สัมภาษณ์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล: เลิก ส.ว. เสีย ถ้าเลือกแล้วประชาชนไม่ได้อะไร

สัมภาษณ์และถ่ายภาพ ภฤศ ปฐมทัศน์

 

 

การเลือกเลือกตั้งส.ว.ก็ผ่านพ้นไปแล้วอย่างไม่มีอะไรหน้าตื่นเต้นตื่นตา แม้ว่าผลการนับคะแนน รสนา โตสิตระกูล จะเป็นผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในเขต กทม. ความหวังในการเข้าไปทำงานของตัวแทน ส.ว.จากเขตต่าง ๆ จะเอื้อต่อประชาชนได้มากน้อยขณะไหน และต้องไม่ลืมถามว่าเอื้อต่อกลุ่มใด ในเมื่อระบบการหาเสียงก็ถูกจำกัดจนเวลาจะเข้าคูหาก็ยังจำหน้าผู้สมัครไม่ได้ ยังไม่นับว่าบางคนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าจะเลือก ส.ว. ไปทำไม ในเมื่อได้ ส.ส. ไปทำหน้าที่แล้ว

 

ยังไม่นับว่า ส.ว.ที่ได้มาจากการเลือกของประชาชนด้วยเสียงข้างมาก จะต้องไปเจอกับ ส.ว.จากการสรรหาอีกครึ่งต่อครึ่ง ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 7 ท่าน โดยไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

 

ประชาไท สัมภาษณ์ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาวิเคราะห์ถึงระบบการคัดเลือกส.ว. ที่อยู่ภายใต้เงาของรัฐธรรมนูญ 2550 ระบบ "เลือกตั้งควบแต่งตั้ง" จะส่งผลอย่างไร ขณะเดียวกันก็วิพากษ์ระบบการเลือกตั้งที่จำกัดการหาเสียงของผู้สมัครทำให้ผู้มีต้นทุนทางสังคมอยู่เดิมเท่านั้นถึงจะเป็นผู้ได้เปรียบ และได้สรุปแบบฟันธงว่าควรปรับปรุงระบบการคัดเลือก ส.ว. ให้ตอบสนองต่อกลุ่มประชาชนที่หลากหลาย มิเช่นนั้นก็ไม่ควรจะมีเลยดีกว่า

 

 

000

 

มีความเห็นอย่างไรต่อที่มาของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจากทั้งการเลือกตั้งและมาจากการสรรหา

 

ระบบเลือกตั้งในครั้งนี้คิดหาเหตุผลในทางวิชาการมาอธิบายได้ยาก แต่ความพยายามในการตอบปัญหาเรื่องนี้มีอยู่สองอย่างคือ

 

หนึ่ง ที่ผ่านมาเราเคยมีแต่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ที่ เรื่องนี้เกิดก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่ง เราก็วิจารณ์ไปเยอะว่าส.ว. มาจากจากแต่งตั้งมันไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการคัดเลือกที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ มันตอบสนองต่อคนเลือกมาอย่างเดียว

 

สอง พอหลังจาก 2540 มันก็กลับมาเป็นการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเองก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากพอ

 

รัฐธรรมนูญ 2550 คนที่ออกแบบเลยพยายามจะดีไซน์บนพื้นฐานว่า ไม่ไว้วางใจทั้งสองระบบ คือทั้งระบบเลือกตั้งและระบบแต่งตั้ง เพราะฉะนั้นเลยมาเจอกันครึ่งทาง เลยมีทังระบบแต่งตั้งครึ่งหนึ่งคือส.ว.สรรหา และอีกครึ่งหนึ่งก็มาจากการเลือกตั้ง

 

คนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะได้ ส.ว. ดี ขณะเดียวกันตะให้กลับไปสู่การแต่งตั้งทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะเมืองไทยมันเดินผ่านจุดนั้นมาแล้ว ทางออกก็เลยเอามาอย่างละครึ่ง

 

 

มีความเห็นอย่างไรกับ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เลือกได้จังหวัดละคน

 

เรื่องที่มี ส.ว. ได้แค่จังหวัดละคนนี้ผมคิดว่ามีปัญหา มันอธิบายได้ยากว่าทำไม เดิมระบบการเลือกตั้งสมัย 2540 มันยังอธิบายได้ว่าทำไมจังหวัดนี้ถึงมี ส.ว. 8 คน ทำไมจังหวัดนี้มี ส.ว. คนเดียว เพราะว่าคำนวณจากสัดส่วนของประชากร จังหวัดไหนมีประชากรมากก็มีส.ว.จำนวนมาก

 

