Skip to main content
sharethis

พิณผกา งามสม


 


 


ไม่แปลกที่การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียจะไม่เป็นข่าวใหญ่หรือถูกรายงานต่อเนื่องแบบการเลือกตั้งของสหรัฐ นั่นเป็นเรื่องเข้าใจได้ในเมื่อกูรูทั้งหลายต่างก็รู้อยู่แก่ใจไม่ต้องวิเคราะห์คาดเดาอะไรให้มาก เพราะถึงอย่างไร แนวร่วมของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล (Barisan Nasional - BN) ที่นำโดยพรรคอัมโน (United Malays National Organisation, UMNO) ที่ปกครองประเทศแบบหนังไม่ยอมเปลี่ยนม้วนจะต้องกวาดที่นั่งในสภาในระดับเพียงพอแก่การเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพอีกสมัย (ปี 2004 พรรค UMNO และพรรคแนวร่วมในรัฐบาลกวาดไป 199 ที่นั่ง จาก 219 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร หรือ 93 เปอร์เซ็นต์) และมาเลเซียปีนี้ก็จะยังคงเป็นมาเลเซียที่ใช้นายกรัฐมนตรีเพียง 5 คนภายในเวลา 51 ปี นับจากประกาศอิสรภาพในปี 1957


 


การยุบสภาแบบไม่มีลางบอกเหตุนั้นถือเป็นการเล่นบนความได้เปรียบของพรรคอัมโน ซึ่งได้กระทำมาเป็นปกติ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านแทบจะตั้งตัวไม่ติดกันเลยทีเดียวในการเลือกตั้งทุกครั้ง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันกว่า 40 องค์กรทั้งพรรคฝ่ายค้าน องค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชน ในนามของ BERSIH เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งที่เสรี (Free) และเป็นธรรม (Fair) โดยมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมเรียกร้องกว่า 40,000 คน


 


เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงโดยปราศจากความรุนแรง ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในมาเลเซีย ซึ่งส่วนมากจบลงโดยความรุนแรงและแกนนำของการเคลื่อนไหวมักถูกจับกุมและปล่อยตัวในเวลาต่อมา กระทั่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องตกใจหากนักกิจกรรมทางสังคมของมาเลเซียคนใดคนหนึ่งจะบอกกับคุณว่า เขาถูกจับกุมคุมขังมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง


 


คำถามว่า ทำไมพันธมิตรทางการเมืองในนาม BERSIH จึงต้องออกมาเรียกร้องทั้งๆ ที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่า การเลือกตั้งจะถูกจัดให้มีขึ้นเมื่อไหร่ คำตอบที่ได้ ก็คือสิ่งเดียวกับคำถามนั่นเอง.... ก็เพราะที่ผ่านมา ประชาชนคนมาเลย์และพรรคฝ่ายค้าน เผลอๆ รวมถึง ส.ส. ในพรรครัฐบาลเองก็ไม่รู้ว่า การเลือกตั้งจะถูกจัดขึ้นเมื่อไหร่ พวกเขารู้ว่ารัฐบาลมาเลเซียมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี แต่ไม่เคยมีรัฐบาลใดที่รอจนครบวาระแล้วจึงประกาศให้มีการเลือกตั้ง และไม่มีรัฐบาลใดประกาศยุบสภาโดยมีเหตุอันคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบเข้มข้นถึงลูกถึงคน กระทั่งรัฐบาลทำงานต่อไปไม่รอดแบบที่คนไทยมีประสบการณ์บ่อยๆ


 


คนมาเลเซียคุ้นเคยกับการยุบสภาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และเมื่อใดก็ตามที่มีการประกาศยุบสภา วันเลือกตั้งก็จะถูกประกาศตามมาอย่างกระชั้นชิด เช่นเดียวกับครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นายบาดาวี ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ และกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 8 มีนาคม.... 3 สัปดาห์เท่านั้นสำหรับการเตรียมตัวฟาดฟันกันในสนามการเมืองครั้งสำคัญ การเป็นผู้กำหนดจังหวะเปิดเกม คือแต้มต่อที่สำคัญประการหนึ่งที่พรรคอัมโนใช้เอาชนะคู่แข่งทางการเมือง แต่มันย่อมไม่ใช่เพียงแค่นี้


 


ฝันใหญ่ นโยบายระยะยาว จุดแข็งของรัฐบาลอัมโน


คอร์รัปชั่นและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอัมโนถูกโจมตีมาอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านหรือนักกิจกรรมทางสังคม โดยใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีที่ปฏิบัติต่อนายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้เคยเป็นทายาททางการเมืองของมหาเธร์ เหล่านี้เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคอัมโน


 


แต่จุดอ่อนนี้ ยังดำเนินต่อไปภายใต้จุดแข็งของพรรค นั่นคือแนวทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน และวางแผนระยะยาวนับแต่วาระแรกที่พรรคอัมโนได้ทำหน้าที่บริหารประเทศกันเลยทีเดียว


 


การมองไปข้างหน้าของพรรคอัมโน ได้สร้างความฝันใหญ่ๆ เช่นการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวนโยบายใหม่ New Economic Policy (NEP) ที่ประกาศตั้งแต่ปี 1971 รวมถึงพร้อมจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020 อันที่จริงนี่เป็นเป้าหมายของอาเซียน แต่มาเลเซียพยายามอย่างจริงจังที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น


 


อย่างไรก็ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย แม้ในการประชุมล่าสุดของพรรคอัมโนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจะกล่าวว่า มุ่งให้เกิดความเท่าเทียมกันของชนเชื้อชาติต่างๆ ในมาเลเซีย (เชื้อชาติมาเลย์เป็นเชื้อชาติของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือประมาณ 40% ที่เหลืออีกกว่า 33% เป็นชาวจีน อีก 10% เป็นชาวอินเดีย อีก 10% ที่เหลือเป็นชนพื้นเมืองบนเกาะบอร์เนียว ประมาณ อีก 5%เป็นชาวไทย และชนชาติอื่นๆ อีก 2%) แต่ก็มีรายงานออกมาว่า การอภิปรายของสมาชิกพรรคอัมโนเองนั้นมีเนื้อหากีดกันเชื้อชาติ เหตุการณ์ที่สนับสนุนข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียราว 300 คนก็ออกมาเดินขบวนอีกครั้งหลังจากที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวหลายครั้งเมื่อปีที่แล้ว และรวมถึงการถูกกระทำ ก่อนจากเจ้าหน้าที่ด้วย เช่นกรณีการเผารถยนต์ หรือเข้าจับกุมแกนนำนักเคลื่อนไหวเชื้อสายอินเดียโดยปราศจากข้อหาขณะที่เขาเดินทางไปทำงานตามปกติ


 


การชุมนุมครั้งนั้นจบลงด้วยความรุนแรงเช่นเคยโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม รวมทั้งมีการใช้แก๊สน้ำตาและปืนแรงดันน้ำด้วย รวมถึงจับกุมผู้เข้าร่วมการชุมนุมกว่า 20 ราย จาก 300 ราย


 


ผู้ชุมนุมชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียเคยเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหลายครั้งในปี 2550 ที่ผ่านมา เพื่อต่อต้านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการศึกษา ซึ่งผู้ชุมนุมกล่าวว่า เป็นการกีดกันทางเชื้อชาติ เนื่องจากรัฐมักเปิดโอกาสให้แก่ประชาชนที่มีเชื้อสายมลายูและจีนได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือด้านต่างๆ มากกว่าสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้ประชาชนเชื้อสายอินเดียและเชื้อสายอื่นๆ


 


นี่ไม่ใช่การกล่าวหากันลอยๆ แต่เป็นแนวทางที่ผูกพันอยู่กับพรรคอัมโนมาตั้งแต่แรกตั้ง และติดพันอย่างดึงออกจากกันไม่ได้จากการประกาศอิสรภาพและสถาปนาประเทศมาเลเซีย ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ เชื้อชาติมาเลย์จะต้องมีส่วนในการถือครองกิจการพานิชย์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้นโยบาย ภูมิบุตร (Sun of Soil) ที่รัฐบาลมาเลเซียรับรองสถานะที่พิเศษกว่าของชนชาติมาเลย์ ปัญหานี่ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาภายในพรรคอัมโนที่สร้างความร้าวฉานภายในพรรคตั้งแต่ยุคก่อตั้งเป็นต้นมา หากแต่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย


 



อีกหนึ่งความฝันของมาเลเซียคือการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านมัลติมีเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โปรเจกต์ Multimedia Super Corridor (MSC) ซึ่งถูกปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยการสร้างCyberjaya ที่ไม่เป็นเพียงเมืองไอทีแต่ยังรวมถึงการสร้างมหาวิทยาลัยด้านไอทีด้วย ทำให้เทคโนโลยีด้านไอทีของมาเลเซียก้าวตามหลังเพียงสิงคโปร์เท่านั้นในบรรดาประเทศอาเซียน ตัวเลขคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในมาเลเซียปี 2007 คือ 14,904,000 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 28,294,120 นั่นคือกว่าครึ่งของคนมาเลย์เข้าถึงอินเตอร์เน็ต


 


พร้อมๆ ไปกับความก้าวหน้าขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของการพัฒาไอที คอร์รัปชั่นก็ดำเนินควบคู่กันไปเหมือนขาซ้ายกับขาขวา รายชื่อผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและ ผู้ได้รับดำเนินการสัมปทานดาวเทียม ไม่มีหลุดโผไปจากเครือข่ายใกล้ชิดกับนักการเมืองในพรรครัฐบาล และรวมถึงหลายกรณีที่ดำเนินการภายใต้บริษัทเพื่อการลงทุนของพรรคอัมโนเอง (UMNO Investment Company)


 


 


อีกยาวนานที่ฝ่ายค้านยังคงต้องเป็นฝ่ายค้าน


ไม่ใช่ว่าคนมาเลเซียไม่มีความรับรู้ใดๆ เลยเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการบริหารประเทศ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาคะแนนความนิยมของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ตกลงอย่างมากจากความสามารถในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาคอร์รัปชั่น รวมถึงสื่อทางเลือกยังรายงานแนวโน้มที่คนมาเลย์เชื้อสายอินเดียจะไปเทคะแนนให้กับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน อันเนื่องมากจากปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ 'ภูมิบุตร' โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมาเลย์เชื้อสายอินเดียที่ถูกปฏิบัติเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง


 


และขณะที่กระแสหลักของมาเลเซียถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล ทั้งการเซ็นเซอร์และการเข้าถือครองหุ้นส่วนในสื่อกระแสหลักรายใหญ่ๆ แต่สื่อทางเลือกของมาเลเซียก็มีบทบาทโดดเด่นในการนำเสนอข่าวสารเพื่อคัดง้างกับรัฐบาล และรวมถึงนักกิจกรรมทางสังคมและนักการเมืองฝ่ายค้านที่หลั่งไหลเข้าไปใช้พื้นที่ในโลกไซเบอร์เพื่อทดแทนข้อจำกัดในพื้นที่จริง ที่รัฐบาลมีทั้งข้อได้เปรียบและไม่อายที่จะใช้ข้อได้เปรียบทุกประการที่มี รวมถึงอำนาจรัฐและความรุนแรง


 


แม้ว่าโลกไซเบอร์ที่กลายมาเป็นพื้นที่ต่อสู้ของฝ่ายค้านในมาเลเซีย จะเป็นเหมือนหนามยอกอกที่งอกงามขึ้นจากนโยบายพัฒนาไอทีอันได้ผลสัมฤทธิ์สูงเองนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้บอกว่า การเมืองของมาเลเซียจะเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้.... เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือแนวร่วมและแนวทาง


 


แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านหรือที่รวมตัวกันเป็นแนวร่วมทางเลือกของมาเลเซียนั้นยังไม่สามารถต่อกันติดและเชื่อมประสานกันอย่างกลมกลืน ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแนวร่วมแห่งชาติมาเลเซียที่ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลอยู่ พรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและยืนยาวอย่างปาส ซึ่งยึดครองพื้นที่ในรัฐกลันตัน และตรังกานู มีแนวทางที่ชัดเจนในตัวเอง นั่นคือ การดำเนินนโยบายตามแนวทางของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ในขณะที่พรรคการเมืองน้องใหม่อย่างเกออาดิลัน แม้จะได้รับการยอมรับอย่างสูงจากนักกิจกรรมทางสังคมเพราะเป็นการรวมตัวจากนักกิจกรรมระดับหัวกะทิ ทว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกลับได้ที่นั่งเพียง 1 ที่นั่งจากหัวหน้าพรรค ดร. วัน อาซีซาร์ ภรรยาของอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคคนปัจจุบัน


 


แนวทางหลักแนวร่วมทางการเมืองเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชาติมาเลย์ เน้นไปที่การตรวจสอบ เปิดประเด็นการคอร์รัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก แนวร่วมทางเลือกใหม่ของมาเลเซียจึงทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านที่ดีมาโดยตลอด


 


แม้ว่านักการเมืองฝ่ายค้านและนักกิจกรรมทางสังคมจะอธิบายว่า คนมาเลเซียต้องการข้อมูลที่ดีกว่านี้และต้องมีความรับรู้ทางการเมืองที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อที่เขาจะได้หลุดพ้นจากนักการเมืองคอร์รัปชั่นและนโยบายเลือกปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ภายใต้การนำของพรรคอัมโนและพรรคแนวร่วม ทว่าขณะที่พรรครัฐบาลได้รับเสียงท่วมท้นจากประชาชนซึ่งวางใจให้ดำเนินการบริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหันไปมองสภาชิกสภาแห่งรัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ประชาชนกลับเทคะแนนเสียงให้กับพรรคฝ่ายค้าน


 


คาดว่าโมเดลทางการเมืองของมาเลเซียจะยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ตราบเท่าที่ฝ่ายรัฐบาลยังคงสามารถนำเสนอนโยบายและแสดงให้เห็นว่า สามารถบริหารประเทศต่อไปอย่างราบรื่น ขณะที่แนวร่วมของพรรคฝ่ายค้าน ก็ทำหน้าที่ตัวเองอย่างแข็งขัน...นั่นอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับประชาชนชาวมาเลเซีย ประชาชนของประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียวที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความอยู่ดีกินดี และกล้าประกาศว่า พวกเขากำลังก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020


 


000


 


ข้อมูลอ้างอิง


Lewis,Glen, "Virtual Thailand: the Media and culture politics in Thailand", Malaysia and Singapore, Routledge Curzon, London, 2006.


S.K. Shome, Anthony, "Malay Political Leadership", Routledge Curzon, London, 2002


Indians tipped to desert BN tomorrow


ยุบสภาและการเลือกตั้งในมาเลเซีย 2008


 


รายงานข่าวการเลือกตั้งในมาเลเซีย 2551 


 


รายงาน : มองการเมืองมาเลย์ จับนักกิจกรรมการเมืองแล้ว 16 คน "ตัดไม้ข่มนาม" ก่อนเลือกตั้งปีหน้า


 


เลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในมาเลย์ "น่าเป็นห่วง" สะเทือนถึงไทย ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจภาคใต้  


 


 







เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาเลเซีย


ตามที่รัฐบาลมาเลเซีย ได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 8 มีนาคม 2551 ซึ่งสำนักงานแรงงานในมาเลเซีย (สนร.มาเลเซีย) ได้รายงานสถานการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์การเลือกตั้งให้ทราบแล้วนั้น เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งของชาวมาเลเซียมากยิ่งขึ้น สนร.มาเลเซียจึงขอเรียนข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้


   1. การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร รวม 222 ที่นั่ง และสภาแห่งรัฐต่างๆ 12 รัฐ รวม 505 ที่นั่ง (ยกเว้นสภาแห่งรัฐซาราวักซึ่งมีการเลือกตั้งแยกต่างหาก) ทั้งนี้ จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้ง ครั้งที่ 11 ในปี 2547 จำนวน 3 ที่นั่งในรัฐซาราวักเนื่องจากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งในรัฐซาราวักใหม่ ระบบการเลือกตั้งของ มซ. เป็นแบบเขตๆ ละ 1 คน (Frist-Past-the-post)


   2. มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 10,922,139 คน เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในปี 2547 ประมาณ 6 แสนคน โดยในปี 2547 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 10.28 ล้านคน และในปี 2547 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 73.90 ตามรัฐธรรมนูญแห่งรัฐสหพันธรัฐฯ ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งใน มซ. ต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป


   3. มีพรรคการเมืองส่งผู้แทนรับเลือกตั้ง รวม 22 พรรค แบ่งเป็นพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional -BN) 14 พรรค และพรรคฝ่ายค้าน 8 พรรค และมีผู้ลงสมัครอิสระสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 37 คน และสมาชิกสภาแห่งรัฐ 66 คน


   4. เขตเลือกตั้งส่วนใหญ่จะมีผู้สมัคร 2 คน เป็นผู้แทนจากแนวร่วมแห่งชาติ 1 คน และจากพรรคฝ่ายค้าน 1 คน แข่งกันแบบ one-to-one fight ยกเว้นในบางเขตเลือกตั้งที่อาจมีผู้สมัครเกินกว่า 2 คน ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ก.พ. 2551 ซึ่งเปิดรับสมัครผู้รับเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7 เขต มีผู้สมัครในแต่ละเขตเพียงคนเดียวจาก BN เท่านั้น (ในรัฐซาราวัก 4 เขต รัฐซาบาห์ 2 เขต และรัฐยะโฮร์ 1 เขต) และเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งรัฐอีก 3 เขต ก็มีผู้สมัครเพียงคนเดียวซึ่งเป็นผู้แทนจาก BN 2 เขต (ในเขตรัฐซาบาห์ 1 เขต และรัฐสลังงอร์ 1 เขต) และจากพรรคฝ่ายค้าน PAS 1 เขต (ในรัฐกลันตัน) และต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.พ 2551 ผู้สมัครอิสระในเขตเลือกตั้ง ส.ส. เขตหนึ่งในรัฐซาบาห์ก็ประกาศถอนตัว ทำให้เลือกผู้สมัครจาก BN เพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งทั้งสอง ดังนั้น ในชั้นนี้ ถึงแม้จะยังไม่มีการเลือกตั้ง BN มีคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรแล้วรวม 8 เสียง และในสภาผู้แทนราษฎรแห่งรัฐ BN มีคะแนนเสียงแล้ว 3 เสียง และพรรค PAS 1 เสียง


    5. การเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่า BN จะมีชัยชนะอีกครั้งแต่อาจไม่ได้คะแนนเสียงมากเท่ากับการเลือกตั้ง ครั้งที่ 11 ในปี 2547 ได้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรถึงร้อยละ 93 (198 ที่นั่งจาก 219 ที่นั่ง ซึ่งภายหลังชนะ การเลือกตั้งซ่อมในรัฐตรังกานูและได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียงเป็น 199 ที่นั่ง) ทั้งนี้ จากสถิติผลการเลือกตั้งในปี 2574 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงในรัฐเคดาห์ กลันตัน ปีนัง เปรัค ซาราวัก และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในขณะที่ในการเลือกตั้งสมาชิกแห่งรัฐ พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงในทุกรัฐ แต่รัฐกลันตันเป็นรัฐเดียวที่พรรคฝ่ายค้าน (พรรค PAS) ได้คะแนนเสียงมากกว่าแนวร่วมแห่งชาติในสภาแห่งรัฐ


 


ที่มา: รายงานข่าวการเลือกตั้งในมาเลเซีย 2551

  






พรรคการเมืองในมาเลเซีย


ก. พรรครัฐบาล


 


พรรครัฐบาล นำโดยพรรค UMNO (United Malays National Organization) เป็นพรรคการเมืองหลักที่เป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย MCA (Malaysian Chinese Association) , พรรคสภาอินเดียมาเลเซีย MIC (Malaysian Indian Congress) , พรรคเอกภาพภูมิบุตรอนุรักษนิยม Gerakan, PPBB (Parti Pesaka Bumiputera Bersatu) , พรรคแห่งชาติซาราวัก SNP (Sarawak National Party ) พรรคเอกภาพประชาชนซาราวัก พรรคซาบาห์ก้าวหน้า พรรคองค์การเอกภาพปกสกโมโมกุนคาดาซันและพรรคเสรีประชาธิปไตย


 


สำหรับพรรคอัมโน UMNO นั้นก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดยมี ดาโต๊ะฮูเซ็น ออน เป็นประธาน


 


หลังจากตั้งพรรคได้ซักระยะหนึ่ง ก็มีการเสนอให้คนชาติพันธุ์อื่น เช่น คนเชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดีย เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคประเภทที่ 1 เหมือนคนเชื้อสายมลายูด้วย จึงมีการคัดค้านกันอย่างหนัก พวกสมาชิกเดิมต้องการให้อัมโนเป็นพรรคของพวกที่มีชาติพันธุ์มลายูบริสุทธิ์เท่านั้น จึงกดดันกันมากถึงขนาดคนที่เป็นประธานของพรรคอัมโนคนแรก คือ ดาโต๊ะ ออน ก็ยังอยู่พรรคนี้ไม่ได้ ต้องลาออกไปตั้งพรรคเอกราชสำหรับมลายู โดยให้พรรคใหม่นี่เป็นที่รวมของคนทุกชาติพันธุ์ แต่พรรคเอกราชสำหรับมลายูก็ไปไม่รอด แพ้เลือกตั้งในครั้งแรก


 


พรรคอัมโน UMNO มีแนวนโยบายบริหารประเทศเน้นชาตินิยมแต่ไม่รุนแรง สนับสนุนชาวมาเลย์ให้มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แนวนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศหลัก ๆ สรุปได้ดังนี้


 


1. ดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะประเทศตะวันตก


 


2. พยายามเข้าไปมีบทบาทนำในอาเซียน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อเป็นพลังต่อรองกับประเทศตะวันตกในเวทีระหว่างประเทศ


 


3. พัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบของประเทศตะวันตก มีแนวดำเนินการของตนเองและให้ความสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงภายในประเทศเป็นสำคัญ หลังจาก ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด (บรรดาศักดิ์ของมาเลเซีย ในระดับชาติ พระราชาธิบดีทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คนมาเลเซียหรือคนต่างชาติที่ทำความดีความชอบให้ดังนี้ อันดับ 1 ตุนหรือตวน , อันดับ 2 ดาโต๊ะ , อันดับ 3 ตัน ศรี) ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2546 ดาโต๊ะ ซรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 มาเลเซียจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (หลังการยุบสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547) ซึ่งผลปรากฏว่า พรรค UMNO และกลุ่มพรรคแนวร่วมแห่งชาติ Barison Nasional (BN) ชนะการเลือกตั้ง


 


วันที่ 13-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 พรรค UMNO ได้จัดการประชุมสมัชชาพรรคสมัยสามัญประจำปี 2549 โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะหัวหน้าพรรค UMNO ได้รายงานผลงานและความพยายามของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค UMNO ว่า


 


1) ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้แก่ประชาชน อาทิ การนำเสนอมาตรการในแผนพัฒนามาเลเซีย ฉบับที่ 9


2) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษา


3) ย้ำความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการสร้างแหล่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม


4) ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคราชการ


5) รัฐบาลได้เปิดกว้างรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นทั้งจาก ส.ส. และจากประชาชน


6) ใช้แนวทางทางการทูตและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และย้ำว่าชาวมุสลิมควรปรองดองกัน


7) ส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติ


8) ย้ำหลักการอิสลามสายกลาง ด้วยนโยบาย Islam Hadhari


 


 


ที่ประชุมพรรค UMNO ยืนยันให้การสนับสนุนหัวหน้าพรรค แต่หลีกเลี่ยงการกล่าวโจมตี ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรค UMNO ที่ในระยะหลังมีความคิดขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (ตุน ดร.มหาธีร์ฯ มิได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพราะอยู่ในช่วงพักรักษาตัวจากโรคหัวใจ) แม้พรรค UMNO จะสนับสนุนคนเชื้อสายมาเลย์ แต่พรรคก็ต้องระมัดระวังในการรักษาความสมดุลระหว่างคนเชื้อชาติอื่น ๆ ในมาเลเซียด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ในการอภิปรายระหว่างการประชุมครั้งนี้ สมาชิกบางกลุ่มได้กล่าวโจมตีสิทธิของคนเชื้อชาติอื่น ๆ


 


ข. พรรคฝ่ายค้าน


 


 


นายอันวาร์ อิบราฮิม


สำหรับพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ คือ พรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia) พรรคกิจประชาธิปไตย DAP (Democratic Action Party) เป็นพรรคตัวแทนของคนมาเลเซียที่เป็นคนจีน พรรค PRM และ พรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party , KeADILan) ทั้ง 4 พรรค เป็นพันธมิตรกัน โดยใช้ชื่อว่า Barisan Alternatif หรือ กลุ่มพันธมิตรทางเลือก


 


สำหรับพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) หรือพรรคปาส เป็นพรรคการเมืองในมาเลเซียที่นิยมแนวทางทางศาสนาอิสลาม พยายามต่อสู้เพื่อผลักดันให้นำหลักนิติศาสตร์อิสลามเป็นรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ พรรคนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้สภานิติบัญญัติของรัฐกลันตัน ผ่านกฎหมายที่มีตามหลักนิติศาสตร์อิสลามได้ใน พ.ศ. 2536


 


จุดกำเนิดของพรรคเริ่มจากการตั้งพรรคอิสลามมาลายาทั้งมวลเมื่อ พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นพรรคที่ยึดมั่นในหลักการศาสนาและมีอิทธิพลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ พรรคปาสเข้าเคยเป็นพันธมิตรกับกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) เมื่อ พ.ศ. 2516 แต่ถูกขับออกมาเมื่อ พ.ศ. 2520 หลังจากนั้นพรรคมีการเปลี่ยนผู้นำ เน้นนโยบายฟื้นฟูศาสนาอิสลามและจัดตั้งรัฐอิสลาม และกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคอัมโน ที่เป็นพรรครัฐบาล


 


ในขณะที่พรรคเกออาดิลัน (People's Justice Party , KeADILan) เป็นพรรคที่รวมกัน สองพรรคคือ พรรค Keadilan Nasional และ พรรค Rakyat Malaysia (PRM) . พรรคนี้มีขึ้นเมื่อปี 1998 อันเนื่องมาจากต้องการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองและเรียกร้องความยุติธรรมให้สังคมมาเลเซีย ที่อยู่ภายใต้การปกครองอย่างยาวนานของพรรคอัมโนและเกิดขึ้นหลังจากนายอันวาร์ อิบราฮิม ถูกตัดสิ้นจำคุกจากรัฐบาลตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียขณะนั้น ซึ่งแรกเริ่มนั้นมีนางวันวันอาซีซะฮ์ ภรรยานายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นหัวหน้าพรรคซึ่งเป็น ส.ส. หนึ่งเดียวของพรรคที่ชนะเลือกตั้งในปี 2004


 


ปี 2007 หลังจากนายอันวาร์พ้นผิดท่านก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำพรรคต่อ


 


ที่มา: ยุบสภาและการเลือกตั้งในมาเลเซีย 2008


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net