ความเป็นไปใน "ประชาไท"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

 

ขออนุญาตเขียนจดหมายถึงผู้อ่าน บอกเล่าความเป็นไปใน "ประชาไท" สักครั้ง

อยากจะเริ่มเรื่องด้วยการเขียนเรื่องราวโตๆ จากปัจเจกบุคคลที่ตระหนักในความตัวเล็กสักเล็กน้อย

"ประชาไท" ก่อตั้งขึ้นด้วยความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของมนุษยชาติ ที่ไม่ได้หมายความแค่ชาติพันธุ์ ไม่ได้มีข้อกีดกันทางเพศ วัย ภาษา ฐานะ หรือชนชั้น พูดด้วยคำโตๆ ให้น่าหมั่นไส้เข้าไปอีกก็อาจจะพูดได้ว่า ในภารกิจของมนุษยชาติคนหนึ่งที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าคนอื่นๆ ที่เหลือในสังคม แต่ละคนต่างก็มีหน้าที่ที่ควรจะเป็นอยู่ที่การแสวงหาความจริง หรือ "สัจจะ" ในวิถีทางของตน ต่างก็ตระหนักกับภารกิจนี้ด้วยกันทั้งนั้น จะมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ข้อจำกัดของแต่ละคน

แต่อะไรล่ะคือ "ความจริง"เหมือนที่เราเคยตั้งคำถามว่าอะไรล่ะที่เรียกว่า "ความดี" เราจะปฏิเสธได้หรือว่าการดิ้นรนทำมาหากินปากกัดตีนถีบของผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาความจริงและคุณค่าความหมายของชีวิต

ปัญหาคือ การค้นพบความจริงในทุกขณะของเรา ไปกีดกันความจริงของคนอื่นหรือไม่ ยิ่งในฐานะคนทำสื่อ การค้นพบความจริงในทุกขณะมากขึ้นๆ ของเรานั้นไปครอบงำความจริงของคนอื่นหรือไม่ และความได้เปรียบซึ่งทำให้เราอยู่ในฐานะคนทำสื่อ มันได้ทำให้เราต้องเทศนาสั่งสอนใครต่อใครเพราะดันคิดไปว่าใกล้ความจริงที่จริงกว่า หรือรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรให้สังคมไทยควรจะรับรู้

ไม่เลย สำหรับเราเอง เราตระหนักดีว่า การค้นหา ค้นพบ เปลี่ยนแปลง และพลวัต เป็นส่วนหนึ่งของการหาความจริงด้วย กระทั่งการเทศนาสั่งสอนใครต่อใครก็อาจจะเป็นความจริงแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน

ในฐานะที่ทำสื่อ เราไม่รู้ เราจึงเลือกที่จะเปิดเวทีให้กับความจริงหลายๆ แบบได้เผชิญหน้ากัน กระทั่งให้มันได้ทะเลาะกัน

เป็นความโชคดีของผู้คนร่วมสมัย เพราะความพยายามสื่อสารของมนุษย์ ได้ทำให้โลกนี้เกิดเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขึ้น แล้วโลกก็มีสื่อชนิดใหม่ที่ทำให้คนมีสิทธินิยามความจริงอันแตกต่างหลากหลาย

ยิ่งพอเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพัฒนาเป็นมัลติมีเดีย คุณลักษณะของมันก็ก้าวข้ามพ้นข้อจำกัดของการสื่อสารทางด้านภาษา ทักษะการเขียน และเปิดโอกาสให้ผู้คนมีเสรีภาพที่จะมีส่วนในการร่วมนิยามความจริง แม้ว่าเขาจะไม่มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ เขียนไม่เป็น กระทั่งอ่านไม่ออก แน่นอน แม้ไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็ต้องนับว่าใกล้เคียง

สำหรับ "ประชาไท" เราน้อมรับกับเครื่องมือใหม่นี้ ข้อจำกัดด้านทุนไม่ใช่อุปสรรคสำคัญอีกต่อไป อย่างน้อยก็ไม่ใช่ประการแรกๆ เรามีนักข่าวไม่มาก แต่เรารู้ว่า ในอุดมคตินั้นเราสามารถที่จะมีนักข่าวได้อีก 6,000 ล้านคนที่ร่วมอาศัยอยู่บนโลกใบนี้

แน่ล่ะ นักข่าวพลเมืองเหล่านี้อาจจะผลิตข่าวสารที่ด้อยคุณภาพ ไร้ความน่าเชื่อถือ และไม่มีสถาบันสื่อไหนมาการันตีรองรับ แต่หากเสรีภาพและความจริงไม่ได้มีแบบเดียว และการเคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิมีเสียงไม่ว่าเขาจะยากดีมีจนเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เช่นนั้นแล้ว "มาตรฐานในการชี้วัด" ว่าข่าวสารนั้นด้อยคุณภาพ ไร้ความน่าเชื่อถือต่างหากที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ตัวข่าวสารหรือตัวนักข่าวพลเมือง

พูดเรื่องที่ดูเหมือนเวอร์มาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า สิ่งที่ท่านเห็นและปรากฏขึ้นใหม่ๆ ในเว็บไซต์ประชาไท เป็น "ทีวีออนไลน์" หรืออาจจะเรียกให้เป็นทางการขึ้นหน่อยว่า Podcasting (Personal On-Demand) คือส่วนหนึ่งที่ทำขึ้นบนความตระหนักในภารกิจ และตระหนักในศักยภาพของสื่ออินเทอร์เน็ต

กล่าวอีกอย่างก็คือ เราตั้งใจจะแสดง "เครื่องมือ" พอๆ กับที่ตั้งใจจะแสดงถึงตัวเนื้อหา เพื่อเชิญชวนท่านๆ ร่วมกันผลิต "ความจริง"

อย่าให้ความไม่ถนัดในการเขียนเป็นอุปสรรคในสิ่งที่เราจะสื่อ อย่าให้ความไร้เครื่องมือ มาเป็นอุปสรรคในการบอกเล่าเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับผู้คนอื่นๆ ที่เหลือ

มีปากกาหยิบปากกา มีมือถือหยิบมือถือ มีเครื่องบันทึกเสียงก็หยิบมาบันทึก แล้วสร้างสื่อของคุณเอง

อย่างไรก็ตาม ขออนุญาตแจ้งผู้อ่าน และใช้โอกาสนี้พูดถึง 2 รายการที่ปรากฏขึ้นในเว็บไซต์ "ประชาไท" สักเล็กน้อย

หากสื่อแบบประชาไทต้องมีบทบรรณาธิการ ในทางปฏิบัติ "บท" ที่เป็นของ "กอง" บรรณาธิการก็แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะไม่มากก็น้อยย่อมต้องเจือด้วยทัศนคติที่ชี้นำของผู้เขียนอยู่ด้วย แม้ว่าเราจะเพียรพยายามให้บทบรรณาธิการมาจากทุกๆ คนในกองบรรณาธิการแล้วก็ตาม ยังไม่ต้องนับว่า จำนวนมากหรือส่วนใหญ่ในบทบรรณาธิการในสื่อบ้านเรา อย่างมากก็เป็นแค่ บทของ "บรรณาธิการ" ซึ่งก็คือผู้เขียนเท่านั้น

รายการที่ชื่อว่า "สมาคมหัวไม้" คือความพยายามในการสร้างบทของ "กองบรรณาธิการ" แน่ละ ย่อมหนีไม่พ้นความพยายามชักจูงของคนที่พูดได้ดีกว่า หรืออาจจะมีอำนาจอิทธิพลมากกกว่า แต่มันต่างกับการเขียนก็ตรงที่ "ท่านเห็น" และท่านก็ได้มีโอกาสพิจารณา

จึงอยากจะเรียนให้ทราบว่า บัดนี้ "บทบรรณาธิการของประชาไท" คือสิ่งที่ปรากฏในรายการ "สมาคมหัวไม้" และเราจะพยายามพัฒนารายการให้ได้ตามที่ตั้งใจต่อไป ส่วนใต้เท้าขอรับที่ท่านอ่านอยู่นี้ คือคอลัมน์ของนักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญมานั่งเป็น "บรรณาธิการ" และอยู่ร่วมใน "กองบรรณาธิการ" ซึ่งก็คือทุกๆ คนในประชาไท และอยากจะย้ำด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นบทบรรณาธิการ หรือคอลัมน์นี้ ต่างก็ไม่ใช่ตัวแทนความคิดของนักข่าวพลเมืองทั้งหลาย

เราต้องขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ กล้า ตั้งสุวรรณ, อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, ทีมงาน duocore ทุกๆ คน และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดทีวีออนไลน์ของประชาไท (สักที) พร้อมกับยังลงมือเข้ามาร่วมผลิต และรายหลังก็ลงแรงเข้ามาจัดรายการ "บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา" รายการคุยข่าวสารที่ไม่ค่อยเป็นข่าว หรืออาจจะเป็นข่าวในกระแสแต่ด้วยมุมมองที่แตกต่าง โดยหวังที่จะเป็นตัวอย่างว่า เรา ประชาชน ไม่ว่าจะในชนชั้นไหนๆ ก็สามารถผลิตสื่อเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องหล่อเหลา ไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง หรือมีเครื่องมือพร้อมสรรพ

อย่าลืมนะครับ มีปากกาหยิบปากกา มีมือถือหยิบมือถือ มีเครื่องบันทึกเสียงก็หยิบมาบันทึก แล้วสร้างสื่อของคุณเอง

 

.................

รายการ : สมาคมหัวไม้

รายการ : บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท