Skip to main content
sharethis



นักท่องเที่ยวถ่ายรูปคู่กับสระว่ายน้ำยิงตง (Yingdong Natatorium) สถานที่ใช้แข่งกีฬาโปโลน้ำในกีฬาโอลิมปิค เมื่อ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้คณะกรรมการโอลิมปิคปักกิ่งยืนยันไม่เปลี่ยนเส้นทางวิ่งคบเพลิงที่ต้องผ่านทิเบต (REUTERS/Claro Cortes IV)


 


แม้ว่าในเร็ว ๆ นี้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจากการปราบปรามผู้ประท้วงในทิเบต ทางเจ้าหน้าที่งานกีฬาโอลิมปิกของจีนออกยังคงออกมาบอกว่า เส้นทางการวิ่งส่งทอดคบเพลิงกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้จะยังคงใช้เส้นทางเดิม คือเส้นทางที่ต้องผ่านทิเบตไปยังยอดเขาเอเวอร์เรส


 


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เกิดจลาจลประท้วงรัฐบาลจีนในกรุงลาซาเมืองหลวงของทิเบต และมีการปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน เหตุในครั้งนี้ทางรัฐบาลเชื่อว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวทิเบตพากันออกมาชุมนุมเนื่องจากต้องการขัดขวางการวิ่งส่งทอดคบเพลิงที่ต้องวิ่งผ่านพื้นที่ของทิเบตก่อนการแข่งขัน


 


เจียง เสี่ยวหยู (Jiang Xiaoyu) รองประธานผู้บริหารงานของคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิดที่หกรุงปักกิ่งได้ให้ความเห็นว่า "พวกทิเบตต้องการจะขัดแข้งการวิ่งคบเพลิง ไม่ให้มาถึงตามเวลาที่กำหนดได้"


 


นายเสี่ยวหยู ยังได้กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวอีกว่า "พวกเราเชื่ออย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า รัฐบาลในทิเบตซึ่งเป็นเขตปกครองตนเอง จะต้องสามารถรับรองความมั่นคงในลาซาและทิเบต ขณะเดียวกันก็ยังต้องรับประกันได้ด้วยว่าการวิ่งคบเพลิงในทิเบตจะเป็นไปอย่างราบรื่น"


 


เขายังบอกอีกว่า การก้าวปีนขึ้นไปยังยอดของภูเขาที่สูงที่สุดในโลกนั้น จะเป็นไฮไลท์ของการวิ่งส่งทอดคบเพลิง และยังถือเป็น "วีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โอลิมปิก" อีกด้วย


 


การประท้วงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้ออกมาบอกว่ามีผู้เสียชีวิตไป 16 รายนั้น ทำให้ไฟสปอตไลต์สาดส่องความสนใจไปยังเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีนมากกว่า แม้จะยังไม่มีการเรียกร้องจากรัฐบาลหรือคณะกรรมการกีฬานานาชาติ ให้มีการบอยคอตต์กีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ก็ตาม


 


กระทั่งในช่วงที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง การวิ่งคบเพลิงไปสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสเอง ก็ได้ถูกปั้นให้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เกรียงไกรที่สุดและถูกทำให้เป็นการเมืองมากที่สุด ในโอลิมปิกที่ได้ถูกทำให้เป็นการเมืองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การวิ่งคบเพลิงในครั้งนี้ได้ไปแตะต้องหนึ่งในเรื่องที่อ่อนไหวที่สุดของจีนโดยตรง คือเรื่องที่จีนเข้าไปปกครองทิเบตกว่า 57 ปีด้วย


 


ทางการปักกิ่งกล่าวว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามประวัติศาสตร์ แต่ทางด้านชาวทิเบตเป็นจำนวนมาก ออกมาเถียงว่า เขตหิมาละยันแท้จริงแล้วเป็นเขตที่แยกตัวอิสระมานับศตวรรษ และกล่าวโทษจีนที่พยายามเข้ามาทำลายวัฒนธรรมทิเบตด้วยการปล่อยประชากรชาวฮั่นซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อชาติส่วนใหญ่ของจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก


 


กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวทิเบตได้วิจารณ์การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกซึ่งจัดโดยทางการปักกิ่งในครั้งนี้ว่า เป็นการทำไปเพื่อเพิ่มความชอบธรรมของจีนในการในการเข้าปกครองทิเบต


 


เจียง บอกแก่ผู้สื่อข่าวว่า นักวิ่งที่ต้องขึ้นภูเขาจะนำเอาคบเพลิงโอลิมปิกขึ้นไปเอเวอร์เรสในระยะทาง 29,035 ฟุต โดยจะเริ่มในวันที่มีสภาพอากาศเหมาะสมในช่วงเดือนพฤษภาคม เขายังได้บอกอีกว่า จะมีตำรวจท้องที่และเจ้าหน้าที่รัฐ คอยรักษาความปลอดภัย ในเส้นทางที่มีการวิ่งคบเพลิง


 


โดยทางการจีนได้ประกาศห้ามนักปีนเขา ไม่ให้มีการปีนภูเขาเอเวอร์เรสไปแล้วในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทางการรัฐมีความวิตกว่านักเคลื่อนไหวอาจจะพยายามขัดขวางการแผนวิ่งคบเพลิง เทือกเขาเอเวอร์เรสนั้นคร่อมอยู่ระหว่างเส้นเขตแดนของจีนกับเนปาล ซึ่งทางเนปาลยอมสั่งห้ามไม่ให้มีการปีนด้านข้างของภูเขาแล้วในช่วงที่มีการวิ่งคบเพลิง


 


ในอดีตที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวเคยมีผืนธงที่คลี่ออกโบกสะบัดอยู่ในค่ายแถบตีนเขาเอเวอร์เรสและที่กำแพงเมืองจีน เพื่อเรียกร้องให้ทิเบตเป็นเอกราช


 


ในปีที่แล้ว คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนของกรุงปักกิ่ง ได้ประกาศแผนการอันแสนทะเยอทะยาน สำหรับการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกคือ 85,000 ไมล์ เส้นทาง 130 วัน ที่จะวิ่งข้ามผ่าน 5 ทวีป และปีนขึ้นไปจนถึงยอดเขาเอเวอร์เรส


 


ที่มา


 


China: Olympic torch route won't change , Anita Chang , AP , 19/3/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net