Skip to main content
sharethis

ใจ อึ๊งภากรณ์


คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


--------------------------------------------


ชื่อบทความเดิม :  ส.ว.- 6 ตุลา - ภาคใต้ และประชาธิปไตยไทย


 


 


 


 


ปัญหาใหญ่สำหรับประชาธิปไตยไทยในยุคนี้คือการที่เรามีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทยที่โกหกและไม่ปกป้องสิทธิมนุษยชน เรามีฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนรัฐประหาร ไม่สนใจแก้ปัญหาอาชญากรรมรัฐ และดูถูกคนจน ในขณะเดียวกันผู้ที่สำคัญที่สุดในการปกป้องและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย เครือข่ายภาคประชาชน ยังจมอยู่ในการเมือง "กบขอนาย" ไม่รู้จักอิสระทางการเมืองจากชนชั้นปกครองสักที ล่าสุด พวกคนในภาคประชาชนที่แสดงความจงรักภักดีต่อ คมช. โดยการเสนอตัวเป็น ส.ว.แต่งตั้ง ก็ถูกทหารและข้าราชการเตะหน้าโดยไม่เลือกเขาสักคนเข้าสภา


 


ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดมากมายเรื่องการโกหกของนายกฯ สมัคร และรัฐมนตรีเฉลิม เรื่อง 6 ตุลา ในกรณีหลังมีการพูดว่าตำรวจเมาปืนลั่น และผมได้ยินคนเดือนตุลาคนหนึ่งตอบรับว่า "ใช่  ถูกแล้ว แต่มันเกิดในผับเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ไม่รู้ลูกใคร แต่ตำรวจตายด้วย" แต่สิ่งที่เราต้องมาเน้นในเรื่องนี้คือ สมัครไม่ได้เพียงโกหกเรื่อง 6 ตุลา แต่ยังโกหกเรื่องตากใบด้วย สมัครให้สัมภาษณ์ Al Jazeera ว่า "พวกนั้นถือศีลอด อ่อนแอ เลยล้มทับกันเอง ไม่มีใครเจตนาฆ่า รัฐบาลผิดตรงไหน?" ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นคนแบบนี้ สภาพสิทธิมนุษยชนจะเป็นอย่างไร สงครามปราบยาเสพติดของรัฐมนตรีเฉลิมจะเป็นอย่างไร? ตำรวจทหารเมาทั่วประเทศจะทำปืนลั่นให้คนตายอีก 3000 ศพหรือ? แล้วมาเฟียค้ายาเสพติดใหญ่ๆ ที่เป็นนักการเมืองระดับสูงลอยนวลเหมือนเดิม? ถ้านายกและม.ท.1 สามารถโกหกได้ตามใจชอบ เขาจะโกหกประชาชนเรื่องอื่นอีกเมื่อไร?


 


พรรคประชาธิปัตย์ไม่จริงใจในการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาหรอก พรรคนี้สนับสนุนรัฐประหารของ คมช. ด้วยคำพูดและพฤติกรรม และ คมช. แต่งตั้งนายกฯ ที่เคยปราบประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คมช. ออกมาเซ็นเซอร์หนังสือ เว็บไซต์ และออกกฎหมายความมั่นคง ประชาธิปัตย์ก็เงียบ และพรรคนี้เคยตั้งรัฐบาลมาสามรอบหลัง 6 ตุลา ไม่เห็นสนใจจะชำระประวัติศาสตร์ 6  ตุลาเลย


 


รัฐมนตรีเฉลิมมองว่า 6 ตุลา เกิดนานแล้ว ลืมดีกว่า การลืมและไม่ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เราไม่มีมาตรฐานทางสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตรงกันข้ามเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เปิดช่องทางให้ชนชั้นปกครองฆ่าประชาชนเมื่อไรก็ได้ หลัง 6 ตุลา ก็มีพฤษภาทมิฬ มีสงครามยาเสพติด มีตากใบ มีการสูญหายของนักเคลื่อนไหว เช่นทนายสมชาย และรูปแบบแต่ละครั้งก็ซ้ำรอยอยู่เรื่อยๆ มีการฆ่า มีการถอดเสื้อมัดมือ มีการโกหกแก้ตัวโดยรัฐ ฯลฯ การโกหกของสมัครเรื่องตากใบเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมอาชญากรรมรัฐแบบนี้ แต่ประชาธิปัตย์ก็เงียบ พวกที่อยู่ข้างฝ่าย คมช.-พันธมิตรประชาชนเพื่อ... ที่ต้องการตีพรรคพลังประชาชน ก็ไม่สนใจเช่นกัน


 


เมื่อวานนี้ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เชิญผมไปออกอากาศเรื่อง 6 ตุลา ที่ ASTV ธรรมดาผมจะไม่ร่วมมือกับ ASTV แต่ผมไปเพราะอาจารย์เจิมศักดิ์ชวน เขาพึ่งถูกปิดรายการวิทยุเรื่อง 6 ตุลา และเคยมีจุดยืนที่ดีเรื่องภาคใต้ทั้งๆ ที่ร่วมมือกับ คมช. ในภายหลัง


 


ในรายการ ASTV สด ผมพยายามทำตามคำแนะนำของ ธงชัย วินิจจะกูล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง 6 ตุลา ผมพูดว่าสมัครเป็นคนปลุกระดมก็จริง แต่ไม่ใช่ตัวกลางที่มีอำนาจสั่งการ ผมพูดว่าชนชั้นปกครองไทยจากเบื้องบนสุด รวมถึงผู้มีอำนาจอื่น มีบทบาทในการก่อเหตุการณ์นองเลือด พอผมพูดเสร็จ ในช่วงพักครึ่งเวลา โทรศัพท์มือถือของเจิมศักดิ์ก็ดัง "กริ๊งๆ"... เจิมศักดิ์รับโทรศัพท์... "ครับคุณสนธิ" และผมก็ได้ยินคุณสนธิเอ่ยชื่อผมและพูดว่าคำพูดผมอาจมีปัญหา


 


ผมไม่ได้เกิดเมื่อวาน ผมทราบดีว่าในระบบทุนนิยมชนชั้นปกครองคุมสื่อผ่านรัฐร่วมกับนายทุนที่คุมสื่อเอกชน แต่ผมไม่เคยคิดว่าจะโชคดีพอที่จะได้เห็นและได้ยิน ต่อหน้าต่อตา ภาพของเจ้าของสื่อเอกชนโทรศัพท์มาเซ็นเซอร์สื่อขณะกำลังออกอากาศ


 


ผมจำได้ว่าพวกพันธมิตรฯ เคยให้เหตุผลหนึ่งว่าเราควรร่วมมือกับสนธิ ลิ้มทองกุล "เพราะเขามีสื่อ" ใช่เขามีสื่อ เขาเป็นนายทุน เขาเป็นเจ้าของสื่อ และเขาพร้อมจะเซ็นเซอร์และควบคุมสื่อไม่ให้มีการพูดกันถึงความจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา ขณะที่พวกพันธมิตรฯ ก็คิดว่าสามารถใช้สื่อของสนธิเพื่อด่าทักษิณที่ไปคุมสื่อ????!!!!


 


ในเรื่อง 6 ตุลา ผมคิดว่า สมศักดิ์ และธงชัย คงมองว่ากษัตริย์เป็นตัวกลาง (ถ้าผมตีความผิดก็ขออภัย) ความคิดนี้มีเหตุผล แต่ผมไม่เห็นด้วยเพราะผมเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์ไปแล้ว อย่างไรก็ตามเราคงต้องแลกเปลี่ยนกันต่อไปเรื่องนี้


 


หลังรัฐประหาร 19 กันยาภาคประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมออกมาเดินขบวนต้าน คมช. ในงานสมัชชาสังคมไทย มีการห้ามลูกน้องด้วย มีการตั้งความหวังกับ สนช. มีการร่วมมือในการร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ มีการด่าพวกเราว่า "ทารกไร้เดียงสา ยึดติดอุดมการณ์มากไป ไม่มีใครทำงานด้วย...ฯลฯ" ผมจำได้ว่าไปฟังวิทยากรรับเชิญจาก คมช. ในเวทีพิจารณารัฐธรรมนูญใหม่ของ กป.อพช. วิทยากรคนนั้นพูดว่าต้องรับรัฐธรรมนูญนี้เพราะจะเพิ่มสิทธิเสรีภาพ จะทำให้คนของภาคประชาชนและเอ็นจีโอได้มีโอกาสถูกแต่งตั้งเป็น ส.ว. "เป็นครั้งแรก" โดยที่เขาคนนั้นละเลยที่จะพูดว่า ส.ว. เอ็นจีโอเคยชนะการเลือกตั้งในอดีตและคนหนึ่งเป็นประธาน กป.อพช. ตอนนั้นด้วย!!.... ภาคประชาชนบางส่วนเลยชวนให้เรารับรัฐธรรมนูญทหาร ต่อมาก็เสนอตัวเป็น ส.ว. แต่งตั้ง... ที่เหลือเป็นประวัติศาสตร์ที่ท่านรู้แล้ว ประเด็นคือจะมีการทบทวนเรียนรู้ไหม?


 


ในวันที่ 2 มีนาคมผมจะไปเลือกคุณรสนา และหวังว่าเขาจะได้เป็น ส.ว. ของภาคประชาชนในกรุงเทพฯ เพราะอย่างน้อยสุดเขามีบทบาทเด่นในการต่อต้านการแปรรูป กฟผ. และการเปิดโปงการโกงกินที่กระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าใช้ปัญญาคิด คุณรสนามีทางชนะน้อย เพราะฝ่ายเรายังเป็นเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งไม่สูญเปล่า ต้องทำ แต่ผมผิดหวังที่คุณรสนาไม่ออกไปหาภาคประชาชนมากกว่านี้ ไม่ออกไปคุยกับทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย ไม่ขอบริจาคคนละบาทสองบาทเพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ ไม่ขอความช่วยเหลือในการแจกใบปลิวและติดโปสเตอร์ และไม่ใช้โอกาสนี้ในการเสนอภาพกว้างของการปฏิรูปการเมืองไทยในเวทีต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกตลาด สิทธิเพศ ปัญหาภาคใต้ สิทธิแรงงาน ฯลฯ เพราะนั่นคือแนวทางที่จะไปสู่การเมืองอิสระของภาคประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net