Skip to main content
sharethis


อภิชาติ   จันทร์แดง
อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์




 


ข่าวแชร์ต่างๆ ที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จนแทบกลายเป็นปรากฏการณ์อันธรรมดาสามัญของสังคมไทยไปแล้ว ไม่ว่าแชร์ข้าวสาร แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย แชร์ยางพารา แชร์น้ำมัน หรือแชร์สินค้าต่างๆ กระทั่งล่าสุดคือแชร์รถยนต์ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนซึ่งตกเป็นเหยื่อและได้รับความความเสียหายจำนวนมาก อีกทั้งยังมียอดเงินหมุนเวียนในระบบแชร์เหล่านี้นับร้อยนับพันล้านบาท


น่าสังเกตว่ากลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อแห่งการหลอกลวงเหล่านี้กลับไม่ใช่กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ขาดความรู้หรือขาดโอกาสทางสังคมแต่อย่างใด แต่กลับเป็นกลุ่มคนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีหน้าที่การงานที่ดี มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง เพราะมีเงินจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอที่จะเข้าร่วมลงทุนในวังวนของธุรกิจฉ้อฉลนี้ได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไร หากมิใช่ปรากฏการณ์แห่งความเพ้อฝันอันมีรากมาจาก "ความอ่อนแอทางความคิด" ของคนในสังคม


หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของความโลภของกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้น แน่นอนว่าคนทุกคนย่อมมีความโลภหรือความอยากอยู่ทุกคน มากน้อยแตกต่างกันไป แต่คนทุกคนย่อมมีการควบคุมหรือมีภูมิคุ้มกันความโลภแตกต่างกันไปเช่นกัน อาจใช้หลักศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ใช้ความคิด ใช้วิจารณญาณ ส่วนหนึ่งก็ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ของสังคม


กรณีกลุ่มคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของบริษัทแชร์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องของความโลภหรือความอยากเป็นที่ตั้ง คืออยากรวย อยากสบายโดยไม่ต้องลงแรงเพียงแต่ลงทุน ถามว่ามีเหตุและปัจจัยใดที่เอื้อให้คนจำนวนหนึ่งกลายเป็นเหยื่อของความโลภภายในตน ส่งผลให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนบางกลุ่มผ่านธุรกิจฉ้อฉลในเวลาต่อมา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตและเชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อันสัมพันธ์กับพื้นที่และเวลา อธิบายได้ด้วยเหตุและปัจจัยบางประการที่ไปกระตุ้นความโลภของคนจำนวนหนึ่งให้อยู่นอกเหนือการควบคุม


ประการแรกคือการถูกกระตุ้นโดยรัฐ ถือว่าเป็นเหตุและปัจจัยสำคัญ เพราะในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุครัฐบาลประชานิยม กล่าวคือการถูกกระตุ้นด้วยคำพูดของผู้นำที่เน้นย้ำเรื่องเงินทอง ความร่ำรวย ความสะดวกสบายที่จะเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น ให้เตรียมนับเงินในกระเป๋า ให้แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ให้คนไทยได้เป็นเจ้าของธุรกิจ รวมทั้งโครงการแก้จนต่างๆ ล้วนแต่เป็นการให้เปล่า หรือไม่ต้องลงแรงเพียงแต่ลงทุน เป็นการกระตุ้นให้คนเกิดความเพ้อฝัน อยากรวยทางลัด ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐที่รองรับความอยากและความเพ้อฝันของประชาชนที่คาดหวังจะร่ำรวยโดยไม่ต้องทำงาน จึงเกิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน รวมถึงการเปิดให้มีการกู้เงินโดยไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันในรูปแบบของเงินด่วนทั้งหลายที่รัฐปล่อยให้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด คนระดับล่างที่หาเช้ากินค่ำสามารถกู้เงินหมื่นเงินแสนได้ในเวลาแค่ไม่ทันข้ามวัน เพราะรัฐหวังเพียงการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายเงิน เกิดการหมุนเวียนในระบบ แล้วนำเอาการหมุนเวียนของเงินเหล่านั้นไปเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจดี เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงคือการทำลายระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และเป็นการทำร้ายประชาชนไปในขณะเดียวกัน ในเวลาต่อมาจึงพบเห็นคนจำนวนมากเป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้นอกระบบ โดนฟ้องล้มละลาย เพราะขาดความเท่าทันในเชิงธุรกิจที่ไปลงทุน ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย 


