Skip to main content
sharethis


 


ตามที่ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ความผิดปกติของอากาศตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ส่งผลให้หลายพื้นที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเกินมาตรฐานในระดับสูงมาก ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มีผลต่อสุขภาพ โดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวถึงความผิดปกติของอากาศใน จ.ลำปาง ด้วยว่า ผลการตรวจวัดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา จ.ลำปาง มีฝุ่นละอองสูงถึง 181.2 ไมโครกรัม


 


ล่าสุด นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า ขณะนี้ปัญหาหมอกควันได้เริ่มกระจายไปทั่ว จ.ลำปางแล้ว ซึ่งรวมไปถึงในพื้นที่ อ.แม่เมาะด้วย ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านแม่เมาะต่างก็ได้รับผลกระทบหนักกับมลพิษจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่นับวันก็รุนแรงอยู่แล้ว ในขณะนี้ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติเรื่องหมอกควันอีก ก็ยิ่งได้รับผลกระทบหนักเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยใกล้บริเวณขอบเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ทำให้ชาวบ้านซึ่งป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เพราะได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากเหมืองถ่านหินของ กฟผ.อยู่ก่อน พอเจอปัญหาหมอกควันที่กระจายฟุ้งอีก ก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักมากขึ้น


 


"ที่ผ่านมา ก็มีรายงานออกมาอยู่แล้วว่า ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ พบผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเป็นจำนวนมากเป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก จ.สระบุรี ซึ่งสาเหตุก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่ามาจากควันพิษจากเหมืองถ่านหินของ กฟผ.แต่ทำไมทุกวันนี้ ถึงไม่มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปในพื้นที่ดูแลรักษาผู้ป่วยแต่อย่างใดเลย พอเกิดภาวะปัญหาหมอกควันเข้าไปอีก คนป่วยก็ยิ่งทรุดหนักเข้าไปอีก ดังนั้น ในนามเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จึงขอวิงวอนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของ สธ.ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศได้เหลียวแล จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยกันด้วย" เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าว


 


ทั้งนี้มีรายงานว่า นับจากปี 2535 ที่เกิดวิกฤตฝนเหลือง- มลพิษจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน- พืชผลทางการเกษตร-สัตว์เลี้ยง กินพื้นที่กว่า 40 หมู่บ้านของ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงวิกฤตการณ์ทำนองเดียวกันอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2541 ที่ผ่านมา ที่ปัญหามลพิษทางอากาศในแม่เมาะ รุนแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะมีการติดตั้งเครื่องดักสารซัลเฟอร์ฯ ด้วยงบประมาณนับหมื่นล้านบาทแล้วก็ตาม แต่หลายฝ่ายก็ออกมาพูดกันว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้แต่อย่างใด และเป็นการลงทุนไปที่ไม่คุ้มทุนอีกด้วย


 


และกระทั่งจนขณะนี้ ประเด็นปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะกรณีของ 4 หมู่บ้าน ที่ประกอบด้วย บ้านห้วยคิง หมู่ 6 และบ้านห้วยเป็ด หมู่ 4 ต.แม่เมาะ กับบ้านหัวฝาย หมู่ 1 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ 8 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ชาวบ้านเรียกร้องให้ กฟผ.แสดงความรับผิดชอบต่อการเจ็บป่วย และผลกระทบต่างๆ ที่ได้รับจากการทำเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งขณะนี้ยังมีคดีฟ้องร้องยังอยู่ที่ศาลปกครอง


 


ม.แม่โจ้ เผยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ


กระทบต่อระบบนิเวศน์ - สุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง


เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง จ.เชียงใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง "หยุดหมอกควันและไฟป่า หยุดเวลาโลกร้อน" โดยในวันนั้นได้มีรายงานเรื่อง "การวิเคราะห์การลงทุนในการบำบัดมลภาวะทางอากาศจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ" ของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.แม่โจ้ ซึ่งมีการวิเคราะห์ปัญหามลพิษจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นั้นได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างรุนแรง


 


ในรายงาน ระบุว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของ กฟผ.เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถ่านหินลิกไนต์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมีเปอร์เซ็นต์กำมะถันเป็นองค์ประกอบสูงจึงทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะมลพิษจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งระบบนิเวศน์ด้วย


 


ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการติดตั้งระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas DesulfuriZation - FGD) ขึ้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะในระหว่างปี พ.ศ.2537 - 2543 โดยระบบ FGD ที่ติดตั้งมีประสิทธิภาพสูง สามารถดูดซับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากอากาศเสียได้ถึงร้อยละ 92 - 97 นั้น


 


ชี้ประเมินการติดตั้ง FGD ได้ไม่คุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์


ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน


แต่อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับดังกล่าว ได้มีการวิเคราะห์การลงทุนป้องกันมลพิษทางอากาศโดยระบบ FGD ในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยการประเมินผลประโยชน์และต้นทุนที่เกิดขึ้นตลอดช่วงอายุการใช้งานของระบบ FGD ซึ่งกำหนดไว้ที่ 25 ปี ประกอบด้วย 1.ผลได้ทางด้านสุขภาพอนามัย 2.ผลได้ทางการเกษตร 3.ผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมจากป่าไม้ 4.ยิปซัมซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีในระบบ FGD