แต่ในคราวนี้ผมคิดว่ามันไม่มีตรรกะเลย คือมันกำหนดเอาเขตจังหวัด เขตทางการปกครองเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งมันก็ชัดอยู่แล้วว่าการกำหนดเขตแบบนี้มันไม่ได้สะท้อนอะไรเลย เช่น มันไม่ได้สะท้อนในแง่ของการเป็นกลุ่มเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน มันแค่สะท้อนว่านี้เป็นเขตทางการปกครอง ของรัฐจัดตั้งขึ้น อีกแง่หนึ่งความไม่เท่าเทียมก็เห็นกันอยู่ คนกรุงเทพซึ่งมีประชากรมากกว่าระนอง มากกว่าแม่ฮ่องสอน ก็มีส.ว. ได้คนเดียวเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่คะแนนเสียงสนับสนุนมีไม่เท่ากัน

 

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 115 กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครและผู้เข้ารับการสรรหาในตำแหน่ง ส.ว. ที่ห้ามเกี่ยวข้องกับนักการเมือง เช่น มาตรา 115 (5) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ มาตรา 115 (6) พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเกิน 5 ปี มาตรา 115 (7) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่เป็น ส.ส. เกิน 5 ปี แต่ปรากฏว่ายังมีผู้ใกล้ชิดนักการเมือง สามารถเป็น ส.ว. ได้ เรื่องนี้มีความคิดเห็นอย่างไร

 

มาตรา 115 ที่มีการกีดกันส.ว. ไม่ให้มีส่วนกับการเมืองมันก็ชัดเจน สิ่งที่เขากลัวคือ ส.ว. ที่เขาเรียกกันในชุดก่อนว่าสภาผัวเมีย-อันนี้จริงหรือไม่จริงก็ยังไม่ทราบ แต่อันหนึ่งที่ผมคิดว่าชัดคือ รัฐธรรมนูญนี้เขียนการออกแบบ ส.ว.ขึ้นด้วยความกลัวนักการเมือง ก็เลยพยายามจะดีไซน์ ทำยังไงให้คนที่มาลง ส.ว. ห่างจากพรรคการเมืองมากที่สุด

 

แต่คราวนี้ถ้าเราดูจำนวน ส.ว. ที่ออกมา กลุ่มใหญ่สองกลุ่มที่เข้าไปในสภาฯ ในครั้งนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มข้าราชการ คือข้าราชการทหารตำรวจหรือข้าราชการระดับสูงก็ได้ กลุ่มที่สองก็ยังเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดอยู่กับนักการเมือง อาจจะไม่ใช่ผัวเมีย แต่ก็อาจจะเป็นญาติที่ห่างออกไปอยู่ดี

 

สองกลุ่มนี้ยังเป็นสองกลุ่มใหญ่อยู่ เพราะฉะนั้นแล้ว ความพยายามที่จะเขียนกฎหมายเพื่อทำให้ ส.ว. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ปลอดการเมือง ผมคิดว่าในสังคมไทยมันเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะยังไงก็ตามบทบาทของ ส.ว. มันเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง

 

ฉะนั้นการคาดหวังว่าจะเขียนกฎหมายให้ส.ว.ปลอดจากการเมืองในทัศนะของผมคิดว่ามันเป็นการเขียนที่ขัดกับธรรมชาติ

 

อย่างไรก็ตาม ส.ว.ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองคนที่โดดเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจจะเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงใด ๆ ก็ตาม อาจจะมีบางคนโต้แย้งในกรณีเขตกทม. กรณีกทม. ถ้าเทียบกับจังหวัดอื่นผมคิดว่ากทม.น่าจะเป็นเขตพื้นที่การเลือกตั้งส.ว.ที่มีลักษณะพิเศษ ต่างจากที่อื่น คือ กทม. เป็นเขตที่ประกอบด้วยชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าเวลาชนชั้นกลางเวลาเลือกตัวแทนจะมีความอิสระในตัวเองสูง ฉะนั้นมันจึงมีโอกาสให้คนอย่างคุณรสนาเข้ามา แบบนี้มันจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในจังหวัดอื่นเลย

 

ในแง่หนึ่งผมคิดว่าความคาดหวังของชาวบ้านที่มีต่อส.ว.มันก็ต่างกัน ชาวบ้านต่างจังหวัดบางส่วนอาจจะไม่เข้าใจว่าส.ว.คืออะไรอาจจะเลือกส.ว. เหมือนกับเลือกส.ส.หรืออะไรพวกนี้ ไม่ต่างกัน แต่คนกรุงเทพฯ อาจจะคาดหวังกับส.ว.ต่างไปอีกแบบ เพราะคนกรุงเทพฯ เป็นชนชั้นกลาง เสพย์ข้อมูลข่าวสาร ใกล้ชิดข้อมูลข่าวสาร ผมคิดว่าคนกรุงเทพก็จะคาดหวังกับส.ว.อีกแบบ ทำให้ผลการเลือกตั้งต่างไปอีกแบบ

 

แต่ไม่ได้หมายความว่าคนต่างจังหวัดโง่ คนต่างจังหวัดแค่เลือกส.ว.บนฐานความคาดหวังอีกแบบหนึ่ง หรือบางคนอาจจะไม่คาดหวังด้วยเลยก็ได้

 

 

ภารกิจแรกที่ ส.ว. ควรจะทำเป็นอันดับแรกคืออะไร

 

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ส.ว.ที่ได้รับเลือกคราวนี้เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ตอนนี้ที่เป็นปัญหาหลักใหญ่ ๆ คือ การสร้างระบอบการเมืองที่มีความชอบธรรม ที่จะทำให้ทุกฝ่ายโดดเข้ามาต่อสู้แข่งขันและใช้กติกาเป็นฐานในการเมือง ซึ่งกติกาที่กล่าวมานี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้เป็นคำตอบให้เลย 2550 เป็นกติกาที่ผมคิดว่ามีฐานความชอบธรรมอยู่ไม่มากเท่าไหร่ นี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีคนไม่เห็นด้วยนับตั้งแต่เริ่มประกาศใช้มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

เพราะฉะนั้นถ้าส.ว.คิดถึงอนาคตของสังคมไทยอย่างจริงจัง เช่นคิดถึงการสร้างระบบการเมืองที่มีความชอบธรรมซึ่งผมคิดว่าทำได้ ส่วนหนึ่งจะต้องมาจากการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ประเด็นอื่นที่ส.ว.ชุดนี้น่าจะทำอาจจะเป็นเรื่องยาก คือ  หนึ่ง การนำเอากฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เคยผ่านมาทบทวน เพราะ สนช.ได้ผ่านกฎหมายเป็นจำนวนมาก แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานที่มาของ สนช.ชุดนี้ มาจากกลุ่มคนแคบ ๆ กลุ่มคนที่ไม่กว้างขวาง ซึ่งกฎหมายหลาย ๆ ตัวมีความผิดพลาดด้วย กฎหมายพวกนี้ควรจะถูกหยิบมาทบทวน

 

สอง เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับความมั่งคงฯ เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักที่เกิดขึ้นใน การที่ สนช. ออกกฏหมายเกี่ยวกับความมั่นคงหลายฉบับ โดยกฎหมายที่ออกมาไม่ได้ถูกโต้แย้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากเท่าไหร่ ส.ว.ควรจะมีหน้าที่ทบทวนกฏหมายฉบับนี้

 

 

เรามี ส.ว. ทั้งจากเลือกตั้ง และสรรหา ที่มาจากภาคประชาชนน้อยมาก สิ่งนี้แปลว่าอะไร มันเป็นผลมาจาการทำงานของ ส.. ภาคประชาชน ชุดที่แล้วหรือเปล่า ที่ทำงานกันอย่างถึงลูกถึงคนจนคนร่าง รธน. เรียนรู้ที่จะสกัด

 

ผมคิดว่าการออกแบบระบบการเลือกตั้งแบบนี้แหละ จะทำให้ภาคประชาชนมีโอกาสเป็นตัวแทนน้อยมาก เพราะหมายความว่าคุณต้องเป็นที่ 1 ในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ซึ่งคนที่จะเป็นที่ 1 ได้มันจะต้องมีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่นถ้าคุณไม่เป็นผู้กว้างขวาง ผู้มีอิทธิพลคุณจะต้องมีชื่อเสียงมาก ซึ่งแบบนี้ในกทม. อาจจะมีความเป็นไปได้ถ้าคุณเป็นภาคประชาชนทำงานเคลื่อนไหวในระดับที่สื่อจับจ้องอย่างคุณ รสนา แต่กับจังหวัดอื่น ๆ เป็นไปได้ยาก จังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้เข้าถึงสื่อง่ายเท่ากทม. โอกาสเป็นไปได้จึงน้อยมาก

 

ระบบการหาเสียงเองก็ทำให้คนที่มีทุนทางสังคมอยู่เดิมจะได้เปรียบ อย่างเวลาสมัครส.ว.กกต.บอกว่าทำอะไรได้บ้าง คุณก็แค่แนะนำตัวประวัติความเป็นมาแล้วก็หาเสียงได้เฉพาะงานที่ตัวเองจะทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันจะมีส.ว.คนไหนบอกมั่งว่าผมจะไม่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนก็บอกว่าต้องทำหมด พอบอกว่าจะทำหมด มันก็เลยเหมือนกันหมด ถ้าสมมุติผมสมัคร ระหว่างคุณนิติพงษ์ ห่อนาคกับผมก็ต้องพูดเหมือนกัน