ความอยากและความเพ้อฝันที่จะรวยแบบไม่ต้องทำงานของคนจำนวนมาก สัมพันธ์กับปริมาณหนังสือประเภทฮาวทูมากมายที่ว่าด้วยเรื่องสูตรสำเร็จแห่งความรวย หรือคู่มือรวยทางลัดวางขายอยู่ทั่วไปในช่วงเวลาดังกล่าว และกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดีมาโดยตลอด แม้กระทั่งปรากฏการณ์จตุคามเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาและวูบหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ก็สัมพันธ์กับสมมุติฐานที่ว่าในสังคมนี้ต่างเต็มไปด้วยคนอยากรวยทางลัด รวยง่ายๆ โดยไม่ต้องไปลงมือทำเอง โดยเชื่อว่าจตุคามสามารถดลบันดาลให้เงินทองไหลมาเทมาจนเกิดความร่ำรวยได้ สังเกตจากชื่อรุ่นของจตุคามส่วนใหญ่ที่ให้ความรู้สึกว่าถ้าใครมีไว้ก็จะไม่ยากจน แม้จะมองว่าจาตุคามเป็นเพียงที่พึ่งทางจิตใจ แต่ก็ซ้อนทับอยู่บนความเพ้อฝันหรือความคาดหวังต่อความจริงที่อยากให้มีให้เป็นอยู่ลึกๆ


ประการที่สองคือระบบการศึกษา เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อแชร์ต่างๆ เป็นกลุ่มคนมีการศึกษา นั่นหมายความว่าระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้คน "รู้จักคิด" รู้จักมองบางสิ่งบางอย่างให้มีมิติ เป็นระบบและรอบด้าน แต่เลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่เห็นเฉพาะหน้า เลือกที่จะเชื่อคำพูดของใครสักคนก็ได้ถ้าคำพูดนั้นไปกระตุ้นความอยากรวย ท้ายที่สุดความอยากรวยก็ไปบดบังเหตุผลและความเป็นจริงไปเสียสิ้น


ความอ่อนแอทางความคิดมิใช่เพียงส่งผลให้ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจหลอกลวงฉ้อฉลอย่างแชร์ลูกโซ่เท่านั้น แต่ความอ่อนแอทางความคิดล้วนแล้วแต่เป็นมูลเหตุแห่งปัญหานานัปการ อันเกิดขึ้นเพราะการขาดการมองส่วนต่างๆ อย่างรอบด้านพอ ไม่อาจคิดเพื่อหาทางทุเลาหรือยุติปัญหาได้ รังแต่จะไปกระตุ้นหรือเร่งเร้าปัญหาให้ลุกลามใหญ่โตขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสังคมส่วนรวมจนกลายเป็นความขัดแย้งและความรุนแรง นั่นเพราะขาดระบบคิดที่เข้มแข็ง ขาดการมองอย่างปัญหาหรือปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ไม่สามารถเชื่องโยงระหว่างเหตุและผลได้


สังคมจึงกลายเป็นสังคมของคนที่พร้อมจะเชื่ออะไรก็ได้โดยไม่ผ่าน "การย่อยสลายทางความคิด" จึงไม่สามารถมองเห็นผลกระทบทั้งต่อตนเองและสังคม โดยเฉพาะผลกระทบที่สร้างความเสียหาย เช่น อยากจะให้ปัญหาภาคใต้ยุติลงแต่กลับชิงชังรังเกียจคนทุกคนที่มีผ้าคลุมหัวหรือโพกหัว แม้กระทั่งแขกซิกข์ขายผ้า แขกฮินดูขายถั่ว เพราะเข้าใจว่าเป็นมุสลิม อยากให้นักการเมืองคอรัปชั่นหมดไปแต่ก็ยังเลือกนักการเมืองเหล่านั้นเข้ามาโดยไม่รู้ตัวเพราะการมองแบบชั้นเดียว สรุปจากภาพที่เห็น ส่งผลให้สังคมนี้ต่างเต็มไปด้วยนักการเมืองฉ้อฉลแต่คนในสังคมยังให้การสนับสนุน เต็มไปด้วยปัญหาที่ไร้ทางออก เป็นต้น นั่นคือสภาวะแห่งความไม่เท่าทันของคนในสังคม เพราะสังคมนี้ไม่เคยสร้างคนที่ "คิดเป็น" แต่ "ผลิตคน" ที่พร้อมจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจะได้ประโยชน์ เกิดความสะดวกสบายกับตน ไม่สามารถมองถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้านได้ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดผลเสียหายกับตนเองมากน้อยแค่ไหนก็ตาม


ในกรณีแชร์ต่างๆ หากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้ฉุกคิดโดยเชื่อมโยงข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างเป็นระบบก็อาจเกิดความเฉลียวใจได้ เช่นว่า ถ้าบริษัททำธุรกิจแล้วสามารถมีเงินตอบแทนสูงขนาดนี้ ทำไมทางบริษัทไม่ทำเองแบบเต็มตัว หรือชักชวนญาติพี่น้องของตัวเองมาลงทุน เพราะการลงทุนนั้นนโยบายของรัฐก็เอื้ออยู่แล้วที่จะให้แปลงสินทรัพย์เป็นทุนหรือกู้เงินมาลงทุนได้อยู่แล้ว บางกรณีกลุ่มผู้ตกเป็นเหยื่อกลับออกมาปกป้องบริษัทและกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปตรวจค้นหรือจับกุมบริษัทแชร์ มีการไล่ทำร้ายเจ้าหน้าที่และนักข่าว ด้วยเหตุผลว่านักข่าวนำเสนอข่าวบิดเบือนให้ร้ายจนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย


ที่กล่าวมามิใช่จะกล่าวโทษผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ถึงอย่างไรพวกเขาต่างน่าเห็นใจและควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่และรวดเร็ว เพราะทุกคนต่างเป็นผู้ถูกกระทำ การจัดการกับปัญหาดังกล่าวจึงมีทั้งการแก้ปัญหาทั้งสองระดับ คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง


ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงจึงไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือเอาเงินหรือทรัพย์สินมาคืนแก้ผู้ตกเป็นเหยื่อ ไม่ใช่การติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ และไม่ใช่เพียงการสร้างกลไกของรัฐที่ต้องมีมาตรการหรือการตรวจสอบการดำเนินการทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ อย่างรัดกุมเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึง "ระบบการศึกษา" อันเป็นรากฐานสำคัญของ "การสร้างระบบคิดที่เข้มแข็ง" ซึ่งเป็น "ภูมิคุ้มกันแห่งความเท่าทัน" ไม่ตกเป็นเหยื่อแห่งความฉ้อฉลของผู้อื่น ไม่เพียงแต่การหลอกลวงของธุรกิจอย่างแชร์ลูกโซ่เท่านั้น แต่รวมถึงเท่าทันนักการเมือง เท่าทันนายทุน เท่าทันผู้มีอำนาจ เท่าทันรัฐ เท่าทันผู้ฉกฉวยประโยชน์ของสังคม ทั้งนี้มิใช่เพียงเพื่อการอยู่รอดของตนเท่านั้น แต่รวมถึงการอยู่รอดของสังคมส่วนรวมด้วย


เมื่อมองมายังระบบการศึกษาในปัจจุบัน ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในบรรยากาศการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย พบว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อยพร้อมที่จะเชื่อหรือทำอะไรก็ได้หากสิ่งนั้นทำให้เขาเกิดความสะดวกสบายและได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะไม่เชื่อหรือไม่ทำอะไรเลยหากสิ่งนั้นทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากเหนื่อยยากและไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ กับตัวเอง และที่สำคัญคือไม่มีความพยายามที่จะตั้งคำถามต่อสิ่งที่ได้เรียนไปหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ว่า "ใช่หรือไม่" "ทำไม" "เพราะอะไร" หรือ "อย่างไร" ไม่พยายามหาเหตุผล ไม่กว้างไกลพอจะจะมองถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่คือนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งซึ่งกำลังจะออกไปเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตอันใกล้ แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะตกเป็นเหยื่อแห่งความฉ้อฉลที่มีอยู่ในสังคมได้ ในทางกลับกันคนกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะสร้างความฉ้อฉลขึ้นมาได้เช่นกัน ซึ่งไม่ว่าในมุมใดต่างก็ตกเป็น "เหยื่อของความอ่อนแอทางความคิด" ทั้งสิ้น


เพราะฉะนั้นเมื่อคนในสังคมขาดความเข้มแข็งทางความคิด สังคมก็ย่อมอ่อนแอ จะแปลกอะไรหากกลุ่มคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะขายรถ ขายบ้าน ขายที่ดิน หรือกู้เงินทั้งในและนอกระบบมาทุ่มกับการลงทุนทางธุรกิจที่ไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะเชื่อและคาดหวังว่าจะเป็นหนทางที่ทำให้รวยได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงแรงทำงานเองให้เหนื่อยยาก จะแปลกอะไรประเทศนี้จะมีนักการเมืองและระบบการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ จะแปลกอะไรกับปัญหาสังคมที่กำลังรุมเร้าอยู่รอบด้านจนแทบจะไม่มีทางออก และจะแปลกอะไรหากจะเกิดธุรกิจฉ้อฉลใหม่ๆ ด้วยวิธีการง่ายๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกมากมาย เหล่านี้เป็น "ลูกโซ่แห่งความอ่อนแอทางสังคม" ที่เชื่อมโยงร้อยรัดและส่งผลต่อกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้


ดังนั้นหากสังคมนี้ยังถูกกระตุ้นให้คนหลงละเมอเพ้อฝันให้เป็นสังคมของคนอยากรวย เพียงแต่แบมือขอหรือเพียงแต่ลงทุนโดยไม่ต้องลงแรง บวกกับระบบการศึกษายังไม่สร้างระบบคิดที่เข้มแข็งพอ กรณีแชร์รถยนต์ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ก็ย่อมไม่ใช่กรณีสุดท้ายอย่างแน่นอน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net