Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงข่าวกรณีตำรวจตรวจค้นที่พักอาศัยแรงงานข้ามชาติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้ายึดทรัพย์สินที่จังหวัดเชียงใหม่


 


นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่ากรณีดังกล่าวสมควรต้องได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนโดยผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติที่มาจากรัฐฉานในจังหวัดเชียงใหม่ถี่ขึ้นและได้เข้ายึดทรัพย์สินอย่างผิดกฎหมายในช่วงเช้าวันที่ 21 ก.พ.


 


นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายตำรวจจังหวัดเชียงใหม่ 12 นาย ยังได้เข้าไปยังค่ายพักของแรงงานก่อสร้างภายในหมู่บ้านกาญจน์กนก ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ แรงงานผู้พักอาศัยกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการกุญแจรถจักรยานยนต์ 15 คันที่จอดบริเวณค่ายพัก หลังจากทราบเจ้าของรถแล้วก็ต้องการดูหนังสือทะเบียนรถ แต่มีจำนวน 2 คันที่ไม่สามารถนำหนังสือทะเบียนมาแสดงได้ในทันทีและติดต่อเจ้าของรถไม่ได้จึงถูกยึดไป อีกทั้งยึดเพิ่มไปอีกคันหนึ่งเพราะรถจักรยานยนต์ไม่มีกระจก


 


การตรวจค้นในลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อเวลา 5.00 น.ของวันที่ 7 ธ.ค. 50 ที่ อ. หางดง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 30 นาย จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ได้บุกเข้าไปค่ายพักคนงานก่อสร้าง


 


ผู้พักคนหนึ่งเล่าว่า "พวกเขาทุบตีหรือไม่ก็พังประตูเข้าไปแล้วปลุกคนงานทั้ง 70 คน รวมทั้งเด็กๆด้วย บุกเข้าไปที่นอนโดยไม่ได้ถอดรองเท้า แล้วขอตรวจค้นใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ หลังจากจับกุมผู้ไม่มีใบอนุญาตทำงานได้ 2 คน ก็ได้ยึดรถจักรยานยนต์ไปอีก 27 คัน โดยบอกว่าพวกเราไม่สามารถขี่จักรยานยนต์เหล่านั้นได้โดยถูกกฎหมาย"


 


จาย จาย (นามสมมติ) กล่าวว่า เราทำผิดอะไร มันจอดอยู่ในที่พักไม่ได้ขับอยู่บนถนน ทำไมจึงต้องยึดรถไปด้วย แต่มันคงเป็นช่องทางของตำรวจที่ใช้หารายได้ เพราะเมื่อรถจักรยานตร์ถูกยึดเขาจะปรับเจ้าของรถคนละ 1,000 บาท แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติปรับ 2,000 บาท ซึ่งต้องทำงานกันถึงครึ่งเดือน


 


นายสมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นที่พักอาศัยส่วนบุคคลซึ่งเป็นที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นของศาล แต่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าการที่ตำรวจบุกค้นหลายครั้งดังกล่าวในจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ได้นำหมายศาลมาด้วย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจที่จะยึดรถจักรยานยนต์ไปจากที่พักคนงาน หากเจ้าหน้าที่เชื่อว่ารถเหล่านั้นขโมยมาเจ้าหน้าที่ต้องมี "หลักฐานและเหตุผลอันเชื่อถือได้" นอกจากนี้ การปรับด้วยการอ้างว่าไม่มีใบขับขี่นั้น ตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจทีจะปรับผู้ที่ขับขี่โดยไม่มีใบขับขี่ได้ แต่ไม่มีอำนาจที่จะยึดรถ ทั้งในขณะที่มีการยึดรถไปนั้น คนงานก็ไม่ได้ขับขี่รถพวกนั้นแต่อย่างใด


 


การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายชัดเจนตามกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่งประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ในฐานะภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติ จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในจังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบและชี้แจงอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับกรณีเหล่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net