สหภาพเภสัชบุกสธ.จี้เดินหน้าซีแอล ส่วน "หมอชาตรี" เลขา อย. คนใหม่ไขก๊อกแล้ว

สหภาพแรงงาน บุก สธ. เรียกร้องเดินหน้าซีแอลยามะเร็ง

วานนี้ (3 มี.ค.) ตัวแทนสหภาพแรงรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ส.ร.ส.) ประกอบด้วย 43 รัฐวิสาหกิจ อาทิ การไฟฟ้า การประปา กว่าร้อยคนนำโดย นายระวัย ภู่ผกา ประธาน สร.อภ. นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน ส.ร.ส. นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ได้เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้เดินหน้ามาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในยามะเร็ง 4 รายการที่อยู่ระหว่างทบทวน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข และได้ยินเสียงการปราศรัยจากผู้ชุมนุม มีสีหน้าไม่พอใจ และขอให้ข้าราชการไปแจ้งกับทางกลุ่มผู้ชุมนุม โดยขอให้จัดส่งตัวแทนจำนวน 10 คน เข้าเจรจา และรับฟังการชี้แจงนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจ

 

 

"ไชยา" ขอเวลา 2 สัปดาห์ ได้ผลสรุปชัดเจน

นายไชยา กล่าวว่า การทำซีแอลนั้น ที่ผ่านมาเคยบอกชัดเจนหลายครั้งแล้วว่า การทบทวนทำเฉพาะยามะเร็งเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับยาต้านไวรัสเอดส์ และยารักษาโรคหัวใจ แต่กลับพยายามขยายนำเครือข่ายต่างๆ มารวมเรียกร้อง ซึ่งเพียงแต่ทำตามหน้าที่เจ้ากระทรวง หลังจากที่ได้รับหนังสือจากกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลที่แล้วขอให้ทบทวน เพราะจะก่อปัญหาการค้าระหว่างประเทศ

 

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ โดยในสัปดาห์นี้เชื่อว่า จะได้ข้อสรุปจำนวนตัวเลขผู้ป่วยภายหลังจากที่ได้มอบให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปดำเนินการร่วมกับสถาบันมะเร็ง และเครือข่ายผู้ป่วย และคงได้ความชัดเจนเกี่ยวกับประกาศซีแอลยามะเร็งในอีก 1 - 2 สัปดาห์" นายไชยา กล่าว

 

นายไชยา กล่าวว่า การทำซีแอลนั้นจะทำเพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไม่ได้ เพราะการบริหารประเทศจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับ 20 กระทรวง ซึ่งหาก สธ.ยืนยันการทำซีแอลก็ต้องมีข้อมูลชี้แจงต่อ ครม.ได้ และเมื่อเปรียบเทียบผลดีผลเสีย หากการทำซีแอลช่วยประหยัดงบได้ 2,000 ล้านบาท แต่กระทรวงพาณิชย์เสียหาย 20,000 ล้านบาท ก็อาจมีการหารือเพื่อนำงบประมาณมาสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงยาแทน

 

 

ยืนยันต้องช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา พร้อมเอาตำแหน่งเดิมพัน

"ขอให้สบายใจได้ ผมยืนยันว่าผู้ป่วยมะเร็งจะต้องเข้าถึงยา และหากมีผู้ป่วยรายใดที่เสียชีวิตจากการเข้าไปถึงยาจากเรื่องนี้ ผมก็ยินดีที่จะลาออกจากตำแหน่ง และจากที่ได้พูดคุย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ผมก็บอกให้สบายใจ และยืนยันว่า ผมไม่มีทางเป็นผู้ประกาศยกเลิกซีแอล" รมว.สาธารณสุข กล่าว

 

ด้านนายสาวิทย์ กล่าวว่า การเรียกร้องเพื่อให้ รมว.สาธารณสุขแสดงท่าทีชัดเจนในการเดินหน้ามาตรการซีแอลยามะเร็ง และเมื่อ รมว.สาธารณสุข ได้รับปากให้รอผลสรุปชัดเจนในอีก 2 สัปดาห์ พวกก็จะรอคอย หากผลการสรุปเป็นที่น่าพอใจ พวกเราจะเดินทางมาขอบคุณ แต่หากเป็นการยกเลิก พวกเราจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

 

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ลาออกจากกรรการองค์กรเภสัชกรรมแล้ว ทำให้จำนวนกรรมการลดลง ซึ่งตาม พรบ.รัฐวิสาหกิจนั้น ยังสามารถทำงานได้ เพราะตามกฎหมายได้กำหนดจำนวนกรรมการ 8-15 คน  ส่วนจะมีการคัดเลือกกรรมการเข้ามาทำงานแทนผู้ที่ลาออกไปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ รมว.สาธารณสุข ซึ่งตนไม่รู้สึกกังวลใจ

 

ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า จากที่ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ยื่นหนังสือเพื่อลาพักผ่อนระหว่างวันที่ 3-7 มีนาคม ปรากฏว่า  นพ.ศิริวัฒน์ ยังคงเดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากไม่ได้รับการเซ็นอนุมัติให้ลาพักผ่อนได้

 

 

หมอชาตรี"สุดทนพิษคอมพ์ฉาวราวีไม่เลิก ยื่นใบลาออกจากชีวิตราชการ

น.พ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดใจวานนี้ (3มี.ค.)ถึงการลาออกจากชีวิตราชการ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ที่แสดงถึงความรู้สึกโล่งใจว่า ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการแล้ว และได้เข้าชี้แจง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงสาธารณสุข โดยท่านได้เห็นชอบด้วยวาจาแล้ว แต่เมื่อมีคนทราบข่าวและสอบถามจำนวนมาก จึงตัดสินใจที่จะบอกเหตุผลให้ทราบในคราวเดียว แต่ไม่ได้ตั้งใจแถลงข่าว ทั้งนี้ขอขอบคุณ รมว.สาธารณสุข และ น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสาธารณสุข ที่มอบความไว้วางใจให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อย. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญในสายตาประชาชนและตนได้รับทราบหลังมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ตลอดชีวิตราชการได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนให้ราชการและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายด้วยถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้เรื่องคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท ซึ่งที่สุดแล้วมิได้มิการจัดซื้อและกระทรวงได้ยกเลิก โดยคืนงบประมาณให้กับกระทรวงการคลังไปแล้ว เป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตราชการ

 

"เป็นโชคร้ายในชีวิตข้าราชการคนหนึ่ง ที่ต้องประสบสิ่งที่มิได้ก่อ เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจ เชื่อมั่นในตนเองว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับราชการด้วยความเที่ยงธรรม มิได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เมื่อถูกต้องกรรมการสอบวินัยร้ายแรงซ้อนถึง 2 ครั้ง ในเรื่องเดียวกัน ได้อดทนสู้ชี้แจงความจริง จนขณะนี้ถือว่าเรื่องยุติลงแล้ว

 

เมื่อได้รับมอบให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อย. เชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ข้อกล่าวหาเรื่องเก่าและข้อกล่าวหาเรื่องความผูกพันการเมือง โดยปราศจากความเป็นจริง และปราศจากความเป็นธรรม ทำให้หมดความอดทนที่จะรับราชการอีกต่อไป และคิดว่าตลอดชีวิตที่ได้อุทิศให้กับราชการมาจนถึงอายุ 58 ปีแล้ว ถือว่าเพียงพอ แม้จะเหลืออายุราชการอีกจนถึงปี 2553 ก็ตาม จึงขอยื่นใบลาออกจากราชการ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.นี้เป็นต้นไป" น.พ.ชาตรี กล่าว

 

 

ยืนยันรับราชการมาเพียงพอแล้ว

ต่อข้อถามหลังจากยื่นใบลาออกต่อ รมว.สาธารณสุข มีการทักท้วงอย่างไรหรือไม่ น.พ.ชาตรี กล่าวว่า ท่านอนุญาตให้ลาออก แต่ขออนุญาตให้รายละเอียดการพูดคุยเท่านั้น ซึ่งหลักจากที่ตัดสินใจและยื่นใบลาออกก็มีความสุขและสบายใจ เพราะที่ผ่านมาถือว่าได้ทำงานรับใช้บ้านเมืองมาก ซึ่งหลังจากลาออกแล้วยังไม่ได้วางแผนอะไร และหากไม่มีอะไรทำก็จะเป็นโปรกอล์ฟ เพราะตนเคยเป็นแชมป์กอล์ฟแพทย์โลก ส่วนทางการเมืองนั้นไม่คิดที่จะทำงานการเมืองและไม่สนใจ ยืนยันว่าเป็นการตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ไม่มีอารมณ์ และได้ตัดสินใจอย่างดีแล้ว ไม่ได้เป็นความน้อยใจแต่อย่างใด

 

เมื่อซักว่า เหตุใดลาออกในช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ อย. น.พ.ชาตรี กล่าวว่า รับราชการมาพอเพียงแล้ว อย่างที่ว่าข้อกล่าวหาเรื่องเก่าและเรื่องที่ทำให้เจ็บปวดก็จะไม่อยากอดทนในระบบราชการ ขอพอเพียงและยุติเท่านี้ และขออโหสิกรรมให้กับทุกคน เพราะทุกอย่างถือว่าจบแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชาตรี ให้เหตุผลการลาออกเพียงสั้นๆ และปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ทันทีที่ข่าวการลาออกแพร่สะพัดออกไป ปรากฏว่าได้มีข้าราชการในสังกัดกรมการแพทย์ เดินทางมาให้กำลังใจและติดตามการชี้แจงการลาออกอย่างใกล้ชิด

 

 

"ไชยา" บอกทักท้วงแต่รั้งไม่อยู่

ด้าน นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า น.พ.ชาตรีได้เข้าพบ และยื่นใบลาออกโดยให้เหตุผลสุขภาพไม่ค่อยดี ซึ่งได้ทักท้วงขอให้ท่านช่วยงานในกระทรวงต่อ แต่ท่านก็ยืนยันที่จะลาออก จากนี้คงต้องพิจารณาแต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อย.ใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าใครจะเหมาะสม

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าจะทำงานร่วมกับข้าราชการสาธารณสุขมีปัญหาหรือไม่ นายไชยา กล่าวว่า ไม่มีปัญหา การโยกย้ายก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร แต่เวลาย้ายใครก็มีผลกระทบ การโยกย้ายมีทุกยุคทุกสมัย ตนพ้นจากตรงนี้ไปคนอื่นมาก็ทำเช่นกัน สำหรับแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นก็ต้องปล่อยไป

 

เมื่อถามถึงข่าวลือว่าจะมีการโยกย้าย น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสาธารณสุข นายไชยา ปฏิเสธว่า ไม่เคยพูด รู้สึกแปลกทำไมมีแต่ข่าวลือ หากถามตนก็เป็นการย้ายจากเมืองไทยไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพราะท่านปลัดไปปฏิบัติภารกิจที่นั่น อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวลือการโยกย้ายเกิดขึ้น น.พ.ปราชญ์ ได้โทรศัพท์ทางไกลมาถึงตนเวลา 02.00 น.ของเมื่อคืนวันที่ 3 มี.ค. ก็ไม่ทราบว่าได้เป็นลมเป็นแล้งไปแล้วรึยัง แต่ก็อธิบายข้อเท็จจริงให้ท่านทราบแล้ว

              

 

แพทย์ชนบทจี้ "ไชยา" ลาออกตาม

น.พ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทในยุคต่อสู้ทุจริตยา 1,400 ล้านบาท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร กล่าวถึงกรณีที่น.พ.ชาตรี บานชื่น ลาออกจากราชการว่า ขอชื่นชมที่ประกาศศักดิ์ศรีของข้าราชการ โดยไม่ยอมรับคำสั่งอันไม่ชอบของนักการเมือง คงเป็นเพราะว่า น.พ.ชาตรี สะเทือนใจที่ถูกนำเรื่องการถูกสอบวินัยกรณีจัดซื้อคอมพิวเตอร์มาพูดถึง และไม่ถนัดไม่รู้เรื่องกฎหมายด้านอาหารและยา เพราะเคยทำงานแต่ในโรงพยาบาล และกรมการแพทย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ไม่มีความสามารถในการบริหาร เพราะแต่งตั้งคนที่ไม่เต็มใจ และไม่มีความถนัด ในขณะที่คนทำงานดี ตั้งใจทำงาน และทำงานด้านนี้มาตลอด อย่างน.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล กลับถูกสั่งย้ายจากเลขาฯอย.

 

"เมื่อหมอชาตรีลาออกจากตำแหน่ง เพราะคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ควรต้องมีคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ท่านรัฐมนตรีควรแสดงความรับผิดชอบโดยเอาอย่างคุณหมอชาตรีจะได้ไม่เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล มิฉะนั้นพวกเราจะดำเนินการถอดถอนท่านตามกฎหมายต่อไป" น.พ.ยงยศ กล่าว

 

ขณะที่ น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีต รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การลาออกของท่านที่ให้เหตุผลโดยระบุว่า เรื่องการจัดซื้อคอมพ์ 900 ล้านบาท ได้ยุติไปแล้ว และคืนเงินให้กระทรวงแล้วนั้น แต่ในความเป็นจริงความล่าช้าและไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง ถือเป็นการเสียโอกาสของกระทรวง และแม้ว่าท่านลาออกไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะพ้นข้อกล่าวหาหรือไม่ เพราะเรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 

ที่มาของข่าว: เรียบเรียงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ และผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท