Skip to main content
sharethis

เวทีกลาง ที่ กกต. ในแต่ละจังหวัดจัดให้ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แนะนำตัว กลายเป็นเวทีผลัดกันเขียนเวียนกันอ่านวานกันชม เมื่อทั้งผู้สมัครและประชาชนต่างไม่ให้ความสนใจกับเวทีกลาง ผู้สมัครส่วนใหญ่เลือกเดินสายแนะนำตัวด้วยตัวเอง ภาพคนประมาณ 40-50 คน และเก้าอี้ว่างๆ ระหว่างการแนะนำผู้สมัคร ส.ว. บนเวทีกลาง เป็นภาพปรากฏในโทรทัศน์ช่วงข่าวภาคค่ำอยู่บ่อยๆ ในช่วงนี้


 


ในขณะที่ กกต. กลัวตัวเลขผู้ไปเลือกตั้ง ส.ว. จะต่ำกว่าร้อยละ 70 จึงทุ่มงบประมาณ - เร่งอัดสปอตโฆษณา "จำเลยไม่รัก" รวมทั้งให้ "ปาน ธนพร" และ "โปงลางสะออน" ร้องเพลงชวนคนไปเลือก ส.ว. เต็มที่


 


เนื้อหาชวนไปเลือกไว้ก่อน ส่วนรายละเอียดเรื่องบทบาทหน้าที่ ส.ว. มีหน้าที่ทำอะไร ค่อยว่ากันอีกที เวลาโฆษณาไม่พอ


 


ขณะที่ สวนดุสิตโพลได้เผยผลสำรวจพบว่า จะมีประชาชนเพียงร้อยละ 38.37 เท่านั้น ที่จะเดินทางไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ส.ว. ซึ่งผิดกับการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ที่มีประชาชนไปใช้สิทธิกว่าร้อยละ 70


 


หากประชาชนไปใช้สิทธิร้อยละ 38 อย่างที่สำนักโพลดังกล่าวสำรวจจริง นี่คงเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งที่ "หงอยที่สุด" ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์


 


เลือกตั้ง ส.ว. จะหงอยหรือไม่ หงอยเพราะเหตุใด ต่อไปนี้คือมุมมองจากนักวิชาการรัฐศาสตร์จากท้องถิ่น มองจากท้องถิ่นสะท้อนภาพการเมืองระดับชาติ


 


000


 


คนเมินเลือก ส.ว. เหตุยังไม่เข้าใจบทบาท


ดร.จันทนา สุทธิจารี ประธานสาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า บรรยากาศการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามีความเงียบเหงา ทั้งในส่วนผู้สมัคร ส.ว. และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงต้องทบทวนบทบาทการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพราะประชาชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ส.ว. ทำอะไร ประชาชนรู้บทบาท ส.ส. ดีเพราะคุ้นชินมากกว่า แต่ ส.ว. เป็นเรื่องใหม่ ความรับรู้ ความเข้าใจบทบาทของ ส.ว. ของประชาชนก็น้อยเมื่อเทียบกับ ส.ส. ขณะที่ระบบเลือกตั้งก็ใหม่ หนึ่งจังหวัดเลือกได้คนเดียว


 


"คาดว่า คนชั้นกลางที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งจะไม่ไปเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งจะลงคะแนนในช่องไม่เลือกใคร เพราะไม่ศรัทธารัฐธรรมนูญปี 50 ที่ให้ครึ่งหนึ่งของ ส.ว. มาจากการสรรหา และพาลปฏิเสธ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งอีก 76 คน ขณะที่ความคาดหวังของสังคมขณะนี้อยู่ที่การรอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า" ดร.จันทนาวิเคราะห์


 


 


คนลง ส.ว. น้อย เหตุ "กินไม่ได้แต่เท่" ไม่ยวนใจเท่า ส.ส.


ต่อกรณีที่มีผู้สมัคร ส.ว. แบบเลือกตั้งน้อยมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้นั้น ดร.จันทนา ตั้งข้อสังเกตว่าโดยอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. เทียบกับ ส.ส. แล้ว ส.ว. มีความเชื่อมโยงกับอำนาจฝ่ายบริหารน้อยมาก เช่น ส.ว. ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ 6 ปีแล้ว ก็ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ ต้องเว้นวรรค 6 ปี


 


บทบาท ส.ว. ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นการให้มีการตรวจสอบคานอำนาจกันเองในฝ่ายนิติบัญญัติก่อนที่จะถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร ให้อำนาจแกนหลักของอำนาจอธิปไตยคืออำนาจนิติบัญญัติตรวจสอบคานอำนาจกันเองในระดับหนึ่งก่อน หลายๆ ประเทศจึงใช้ระบบสองสภา


 


แต่ด้วยเหตุที่ ส.ว. มีแรงจูงใจน้อย จึงไม่ดึงดูดให้นักการเมืองมาลงสมัคร ส.ว. เลือกตั้ง


 


"ส.ส. สามารถสังกัดพรรคการเมือง ลงคะแนนให้พรรคของตนในสภาได้ แต่ ส.ว.ทำหน้าที่เพียงกลั่นกรอง เป็นสภาต้นทางในการกลั่นกรอง ก่อให้เกิดองค์กรอิสระ ปลายทางกลั่นกรองกฎหมาย ทำหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองตามที่ประชาชนเข้าชื่อ มีสิทธิอภิปราย ตั้งกระทู้ถาม แต่ไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจ


 


วุฒิสภากินไม่ได้แต่เท่ เป็นอุดมคติ แต่สิ่งที่นักการเมืองต้องการ คือ เป็น ส.ส. ถ้ามีการยุบสภาก็สามารถลงเลือกตั้งได้อีก ส.ส. สามารถเข้าไปเชื่อมโยงอำนาจฝ่ายบริหารได้ เกาะชายผ้าเหลืองรัฐมนตรีได้ แรงดึงดูดทางวัตถุนิยม รูปธรรมระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. มันเป็นแรงดึงดูดคนละรุ่น" ดร.จันทนา ตั้งข้อสังเกต


 


 


ผู้สมัครหน้าใหม่โผล่ ส.ว. หวัง "เปิดหน้าไพ่"


ดังนั้นจึงมีผู้ให้ความสนใจลงสมัคร ส.ว. ไม่มากนัก ใน จ.เชียงใหม่ เห็นแต่ทนายความมาลงสมัครรับเลือกตั้งเกือบยกกระบิ ซึ่งจริงๆ แล้ว ส.ว. ไม่ได้ทำหน้าที่แค่กลั่นกรองกฎหมาย แต่ ส.ว. จะมีแต่นักกฎหมายไม่ได้ ต้องการคนจากหลากหลายอาชีพ เพราะ ส.ว. มีหน้าที่ทางการเมือง ตรวจสอบรัฐบาล อภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติ


 


ผู้สมัคร ส.ว. ที่เหลือ ถ้าไม่ใช่ทนาย ก็เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เช่น นายอำเภอเก่า ปลัดจังหวัดเก่า ไม่มีความหลากหลายของผู้สมัครเท่าที่ควร หลายคนลงเผลื่อฟลุ๊ค อย่างน้อยให้มีชื่อติดถนนสักเดือนสองเดือนให้คนจำได้ จะได้มีประโยชน์ต่อหน้าที่การงาน มีคนติดต่อให้ไปว่าความมากขึ้น หรือบางคนลงเลือกตั้ง ส.ว. ขึ้นป้ายให้มีชื่อติดสองข้างถนนก็หวัง "เปิดหน้าไพ่" สร้างความจำได้หมายรู้ในหมู่ประชาชน เผื่อลงเลือกตั้งในระดับอื่นหากพลาดหวังจาก ส.ว.


 


 


ส.ว.สรรหา ทางด่วนให้ "อำมาตยาธิปไตย" แทรกตัวเนียนๆ


ดร.จันทนา ให้ความเห็นกรณีที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ ส.ว. ครึ่งหนึ่งคือ 74 คน ต้องมาจากการสรรหานั้น ดร.จันทนา เห็นว่า เรื่องนี้มีคนวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ว่า ส.ว. สรรหาถูกแทรกแซงจากองค์กรต้นสังกัด ทั้งที่มาจากกองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ องค์วิชาชีพ อันเป็นช่องทางให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยแทรกตัวอย่างแนบเนียนในโครงสร้างรัฐสภา ผ่าน ส.ว.สรรหา 74 คน เพราะฉะนั้นเราเห็นนายพล นายตำรวจ ข้าราชการเกษียณมากพอสมควร พอรายชื่อ ส.ว. สรรหาทั้ง 74 คนออกมา คนชั้นกลางเลยพลอยปฏิเสธวุฒิสภาทั้งสองระบบ เพราะคัดค้านที่มาของ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาอันทำให้รัฐราชการเข้ามาแทรกตัว


