Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ภาคอีสาน ได้จัดประชุมเตรียมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2551 โดยที่ประชุมยืนยันวัตถุประสงค์ของการที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติร่วมกับองค์กรแรงงานอื่นๆ ว่า เพื่อให้กระบวนการแรงงานนอกระบบได้รับการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในขบวนการแรงงานต่อไป ในขณะเดียวกัน เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับสังคมว่าแรงงานนอกระบบมีตัวตน มีสถานภาพ และมีคุณค่าต่อการสร้างฐานทางเศรษฐกิจของประเทศชาติเช่นเดียวกันกับแรงงานในระบบและคนไทยทุกคน


 


จากนั้นยังมีการพูดคุยเพื่อติดตามประเด็นการเรียกร้องขององค์กรสมาชิกที่มีต่อรัฐบาลชุดเก่า ที่ได้มีการดำเนินการในรูปคณะทำงานร่วมระหว่างตัวแทนจากองค์กรสมาชิกในเครือข่ายกับภาครัฐ เพื่อยกระดับปรับปรุงกฏหมายและยกสถานะของแรงงานนอกระบบในแต่ละประเภท ให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและสิทธิอันพึงมีพึงได้ รวมถึงการคุ้มครองและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากหน่วยงานรัฐ


 


นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้พูดคุยกันถึงปัญหาของผู้ใช้แรงงานนอกระบบ ที่ทำหน้าที่เก็บแยกขยะอยู่ในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่นและในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าพวกเขาทำหน้าที่ที่มีความสำคัญคือการเก็บและคัดแยกขยะ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม และช่วยลดภาระให้กับหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแล ทั้งในส่วนของเทศบาลเมืองขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่พวกเขากลับไม่ได้รับการยอมรับให้มีฐานะเหมือนกับประชาชนทั่วไป


 


สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง นักพัฒนาหญิง กล่าวกับประชาไท ว่า "เมื่อมีทรัพย์สินสูญหาย พวกเขาก็จะถูกตั้งข้อสงสัยซึ่งบางทีก็กลายเป็นการตัดสินไปเลย โดยไม่ต้องสืบสาวหาพยานหลักฐานเพื่อยืนยัน อาชีพของพวกเขามีส่วนอย่างมากในการลดภาระในการจัดการขยะที่คนเมืองได้สร้างขึ้น แต่พวกเขากลับไม่ได้รับการยอมรับ หรือให้เกียรติในฐานะของความเป็นมนุษย์หรือคุณค่าของการเป็นผู้ใช้แรงงาน


 


"สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะปรับทัศนคติที่มีต่อพวกเขา หากเรามองว่าพวกเขาช่วยลดภาระในการจัดการขยะให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐก็น่าจะนำงบประมาณที่พวกเขาช่วยประหยัดให้ มาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตหรือสร้างระบบสวัสดิการให้กับพวกเขาเหล่านี้"


 


สุนทรี กล่าวต่อว่า กิจกรรมระดับท้องถิ่นที่จะดำเนินต่อไปก็คือการผลักดันให้มีเวทีในการพูดคุย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติระหว่างผู้ใช้แรงงานนอกระบบกับเทศบาลเมืองขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเวทีประชุม นอกจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกันแล้วก็คือ การเกิดแนวทางร่วมในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานนอกระบบเหล่านี้ด้วย


 


 


อนึ่ง สำหรับเครือข่ายแรงงานนอกระบบเริ่มรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริม พัฒนาและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของแรงงานนอกระบบ


 


ต่อมาในปี 2549 การรวมตัวของเครือข่ายแรงงานนอกระบบได้ขยายขอบเขตจากผู้รับงานไปที่บ้านให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตร และแรงงานนอกระบบภาคบริการด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของแรงงานนอกระบบ คือ ยังไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม เนื่องจากยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานทำให้สถานภาพในความเป็นองค์กรหรือการมีตัวตนจึงไม่ชัดเจน ทำให้ขาดโอกาสต่างๆ ที่ควรจะได้รับการส่งเสริม พัฒนา หรือการคุ้มครอง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net