เป็นหน้าที่ของศาล ไม่รู้ว่าจะมีแรงงานสัมพันธ์ไว้ทำไม


 


เมื่อท่าทีในการแก้ไขปัญหาของเจ้ากระทรวงเป็นอย่างนี้ การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในจังหวะต่อไปคงจะต้องพุ่งเป้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น เพราะกระทรวงแรงงานไม่ได้เป็นความหวังของผู้ใช้แรงงานเสียแล้วนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย (พสป.) กล่าวทิ้งท้าย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net