Newsline ประจำวันที่ 15-20 มีนาคม 2551

 





 

1. สถานการณ์ในประเทศพม่า

กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า เรียกร้องประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงให้โนโหวต ในการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลทหาร ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางปี

 

2. การค้าชายแดน

ไทย-พม่าลงนามข้อตกลงส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน

 

3. แรงงานข้ามชาติ

กลุ่มเกษตรกรจังหวัดระยอง เรียกร้องนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

 

4. ผู้ลี้ภัย

4.1 ตำรวจท่องเที่ยวเชียงรายตรวจสอบศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านชนเผ่า หลัง UNHCR ระบุ มีการลักลอบนำกะเหรี่ยงคอยาวมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวชม เข้าข่ายสวนสัตว์มนุษย์

4.2 เงินทุนสำหรับการจัดซื้ออาหารให้ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยลดลง

 

5. อาเซียน

5.1 วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ยังไม่ลงมติรับรองกฎบัตรอาเซียน

5.2 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เตือนนายสมัคร สุนทรเวช ก่อนพูดเรื่องพม่าต้องคิดให้รอบคอบ 

5.3 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวผ่านรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ว่าประเทศไทยไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในประเทศพม่า

 

6. ต่างประเทศ

6.1 นายอิบราฮิม กัมบารี รู้สึกผิดหวังต่อภารกิจการเยือนพม่าครั้งล่าสุด ยอมรับไม่มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

6.2 นายเปาโล เซอร์จิโอ ปินเฮียโร่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ไม่ได้รับวีซ่าจากรัฐบาลทหารพม่า

 

 

 

สถานการณ์ในประเทศพม่า

 

กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า เรียกร้องประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงให้โนโหวต ในการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลทหารที่จะมีขึ้นในช่วงกลางปี

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม กลุ่ม 88 เจเนอเรชั่น สติว เดนท์ หนึ่งในกลุ่มสำคัญที่สนับสนุนประชาธิปไตยของพม่า ออกมาเรียกร้องประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงให้ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลทหารพม่า ในการลงประชามติรับรองช่วงเดือน พ.ค.นี้ โดยกลุ่ม 88 เจเนอเรชั่น สติว เดนท์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า การที่รัฐบาลทหารประกาศว่า การรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นการปูทางไปสู่การเลือกตั้งหลายพรรคในปี 2553 นั้น เป็นการส่งเสริมอำนาจให้รัฐบาลทหารปกครองพม่าต่อไป เพราะข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ รวมทั้งความร่ำรวยมั่งคั่งของนายทหารและพวกพ้อง ตลอดจนทำให้ทหารขึ้นครองอำนาจในพม่าตราบนานเท่านาน

 

ดังนั้นตามความคิดเห็นของกลุ่ม ประชาชนชาวพม่าที่มีสิทธิออกเสียง จึงสมควรปฏิเสธรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อที่จะชำระเลือดและความสกปรกให้กับผู้อุทิศชีวิตจากคมกระสุนของทหาร และว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องกลัวใคร เพราะทางการไม่มีสิทธิมาจับกุมผู้ที่ลงคะแนนเสียงต่อต้านรัฐธรรมนูญ ซึ่งการโหวตต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะแสดงให้เห็นถึงพลังมวลชนครั้งใหญ่

 (เดลินิวส์ วันที่ 15/3/2551)

 

 

การค้าชายแดน

 

ไทย-พม่าลงนามข้อตกลงส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนม่าร์รายงานเมื่อวันที่ 15 มีนาคมว่า ไทยและพม่าได้ลงนามข้อตกลงร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ 1 วันของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชของไทยและนายสมัครยังได้พบหารือกับผู้นำอาวุโสตาน ฉ่วยของพม่าเมื่อวันศุกร์ที่14 ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่าด้วย แต่นิวไลท์ออฟเมียนม่าร์ ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดของข้อตกลงฉบับนี้

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าและผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของพม่า ในแต่ละปีไทยจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติและกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากพม่า

 (สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 15/03/2551)

 

 

แรงงานข้ามชาติ

 

กลุ่มเกษตรกรจังหวัดระยอง เรียกร้องนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

นายวีรพล แสงฉวี แกนนำกลุ่มเกษตรกรจังหวัดระยอง กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือร้องทุกข์แก่นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องจากขาดแคลนแรงงานว่า อยากให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือจริงๆ เพราะขณะนี้ขาดแคลนคนงานอย่างหนักทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ที่สำคัญคือไม่อยากมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ เพราะใครๆ ก็รักประเทศชาติ แต่ทุกวันนี้ต้องประสบปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันแพง ราคาปุ๋ย ยาแพง ผลผลิตราคาตกต่ำ แถมแรงงานขาดแคลนอย่างมาก

 

ภาคเกษตรกรเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดระบบ-ระเบียบแรงงานต่างด้าว อาทิ เปิดให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือไม่เคยมี ทร.38 มีโอกาสได้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย และสามารถจดทะเบียนแรงงานด้าวได้ตลอดปี ส่วนผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวทุกคน เช่น ภรรยา บุตร ให้นำมาจดทะเบียนและตรวจโรคโดยเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้ควรมีการสแกนลายนิ้วมือ และให้มีการตรวจโรคก่อนทุกครั้งที่จะทำบัตรใหม่ ควรออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ชัดเจน ควรกำหนดห้ามเปลี่ยนนายจ้างภายในระยะเวลา 1 ปี และควรกำหนดให้บัตรประชาชนของแรงงานต่างด้าวมีสีที่แตกต่างกันในแต่ละอาชีพ

 

ทั้งนี้ในการประชุมของคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ได้รายงานผลการสำรวจจากทุกจังหวัดพบว่า ในปี 2551 นายจ้างมีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือประมาณ 1.2 ล้านคน มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร และมีใบอนุญาตทำงานในปี 2550 จำนวน 546,272 คน และเพื่อให้เศรษฐกิจของกิจการที่จ้างคนต่างด้าวได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ควรพิจารณาผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในระบบการจ้างงานต่อไป โดยนายจ้างยังมีความขาดแคลนแรงงานอีกกว่า 600,000 คน (มติชน วันที่ 17/03/2551)

 

 

ผู้ลี้ภัย

 

ตำรวจท่องเที่ยวเชียงรายตรวจสอบศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านชนเผ่า หลัง UNHCR ระบุ มีการลักลอบนำกะเหรี่ยงคอยาวมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวชม เข้าข่ายสวนสัตว์มนุษย์

วันที่ 19 มี.ค.พ.ต.ต.พัฒนชัย ภมรพิบูลย์ สารวัตรตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย พร้อมนายประเสริฐ ไชยานานันท์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการจังหวัดเชียงราย เข้าตรวจสอบที่ศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร ศูนย์รวมหมู่บ้าน 5 ชนเผ่าอาข่า ลาหู่ ปะด่อง ปะหล่อง กะเหรี่ยง ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 262 ม.6 บ้านป่าอ้อ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย หลังจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ (UNHCR) ระบุว่า มีการลักลอบนำชาวกะเหรี่ยงคอยาว มาจัดแสดงในลักษณะเป็นสวนสัตว์มนุษย์ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

 

ทั้งนี้ เมื่อไปถึงพบว่าศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ส.ป.ก.4-01 เนื้อที่กว่า 300 ไร่ มีรถทัวร์และรถตู้รับส่งนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จอดเรียงรายนำกรุ๊ปทัวร์เข้าชม หมู่บ้านชนเผ่าที่มีการจัดสร้างหมู่บ้านทั้ง 5 เผ่าเอาไว้ ในแต่ละโซน มีการติดป้ายระบุค่าเข้าชมหัวละ 500 บาท

ส่วนที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ โซนหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ที่มีสร้างบ้านไม้ไผ่ มีกะเหรี่ยงคอยาวทั้งเด็กเล็ก หญิงสาววัยรุ่น หญิงสาววัยกลางคนที่มีห่วงเหล็กใส่คล้อง นั่งทอผ้าอยู่ตามบ้านของตัวเอง จำนวน 8 ครอบครัว รวม 23 คน โดยไม่มีการลุกเดินไปไหน นั่งอยู่ตามจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น และมีการจ้างครูมาสอนหนังสือให้กับเด็กชนเผ่าในนี้ด้วย ส่วนชาวปะหล่อง มีราว 20 คน ที่ระบุว่ามีการทำการเกษตร และชาวไทยภูเขาอีกจำนวนหนึ่ง

 

กรุ๊ปทัวร์ที่เข้ามาถึงหมู่บ้านชนเผ่า จะได้รับชมการจัดแสดงวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว พร้อมทั้งมีไกด์นำชม ซึ่งหลังการแสดงเสร็จจะมีการบริจาคเงินใส่กล่องรับบริจาค และมีการเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก ตามที่เจ้าของนำมาวางจำหน่าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากทั้ง 5 ชนเผ่า โดยพบว่า กะเหรี่ยงคอยาวทั้งหมด มาจากดอยก่อ จ.ท่าขี้เหล็ก ใกล้เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ไม่ใช่ถูกขนย้ายมาจากชายแดนด้าน จ.แม่ฮ่องสอน

 

นายอนันต์ เรือนสังข์ เจ้าของกิจการ กล่าวว่า ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและปะหล่อง ได้มีการขออนุญาตจากทางจัดหางานจังหวัดอย่างถูกต้อง โดยนำเข้ามาอยู่ในที่ศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร ที่จัดตั้งขึ้นมา โดยจะมีการแยกโซนให้อยู่และแบ่งหน้าที่การงานให้ทำ 3 ประเภท คือ กลุ่มทอผ้า กลุ่มเกษตรและกลุ่มปศุสัตว์ เลี้ยงวัวกว่า 100 ตัว เอาไว้

 

สำหรับรายได้ในนี้มาจากการจัดแสดงของชนเผ่า การจำหน่ายสินค้าเกษตรและสินค้าที่ระลึก โดยจะมีการแบ่งจ่ายให้เป็นเงินเดือนแก่ชาวกะเหรี่ยงคอยาวและชาวปะหล่อง ส่วนเผ่าอาข่าและเผ่าลาหู่ ที่มีบัตรก็จะมีการว่าจ้างแรงงานเป็นรายวัน เงินเดือนตั้งแต่ 3,000-8,000 บาท

 

ที่ผ่านมา มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เข้ามาตรวจสอบแล้ว แต่ไม่พบว่ามีการค้ามนุษย์ในลักษณะจัดทำสวนสัตว์ ตามที่ยูเอ็นระบุกล่าวหาแต่อย่างใด ทุกฝ่ายพึงพอใจที่จะอยู่ที่นี่ 5 ชนเผ่า ที่เรานำเข้ามาอยู่ ล้วนแต่มีความสุขที่จะอยู่ที่นี่ ไม่อยากกลับไปประเทศแม่ เพราะมีความลำบากมากกว่า และเมื่อเร็วๆ นี้ มีชนเผ่าปะหล่องที่เรานำเข้ามา ตั้งครรภ์คลอดบุตรออกมา 2 คน เมื่อไปคลอดลูกที่ รพ.รัฐ ก็ไม่ได้รับสิทธิหรือการช่วยเหลือแต่อย่างใดด้วย และที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีการจัดท่องเที่ยวแบบนี้ 4 แห่งด้วย ก็ยังทำกันได้

 

ด้าน พ.ต.ต.พัฒนชัย กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงซึ่งเดิมมีการขอโควตานำกะเหรี่ยงคอยาวและชาวปะหล่อง มาทำงานครบตามจำนวนก็จริง แต่ระยะหลังพบว่ามีการคลอดลูก ซึ่งเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ อาจจะมีปัญหาในเรื่องการเรียกสิทธิหรือเรื่องสัญชาติไทย และปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว ลักลอบตั้งถิ่นฐานในประเทศอย่างผิดกฎหมายตามมาในอนาคต และที่น่าห่วง คือ ทางยูเอ็นเฮชซีอาร์ มีการขู่บอยคอตการท่องเที่ยว จ.เชียงราย หากยังมีการจัดตั้งสวนสัตว์มนุษย์ลักษณะนี้อยู่ จึงต้องเข้ามาตรวจสอบดำเนินการ

ขณะที่รายงานข่าวจากชุดสืบสวนตำรวจท่องเที่ยว เผยด้วยว่า จากการสอบถามชาวกะเหรี่ยงคอยาว ทราบว่า มีการจ่ายเงินให้ชนเผ่าทั้ง 5 ไม่เท่ากัน โดยกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวและชาวปะหล่อง ได้เงินเดือนประมาณ 2,000 บาท ส่วนอาข่าและลาหู่ ได้เดือนละ 500 บาท และมีการซื้อข้าวสารแจกให้ชาวเขาในนี้ โดยหากเป็นครอบครัว จะแบ่งเป็น 2 ครอบครัว จะได้ข้าวสาร 1 กระสอบต่อ 1 เดือน ส่วนประเภทไม่มีครอบครัว จะได้ข้าวสาร 1 ถัง (20 กิโลกรัม) ต่อเดือน

 

ทั้งนี้ ในแต่ละวันจะมีกรุ๊ปทัวร์เข้ามา ทำให้มีการหักรายได้ค่าเข้าชม 500 บาท ให้กับไกด์ประมาณ 150-200 บาทต่อคน และจากปริมาณทัวร์ที่เข้ามาไม่หยุดในแต่ละวัน จนไปถึงช่วงเทศกาลท่องเที่ยวสถานที่แห่งนี้จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 100,000 บาทต่อวัน นับว่าสูงและยังมีความพยายามของกลุ่มนายทุน ที่จะเลียนแบบเพื่อทำกิจการในลักษณะในพื้นที่ จ.เชียงราย ขึ้นมาอีก

(ผู้จัดการ วันที่ 19/03/2551)

 

เงินทุนสำหรับการจัดซื้ออาหารให้ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยลดลง

หลังจากที่ราคาสินค้าในตลาดได้ขยับตัวสูงขึ้น อัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งตัว รวมถึงเงินทุนสำหรับการทำงานขององค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในค่ายได้ลดลง  ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ลี้ภัยในค่ายเป็นอย่างยิ่ง

 

Jack Dunford ผู้บริหารของ TBBC ได้กล่าวว่า TBBC ไม่สามารถจัดหาแหล่งทุนสำหรับการสนับสนุนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องลดภาระด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยลงในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาอาหารที่ปัจจุบันจะไม่สามารถสนับสนุนได้อีกต่อไป เช่น น้ำตาล พริกแห้ง ปลาร้า ถั่ว รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ มุ้ง อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน ก็จะไม่สามารถสนับสนุนได้เช่นเดียวกัน ยังคงเหลือเพียงสนับสนุนข้าวสารและเกลืออยู่ แต่อย่างไรก็ตามก็พบว่าราคาข้าวสารในปัจจุบันมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 20 %

 

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลใจสำหรับคนทำงานและผู้ลี้ภัยในค่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้จะมีผู้ลี้ภัยบางส่วนได้เดินทางไปประเทศที่สามแล้ว แต่ยังมีผู้ลี้ภัยรายใหม่ที่เดินทางมายังค่ายผู้ลี้ภัยเป็นระยะๆ โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่า มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนรายใหม่ แต่มันก็น่าเป็นห่วงเพราะทุนทำงานได้ลดลงทุกปีๆ

