Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการมองคนละมุม ดำเนินรายการโดยนายมานพ คีรีภูวดล ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100 เสียงสื่อสารมวลชน ในวันที่ 15 มี.ค. ประเด็น "วันหยุดเขื่อนโลก" โดย น.ส.เพียรพร กล่าวถึงความเป็นมา รวมไปถึงสะท้อนถึงผลประทบจากการสร้างเขื่อนทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย และโครงการสร้างเขื่อนในอนาคตในแทบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


000


เพียรพร ดีเทศน์


ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต


 


ความเป็นมาของวันหยุดเขื่อนโลก


วันหยุดเขื่อนโลกเพื่อแม่น้ำและชีวิต มีจุดกำเนิดเมื่อประมาณ 11 ปีที่แล้ว ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2540 ที่เมืองคิวริทิบา ประเทศบราซิล เป็นการประชุมครั้งแรกของเครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลกกว่า 20 ประเทศมารวมตัวกัน และมีการประชุมกันว่าประเทศต่างๆ ที่สร้างเขื่อนจำนวนมาก และชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน สร้างเครือข่ายขึ้นมาและทำการประชุมร่วมกันที่บราซิล และจัดงานใหญ่เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และหลังจากนั้นก็มีการเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานสร้างเขื่อนหลักๆ อย่างธนาคารโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการศึกษาว่าเขื่อนที่สร้างมาในโลกนี้มีผลกระทบอย่างไรบ้าง หรือมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด และจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของวันหยุดเขื่อนโลก


 


ในคำประกาศนั้นมีการเรียกร้องว่า ขอให้มีการศึกษาในทุกแง่มุมของเขื่อนที่สร้างมาในโลกนี้ และวางแนวทางของการสร้างเขื่อนในโลกนี้ให้เป็นธรรมมากขึ้น และเคารพสิทธิของชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ รวมไปถึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อลูกหลานในอนาคตด้วย


 


ข้อเรียกร้องนี้ทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมการเขื่อนโลกขึ้นมาในปี พ.ศ.2541 โดยมีคณะกรรมการ 25 คนที่มาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานสร้างเขื่อน ชาวบ้าน กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งดำเนินงานภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติหรือ UNEP (United Nations Environment Programme) หลังจากนั้นก็ได้ทำการศึกษาทุกเขื่อนทั่วโลกและได้ศึกษาแบบเจาะลึกในบางเขื่อน ทั้งหมด 8แห่ง รวมถึงเขื่อนปากมูลของประเทศไทยด้วย จากการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปีกว่า ก็ได้ข้อค้นพบและออกมาเป็นรายงาน ซึ่งเรียกรายงานนี้ว่า เขื่อนกับการพัฒนา ซึ่งเป็นไปในลักษณะของข้อสรุป ข้อค้นพบของคณะกรรมการเขื่อนโลก


 


เขื่อนขนาดใหญ่ในความหมายโดยทั่วไปคือ มีความสูงมากกว่า 15 เมตร ซึ่งในโลกนี้มีประมาณ 45,000 แห่ง และเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้คือเขื่อนสามผา ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีน และในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 เป็นช่วงที่มีการสร้างเขื่อนสูงมาก เฉลี่ยแล้วมีการสร้างเขื่อนเสร็จวันละ 2 แห่ง ถือว่าเป็นยุคของเขื่อน แต่หลังจากนั้นระดับของการสร้างเขื่อนค่าเฉลี่ยก็ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีการสร้างเขื่อน


 


 


เขื่อน: โทษมากกว่าประโยชน์


ในรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกมีผลการศึกษาว่า เขื่อนที่สร้างมาในโลกมีประโยชน์และมีความสำคัญต่อการพัฒนาของมนุษย์ แต่ว่าอย่างไรก็ตามผลประโยชน์ที่ได้จากเขื่อน ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ไฟฟ้า หรือระบบชลประทาน ถูกจ่ายด้วยสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเขื่อน โดยที่ผลประโยชน์ไม่ได้มาถึงชาวบ้านเหล่านี้เลย


 


แล้วก็พบว่าเขื่อนที่สร้างเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ครึ่งหนึ่งของเขื่อนทั่วโลกพบว่า ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามที่วางแผนไว้ อย่างกรณีของเขื่อนปากมูลที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 136 เมกะวัตต์ แต่ผลิตสูงสุดได้เพียง 40 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าไม่คุ้มทุน และเมื่อดูผลกระทบนั้นจะพบว่า พันธุ์ปลาที่อพยพจากน้ำโขงสู่น้ำมูลก็มีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงน้ำจืดกว่า 65 หมู่บ้าน


 


จากข้อมูลปลายปี พ.ศ. 2549 จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่า ประมาณร้อยละ 75 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศไทยไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ในขณะที่ประมาณร้อยละ 20 ไปสู่ผู้ใช้รายย่อยที่เป็นครัวเรือนทั้งประเทศ เท่ากับว่าประชาชนทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าในอัตราส่วนที่น้อยมาก


 


ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมก็คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ 3 แห่ง คือ สยามพารากอน มาบุญครอง และเซ็นทรัลเวิร์ล นั้นใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 16 จังหวัดเล็กๆ รวมกัน เช่น จังหวัดชัยนาท จังหวัดเลย จังหวัดยโสธร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงไม่ได้ไปสู่ประชาชนผู้ใช้ไฟ แต่ว่าไปสนับสนุนแก่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็รวมไปถึงในระดับโลกด้วยเช่นกัน


 


ผู้ที่จ่ายต้นทุนไม่ว่าจะเป็นผู้จ่ายภาษีหรือว่าชาวบ้านที่ต้องเดือดร้อนนั้นไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่ว่าผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนตกไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเป็นส่วนใหญ่


 


 


เงื่อนไขสร้างเขื่อนของคณะกรรมการเขื่อนโลก


มีหลายอย่างที่ได้กล่าวไว้ในประโยคแรกของการศึกษา คือ เขื่อนที่สร้างมาในโลกมีประโยชน์และมีความสำคัญต่อการพัฒนาของมนุษย์ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้สร้างเขื่อนเลย คณะกรรมการเขื่อนโลกได้เสนอว่าต่อไปนี้หากจะมีการสร้างเขื่อนจะต้องทำตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ซึ่งจะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนประมาณ 3 ข้อ กล่าวคือ ประการแรก จะสร้างเขื่อนไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งการได้รับการยอมรับอย่างเช่นการเซ็นยอมรับนั้น ชาวบ้านต้องได้รับข้อมูลก่อน เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกันคิดไตร่ตรอง เมื่อมีการยินยอมก็จะสามารถดำเนินการไปสู่ขั้นตอนต่อๆ ไปได้ ซึ่งจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของการสร้างเขื่อนทั้งหมดว่าผลประโยชน์หรือผลเสียเป็นอย่างไร และจะมีการเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนอย่างไร


 


แต่ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ในประเทศไทยพบว่า หากจะมีการสร้างเขื่อนก็จะมีการจัดรถโมบายแจกยารักษาโรคฟรี และให้ชาวบ้านมาเซ็นชื่อรับยา และนำเอาใบรายชื่อนั้นไปแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมีการยินยอมแล้ว ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกันเลย


 


ประการที่สอง ก่อนที่จะสร้างเขื่อนต้องมีการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยขาดแคลนไฟฟ้าและจะต้องสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินหรือแม่น้ำโขง จะต้องดูว่าขาดไฟฟ้าเท่าไหร่ และจะต้องมีตัวเลือกอะไรบ้างที่จะมาชดเชยการขาดแคลนไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ไฟฟ้า เช่นการเปลี่ยนหลอดไฟ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะต้องเป็นนโยบายของรัฐ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าโดยแท้จริง และควรส่งเสริมระบบไฟฟ้าสำหรับชุมชน หรือแบบไม่รวมศูนย์ ซึ่งประเทศไทยก็มีอยู่แห่งเดียว คือ บ้านแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่ภาครัฐไม่มีการส่งเสริมให้ขยายไปยังชุมชนหรือหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ทำได้ แต่ภาครัฐไม่ยอมรับและส่งเสริมอย่างจริงจัง ซึ่งรวมไปถึงแผงโซล่าเซลล์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแผงที่ใช้ในยุโรปนั้นบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่ขายในประเทศไทยไม่ได้ เพราะภาษีสูงมาก ซึ่งภาครัฐขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง


 


ประการสุดท้าย จะต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาของเขื่อนที่สร้างไปแล้วด้วยเช่นกัน ว่าชาวบ้านที่เขาเสียผลประโยชน์จะต้องแก้ไขปัญหาและเยียวยากันต่อไป ก่อนที่จะมีโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต


 


จากการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกมีประมาณ 80 ล้านคน และคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเลย เมื่อเราเห็นว่ามีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันแนวโน้มของการสร้างเขื่อนทั่วโลกลดน้อยลง ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการสร้างเขื่อนมาหลายสิบปี ก็มีการศึกษาแล้วพบว่า เขื่อนที่สร้างนั้นมีผลกระทบมากกว่าจึงได้มีการยกเลิกการใช้เขื่อนหรือว่าการทุบเขื่อนทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงอีกหลายประเทศในยุโรป เพื่อปลดปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ แล้วฟื้นฟูระบบนิเวศและธรรมชาติขึ้นมาอีกครั้ง เพราะค้นพบว่าไฟฟ้าที่ได้นั้นเทียบไม่ได้เลยกับพันธุ์ปลาที่ต้องเสียไป


 


 


การกลับมาของยุคทองสร้างเขื่อนในอุษาคเนย์


แต่ปรากฏว่าเมื่อ ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ยุคทองของการสร้างเขื่อนได้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่ามีการแบ่งเป็น 3 โครงการหลัก ก็คือ โครงการผันน้ำโขงสู่ภาคอีสานเพื่อแก้ไขปัญหาตามที่นายกฯ ได้ดำริไว้ โครงการที่ 2 คือ เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่างไม่ว่าจะเป็นในเขมร ลาว และพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งมีทั้งหมด 8 เขื่อน ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ และอีกโครงการหนึ่งคือเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า เหล่านี้ก็ขี้ให้เห็นว่าในภูมิภาคเรานั้นการสร้างเขื่อนได้กลับมาอีกครั้ง แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแต่จะอยู่รอบๆ เราในประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและมีสิทธิประชาธิปไตยพอสมควร จึงทำให้ยากที่จะเสนอเขื่อนใหม่ๆ เข้ามาในประเทศไทย


 


ที่ลุ่มน้ำโขงทั้งหมด 8 เขื่อน มีข้อกังวลก็คือ เขื่อนเหล่านี้จะทำลายวงจรเส้นทางการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงมีถึง 1,300 ชนิด ถือว่ามากเป็นอันดับ 2 รองจากลุ่มน้ำอะเมซอน ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขงนั้นมีมากที่สุด โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ตั้งแต่ภาคใต้ของลาวไปถึงเขมรและทะเลสาบเขมร มูลค่าของประมงน้ำจืดนั้นมากถึงครึ่งหนึ่งของการประมงน้ำจืดทั่วโลก นับเป็นประมาณ 2-3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งปลาที่อยู่ในระบบนิเวศไม่มีการเลี้ยงแล้วชาวบ้านไปจับ ซึ่งหากใครไปทะเลสาบเขมรก็จะเห็นเป็นการจับปลาขนาดใหญ่ แต่พันธุ์ปลาก็ไม่สูญพันธุ์เพราะมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และปลาก็ยังคงอพยพสู่แม่น้ำสาขาและตอนบน เพื่อวางไข่แล้วก็กลับมาให้เราจับตามเดิม


 


 


เขื่อน = ปิดประตูระบบวงจรชีวิตของปลา


หากสมมุติว่าแม่น้ำไหลเป็นเส้นตรง ส่วนใหญ่พันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตอนล่างก็จะอพยพขึ้นไปด้านบน เข้าแม่น้ำสาขาเพื่อที่จะไปวางไข่ในแต่ละช่วงฤดูและก็จะกลับมายังแม่น้ำตอนล่างดังเดิม วนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่หากมีการสร้างเขื่อนแล้ว ปลาก็ไม่สามารถขึ้นไปตอนบนได้ เพราะเขื่อนถูกสร้างกั้นไว้แล้ว ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป จากแม่น้ำที่เคยไหลก็กลายเป็นแม่น้ำนิ่ง ถูกควบคุมโดยเขื่อน ระบบนิเวศเปลี่ยนไปปลาก็ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้


 


การศึกษาของ World Fish Centre หรือว่าศูนย์ปลาของโลก พบว่าปริมาณการอพยพของปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในบางช่วงเวลานั้นมีถึง 30 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งหากมีเขื่อนมากั้น หากทำบันไดปลาโจน จะทำอย่างไรให้พอที่จะให้ปลา 30 ตันต่อชั่วโมงขึ้นไปวางไข่ได้นั้น จะทำอย่างไร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีนี้


 


กรณีของเขื่อนปากมูลเป็นกรณีที่ชัดเจนที่สุด และเป็นตัวอย่างระดับโลก เพราะหลังจากการสร้างเขื่อนแล้ว ปลาจากแม่น้ำโขงก็เข้ามาวางไข่ที่แม่น้ำมูลไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านสูญเสียอาชีพด้านการประมง และได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการใช้บันไดปลาโจน ซึ่งจะเป็นบันไดที่มีลักษณะสูงแล้วปล่อยน้ำลงมาเพื่อให้ปลากระโดดขึ้นไป แต่พอไปดูจริงๆ นั้นปลาบางตัวก็ไม่สามารถจะโดดขึ้นได้ บางตัวก็หัวแตกตายคาบันได


 


จึงมีชาวบ้านที่ปากมูลแซวว่า อุตส่าห์ลงทุนไปเอาเทคโนโลยีบันไดปลาโจนจากอเมริกา ซึ่งเหมาะกับปลาแซลมอน ซึ่งเป็นปลาที่แข็งแรงและกระโดดสูง ไหนๆ ก็เอาบันไดปลาโจนมาติดตั้งที่นี้แล้ว ก็น่าจะเอาปลาที่น้ำโขงกับน้ำมูลไปศึกษาดูงานที่นั้นด้วยว่า วิธีใช้มันเป็นอย่างไร เพราะว่าปลาน้ำโขงนั้นไม่สามารถทำได้จริงๆ ซึ่งหากตอนนี้ถ้าเราไปดูที่เขื่อนปากมูลจะพบว่าบันไดปลาโจนก็ปิดตายไม่ได้ใช้


 


 


8 เขื่อน โขง-สาละวิน: ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น


มีการประเมินว่าประชาชนซึ่งพึ่งพาแม่น้ำโขงตอนล่างโดยตรง มีประมาณ 60 ล้านคน ก็คือภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ลาวที่ติดลำน้ำโขงทั้งประเทศ รวมไปถึงเขมรและเวียดนาม สำหรับ 8 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่างไล่จากด้านบนลงมาก็คือ เขื่อนปากแบ่ง ซึ่งอยู่ท้ายน้ำของอำเภอเชียงของกับหลวงพระบาง แห่งที่สองคือที่หลวงพระบางคืออยู่เหนือหลวงพระบางมาเล็กน้อย ลงไปอีกก็คือเขื่อนไซยบุรีที่แขวงไซยบุรีของประเทศลาว ถัดลงมาอีกก็คือเขื่อนปากลายอยู่ที่แขวงเวียงจันทร์ และตรงชายแดนก็จะมีเขื่อนผามอง หลังจากนั้นก็จะเป็นเขื่อนบ้านกุ่มอยู่ที่อำเภอโขงเจียม ซึ่งจะอยู่เหนือเขื่อนปากมูลเล็กน้อย หลังจากนั้นก็จะอยู่ในแขวงจำปาสักของลาวก็คือเขื่อนดอนสะฮอง


 


ส่วนลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งมีโครงการก่อสร้างก็คือเขื่อนท่าซางซึ่งอยู่ในรัฐฉานของพม่า และอีกหนึ่งเขื่อนก็คือเขื่อนดากวินในรัฐกะเหรี่ยง สิ่งที่กระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินก็อาจจะไม่กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ในทางอ้อมนั้นเราจะต้องเตรียมพื้นที่รองรับผู้อพยพไว้ เพราะว่ามีการประเมินผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนประมาณ 73,000 คน ซึ่งผู้อพยพก็จะหนีไปพม่าคงเป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net