 


แต่คนร่างรัฐธรรมนูญ เช่น คุณเดโช สวนานนท์ รองประธาน ส.ส.ร. เคยให้เหตุผลว่า ที่ให้วุฒิสมาชิกมาจากการสรรหาเพราะคนเป็นวุฒิสภา ต้องมีคุณวุฒิมากกว่าคนปกติ ถึงจะไปกลั่นกรองคนอื่นได้ คนพวกนี้ส่วนมากจะไม่รับเลือกตั้ง ดังนั้นต้องให้คนสรรหาไป ซึ่งเหตุผลของคุณเดโชมันอ่อน พูดแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคนๆ หนึ่งเห็นว่าตัวเขามีวุฒิภาวะมากกว่าคนอื่น ก็ต้องขันอาสาลงเลือกตั้ง ทำแบบเอนก เหล่าธรรมทัศน์ไปเลย ทีนี้พอมี ส.ว. ครึ่งหนึ่งที่มาจากการสรรหาแล้ว เกิดคำถามจากสังคมตามมาอีกเยอะว่ากรรมการสรรหา ส.ว. มีที่มาจากไหน ถ้ากรรมการสรรหา ส.ว. ไม่ใส ตัว ส.ว.สรรหาก็พลอยไม่ใสไปด้วย กลายเป็นเรื่องแม่ปูเดินคดสอนลูกปูเดินตรงไป


 


การทำให้ ส.ว. มีที่มา 2 ทาง คือเลือกตั้ง กับสรรหา ทำให้สถานภาพทางอำนาจของ ส.ว. 2 ประเภทดูไม่เท่ากัน ส.ว. 74 คนที่มาจากการสรรหาเหมือนถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง แต่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง 1 เดียวของจังหวัด กว่าจะได้เป็น ส.ว. ต้องแนะนำตัวเลือดตาแทบกระเด็น เดินจนส้นรองเท้าสึก ใช้เงินในการหาเสียงจำนวนมาก ซึ่งที่มาของ ส.ว. ที่ต่างกันนี้ จะไปสร้างความรับรู้ทางการเมืองให้เฉไฉว่า ส.ว. มีคนสองกลุ่ม ที่ความสามารถไม่เท่ากัน ซึ่งการรับรู้แบบนี้จะมีผลต่อการทำหน้าที่ ส.ว. ในอนาคตต่อไป


 


 


สมัครตั้งรัฐบาล - ทักษิณกลับบ้าน เรื่องน่าลุ้นของสังคมไทยทำเลือกตั้ง ส.ว. หงอย


สาเหตุหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้ง ส.ว. เงียบเหงา ทั้งที่ใกล้วันเลือกตั้งแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ประชาชนลุ้นการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ลุ้นช่วงตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในขณะที่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารคาอยู่ กระตุ้นให้คนตื่นตัว


 


แต่ตอนนี้มี ส.ส.แล้ว มีกระบวนทำงานของรัฐบาลแล้ว มีเรื่องทักษิณ (ชินวัตร) กลับเข้ามาให้ตื่นเต้น มีวาทะแสบๆ คันๆ จากสมัคร (สุนทรเวช) เฉลิม (อยู่บำรุง) ให้คนด่ามั่ง คอการเมืองมีเรื่องให้ตื่นเต้น ในเมื่ออารมณ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้แล้ว และมีวาระทางการเมืองที่สำคัญกว่านั้นเยอะ ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ว. เลยกลายเป็นวาระรองไปเลย


 


"พอคนเห็นว่า ส.ว. ห่างไกลจากผลประโยชน์ของประชาชน เมื่อเทียบกับ ส.ส. ที่เอานโนบายไปสนองให้ประชาชนได้ ส.ว.ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย คนมองไม่เห็นว่า ส.ว. จะมีประโยชน์เชื่อมโยงโดยตรง ดังนั้นจึงเกิดแรงเฉื่อยทางการเมือง ทั้งผู้สมัคร ส.ว. และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สื่อมวลชนเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เรื่อง ส.ว. หลบในไปเลย ต้องเรื่องทักษิณกราบแผ่นดิน ดังนั้นสถานการณ์ต่างๆ จึงทำให้การเลือกตั้ง ส.ว. เงียบเหงา" ดร.จันทนา กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net