"100 วัน วนิดา": สมัชชาคนจน หัวใจคือพลังอิสระ

 

"งาน 100 วัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่สามของงาน ช่วงเช้าเปิดเวที "บทเรียน องค์ความรู้ และความเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ของขบวนการประชาชน"

 

บรรยากาศภายในงาน

 

สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ -- สมชาย ปรีชาศิลปกุล

 

 

นายสุธี ประศาสน์เศรษฐ์ นักวิชาการที่ศึกษาปัญหากรณีผลกระทบจากเขื่อนปากมูล กล่าวว่า จากการสังเกตการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนที่ผ่านมาพบว่า เนื่องจาก "ระบบโครงสร้างครอบงำ" ที่เกี่ยวข้องกับรัฐและกลุ่มทุนอันมีเป้าหมายพัฒนาที่เร่งรัด แสวหากำไรที่รวดเร็ว ผ่านการขูดทรัพยากรและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหลากหลาย หรือถ้าให้คืนกลับสู่ประชาชนบ้างจะเป็นรูปแบบการทวงบุญคุณเชิงอุปถัมป์ และเอาขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง บนพื้นฐานความคิดให้ประชาชนแบ่งแยก ทำให้ขบวนการประชาชนไม่เข้มแข็ง

 

อย่างไรก็ตาม "สมัชชาคนจน" เป็นนวัตกรรมการเคลื่อนไหวที่มาจากการรวมกันจากเครือข่ายปัญหาต่างๆ จนกลายเป็นหน่วยใหญ่ที่มีพลังที่สามารถต่อรองกับกลไกรัฐและก่อกระแสทางสังคมได้ ซึ่งวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ มีส่วนสำคัญในการสร้างขบวนให้มีอำนาจต่อรอง ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวได้สร้างบุคลิกใหม่ให้ชาวบ้าน เปลี่ยนจากการเชื่อฟังเจ้าใหญ่นายโต กลายเป็นบุคลิกที่ต่อสู้หรือเรียกว่าเป็นพลเมืองที่รักษาสิทธิของตัวเอง และเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ในภาคประชาชนที่เป็นตัวอย่างให้กลุ่มอื่นได้

 

"หัวใจสำคัญที่กลุ่มต่างๆ ให้การยอมรับสมัชชาคนจนคือ สมัชชาคนจนพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นพลังอิสระ ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ชนชั้นกลางบางส่วนก็เข้าใจและให้ความนับถือ ความเป็นพลังอิสระต้องดำรงไว้ให้ได้ เพราะบางพลังก็พ่ายแพ้ให้กับกิเลสหรือสินจ้างเหมือนกันซึ่งทำให้ขบวนเขวได้"

 

นายสุธี กล่าวต่อว่า การเป็นพลังอิสระต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย และต้องสร้างการนำในขบวนหรือผู้นำแถวสองแถวสามคือ แม้แกนนำบางคนเสียคนไป พลังอิสระจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่นำขบวนให้เดินต่อไปได้

 

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคตจะต้องจัดการความสัมพันธ์ 3 เรื่องให้ได้ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างใหญ่ที่รวมตัวกันในนามสมัชชาคนจนกับเครือข่ายย่อย ซึ่งบางจังหวะเคลื่อนร่วมกัน แต่บางจังหวะแต่ละเครือข่ายจะเคลื่อนในประเด็นของแต่ละพื้นที่

 

ความสัมพันธ์ที่สองได้แก่ ความสัมพันธ์เรื่องงานร้อนอย่างเช่นงานการชุมนุมกับงานเย็นหรืองานด้านเศรษฐกิจ เพราะแม้จะเคลื่อนขบวน แต่ผู้ร่วมขบวนหรือแกนนำก็ต้องมีข้าวสารกรอกหม้อ มีค่าใช้จ่าย จึงต้องจัดการความสัมพันธ์ในงานร้อนกับชีวิตประจำวัน

 

ความสัมพันธ์สุดท้ายได้แก่ เรื่องความเป็นชายหญิงหรือเรื่องครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางทีไปเคลื่อนไหว แต่ในครอบครัวอาจไม่เห็นด้วย ทำให้ฝ่ายตรงข้ามอาจปล่อยข่าวทำให้เกิดความระหองระแหงได้

 

นายสุธี ยังกล่าวว่า คำขวัญซึ่งสะท้อนทิศทางการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งมี 3 ข้อ ได้แก่ ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตัวเองได้ ประชาชนต้องเป็นพลังเปลี่ยนแปลงทางสังคม และประชาชนต้องสามัคคีกัน ซึ่งคำขวัญทั้ง 3 ข้อ จะเป็นมรรควิถีที่ทำให้สามารถบรรลุอุดมการณ์ได้

 

ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขบวนการประชาชนตั้งแต่ ปี 2530 - 2550 มีหลายกลุ่มแต่กลุ่มขบวนการชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในทรัพยากรหรือที่เรียกว่าขบวนการสิทธิชุมชนน่าจะเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด เพราะทำให้หลายประเด็นที่ไม่เคยถูกตั้งคำถามถูกตั้งคำถาม เช่น นโยบายเขื่อนหรือพลังงาน

 

นอกจากนี้ สิทธิชุมชนถูกทำให้กลายเป็นสถาบันทางสังคมซึ่งจะต้องถูกนำมาพูด นักวิชาการและชาวบ้านเองก็นำมาใช้ได้อย่างมีพลังในการขับเคลื่อนไม่ว่าสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมายังสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย เช่น การเขียนสิทธิชุมชนลงไปในรัฐธรรมนูญ 2540 และการตัดข้อความที่เป็นปัญหาในการเคลื่อนไหวทางสิทธิชุมชนออกไปในการแก้ไขและใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม สมชายชี้ว่า สิ่งที่ขบวนการสิทธิชุมชนเรียกร้องต่อรัฐมักเป็นเรื่องอำนาจในการจัดการทรัพยากร หรือเรียกร้องในการสร้างกลไกบางอย่างมาสนับสนุน เช่น ก่อนมีการพัฒนาขนาดใหญ่ต้องมีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งเมื่อมีแล้วก็ต้องนำมาวิจารณ์กันอีก ไม่ได้พูดไปถึงคนที่อยู่เบื้องหลัง EIA

 

การเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางจากการพัฒนาของรัฐ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิต เช่น เกษตรกร ชาวนาในภาคเหนือเวลานี้ ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการทำเกษตรหรือทำนาอย่างเดียว พอหมดฤดูก็ต้องเข้าเมืองไปทำงาน ลูกหลานก็ออกไปทำงานที่อื่น ในขณะที่แรงงานแบบชั่วคราว หรือแรงงานเหมาช่วงมีมากขึ้น อีกทั้งวัฏจักรของสังคมไทยที่เกิดขึ้นคือเกษตรกรมีแนวโน้มจะกลายเป็นกรรมกรยากจนในอนาคต

 

ดังนั้นเรื่องสิทธิชุมชนแม้จะมีอำนาจในการเรียกร้องมากขึ้น อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะนัยยะเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นหรือการพูดเรื่องความเป็นธรรมในสังคมในการเคลื่อนไหวมีน้อยลง เช่น กรณีการต่อสู้ของนางสมบุญ สีคำดอกแค แรงงานซึ่งป่วยเป็นโรคฝุ่นฝ้ายจากการทำงาน แม้จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิแต่ปัจจุบันประมาณ 11 ปีแล้ว กระบวนการพิจารณาของศาลแรงงานซึ่งมีสโลแกน "รวดเร็ว ฉับไว เป็นธรรม" ยังไม่สิ้นสุด ประเด็นนี้กลับถูกพูดถึงในสังคมน้อยมาก

 

"ในทศวรรษที่ผ่านมาขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิชุมชนพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมน้อยลง ซึ่งแม้ข้อเสนอบางอย่างรัฐหรือชนชั้นนำไม่ปฏิเสธเพราะไม่กระทบถึง แต่การผลักดันเรื่องสวัสดิการ อย่างเช่น การรักษาพยาบาลคงไม่สามารถทำได้ง่าย หากเดินหน้าโดยไม่แตะเรื่องความเป็นธรรมด้วย" ผศ.สมชายกล่าว

 

ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์สานต์

 


ด้านนายศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์สานต์ อดีตนักวิชาการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกที่คำนึงถึงเพียงความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ แต่ละเลยวิกฤติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่บทเรียนจากการสร้างเขื่อนปากมูลมีผู้เดือดร้อนมานานนับ 10 ปี ซึ่งตอนที่สร้างไม่มีการศึกษาอย่างเพียงพอ ความไม่มีองค์ความรู้เรื่องธรรมชาติทำให้ออกแบบโครงการที่ขวางธรรมชาติ คือเขื่อนปากมูลไปกั้นทางเดินของปลา

 

ทั้งนี้ ความรู้ที่ใช้วางแผนพัฒนามักมาจากความรู้ทางวิศวะหรือเศรษฐศาสตร์แบบประเพณีเท่านั้น ซึ่งไม่มีความรู้ด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเลย ความคิดจึงแคบ ต้องฝึกคนให้มองรอบด้าน เข้าใจมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะถ้าไม่เปลี่ยน ประชาชนจะลำบากเนื่องจากแนวทางการวางแผนพัฒนาจะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ปัจจุบันยังเป็นเพียงแนวคิดแต่ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท