Skip to main content
sharethis


ตามที่เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2550 ตัวแทนชาวบ้านปางโม่ หมู่ที่ 8 .ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนกรณีปัญหาการสัมปทานตัดไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่เข้าไปทำการตัดไม้สักทองในเขตพื้นที่ใกล้ๆ หมู่บ้านปางโม่ โดยมีแผนดำเนินการจะมีการตัดไม้สักที่มีอายุประมาณ 10-20 ปี ทั้งหมด 4,000 ต้นโดยขณะนี้ ทาง อ.อ.ป.ได้ตัดไปกว่า 2,000 ต้นแล้วนั้น


จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านวิตกกันมาก เนื่องจากพื้นที่ป่าบริเวณนี้เป็นต้นกำเนิดลำน้ำสาขาของน้ำแม่ปิงหลายสาย เช่น น้ำแม่ป๋ามซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ในการทำการเกษตร และมีหลายหมู่บ้านที่ใช้น้ำสายนี้ นอกจากนี้ยังมีลำห้วยแม่ป๋อย ลำห้วยแม่มาดอีกด้วย ดังนั้น หาก อ.อ.ป.ยังเดินหน้าตัดไม้ต่อไปชาวบ้านที่นี่ รวมถึงคนที่ใช้น้ำจากลำน้ำปิงต้องได้รับผลการกระทำของ อ.อ.ป.อย่างแน่นอน


หลังจากนั้น (27 ก.พ.2550) นายประสิทธิ์ กันทาซาว สมาชิกอบต.ปิงโค้ง พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้าน ได้ไปรวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชาการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ และนายชุมพร แสงมณี ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ รับหนังสือพร้อมรับฟังข้อร้องเรียน ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ แล้วเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป


 


 


 


(แฟ้มภาพ) นายประสิทธิ์ กันทาซาว (ซ้าย) เมื่อครั้งเข้ายื่นหนังสือต้าน อ.อ.ป. โค่นป่าสัก ต่อรอง ผวจ.เชียงใหม่ เมื่อ 27 ก.พ. 2550 ล่าสุดกลับถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่า


ล่าสุด นายประสิทธิ์ กันทาซาว ได้ออกมาเปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า ตนพร้อมด้วยนายสายัณห์ กันทะซาวซึ่งเป็นน้องชาย ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า หลังพาชาวบ้านต้าน อ.อ.ป.ที่โค่นป่าสักทองบริเวณต้นน้ำสาขาแม่น้ำปิงกว่า 2,000 ต้น ชี้เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งหลังจากไปร้องเรียนสื่อ ทั้งๆ ที่ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำกินมานานแล้ว


นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าคดีนี้เป็นการกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน หลังจากที่ตนเป็นแกนนำร้องเรียน และได้ไปออกรายการร่วมมือร่วมใจ ของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2550 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ดำเนินรายการได้สอบถามว่า อ.อ.ป.ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอย่างไรบ้าง และชาวบ้านต้องการให้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งตนได้บอกว่า อ.อ.ป.ได้ทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นอย่างมาก และชาวบ้านได้ขอเรียกร้องให้ อ.อ.ป.หยุดโค่นไม้สัก และขอให้ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวเสีย โดยทางรายการได้มีการเผยแพร่ภาพระบบนิเวศที่เสียหาย มีภาพการชักลากไม้สักทั้งโดยเครื่องจักรและช้างในพื้นที่ที่ อ.อ.ป.ดำเนินการอยู่ด้วย


 


"ซึ่งการที่ตนไปออกรายการโทรทัศน์ อาจทำให้เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.ไม่พอใจ ก็เลยหาวิธีกลั่นแกล้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าไปในพื้นที่ ก่อนตั้งข้อหาตนและน้องชาย ว่าบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่พื้นที่ผืนนั้น เป็นพื้นที่ทำกินประมาณ 4-5 ไร่ ซึ่งมีใบตอบรับจากทางการไว้นานแล้ว และทางกำนันก็เคยมาดูพื้นที่แล้วบอกว่าไม่ได้บุกรุก แต่ทำไมจู่ๆ ถึงมาแจ้งข้อหากันตอนนี้ และทำไมต้องเฉพาะเจาะจงมาแจ้งข้อหาตนกับน้องชายอย่างนี้ ดังนี้ ตนจึงเชื่อว่า นี่เป็นการกลั่นแกล้ง และใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างแน่นอน" แกนนำชาวบ้าน บอกเล่าให้ฟัง


 


แกนนำชาวบ้านปางโม่ กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ตนและน้องชาย กำลังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อเสนอชั้นอัยการ เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป.


 


 






บ้านปางโม่ : การต่อสู้เพื่อหยุดขบวนการสัมปทานป่าไม้


 


ชาวบ้านปางโม่ หมู่ที่ 8 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีจำนวนประชากร 140 หลังคาเรือน 395 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย ในอดีตหมู่บ้านปางโม่เป็นหมู่บ้านที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนที่มีความสำตัญทางระบบนิเวศน์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ชาวบ้านได้อาศัยผืนป่าบริเวณนี้ในการเก็บหาของป่า พืช ผัก สมุนไพร รวมไปถึงไม้ใช้สอยเพื่อการสร้างบ้านเรือน ที่สำคัญ แหล่งน้ำที่ไหลมาจากผืนป่าด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านยังเป็นแหล่งต้นน้ำ "ลำห้วยแม่ป๋อย" ด้วยก่อนจะไหลลงสู่ลำน้ำแม่ป๋าม ที่ชาวบ้านปางโม่และชุมชนใกล้เคียงใช้ประโยชน์ได้ทั้งปี ซึ่งลำน้ำเหล่านี้ล้วนเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของลำน้ำปิงด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ในปี 2523 ผืนป่าและลำห้วยที่อุดมสมบูรณ์ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อการปลูกป่าตามนโยบายรัฐบาลในสมัยนั้น ทำให้ลำห้วย ลำน้ำสาขาย่อยที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ อาทิ ลำห้วยแม่ป๋อย ลำน้ำแม่ป๋าม และลำน้ำแม่มาด ประสบปัญหาแห้งแล้งจนชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในการเกษตร การบริโภคในครัวเรือนได้ จนชาวบ้านบางส่วนต้องออกไปทำงานรับจ้างต่างถิ่น ต่อมาในปี 2526 ต้นสักที่ปลูกเริ่มเจริญเติบโต เพราะชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาทำให้สภาพป่าเริ่มฟื้น ลำห้วยต่างๆเริ่มมีน้ำคืนมาอีกครั้ง ชาวบ้านจึงเริ่มทำมาหากินได้ตามปกติ


 


ต่อมาในปี 2549 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) เข้ามาสัมปทานตัดไม้ในเขตหมู่บ้านปางโม่โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังสร้างความเสียหายแก่ชุมชนไม่ว่าจะเป็นถนนภายในหมู่บ้าน รถขนไม้ที่เข้า-ออกหมู่บ้าน ที่สำคัญการสัมปทานตัดไม้ของ ออป.ครั้งนี้ได้สร้างความวิตกแก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่งเพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาความแห้งแล้งเหมือนในอดีต ที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวชาวบ้านได้มีการประชุมไปแล้วหลายครั้ง มีมติร่วมกันที่จะคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวโดยขอให้ยุติการสัมปทานตัดไม้ครั้งนี้ พร้อมกับล่ารายชื่อชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยโดยมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านที่วิตกกังวลต่อปัญหาร่วมลงชื่อรวมทั้งหมด 292 คน


 


โดยชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ยุติการสัมปทานตัดไม้ในพื้นที่ดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อให้ผืนป่าเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร ไม้ใช้สอยของชุมชน และชุมชนจะช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ต่อไป


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


คนเชียงดาวโวย "ออป." โค่นป่าสักบริเวณต้นน้ำสาขาแม่น้ำปิงกว่า 2,000 ต้น, ประชาไท, 22 ก.พ. 50


คนเชียงดาวบุกศาลากลางยื่นหนังสือผู้ว่าฯ จี้ อ.อ.ป.หยุดตัดป่าสักต้นน้ำปิง, ประชาไท, 28 ก.พ. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net