 


สำหรับทางด้านต้นทุนประกอบด้วย 1.ต้นทุนค่าก่อสร้าง 2.ค่าดำเนินการและดูแลรักษา 3.ค่าวัตถุ และ 4.ต้นทุนทางอ้อมที่เกิดจากการปล่อยออกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน


 


ในการประเมินมูลค่าผลได้ในแง่สุขภาพอนามัยของประชาชนที่ดีขึ้น เนื่องจากมลภาวะทางอากาศที่ลดลงจากการติดตั้ง FGD นี้ ทำการประเมินโดยการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง ความเข้มข้นของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในบรรยากาศและอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยใช้ผลการศึกษาของวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2544,2545) ซึ่งมีการศึกษาอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม สำหรับการประเมินคุณค่าผลได้ทางด้านสุขภาพในรูปตัวเงิน ใช้วิธีการประเมินต้นทุนในการรักษา (Cost of Illness -COI) และความเต็มใจจ่ายเพื่อลดการเจ็บป่วย (Willingness To Pay - WTP)


 


นอกจากนั้น ยังมีการประเมินมูลค่าผลได้ทางด้านการเกษตรและผลได้ทางอ้อมจากการเก็บของป่า ใช้สมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศ และเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของผลผลิตการเกษตรขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic CO- operation and Development - OECD) เพื่อประเมินผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการติดตั้ง FGD สำหรับการประเมินผลได้ทางตรงจากป่าไม้ จะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงผลผลิตของป่าสักซึ่งเป็นสวนป่าเพื่อการค้า ภายใต้การจัดการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้


 


ซึ่งผลการศึกษาวิเคราะห์ในครั้งนี้ พบว่า การลงทุนในระบบ FGD ไม่คุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยมูลค่าปัจจุบันของผลได้ และต้นทุนมีค่าประมาณ 4,700 และ 13,800 ล้านบาทตามลำดับ (ที่ราคาคงที่ปี พ.ศ.2537 และอัตราส่วนลด 6% ) โดยในการประเมินค่าผลได้จากการลงทุนผลประโยชน์ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80% เป็นผลทางด้านสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ผลผลิตทางด้านป่าไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 18 สำหรับผลทางด้านการเกษตรและผลพลอยได้ในรูปยิปซัมมีเล็กน้อย


 


ทางด้านต้นทุน พบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่ร้อยละ 52 เป็นค่าก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและค่าวัตถุดิบที่ใช้ในระบบ FGD คิดเป็นร้อยละ 15 และ 27 ตามลำดับ สำหรับต้นทุนการปล่อยออกสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน คิดเป็นประมาณร้อยละ 6.6 ของต้นทุนทั้งหมด


 


และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ในกรณีฐานมีค่าติดลบประมาณ 9,100 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนผลได้ - ต้นทุน มีค่าเท่ากับ 0.34


 


เผยงานวิจัยนี้ไม่ได้นำข้อมูลผู้ป่วยแม่เมาะที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาวิเคราะห์


รายงาน ระบุด้วยว่า ในการวิเคราะห์การลงทุนในการบำบัดมลภาวะทางอากาศจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะครั้งนี้ การประเมินผลได้จากการลงทุนนับเป็นเพียงตัวเลขผลได้ขั้นต่ำที่เกิดจากระบบ เนื่องจากองค์ประกอบของผลได้บางส่วน เช่น  การลดความเสี่ยงจากการตายก่อนวัยอันควรของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไม่ได้นำมาวิเคราะห์ เนื่องจากไม่หลักฐานที่ชัดเจน รวมทั้งยังมีข้อโต้แย้งทางการแพทย์ และไม่มีข้อมูลรายละเอียดที่เพียงพอ


 


ย้ำปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คือบทเรียนราคาแพง


กระทบรุนแรงทั้งเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยามวลชน


อย่างไรก็ตามในรายงานเรื่อง "การวิเคราะห์การลงทุนในการบำบัดมลภาวะทางอากาศจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ" ของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.แม่โจ้ ได้สรุปไว้ว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ นับเป็นบทเรียนราคาแพง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยามวลชน


 


ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังสรุปอีกว่า การพัฒนาโครงการทางด้านพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ การวางแผนเลือกวิธีการในการป้องกันปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม (ก่อนที่ปัญหาจะเกิด) นับว่ามีความสำคัญที่จะต้องได้รับการพิจารณา ไม่เฉพาะในเชิงเทคโนโลยีและวิศวกรรม แต่ควรคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และการยอมรับของสังคมส่วนรวม เพื่อให้การใช้ทรัพยากรและงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ


 


 


 






 


ข้อมูลประกอบ


- เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง "หยุดหมอกควันและไฟป่า หยุดเวลาโลกร้อน" โดย วราภรณ์ ปัญญาวดี,รัตนา โพธิสุวรรณ, น้ำเพชร วินิจฉัยกุล และ ขนิษฐา เสถียรพีระกุล,คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้


- ผู้จัดการรายวัน20 มี.ค.2550


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net