Skip to main content
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์


 ในสภาพการเมืองปัจจุบันที่แบ่งแยกสุดขั้ว หลายคนอาจเป็นห่วงความต่างระหว่างกลุ่มพันธมิตรและ นปก.ที่พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง หรือไม่ยอมแม้กระทั่งจะเจรจาด้วยซ้ำไป รวมถึงมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก และตอนนี้สถานการณ์ก็ซับซ้อนขึ้นหลังนายทักษิณ ชินวัตรกลับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกลับมองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมิน้อยกว่าความต่างก็คือ ความเหมือนอันน่าเป็นห่วงของสองกลุ่ม ดังต่อไปนี้


1.ทั้งสองฝ่ายพึ่งลัทธิบูชาบุคคล
ตอนทักษิณกลับมาเมืองไทยวันที่ 28 ก.พ. มีประชาชนผู้สนับสนุนและแฟนๆ อย่างน้อย 5,000 คนไปต้อนรับที่สนามบิน พวกเขาบ้างก็ถือธงสีฟ้าอ่อนต้อนรับการกลับมาของนายกฯ ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งถือดอกกุหลาบสีแดงเพื่อรอยื่นให้อดีตนายกฯ และมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งสวมใส่เสื้อยืดสีขาวมีข้อความด้านหลังสกรีนว่า "นายกฯ ของเรา" แกนนำ นปก.บางคนก็อยู่ที่นั่นและพวกเขาก็ร้องเพลงแสดงความดีอกดีใจ หลายคนอดปลื้มปิติไม่ได้ ถึงกับน้ำตาไหล แถมในบริเวณนั้นมีรูปทักษิณในอิริยาบถต่างๆ วางขายรูปละ 10 บาท ยกตัวอย่างเช่น รูปทักษิณบนหลังม้า คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริง ถ้าจะบอกว่าวันนี้ไม่มีโครงการประชานิยมไหนจะได้รับความนิยมเกินกว่าตัวนายทักษิณเอง กล่าวคือทักษิณได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งประชานิยม


มาดูฝ่ายตรงข้ามบ้าง ทุกคนคงทราบดีว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ชอบใส่เสื้อเหลือง ชูธงเหลือง กราบกษัตริย์ ร้องเพลงสรรเสริญ เทิดทูนบูชาอ้างว่า พวกตนจะสู้เพื่อ "ในหลวงของเรา"


เรื่องเหลืองๆ คงไม่ต้องกล่าวอะไรเพิ่มกระมัง


2.ทั้งสองฝ่ายมีสื่อโฆษณาชวนเชื่อของตนเอง
หากคุณอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและประชาทรรศน์ คุณอาจสงสัยว่า ตกลงทักษิณเป็นอย่างไรกันแน่ เขาคือวีรบุรุษหรือซาตาน ทั้งนี้เพราะฉบับหนึ่งเต็มไปด้วยมุมมองอันเลวร้ายและข้อวิพากษ์ต่อนายทักษิณ ในขณะที่อีกฉบับหนึ่งเชียร์ทักษิณสุดๆ


วันพฤหัสที่ 28 ก.พ. บทบรรณาธิการประชาทรรศน์ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "เราเชื่อมั่นว่าท่าน [ทักษิณ] จะต่อสู้ในทุกข้อกล่าวที่ฝ่าย "โจรปล้นประชาธิปไตย" นำมายัดใส่ท่าน ประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นกำลังใจให้


"การที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนในวันนี้ กองบรรณาธิการประชาทรรศน์ ไม่มีอะไรจะกล่าวได้มากไปกว่า "ด้วยความคิดถึง"


"ยินดีต้อนรับกลับบ้านเกิดเมืองนอน" (หมายเหตุ--ตัวหนาตามต้นฉบับ)  


ในขณะเดียวกัน ผู้จัดการรายวัน ผู้ขอเป็นแค่ยามเฝ้าแผ่นดิน พาดหัวรองหน้าหนึ่งในฉบับวันที่ 29 ก.พ.ว่า "แม้วถ่มถุยวางมือการเมือง "อยากตายบนแผ่นดิน" " ในหน้าสอง ยังกล่าวในหัวข่าวย่อยอีกว่า ทักษิณ "สร้างภาพก้มกราบแผ่นดินไทย"


อีกตัวอย่างเช่น การ์ตูนในหน้า 3 ของประชาทรรศน์ ฉบับวันที่ 3 มี.ค. 51 เป็นการ์ตูนช่องเดียวจบ เขียนข้อความบรรยายว่า "ทักษิณกราบ "ดิน" แล้วใครกราบเหล็ก?..." โดยมีรูปบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีป้าย "ม.7" ปักอยู่บนหลัง กำลังก้มกราบรถถัง ที่มีธงนาซีปักอยู่


ขณะที่ 1-2 วันหลังจากทักษิณมาถึง ผู้จัดการรายวันก็มีการ์ตูนล้อเลียนทักษิณแบ่งเป็นสองช่อง ช่องแรกเป็นรูปทักษิณกราบธรณีแล้วมีหญิงชราอายุคราวยาย ใส่ชุดไทย คาดสายสะพายเขียนว่า "ประเทศไทย" มีคำบรรยาใต้ภาพว่า "ต่อหน้าสื่อ" ส่วนช่องถัดไปเขียนว่า "ลับหลังสื่อ" ก็ปรากฎว่า ชายหน้าเหลี่ยมกำลังพยายามข่มขืนหญิงชรา


ถึงแม้สื่อแต่ละฉบับหรือทีวีแต่ละช่อง (โดยเฉพาะเอเอสทีวี กับ พีทีวี/เอ็มวีนิวส์) จะมีสิทธิเสนอมุมมองอย่างที่ตนเห็นหรือเชื่อ ผู้เขียนก็อดสงสัยมิได้ว่า พนักงานนักข่าวที่ทำงานให้กับสื่อเหล่านี้ต้องผ่านการทดสอบสมองว่าชื่นชมหรือเกลียดชังทักษิณหรือไม่ และผลของการที่คนในองค์กรสื่อเดียวกันคิดเหมือนกันหมดคืออะไร


(ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยสั้นๆ กับคุณพิธาน คลี่ขจาย บก.บห.ของหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ ซึ่งคุณพิธานยืนยันว่า นสพ.ประชาทรรศน์ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่โปรทักษิณ แต่เป็นหนังสือพิมพ์ที่ "ให้ความเป็นธรรม" กับทักษิณ)


3.ทั้งสองฝ่ายใช้วาทกรรม "คนดี" กับ "คนเลว"
ทักษิณนั้นไม่ดีสุดๆ ก็เลวสุดๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคุณถามกลุ่มไหน และเพราะ "ทักษิณเลว" พวกพันธมิตรฯ จึงยอมรับรัฐประหาร หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้เกิดรัฐประหาร ซึ่งพวกเขาถือว่า "เลวน้อยกว่า" แกนนำพันธมิตรฯ บางคนอย่างนายคำนูณ สิทธิสมาน ถึงกับยอมรับและภูมิใจที่ได้รับการแต่งตั้งสู่ สนช. ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา


และเพราะ "ทักษิณเป็นคนดี" รัฐบาลพลังประชาชนที่สนับสนุนทักษิณและต่อต้านทหาร คมช. จึงสามารถปลด โยกย้าย ข้าราชการระดับสูง ได้อย่างไม่ต้องตั้งคำถาม โดยเฉพาะ "คนเลว" ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือโปรโมทหลังทหารยึดอำนาจ


4.ทั้งสองฝ่ายมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส
มีใครรู้ไหมว่าตอนกลุ่มพันธมิตรฯ ตัดสินใจว่าจะชูธงเหลืองนำการต่อสู้นั้นพวกเขาตัดสินกันอย่างไร แกนนำ 5 คน โหวตกันอย่างไร เขาเคยบอกสาธารณะบ้างไหมและทำไมถึงไม่บอก คำตอบก็คือ พวกเขาไม่ยอมบอกและกระบวนการตัดสินใจไร้ซึ่งความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ประชาชนที่ไม่เอาทักษิณมีทางเลือกเพียงแค่จะปฎิบัติตามสิ่งที่แกนนำพันธมิตรฯ บอกหรือไม่เท่านั้นเอง (อย่าลืมนะครับ จะมีการชุมนุมกันอีกในวันที่ 28 มี.ค. นี้ ทางแกนนำเขาตัดสินใจแทนประชาชนกันอีกแล้ว)


ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนแรกเริ่มก่อตั้ง นปก. ก็มีการประชุมที่ธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นการประชุมปิดวงในเช่นกัน ผู้ตามไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ก็คงยังถูกปฎิบัติเยี่ยงผู้ตามต่อไป และทั้งสองกลุ่มก็ยืนยัน นอนยันว่า พวกเขาสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย"


5.ทั้งสองฝ่ายทำเป็นมองไม่เห็นข้อกล่าวหาความชั่วร้ายบางอย่าง
หลังจากนั่ง "เกาพุง" มา 17 เดือน นายสุริยะใส กตะศิลา โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเลือกตั้งของนายสมัครอย่างกระตือรือล้น ถึงแม้เขาและกลุ่มพันธมิตรฯ แทบจะอย่เฉยๆ ปล่อยให้เผด็จการทหารยึดบ้านยึดเมืองมาเป็นเวลากว่าปีครึ่ง ถึงแม้กลุ่มพันธมิตรฯ นี้ จะเรียกตนเองว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ "ประชาธิปไตย" ก็ตาม แต่กับความชั่วของระบอบเผด็จการทหารนั้น พวกเขาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือแม้กระทั่งมีส่วนส่งเสริมและร่วมรับประโยชน์ด้วยซ้ำไป


ในขณะเดียวกัน กลุ่ม นปก. ก็รู้สึกไม่สนใจหรือดูเหมือนไม่ยอมฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหานายทักษิณและพรรคพวกว่าโกงกินอย่างมโหฬาร และตอนนี้กลุ่ม นปก. ก็ดูเหมือนเพียงแต่จะต้องการสนับสนุนรัฐบาลพลังประชาชนในทุกทางอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู               


6.แล้วทั้งสองฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ?
แน่นอนพันธมิตรฯ อ้างว่ากลุ่มตนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและมีคำว่า "ประชาธิปไตย" อยู่ในชื่อของพันธมิตรฯ ในขณะที่ นปก. ก็ใช้ชื่อของกลุ่มว่า "ต่อต้านเผด็จการ"


กลุ่มพันธมิตรฯ อ้างว่า พวกเขาต่อสู้กับระบอบเผด็จการรัฐสภาภายใต้ทักษิณ (รวมถึงรัฐบาลปัจจุบัน) ในขณะเดียวกัน กลุ่ม นปก. ก็อ้างว่าตนต่อสู้กับเผด็จการทหาร และอมาตยาธิปไตย


ตกลงทั้งสองกลุ่มต่อต้านเผด็จการบางรูปแบบเท่านั้นหรือ


และพวกเขาจริงใจต่อการสร้างสรรค์ให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร


หรือว่าเผด็จการแบบคุณคือประชาธิปไตยของผม และประชาธิปไตยของผมคือเผด็จการของคุณ 


 


 


....................
หมายเหตุ--เพิ่มเติมเนื้อหาล่าสุดโดยผู้เขียน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เวลา 16.37น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net