Skip to main content
sharethis

วานนี้ (3 มี.ค. 51) ที่สำนักงานสภาทนายความ นายโรม พิมพ์ชื่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.ตำบลคลองหลวงแพ่ง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา นำชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 80 คนจากกรณีปัญหาการขยายคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ในพื้นที่ ต.ตำบลคลองหลวงแพ่ง เข้าขอรับความช่วยเหลือจากสภาทนายความ โดยมีนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความเป็นผู้รับเรื่อง


 


นายโรม พิมพ์ชื่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 หนึ่งในผู้ได้รับความเดือดร้อนกล่าวว่า หน่วยงานชลประทาน ดำเนินการขุดลอกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ในช่วงแนวเขต ต.คลองหลวงแพ่ง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา กินเนื้อที่ 7หมู่บ้าน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแนวคันคลองกว่า 300 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อน ในส่วนของโครงการทางกรมชลประทานต้องการขยายคลองให้มีความกว้างประมาณ 70 เมตร โดยให้ทหารช่างราชบุรี กองพันที่ 52 เป็นผู้ดำเนินการขุดขยาย


 


นายโรมอธิบายต่อว่า ชาวบ้านที่ประสบปัญหาตั้งบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่ของกรมธนารักษ์  มานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แต่เมื่อกรมชลประทานได้ดำเนินโครงการขยายคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเพราะมีการขุดดินรุกเข้าไปในบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน นอกจากนี้อาจทำให้บ้านบางหลังต้องถูกรื้อถอน แต่กลับไม่มีการพูดคุยหาทางออกให้แก่ชาวบ้าน และไม่มีการอธิบายเหตุผลของการขุดขยายคลองที่ชัดเจน ทั้งที่ขณะนี้การดำเนินโครงการมีมากกว่าหนึ่งเดือนแล้ว


 


คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเป็นคลองชลประทานที่ขุดขึ้นติดต่อระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์ กับคลองสำโรงที่อำเภอบางบ่อซึ่งต่อเชื่อสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการขุดขยายคลองเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ที่ผ่านมาในพื้นที่นี้ก็มีน้ำท่วมทุกปีมากน้อยแล้วแต่น้ำฝนในปีนั้นๆ นายโรมจึงคิดว่า การขุดขยายคลองไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้


 


"กรมชลประทานไม่แจ้งรายละเอียดของโครงการให้ประชาชนได้ทราบ บอกเพียงจะมีการขยายคลองแต่ไม่ระบุเหตุผล ความต้องการ อีกทั้งยังบอกจะฟ้องขับไล่ที่เพราะถือว่าเราบุกรุก ชาวบ้านไม่มีเงินว่าความจึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ" นายโรมกล่าว


 


ทั้งนี้นายโรมกล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ทำการต่อต้านใดๆ ต่อการดำเนินโครงการของรัฐ เพียงแต่ต้องการให้มีผู้รับผิดชอบการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ไม่ว่าในส่วนของชาวบ้านที่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไปได้หรือต้องย้ายที่อยู่ ควรจะต้องมีมาตรการรองรับในการจัดการที่เป็นรูปธรรม แต่การพูดคุยครั้งล่าสุดที่วัดสุทธาวาสเมื่อวันที่ 27ก.พ.ที่ผ่านมา แม้จะมีการพูดคุยของส่วนงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกรมชลประทาน กรมธนารักษ์ นายอำเภอ และผู้นำหมู่บ้านเองก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ด้วยเหตุผลว่าไม่มีใครรับเป็นเจ้าของเรื่องในการจัดการ อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้เข้าร่วมในการพูดคุยครั้งนั้นด้วย


 


"เราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราก็ไม่อยากให้รัฐต้องเดือดร้อน แต่รัฐทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เราก็ต้องเดือดร้อนด้วย" นายโรมกล่าวถึงปัญหา พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ต้องการจะฟ้องร้องต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ต้องการให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหามากกว่า


 


นางสุรีย์ งามเฉลียว อายุ 57 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ตำบลคลองหลวงแพ่ง ผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวถึงความเดือดร้อนที่ได้รับว่า บรรพบุรุษอยู่ในพื้นที่มากว่า 150 ปี อีกทั้งครอบครัวมีลูก 7 คน และหลานอีกสิบกว่าคน มีรายได้ไม่มากมาย เพียงพออยู่พอกินไปวันๆ หากมีการไล่ที่ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน อีกทั้งไม่รู้ว่าการขุดขยายคลองมีจุดประสงค์อะไร เพราะที่ผ่านมาทีนี่ก็มีปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปี ส่วนปัญหาการสัญจรทางน้ำก็มีอยู่มากเพราะในคลองหนาแน่นไปด้วยวัชพืช หากกรมชลประทานต้องการจะแก้ปัญหาก็อยากให้กำจัดวัชพืชและขุดลอกคลองให้ลึกขึ้น ก่อนที่จะมาเล่นงานชาวบ้าน


 


นางสุรีย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้แม้จะมีชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการเริ่มดำเนินโครงการบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบมากกว่าคือสภาพจิตใจที่ย่ำแย่เพราะไม่รู้ทิศทางอนาคตของตัวเอง อีกทั้งการที่มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทหารเข้ามาขุดขยายคลองแม้จะไม่ได้พกอาวุธ หรือว่าทำการข่มขู่ใดๆ แต่แค่เห็นสีชาวบ้านก็กลัวแล้ว


 


ด้านนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความผู้รับเรื่อง กล่าวว่า ในส่วนปัญหาของชาวบ้านต้องมีการสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น เพื่อตั้งประเด็นรูปคดีเตรียมการฟ้องร้อง หรือหากชาวบ้านต้องการให้หยุดดำเนินโครงการชั่วคราวเพื่อเจรจาหาทางแก้ปัญหาทางสภาทนายความก็รับเป็นผู้ประสานงานให้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการผสานความร่วมมือกันในเรื่องเอกสารหลักฐาน และข้อมูลต่างๆ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง


อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายอานนท์  พรหมนารถ  ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงการแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดฉะเชิงเทราว่า เนื่องจากชลประทานจะขุดลองขยายคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตและคลองด่าน ในปี 2551-2553 สำหรับระบายน้ำจากฝั่งทางเหนือออกทางฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชั้นกลาง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในระดับมหภาคไม่ให้ชาวกรุงเทพฯ เดือดร้อน


การดำเนินการเริ่มจากการอพยพชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ชลประทานเป็นที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ริมคลองโดยทางราชการให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ตามหลักเกณฑ์ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ในโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งจะต้องจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ให้ผู้บุกรุกเพื่อเช่าที่ราชพัสดุตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ราชพัสดุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net