Skip to main content
sharethis

อัคนี มูลเมฆ


 


การขยายตัวของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ส่งผลสะท้อนกลับที่น่าตกใจสำหรับชาวอเมริกัน ประโยคสำคัญที่นักยุทธศาสตร์และนักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศพากันเพียรถาม กระทั่งกลายเป็นคำถามใหญ่ก็คือ "ยุครุ่งเรืองของชาวอเมริกันจบสิ้นลงแล้วหรือ?!"


 


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เหมือนย้ำเตือนให้เห็นถึงลางแห่งหายนะ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ การขาดดุลงบประมาณชนิดบักโกรก ความผิดพลาดในการทำสงครามและการขยายอำนาจทางทหารที่ถูกวิจารณ์ไปทั่วโลก รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชาติคู่แข่ง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจนำมาซึ่งการล่มสลายของจักรวรรดิอเมริกา


 


มีนักวิเคราะห์นโยบายชาวอเมริกันหลายคนสะท้อนความวิตกนี้ไว้ในข้อเขียนต่างๆ เช่นนายเจมส์ คิทฟีลด์ (James Kitfield) -อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ตั้งชื่อบทวิเคราะห์ของเขาว่า "The Decline Begins" (ยุคเสื่อมเริ่มต้นขึ้นแล้ว!) ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในวารสารชื่อ National Journal ฉบับประจำเดือนพฤษภาคมปีก่อน ในนั้นได้สัมภาษณ์ความเห็นของอดีตผู้กำหนดนโยบายระดับนำของสหรัฐฯ ไว้หลายคน


 


แต่การวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นถึงความล่มสลายของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนมาจากพอล เคนเนดี้ (Paul Kennedy) -ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยลล์ เขาตีพิมพ์บทความชื่อ "The Rise and Fall of the Great Powers" (ความรุ่งโรจน์และความล่มสลายของชาติมหาอำนาจ) ในนั้นเป็นการศึกษาวิเคราะห์ถึงปัจจัยแห่งการถดถอยของมหาอำนาจในอดีต


 


ทฤษฎีของเคนเนดี้ระบุว่าความล้มเหลวของสหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกับความล้มเหลวของจักรวรรดิอื่นในอดีต คือเกิดจากการการใช้จ่ายงบประมาณทางทหารจำนวนมหาศาล กระทั่งก่อให้เกิดภาวะขาดดุลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เขากล่าวว่าภาวะเช่นนั้นก่อให้เกิด "ภาระเกินแบกรับของจักรวรรดิ" (Imperial Overstretch)


 


หากตีความตามความเห็นของเคนเนดี้ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเกิดจากภาระเกินแบกรับดังที่ระบุอยู่ใน "เปเรสทรอยก้า" ของกอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียตผู้นี้เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศสังคมนิยมอย่างโซเวียตไม่อาจแบกรับภาระทางอุดมการณ์ได้ เนื่องจากเหตุพื้นฐานคือประชาชนขาด "แรงกระตุ้น" (Incentive) ทางเศรษฐกิจ กระทั่งกลายเป็นที่มาของการยกเลิกสงครามเย็น


 


หลังสงครามเย็น สหรัฐฯ เฟื่องฟูขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประสบความสำเร็จจากการทำสงครามอ่าวครั้งแรก เคนเนดี้ระบุว่าสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ กลายเป็น "ไฮเปอร์ พาวเวอร์ (Hyper-power)" และทำให้โลกหมุนเข้าสู่ระบบขั้วอำนาจหนึ่งเดียว (Unipolar World) ทำเนียบขาวในยุคของนายจอร์จ บุช ผู้เป็นบิดา ฮึกเหิมถึงกับประกาศ "กฏระเบียบโลกใหม่" (New World Order) มาใช้บังคับชาวโลก


 


พวกสายเหยี่ยว (Hawkish) และพวกอนุรักษ์นิยมใหม่แห่กันเข้ามาสู่ทำเนียบขาว พวกเขาตื่นเต้นกับอำนาจของ "ศตวรรษใหม่ของอเมริกา" (New America Century) ทั้งนำเอาคำนี้ไประบุไว้ในโครงการยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงหกเดือนก่อนการรุกรานอิรักของนายบุชผู้ลูก นายชาร์ลส์ เครมเมอร์ คอลัมนิสต์ของ นสพ.วอชิงตันโพสต์ กล่าวถึงสหรัฐฯ ว่ากำลังอยู่ในชั่วขณะแห่งขั้วอำนาจเดียว


 


ในตอนนั้น ศาสตราจารย์เคนเนดี้ถึงกับกล่าวว่าขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งอำนาจทางเทคโนโลยี และอำนาจทางทหารยิ่งใหญ่อย่างไม่มีใครเทียบ "เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีประเทศใดเป็นเช่นนี้มาก่อน" เขาระบุ


 


เขากล่าวอีกว่า "ข้อเท็จจริงคือไม่มีประเทศใดที่มีวัฒนธรรม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการทหารที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์ของโลกเท่านี้มาก่อน นับแต่ยุคจักรวรรดิโรมัน!"


 


ขณะสหรัฐฯ ยังก้าวรุดหน้าเพื่อสร้างจักรวรรดิให้สมบูรณ์แบบ แต่แล้ววิกฤติการณ์ทางการเงิน สงครามต่อต้านการก่อการร้าย สงครามอัฟกานิสถานและสงครามในอิรัก การขึ้นราคาน้ำมัน และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ กลายเป็นปัจจัยบ่อนทำลายจักรวรรดิโรมันแห่งใหม่ของทำเนียบขาว


 


มาบัดนี้ นักทฤษฎีอนุรักษ์นิยมใหม่อย่างโดนัลด์ คาแกน (Donald Kagan) ศาสตราจารย์แห่งเยลล์ กลับมาตั้งคำถามใหม่ว่าอะไรคือความผิดพลาดของการทำสงครามยึดครองอิรัก? เขากล่าวว่า "ตอนนี้ ทุกอย่างที่กอปรเป็นความเข้มแข็งของเรากำลังถูกท้าทาย และเป็นไปได้มากว่าอำนาจของสหรัฐฯ กำลังเสื่อมถอย"


 


รายงานประเมินความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจจากการทำสงครามในอิรักที่ทำขึ้นโดยพรรคแดโมเครตระบุว่า วอชิงตันต้องใช้จ่ายเงินทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเพื่อการนี้ถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ (3.5 Trillion Dollars) และหากคิดรวมถึงสงครามในอัฟกานิสถานด้วย ตัวเลขจะอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้นับถึงปี 2017


 


รายงานที่ชื่อ "สงครามสิ้นเปลืองเท่าไร?" ถูกนำมาเผยแพร่เมื่อ 13 พฤศจิกายนปีก่อน ในนั้นระบุถึงต้นทุนแอบแฝงในการทำสงครามไว้ด้วย ต้นทุนดังกล่าวเช่นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการทำสงคราม ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทำเนียบขาวยืมมาจากญี่ปุ่นเพื่อการทำสงคราม เป็นต้น


 


รายงานยังกล่าวถึงทุนทางเศรษฐกิจโดยรวมในการทำสงครามอิรัก โดยประเมินต่อหนึ่งครัวเรือนของชาวอเมริกัน และสรุปว่าครอบครัวที่มีสมาชิกเฉลี่ย 4 คนต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปเพื่อการทำสงครามของรัฐบาลถึง 16,500 ดอลลาร์ (ตกราว 528,000 บาท) ในช่วงระหว่างปี 2002-2008


 


ตัวเลขดังกล่าวดูสูงลิ่วจนยากที่ชาวอเมริกันจะรับไหว โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังดิ่งเหว เงินดอลลาร์กำลังอ่อนตัวกราวรูดเป็นประวัติการณ์ และคู่ต่อสู้ทางเศรษฐกิจอย่างอียูและจีนถือโอกาสผงาดตัวขึ้นมาจนกลายเป็นแนวรบทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ กำลังพ่ายแพ้


 


ในทางกลับกัน สงครามเริ่มประสบความล้มเหลว สหรัฐฯ ไม่อาจบรรลุเป้าหมายใดๆ ทั้งในอัฟกานิสถานและอิรัก ในประเทศแรก กลุ่มตาลีบันพาพลพรรคหนีไปหลบซ่อนตามป่าเขาและกำลังเปิดยุทธการตีโต้ ส่วนขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมของบิน ลาเดนยังหลับใหลอยู่ในสวรรค์อันปลอดภัย ขณะทำเนียบขาวต้องทำสงครามยืดเยื้อต่อไปในอิรัก ทั้งต้องจมปลักอยู่ในทะเลเลือดอีกนับสิบปี


 


กล่าวได้ว่านายบุชกำลังนำพาสหรัฐฯ ไปตกหลุมพรางทางนโยบายของตัวเอง สงครามที่เขาก่อขึ้นกำลังล้างผลาญงบประมาณของชาติอย่างตะกละตะกราม กรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ แถลงว่า "หากประธานาธิบดีบุชยังทำสงครามต่อไป งบประมาณสงครามจะพุ่งสูงมหาศาล"


 


ขณะนักวิเคราะห์กำลังจับตามอง "การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในการแบ่งสรรอำนาจของโลก" ศาสตราจารย์เคนเนดี้เตือนให้ระวังผลกระทบระยะยาวจากภาวะขาดดุลงบประมาณ ขณะนี้เฉพาะหนี้สินภาครัฐ ทำเนียบขาวเป็นหนี้ถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ (9 Trillion Dollars) นอกจากนี้ประเทศยังขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นเพราะการนำเข้าน้ำมันและแก๊ส เนื่องจากประเทศนี้บริโภคน้ำมันฟอสซิลมากที่สุดในโลก และก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุดเช่นกัน


กระทั่งผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าการขาดดุลอาจดำเนินไปยาวนานกระทั่งเป็นภาวะถาวร


 


ผลจากการพัฒนาของภูมิ-เศรษฐกิจของโลก กล่าวคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชาติในภูมิภาคอื่นๆก่อให้เกิดขึ้นซึ่งค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงอย่างรุนแรง ภาครัฐบาลและภาคธุรกิจต้องพึ่งพาเงินกู้ต่าง


ประเทศเพิ่มขึ้น ผู้ปล่อยเงินกู้ก็คือองค์กรทางการเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลชาติอื่น หรือกองทุนที่มั่งคั่งของต่างชาติ เช่นจากจีนและรัสเซีย รวมทั้งจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน


 


ด้วยเหตุผลทางการเมืองและการค้า หากประเทศปล่อยเงินกู้เหล่านี้ตัดสินใจทุ่มตลาดด้วยเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ (เงินตราที่กำหนดค่าเป็นดอลลาร์) หรือหากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่สำคัญ ตั้งราคาสินค้าของตนเป็นเงินตราอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ อาจถึงขั้น "หายนะ" ทั้งนี้ตามความเห็นของนายชาร์ลส์ ฟรีแมน (Charles Freeman) อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำซาอุดิอาระเบีย


 


ประเด็นของฟรีแมนดังกล่าวกลายเป็นที่วิตกของสำนักงานข่าวกรองสหรัฐฯ คนเหล่านี้หยิบยกประเด็นนี้มาหารือเป็นครั้งแรกในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระหว่างการทบทวนภัยคุกคามที่สำคัญจากทั่วโลกที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่


 


พวกเขาเชื่อว่าเป็นไปได้ที่ชาติผู้ปล่อยเงินกู้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันอยู่แล้ว จะรวมหัวกันดำเนินการเช่นนั้น และหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้เกิดการยับยั้งนโยบายของสหรัฐฯ ในที่ต่างๆ ไม่ว่าในเอเชียกลาง หรืออิหร่าน ซึ่งจะเป็นฝันร้ายของผู้ตัดสินนโยบายของทำเนียบขาว


 


นายฟลิ้นท์ เลเวอเร็ตต์ ผอ.ฝ่ายภูมิศาสตร์พลังงานแห่งมูลนิธิ New America Foundation ยืนยันผลการติดตามเรื่องนี้ของตนว่า ระบบเพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ ดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้น เขาแถลงว่า "กลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชาติที่มีพลังทางการผลิตที่ไม่ใช่ชาติประชาธิปไตย รวมทั้งกลุ่มชาติผู้ส่งออกพลังงาน ซึ่งสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันโดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดศักยภาพของสหรัฐฯ ในการดำเนินการเพื่อวาระแห่งการครองความเป็นจ้าว"


 


เมื่อเร็วๆ นี้  ความล้มเหลวทางการทูตสองกรณีของคณะบริหารภายใต้การนำของนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชสร้างความรู้สึกโดดเดี่ยวให้กับชาวอเมริกันทั้งประเทศ กรณีแรก นายบุชขอร้องกษัตริย์อับดุลลาห์แห่งซาอุดิอาระเบียให้เพิ่มผลผลิตน้ำมัน ด้วยเหตุผลที่เขาแถลงกับสื่อมวลชนว่า "มันส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพวกเรา การจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวชาวอเมริกัน" กระนั้น เขาได้รับคำตอบอย่างชัดเจนจาก รมว.กระทรวงน้ำมันของรัฐบาลริยาร์ดว่า ซาอุดิฯ จะเพิ่มผลผลิตน้ำมัน "ตามกลไกของตลาดเท่านั้น"


 


กรณีที่สอง โรเบิร์ต แก็ตต์ รมว.กลาโหมของสหรัฐฯ  ร้องขอต่อพันธมิตรนาโต้ให้เพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานอีก 7,000 คน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน แต่แล้วแก็ตต์ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย!


 


หรือว่าจักรวรรดิอเมริกาจะล่มสลายเสียแล้วจริงๆ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net