TBBC เป็นองค์กรที่จัดหาอาหารและสนับสนุนความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย-พม่า ทั้ง 7 แห่ง รวมจำนวนผู้ลี้ภัยประมาณ 130,000 คน  มานานกว่า 24 ปี ปี 2550 ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สามจำนวน 14,636 คน และในปี 2551 นี้ จะเดินทางไปอีก 17,000 คน

 

ความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่ได้ช่วยเหลือเพียงผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนกับทางค่ายเพียงเท่านั้น ยังกระจายไปยังผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับค่ายไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จากการสำรวจของ TBBC พบว่ามีผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับค่ายอย่างน้อย 20,000 คน ที่อาศัยอยู่ในค่ายเช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยได้เคยประกาศไว้ว่าจะไม่ให้มีการนำคนเข้ามาในค่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2548 แต่ในความจริงก็ยังมีผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้อยู่ในค่ายอีกจำนวนมาก เนื่องมาจากสาเหตุดังที่กล่าวข้างต้น TBBC ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนอย่างยิ่งโดยเฉพาะในปี 50-51 นี้ (สำนักข่าวอิระวดี วันที่ 19/03/2551)

 

 

อาเซียน

 

วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ยังไม่ลงมติรับรองกฎบัตรอาเซียน

วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ยังไม่ลงมติรับรองกฎบัตรอาเซียนที่มีการเสนอให้สมาชิกอาเซียนทุกประเทศลงมติรับรอง ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ต่อไป โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายฟรานซิส อิสกุเดโร วุฒิสมาชิกจากพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า วุฒิสมาชิกยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ เนื่องจากประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ยังไม่ได้เสนอเรื่องนี้ไปยังวุฒิสภา ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมานางอาร์โรโยได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียนกับผู้นำประเทศอาเซียน ต่อมารัฐสภาของประเทศบรูไน ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ลงมติรับรองเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามนางอาร์โรโยเตือนว่ารัฐสภาฟิลิปปินส์อาจลำบากใจในการลงมติรับรองกฎบัตรอาเซียน หากไม่มีการพื้นฟูประชาธิปไตยในพม่าและปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี

 (มติชน วันที่ 19/03/2551)

 

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เตือนนายสมัคร สุนทรเวช ก่อนพูดเรื่องพม่าต้องคิดให้รอบคอบ 

 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงกรณีกระบวนการปรองดองและพร้อมให้ความร่วมมือให้เกิดความเข้าใจกันภายในพม่าว่า เบื้องต้นต้องให้สหประชาชาติเป็นผู้ประสานงาน จนกว่าพม่าจะให้อาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งทางอาเซียนได้ประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อหาช่องทางและเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือ

 

ส่วนกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจกับนานาชาติกรณีของพม่านั้น นายสุรินทร์ กล่าวว่า ความจริงแล้วนานาชาติ อยากเข้าใจปัญหา ความเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของพม่า เพียงแต่ว่าเราจะทราบความลึกซึ้ง ความละเอียดอ่อนของปัญหามากน้อยแค่ไหนในการที่จะไปอธิบาย ทั้งนี้จึงถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจในเรื่องนี้ว่ามีความพร้อมที่จะอธิบายให้ประชาคมโลกเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน

(แนวหน้า วันที่ 18/03/2551)

 

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวผ่านรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ว่าประเทศไทยไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในประเทศพม่า

วันที่ 16 มี.ค. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวผ่านรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ช่อง 11 เครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ ถึงการเดินทางเยือนสหภาพพม่าว่า ไม่ได้ก้าวล่วงการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ทำตามหน้าที่นายกฯ ที่ไม่เคยมีนายกฯคนใดทำมาก่อน จากที่ก่อนหน้านี้ มีการมองพม่าเพียงด้านเดียว ครั้งนี้จึงเข้าไปศึกษาพม่าให้ครบทุกด้านตามสุภาษิตไทยที่ให้ดูเหรียญ 2 ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์การประสานการทำงานร่วมกัน ไม่ได้แทรกแซงเรื่องภายในพม่า

 

สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าว่า เป็นเรื่องปกติที่ไทยจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยรัฐบาลทหารพม่าปูทางหลายอย่างไว้รองรับรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เช่น การเตรียมก่อสร้างอาคารรัฐสภา ที่จะมีขึ้นภายใน 2 ปี และอีกประมาณ 2 เดือน จะมีการลงประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

อย่างไรก็ตาม การพบหารือกับผู้นำพม่าครั้งนี้ การเจรจาประสบความสำเร็จหลายเรื่อง โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพลังงาน ทั้งการสร้างเขื่อน 7,000 เมกะวัตต์ การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย

(แนวหน้า วันที่ 18/03/2551)

 

 

ต่างประเทศ

 

นายอิบราฮิม กัมบารี รู้สึกผิดหวังต่อภารกิจการเยือนพม่าครั้งล่าสุด ยอมรับไม่มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

นายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษสหประชาชาติ ซึ่งกำกับดูแลปัญหาในพม่า เปิดเผยว่ารู้สึกผิดหวังต่อภารกิจการเยือนพม่าครั้งล่าสุด ยอมรับไม่มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม แต่ระบุว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่สหประชาชาติจะต้องประสานงานกับทางการพม่าต่อ

 

นายกัมบารี กล่าวรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติถึงภารกิจการเยือนพม่า ระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้เข้าพบนางออง ซาน ซู จี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังกับภารกิจดังกล่าวที่ไม่สามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ และไม่สามารถเข้าพบผู้นำระดับสูงของรัฐบาลทหารพม่า กลุ่มฝ่ายค้าน อาทิ กลุ่ม "88 เจเนอเรชั่น" หรือผู้แทนชนกลุ่มต่างๆในพม่าได้ อย่างไรก็ดีนายกัมบารีเปิดเผยว่ายังไม่ได้กำหนดวันเยือนพม่าครั้งใหม่ แต่อาจมีการพบปะกับเจ้าหน้าที่พม่าในประเทศที่ 3 เพื่อหารือถึงการเตรียมปฏิบัติภารกิจครั้งใหม่

 

การเยือนพม่าเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นภารกิจการเยือนครั้งที่ 3 ของนายกัมบารี นับแต่เกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารพม่าใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยพระสงฆ์เมื่อเดือนกันยายน 2550 ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นำไปสู่การกดดันทางการทูตครั้งใหญ่ให้มีการปฏิรูปการเมืองในพม่า

 (สำนักข่าว INN วันที่ 19/03/2551)

 

นายเปาโล เซอร์จิโอ ปินเฮียโร่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ไม่ได้รับวีซ่าจากรัฐบาลทหารพม่า

เมื่อวันที่ 15 มี.ค.นายเปาโล เซอร์จิโอ ปินเฮียโร่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวว่า เขาไม่ได้รับใบอนุญาตผ่านเข้าเมืองหรือวีซ่าจากรัฐบาลทหารพม่า จากเดิมที่คิดว่าจะได้แน่นอน เพราะทางพม่าแจ้งมาให้ไปรับพาสปอร์ต แต่เมื่อไปรับมาแล้วพบว่าไม่ได้ประทับตราวีซ่าให้ นายปินเฮียโร่กล่าวด้วยความผิดหวังว่า สิ่งที่รัฐบาลพม่าบอกว่าจะทำกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นขัดแย้งกันเหลือเกิน ทั้งนี้นายปินเฮียโร่จะเข้าไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ที่ทางการพม่าปราบปรามผู้ชุมนุมในปีที่แล้ว ขณะที่รายงานของสภาสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีนักโทษการเมืองยังถูกขังในพม่าราว 1,850 ราย

(ข่าวสด วันที่ 16/03/2551)

 

 





 

Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท