Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวอิระวดีรายงานเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาว่า องค์กรเพื่อสิทธิมนุษย์ชนของไทยได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำระดับสูงของไทยอย่างหนัก หลังจากทางรัฐบาลไทยแถลงการณ์จะสนับสนุนรัฐบาลพม่าต่อไป ในขณะที่รัฐบาลพม่ายังละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนของตน


 


นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยรับปากจะให้เงินกู้จำนวน 4 พันล้านบาทแก่รัฐบาลพม่าอีกครั้ง ในระหว่างเยือนพม่าเพื่อหารือและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจพร้อมกับนายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช ในสัปดาห์ก่อน


 


อย่างไรก็ตาม ธนาคารการค้าต่างประเทศของพม่าได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ดังกล่าวกับธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของไทยเมื่อ ปี 2548 ในสมัยการบริหารประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขณะที่นายนพดลยืนยันว่า ไทยเตรียมเดินหน้าโรงการก่อสร้างเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินอย่างแน่นอนแล้ว ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม


 


ด้าน นายสมชาย  หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า "ผมคิดว่านโยบายด้านการต่างประเทศของไทยที่มีต่อพม่าควรพิจารณาถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่าเป็นหลัก ไม่ควรที่จะคำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว รัฐบาลไทยที่มาจากประชาธิปไตยไม่ควรสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า การสนับสนุนและการทำธุรกิจร่วมกับรัฐบาลพม่าเป็นการยืดเวลาของอำนาจเผด็จการให้ยาวนานออกไป พวกเขา (รัฐบาลพม่า) จะนำเงินของเราในการกดขี่ข่มเหงประชาชนของตนเอง เพราะพม่าไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย ปัญหาภายในต่างๆ ของพม่าจึงไม่สามารถแก้ไขได้ และไทยเองจะได้รับผลกระทบคือ จำนวนผู้ที่เพิ่มมากขึ้น แรงงานและปัญหายาเสพติดเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน"


 


ทั้งนี้ โครงการสร้างเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากขาดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี อย่างไรก็ตาม  ไทยมีแผนที่จะสร้างเขื่อนท่าซางตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยบริษัท MDX ของไทยได้ทำสัญญาร่วมกับพม่าเมื่อปี 2545 เพื่อร่วมสร้างโครงการดังกล่าว


 


นักสิ่งแวดล้อมระบุว่า เขื่อนท่าซางมีกำลังผลิตถึง 7,110 เมกกะวัตต์ และเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่จะสร้างบนแม่น้ำสาละวินนั้นจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตรในรัฐฉาน และจะส่งผลให้ ชาวบ้านในพื้นที่หลายพันคนไร้ที่อยู่อาศัย


 


นายจายจาย สมาชิกของเครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน (Salween Watch) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรในพื้นที่ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของพม่ากล่าวว่า ไทยจะต้องรับภาระผู้ไร้ที่อยู่หลายพันคนจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว รัฐบาลไทยรู้ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งภายในประเทศพม่าดี แต่กลับฉวยโอกาสนำทรัพยากรออกจากพม่า รัฐบาลไทยคิดถึงแต่ประโยชน์ด้านทางธุรกิจพลังงานจากโครงการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ ไม่ได้คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชนในพม่าที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเลย


 


อย่างไรก็ตาม พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณแม่น้ำสาละวินนั้นเป็นพื้นที่การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังทหารกะเหรี่ยงและกองกำลังทหารไทยใหญ่


 


ด้านนักเคลื่อนไหวกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีแผนก่อสร้างเขื่อนร่วมกับรัฐบาลพม่ามากกว่า 7 เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน แต่โครงการต้องหยุดชะงักหลังเกิดการปฏิวัติทางการเมืองของไทยในเดือนกันยายนปี 2549 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณบริหารประเทศ มีนโยบายให้ความร่วมมือกับรัฐบาลพม่าอย่างดีเยี่ยมในระหว่าง ปี 2544 - 2549


 


หนังสือพิมพ์ The New Light of  Myanmar สื่อท้องถิ่นของรัฐบาลพม่ารายงานว่า นายสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรีของไทยได้ไปเยือนกรุงเนย์ปีดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่าเพื่อพบปะกับนายพลอาวุโสตานฉ่วยเมื่อสัปดาห์ก่อน เขาได้ให้สัมภาษณ์หลังจากการเยือนพม่าว่า ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีสันติภาพและมีระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้นายสมัครยังเห็นว่า นายพลอาวุโสตานฉ่วยเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เพราะเห็นนายพลอาวุโสสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกเช้า


 


"การเข่นฆ่าและการกดขี่ข่มเหงถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในพม่า แต่เราควรทำความเข้าใจความเป็นจริง ปกติแล้วผู้คนมักจะมองพม่าเพียงด้านเดียว แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ" นายสมัครกล่าวเพิ่มเติมว่า


 


ด้านนายนพดล เปิดเผยถึงรายละเอียดในระหว่างที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้เข้าพบปะหารือกันว่า ไทยได้เสนอถึงแผนพัฒนาท่าเรือทวาย ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ทางตอนใต้ของพม่า เพื่อเปิดเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่างสองประเทศ  โดยไทยไม่เห็นด้วยกับนโยบายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประเทศทางตะวันตกต่อพม่า ซึ่งควรจะมีการเจรจาที่อาจจะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาประเทศพม่าได้มากกว่าการลงโทษ


 


จากสถิติของกรมการค้าต่างประเทศของไทยระบุว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่าเป็นอันดับที่สาม ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.3 พันล้านบาทในปี 2550 ที่ผ่านมา รองลงจากอังกฤษที่เข้าไปลงทุนในพม่าราว 1.5 พันล้านบาท และสิงคโปร์ 1.4 พันล้านบาท


 


 


CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน ติดตามสถานการณ์ในพม่าและบทความต่างๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.salweennews.org


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net