Skip to main content
sharethis


พันธมิตรฯ ตั้งองค์กร สปท.สอบรัฐบาล

เว็บไซต์สยามรัฐ : นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) แถลงเปิดตัวสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทยว่า จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน หลายฝ่ายมองว่าพรรคพลังประชาชนมีพฤติกรรมเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทย และอาจจะเข้าครอบงำอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร รวมทั้งการกลับมาของพ.ต.ท.ทักษิณ จึงมีความเป็นห่วงสถานการณ์การเมือง ดังนั้น สปท.จึงมีแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


 



เลขาธิการ สปท. กล่าวว่า โครงสร้างของ สปท. ประกอบด้วย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานที่ปรึกษา และคณะที่ปรึกษา ได้แก่ นายประพันธ์ คูณมี, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า, นายปราโมทย์ คริษฐธรรมคุณากร, ดร.กัลยา เลขพาณิชยธรรมวิรัช, นายปราโมทย์ นาครธรรพ, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, พล.ท.ประสิทธิ์ นวารัตน์,นายเกียรติ เปมกิตติ และนายไพศาล พืชมงคล


 



ทั้งนี้ สปท. จะมีคณะกรรมการ 4 ด้าน ประกอบด้วย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นายสุรพล พรพิพัฒน์ ประธานคณะกรรมการกิจการมวลชน นายไพศาล พืชมงคล ประคณะกรรมการโรงเรียนการเมืองการปกครองภาคประชาชน และนายณรงค์ พิริยเอนก ประธานคณะกรรมการกิจการรัฐบาลและรัฐสภา


 



เมื่อถามว่า สปท. กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะทำงานเกี่ยวโยงกันหรือไม่ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า เรามีเป้าหมายร่วมกัน คือการต่อสู้กับระบอบทักษิณ โดยภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ใช่การเผชิญหน้า ซึ่งจะมีการหารือกับพันธมิตรฯทุกวันพุธของสัปดาห์ แต่ยังไม่ถึงขั้นออกมาชุมนุม นอกเสียจากกลไกของรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำงานได้ ประชาชนจึงต้องออกมาเรียกร้องบนถนน


 



มีชัยประกาศวางมือทางการเมือง


เว็บไซต์สยามรัฐ : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้จัดงานเลี้ยงอำลาเนื่องจาก สนช.จะหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค.นี้ โดยมีสมาชิกสนช. ร่วมงานกว่า 100 คน ทั้งนี้นายมีชัย ได้กล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า ด้วยอายุที่มากขึ้นหมดความกระตือรือร้น คงต้องวางมือทางการเมืองจริงๆ ไปยุ่งเกี่ยวอีกไม่ได้แล้ว ต้องทำใจเป็นอุเบกขา เพราะจะไปสู้ต่อก็ไม่ได้ หรือจะหนีก็ไม่ทันเนื่องจากแก่แล้ว แต่คนรุ่นหนุ่มยังอาจมีไฟที่จะเล่นการเมืองต่อ ก็อาจปรับทัศนคติให้เข้ากับการเมืองยุคใหม่ได้ และตราบใดที่ยังไม่ตายก็จะเห็นอะไรเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่วางอุเบกขาไว้บ้างก็จะฮึดฮัด


 



"แต่สิ่งที่น่าภูมิใจจะติดตัวเราไป เชื่อว่าตัวบทกฎหมายที่เราช่วยกันทำมา จะช่วยให้บ้านเมืองเดินหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็น"


 


'สมัคร' ชี้ย้าย 'เสรีพิศุทธ์' เป็นโทษเบาสุด


เว็บไซต์เดลินิวส์ : นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถึงการโยกย้าย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีว่า เพื่อไม่ให้กระทบกับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงใน 3 ข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าเป็นโทษที่เบาที่สุด เมื่อเทียบกับ 3 ข้อกล่าวหา ซึ่งในระหว่างนี้จะยังไม่มีการแต่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เพราะได้ตั้งรักษาการดูแลแล้ว และไม่เห็นว่าจะต้องชี้แจงถึงกระแสข่าวที่มีการผลักดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะฟ้องฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ หากเห็นว่าผิดจริง


"ทักษิณ" หลบหน้าสื่อขอเป็นส่วนตัววันหยุด


เว็บไซต์สยามรัฐ : ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (1มี.ค.51) ถึงบรรยากาศบริเวณโรงแรมเพนนินซูล่า สถานที่พักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ตื่นตั้งแต่เช้า รับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว และเดินทางออกจากโรงแรมตั้งแต่เช้ามืดก่อนที่สื่อมวลชนยังเดินทางมาไม่ถึง เพื่อต้องการหลบการติดตามของนักข่าว


 



ผู้สื่อข่าวสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งตำรวจติดตามปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปที่ใด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ส่วนรักษาความปลอดภัยได้แจ้งแล้วว่าในวันเสาร์-อาทิตย์นี้ 1-2 มี.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ จะขอใช้เวลาส่วนตัวในช่วงวันหยุดนี้


 



ส่วนการรักษาความปลอดภัยบริเวณโรงแรม ยังมีการตั้งจุดตรวจรถเข้า-ออกตามปกติ แต่ไม่เข้มงวดเหมือนกับในช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ภายในบริเวณโรงแรม


 


นายกฯแถลง ลาวพร้อมรับกลับม้งอพยพ 7 พันคน
เมื่อเวลา
15.00 น. วันที่ 1 มีนาคม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังกลับจากการเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า มีการหารือกับนายกฯลาว เรื่องการปักปันเขตแดนไทย-ลาว 1,800 กิโลเมตร ซึ่งแล้วเสร็จไป 96% เหลืออีกเพียง 4% นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงการจะซื้อไฟจากลาว 7,000 กิโลวัตต์ รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ


 


'นอกจากนี้ยังมีการหารือม้งลาวที่อพยพมาอยู่ในไทยกว่า 7,000 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ที่อาศัยในเพชรบูรณ์ 7,000 คน และที่อาศัยในจังหวัดหนองคาย 158 คน ซึ่งลาวต้องการรับกลับไปอยู่บ้านเขาทั้งหมด โดยในส่วน 7,000 คน จะทยอยกลับไปทีละ 200-300 คน โดยลาวขอให้ไทยนำรายชื่อคนเหล่านี้มา แล้วทางการลาวจะตรวจสอบก่อนส่งกลับไปภูมิลำเนา แต่ในส่วนที่ไม่มีที่อยู่ ลาวก็จะทำเมืองใหม่เป็นนิคม โดยจะพยายามรับกลับทั้งหมด แต่เรื่องนี้ละเอียดอ่อน เพราะต่างประเทศอยากเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต่างประเทศก็จะคิดแบบต่างประเทศ ส่วนไทยต้องคิดแบบเพื่อนบ้าน'


 


นายสมัครกล่าวว่า หลังจากนี้มีโปรแกรมจะไปแนะนำตัวกับประเทศอาเซียนให้ครบ 9 ประเทศ เริ่มต้นจากกัมพูชา พม่า มาเลเซีย ซึ่งในส่วนกัมพูชา เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้หารือเรื่องเขาพระวิหารเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องพูดมาก


 


กทช.เริ่มจัดระเบียบวิทยุชุมชน4พันแห่งทั่วประเทศ


เว็บไซต์มติชน : นายเศรษฐพร คูศรีพิทัพษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แถลงข่าวว่า พ.ร.บ.กิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลต่อการจัดระเบียบวิทยุชุมชนกว่า 4 พันสถานีทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป โดยจะต้องจดทะเบียนให้ถูกต้อง ตามบทเฉพาะกาลท้าย พ.ร.บ. ให้ กทช.ทำหน้าที่ตามกฎหมายเป็นการชั่วคราวนั้น เบื้องต้นสถานีวิทยุที่จะขอดำเนินการเป็นธุรกิจต้องรอก่อน โดยจะต้องดำเนินการในลักษณะของวิทยุชุมชนไปก่อน โดย กทช.จะไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ในการลงทะเบียนให้เสร็จ 1 ปี

'โดยข้อเท็จจริงแล้ว จะต้องดำเนินการหยุดออกอากาศและต้องขออนุญาตใหม่ แต่จะต้องออกกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องตามกฎหมายอีกหลายฉบับ รวมทั้งการกำหนดเรื่องเสาอากาศ กำลังส่ง และรัศมีออกอากาศ ซึ่งขณะนี้ต้องศึกษาด้านเทคนิคและทำอย่างไรให้วิทยุชุมชนสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนจริง ขณะนี้ก็อนุโลมให้ดำเนินรายการก่อนได้' นายเศรษฐพรกล่าว

หาดใหญ่โพลล์สำรวจไม่เชื่อสมัครแก้ปัญหาใต้ได้
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้จัดทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน
14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลสมัคร 1 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน 1,097 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2551

โดยผลสำรวจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ประชาชนชาวใต้ร้อยละ 49.1 คาดว่ารัฐบาลสมัคร 1 ไม่สามารถแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ขณะที่ร้อยละ 46.2 คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนนโยบายที่ประชาชนต้องการให้นำมาใช้ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันสันติยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 27.3 รองลงมาเป็นการสร้างความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ปกครอง ทหาร ตำรวจในพื้นที่ ร้อยละ 21.0 การจัดตั้งสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 19.4 การจัดตั้งสำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 16.7 การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษา ร้อยละ 4.9 แนวทางการปราบปรามยาเสพติด ร้อยละ 4.3 และแนวคิดเขตปกครองพิเศษของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 3.0


 



นอกจากนี้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการทำสงครามยาเสพติดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พบว่า ประชาชนร้อยละ 34.6 เห็นด้วยในระดับน้อยและน้อยมาก ร้อยละ 57.3 เห็นด้วยในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 7.1 ที่เห็นด้วยในระดับมากและมากที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net