Skip to main content
sharethis

อัคนี มูลเมฆ


 


 


 


แม้การพัฒนาทางเทคโนโลยียังห่างจากสหรัฐฯอยู่หลายขุม, แต่ความสำเร็จของจีนในการทดลองยิงจรวดจากพื้นสู่อากาศเพื่อทำลายดาวเทียมเมื่อปลายปีที่แล้ว สร้างความเสียหน้าอย่างยิ่งให้กับทำเนียบขาว ในด้านหนึ่ง,วอชิงตันออกมาประณามจีน ขณะอีกด้าน,กองทัพเรือสหรัฐฯทดลองยิงดาวเทียมจารกรรมของตนเพื่อเอาชนะ "เกมสตาร์วอร์" ทั้งนี้โดยไม่ใส่ใจเสียงวิจารณ์ที่ว่า การแข่งขันอาวุธจะนำไปสู่สครามเย็นรอบใหม่


 


เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา, กองทัพเรือสหรัฐฯได้ปล่อยจรวดจากเรือรบเพื่อยิงดาวเทียมจารกรรมของตนที่หมดอายุใช้งานแล้ว นักวิจารณ์ทางยุทธศาสตร์แถลงว่าการทดลองดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความวิตกให้กับรัสเซียและจีนถึงความพยายามครองอำนาจทางทหารในอวกาศของวอชิงตัน


 


โฆษกของสภาความมั่นคงแห่งทำเนียบขาวเปิดเผยเมื่อสามสัปดาห์ก่อนการทดลองว่า ดาวเทียมจารกรรมแอล.21 ที่สำนักงานสำรวจแห่งชาติปล่อยขึ้นสู่อวกาศอย่างลับๆเมื่อปี 2006 นั้นประสบความล้มเหลวเมื่อเดินทางถึงวงโคจรระดับต่ำของโลก


 


ส่วนจรวดสะกัดกั้นที่ใช้ยิงดาวเทียมเรียกว่า Standard Missile-3(SM-3) ถูกยิงจากมหาสมุทรภายใต้การควบคุจากระบบเรดาห์ของกองทัพเรือที่ออกแบบสำหรับการยิงจรวดพิสัยกลาง ระบบจรวดต่อต้านดาว


เทียม(Anti-Satellite System)นี้เกิดจากการพัฒนาซอฟแวร์อันหลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันจรวดตามแผนการพัฒนาอาวุธอวกาศของสหรัฐฯ


 


เพ็นตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯออกมาแถลงเหตุผลในการทดลองครั้งนี้ว่าเพื่อป้องกันมิให้ซากดาวเทียมที่หมดอายุใช้งานร่วงลงในพื้นที่ทีมีประชากรหนาแน่น และว่า "แก๊สไฮดราซีน" ราวครึ่งตันที่บรรจุอยู่ในดาวเทียมดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อผู้คนหากทะลักออกมา เนื่องจากอาจเกิดระเบิดขึ้นเมื่อดาวเทียมร่างสู่ชั้นบรรยากาศ


 


แต่ดูเหมือนไม่มีใครเชื่อถือการอ้างเหตุผลเช่นนั้น นายไมเคิล เคร-พอน,ผอ.โครงการความมั่นคงด้านอวกาศแห่งศูนย์เฮนรี่ แอล. สติมสันในวอชิงตัน,ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "เหตุผลที่แสดงต่อสาธารณชนเรื่องการยิงจรวดต่อต้านดาวเทียม (ASAT) ว่าเพื่อป้องกันผู้คนจากเชื้อเพลิงอันตรายนั้นไม่น่าเชื่อถือ" เขาแถลงอีกว่า "ในประวัติศาสตร์ของยุคอวกาศ,ยังไม่เคยมีวัตถุใดที่มนุษย์สร้างขึ้นสามารถทำให้ใครบาดเจ็บได้เลย"


 


เขาอธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆว่า "75 เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกปกคลุมด้วยผิวน้ำ และแผ่นดินที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ดังนั้น,โอกาสที่ดาวเทียมหรือซากอวกาศใดๆจะร่วงใส่เขตที่มีประชากรหนาแน่นจึงน้อยมาก"


 


กระนั้น วอชิงตันยังพยายามอธิบายกับมอสโคว์และปักกิ่งว่าการทดลองยิงดาวเทียมของตนเป็นไปเพื่อเหตุผลทางมนุษย์ธรรม คำอธิบายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากรัสเซียและจีนออกแถลงการณ์แสดงความวิตกอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมของสหรัฐฯ ที่น่าสังเกตคือการทดลองนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่รัสเซียและจีนจะร่วมกันเสนอข้อตกลงว่าด้วยการลดอาวุธต่อที่ประชุมของสหประชาชาติในเจนีวา ข้อเสนอดังกล่าวมุ่งที่จะให้ยกเลิกการพัฒนาอาวุธในอวกาศทั้งหมด อันเพิ่มเติมจากอนุสัญญาปี 1967 ที่มีอยู่เดิม


 


ความตั้งใจของสหรัฐฯที่จะพัฒนาอาวุธในอวกาศเริ่มต้นขึ้นโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neo-Conservative) ภายใต้การนำของนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช เขากล่าวถึงเรื่องนี้ครั้งแรกในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2002 โดยแถลงว่าเขาจะให้สหรัฐฯถอนตัวจากอนุสัญญาว่าด้วยจรวดต่อต้านนำวิถี (Anti-Ballistic Missile-ABM) ที่ทำไว้กับสหภาพโซเวียต


 


กระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัฐบาลบุชแถลงนโยบายอวกาศใหม่ โดยยืนยันถึง "เสรีภาพการปฏิบัติการในอวกาศ" ทั้งตัดสินใจที่จะ "ยับยั้งมิให้ผู้ใดมาขัดขวางสิทธิดังกล่าว หรือพัฒนาศักยภาพเพื่อการนั้น" ทั้งหมดเป็นไปเพื่อปลดปล่อยนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯจากสิ่งที่เขามองว่ากฏหมายระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการ


 


ความดื้อรั้นต้องการจะแข่งขันด้านอาวุธของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่สร้างความวิตกให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของสหรัฐฯเช่นกัน คนเหล่านั้นมองว่าการพัฒนาระบบต่อต้านจรวดและดาวเทียมท้ายที่สุดจะให้ผลในทางตรงกันข้าม เนื่องจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและการทหารในตัวของมันเอง กล่าวคือขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯกำลังถดถอยอย่างรุนแรงกระทั่งมีผลต่องบประมาณทางทหารของชาติ ส่วนในทางการทหารนั้น สหรัฐฯยังมิได้ครองความเป็นจ้าวในเรื่องนี้มากพอ การพัฒนาระบบอาวุธจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่ไม่แน่ว่าสหรัฐฯจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ


 


ตัวอย่างเช่น,จีนล้ำหน้าสหรัฐฯในการพัฒนาจรวดต่อต้านดาวเทียม เมื่อปีที่แล้วกองทัพประชาชนสามารถยิงดาวเทียมพยากรณ์อากาศของตนที่หมดอายุใช้งานได้ประสบความสำเร็จโดยใช้จรวดพิสัยกลาง ดาวเทียมดังกล่าวโคจรอยู่ในระดับ 850 กม.จากพื้นโลก สหรัฐฯ,ญี่ปุ่น และชาติพันธมิตรออกมาโวยวายต่อต้าน กระทั่งปักกิ่งออกมาขอขมาด้วยเหตุผลว่า การทดลองของตนอาจกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศ อีกทั้งการยิงทำลายดาวเทียมในลักษณะดังกล่าวจะทิ้งซากชื้นเล็กชื้นน้อยไว้ในวงโคจร ที่อาจเป็นอันตรายต่อดาวเทียมอื่น รวมทั้งสถานีอวกาศนานาชาติ


 


อันที่จริง,ความวิตกของผู้เชี่ยวชาญที่ว่าการแข่งขันอาวุธจะกระตุ้นให้เกิดสงครามเย็นรอบใหม่นั้น คนเหล่านี้ยังพิจารณาถึงระบบป้องกันจรวดของสหรัฐฯที่กำลังจะนำไปติดตั้งไว้ในยุโรปด้วย


 


ระบบป้องกันจรวดคือนวัตกรรมสงครามของสหรัฐฯเพื่อใช้จรวดต่อต้านจรวด ระบบนี้กำลังจะถูกนำไปติดตั้งในทวีปยุโรปโดยมีองค์ประกอบสองส่วน กล่าวคือสถานีเรดาห์เพื่อตรวจจับอาวุธของฝ่ายตรงข้าม และฐานจรวดที่ใช้ยิงต่อต้าน ส่วนแรกจะติดตั้งไว้ในสาธารณรัฐเช็ค ส่วนฐานยิงจรวด 10 ฐานจะติดตั้งไว้ในโปแลนด์ ทั้งหมดอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานป้องกันจรวดของสหรัฐฯ (U.S. Missile Defense Agency-MDA)


           


ทำเนียบขาวอ้างเหตุผลให้กับโครงการนี้ว่าเพื่อป้องกันการถล่มด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของ"รัฐอันธพาล"


(Rogue States) ตามคำเรียกขานของนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุช โดยเฉพาะประเทศอิหร่านที่กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในขณะนี้


 


แต่ข้ออ้างของพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ในทำเนียบขาวฟังไม่ขึ้นและกลายเป็นเรื่องน่าขำ แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯเองก็ไม่เชื่อเช่นนั้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์ที่อิหร่านเพิ่งพัฒนาขึ้นมานั้นมีพิสัยทำการเพียง 1,500 กม. แต่ระยะทางจากกรุงเตหะรานมายังกรุงปร๊าคของสาธารณรัฐเช็คไกลถึง 3,400 กม.


 


ถึงอย่างนั้นก็มีผู้แย้งว่าในอนาคตอิหร่านอาจมีศักยภาพในการผลิตจรวดพิสัยไกลที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของยุโรปก็เป็นได้ แต่ก็ถูกโต้ว่าแม้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ระบบป้องกันจรวดจะช่วยได้หรือ? เพราะเมื่ออิหร่านทราบว่ายุโรปมีระบบป้องกันจรวด พวกเขาจะแก้ไขโดยใช้ตัวล่อ หรือหัวรบปลอมซึ่งในทางเทคนิคเรียกว่า "ระบบอาคิเลส ฮีล"(Achilles Heel) จำนวนมากที่เรดาห์ไม่อาจแยกแยะได้ เมื่อนั้นระบบป้องกันจรวดก็ไร้ผล


 


ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันระบุว่า ทำเนียบขาวต้องการให้การติดตั้งระบบป้องกันจรวดในยุโรปบรรลุผลอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยจะต้องมีข้อตกลงในแผ่นกระดาษกับโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ค ที่มีผลผูกมัดจนคณะบริหารชุดใหม่ในสหรัฐฯที่เข้ามาหลังการเลือกตั้งไม่อาจแก้ไขอะไรได้


 


คำถามที่เกิดตามมาก็คือเบื้องหลังอันแท้จริงของการติดตั้งระบบป้องกันจรวดดังกล่าวคืออะไรแน่? ทำเนียบขาวต้องการอะไรจากการทำเช่นนั้น? ผู้ตั้งคำถามเช่นนี้รายแรกๆคือรัสเซีย เนื่องจากระบบจรวดดังกล่าวติดตั้งไว้ในยุโรปตะวันออกที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อมหาอำนาจประเทศนี้


 


รัฐบาลมอสโคว์จับตามองความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯอย่างหวาดระแวง เนื่องจากแรกเริ่มเดิมทีในปี 2002 ประเทศทั้งสองเคยทำข้อตกลงกันว่าจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบป้องกันจรวด ทั้งจะนำระบบนี้มาใช้ในยุโรป แต่ต่อมาไม่นานทำเนียบขาวบิดเบี้ยวข้อตกลง โดยหันมาเจรจากับโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็คฝ่ายเดียว ว่าจะนำระบบดังกล่าวมาติดตั้งในประเทศทั้งสอง ทำให้มอสโคว์ไม่พอใจ และรู้สึกพิศวงต่อพฤติกรรมของสหรัฐฯ


 


นักยุทธศาสตร์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีศักยภาพพอจะทำให้เกิดสงครามเย็นรอบใหม่ หรือเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่ายุคสงครามเย็นครั้งก่อน เนื่องจากฝ่ายรัสเซียสนองตอบกลับมาอย่างน่ากลัว


 


เมื่อไม่นานมานี้นายวลาดิมีร์ ปูตินขู่ว่ารัสเซียจะถอนตัวจากอนุสัญญาว่าด้วยกองกำลังพื้นฐานในยุโรป(Treaty on Convention Forces in Europe) ที่ทำไว้กับสหรัฐฯ และกล่าวว่ารัสเซียจะไม่ยึดถือสัญญานั้นอีกแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังขู่ว่าจะถอนตัวจากอนุสัญญาว่าด้วยกองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง(Intermediate Nuclear Forces Treaty) ซึ่งแปลว่าข้อตกลงระหว่างกันในอดีตที่มีผลให้เกิดการยุติสงครามเย็นกำลังถูกล้มเลิก


           


มอสโคว์ยังตอบโต้มากกว่านั้น นายปูตินสั่งการให้เครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าประจำการเช่นเดิม ทั้งประกาศว่าจะพัฒนาจรวดและอากาศยานใหม่ๆที่สหรัฐฯไม่สามารถยิงตก ถึงอย่างนั้นวอชิงตันยังเดินหน้าโครงการป้องกันจรวดในยุโรปต่อไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เสถียรภาพและความมั่นคงของภาคพื้นยุโรปตกอยู่ในภาวะอันตราย


 


ผู้เดือดร้อนยิ่งกว่าใครคือองค์การนาโต้ ด้วยว่าการกระทำของสหรัฐฯนอกจากเป็นภัยต่อความมั่นคงของยุโรปแล้ว ยังสร้างภาวะไร้เสถียรภาพให้เกิดขึ้นด้วย นั่นคือโครงการป้องกันจรวดจะสร้างความแตกแยกขึ้นในหมู่สมาชิกนาโต้และทำให้ภูมิภาคยุโรปอยู่ในภาวะอ่อนแอ


 


มาตรา 5 ในกฏบัตรนาโต้ระบุว่าร่มความมั่นคงจะต้องครอบคลุมสมาชิกทุกชาติ ต้องไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าหากสมาชิกประเทศใดแยกไปทำสัญญาความมั่นคงโดยลำพังก็จะกลายเป็นปัญหาโดยรวมของชาติสมาชิกอื่นๆ


 


มาบัดนี้ โปแลนด์และสาธารณรัฐเช็คแยกมาทำข้อตกลงกับสหรัฐฯตามลำพัง โดยยินยอมให้วอชิงตันเข้ามาติดตั้งระบบป้องกันจรวดเพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับประกันความมั่นคงและการได้รับการป้องกันเป็นพิเศษจากสหรัฐฯ ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีใดๆกับนาโต้อย่างแน่นอน


 


ที่แย่กว่านั้น การติดตั้งระบบดังกล่าวไว้ในดินแดนของตน อาจทำให้ประเทศทั้งสองตกเป็นเป้าโจมตีอันดับแรก เนื่องจากประเทศศัตรูต้องการทำให้ฝ่ายตรงข้ามอยู่ในภาวะบอดใบ้ นั่นแปลว่าโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็คต้องแบกรับความเสี่ยงจากความไร้ประสิทธิภาพของระบบป้องกันจรวดไปพร้อมกันด้วย นี่คือประเด็นน่าวิตกอีกประการหนึ่งในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ


 


ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นทางออกของประเทศทั้งสองควรเป็นอย่างไร? คำตอบของเรื่องนี้เคยมีตัวอย่างมาแล้ว เมื่อปี 2005, แม้จะมั่นใจในความเป็นมิตรสนิทและความเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ แต่แคนาดาตัดสินใจไม่เข้าร่วมในระบบป้องกันจรวด เพราะวิตกว่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธขึ้นบนโลก ทั้งกังวลถึงค่าใช้จ่ายทางทหารที่จะติดตามมา เมื่อเร็วๆนี้,เกาหลีใต้ก็ตัดสินใจแบบเดียวกัน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net