 

คือระบบการเลือกตั้งไม่ทำให้คนที่สมัครส.ว.พูดต่างกันได้ ทำให้ต้องกลับไปดูต้นทุนทางสังคม เลยต้องดูว่าคุณรสนา กับคุณนิติพงษ์ ใครทำอะไรที่คนรู้จักมามากกว่ากัน มันก็จบ ระบบการเลือกตั้ง ส.ว.มันจึงไม่เปิดโอกาสให้คนที่ทำอะไรมาแต่ไม่เป็นที่รู้จักได้เข้าไปมีพื้นที่เท่าไหร่

 

ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ถือว่าเป็น ส.ว.ภาคประชาชน พันธมิตรฯ ก็เป็นแค่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีทัศนะและความเห็นทางการเมืองแบบหนึ่ง เขาก็มีสิทธิเคลื่อนไหวภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่เขาก็ไม่ได้เป็นตัวแทน อย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของผม แล้วก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนอีกหลาย ๆ กลุ่มในสังคมด้วย

 

เอาเข้าจริงระบบการเลือกตั้งส.ว.มันก็ไม่ได้สะท้อนว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของประชาชนในกลุ่มที่หลากหลาย เช่น เดิมเราก็ได้ข้าราชการในช่วงที่มาจากการแต่งตั้ง ต่อมาก็มาจากนักการเมืองท้องถิ่นในช่วงที่เป็นการเลือกตั้ง ซึ่งยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของข้าราชการ

 

ข้อเสนอของผมคือ หนึ่ง ทำอย่างไรให้ระบบการเลือกตั้งของ ส.ว. มันสามารถ พอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้บ้าง ตัวระบบการเลือกตั้งมันก็ต้องเปลี่ยนไปเช่น ระบบเลือกตั้ง ส.ว.แบบแบ่งเขตจังหวัดควรจะเลิก ผมคิดว่าน่าจะเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเลย ซึ่งถ้าเราเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้งมันจำให้คนที่เดิมสมัครเท่าไหร่ก็ไม่มีโอกาสได้ เช่น คุณจินตนา แก้วขาว ถ้าลงสมัครในประจวบฯ ไม่มีทางได้หรอก แต่คุณจินตนามีเครือข่ายมีคนที่สนับสนุนอยู่ที่อื่น อย่างที่ปากมูล ที่มาบตาพุต ที่จะนะ ที่เชียงใหม่ ฯลฯ ถ้าหากเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งคุณจินตนาอาจจะเข้ามาได้

 

ระบบการเลือกตั้งใหม่มันต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัวแทนกลุ่มคนต่าง ๆ ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนส.ว.ของประชาชนได้มากขึ้น

 

สองคือ ถ้าหากว่าเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งแล้วยังไม่ได้ส.ว.ที่เป็นตัวแทนจากประชาชนที่หลากหลาย ไม่ได้สะท้อนว่ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนต่าง ๆ  ข้อเสนอของผมคือ เลิก ส.ว. ไปเลย ถ้ามันสะท้อนอะไรไม่ได้จะมีอยู่ทำไมก็เลิกมันไป เพราะว่ายังไงเราก็มีสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว

 

เราต้องการมี ส.ว.เพื่ออะไร ถ้าเปรียบเทียบกับอังกฤษ มันก็มีสภาฯ ที่ถูกแบ่งมานานแล้ว  ระหว่างสภาสูงกับสภาสามัญ สภาสูงก็เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นสูง เป็นพระ เป็นขุนนาง เป็นข้าราชการระดับสูง ขณะที่สภาสามัญก็เป็นตัวแทนของประชาชน ถือเป็นพัฒนาการจากความเป็นมาของประเทศ ต่างคนก็ต่างรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

 

แต่กับในบ้านมันไม่ได้มีพัฒนาการมายาวนานขนาดนั้น ถ้าเราพบว่าไม่ว่าจะพยายามออกแบบการเลือกตั้งยังไงก็ตามสุดท้ายแล้วเลือกไปเลือกมาก็ยังไม่ทำให้ตัวแทนที่มาจาก ส.ว.ต่างไปจาก ส.ส. ได้ เพราะฉะนั้นจะมีไปทำไมให้เปลืองงบประมาณ แล้วหันมาพัฒนาระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท