Skip to main content
sharethis


16 กุมภาพันธ์ 2551 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดทำข้อเสนอทางนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังจัดทำนโยบายเพื่อเตรียมแถลงต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 18 ก.พ.นี้ โดยข้อเสนอมีด้วยกันทั้งสิ้น 7 ข้อ คือ ชำระประวัติศาสตร์กรณี 6 ตุลา 2519 ทบทวนนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด เยียวยาญาติวีรชนพฤษภา 2535 ยกเลิก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ เร่งแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นรัฐสวัสดิการแทนนโยบายประชานิยม สนับสนุนทีวีสาธารณะและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน ทั้งนี้มีรายละเอียดข้อเสนอ ดังนี้

 


1.     ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ตั้งคณะกรรมการอิสระแห่งชาติชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ประกอบด้วยนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน รวมถึงวีรชนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ผู้สูญเสียชีวิต ผู้สูญหายในเหตุการณ์ เพื่อชำระประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลของสังคมไทย เยียวยาประวัติศาสตร์ ผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมาตรฐานและความจริงจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ในสังคมไทย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองเช่นนั้นอีก ตามที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากซึ่งประกอบไปด้วยนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน เพื่อให้สังคมไทยต่อไป นายกรัฐมนตรี รัฐบาล สังคมและนักเรียน นิสิต นักศึกษา พูดข้อมูลที่ตรงกัน


 


2.     ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทบทวนการเดินหน้านโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดต้นฉบับเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเกิดนโยบายการฆ่าตัดตอนตามมา ซึ่ง คตน. ได้ประเมินว่า ในจำนวน ๒,๕๐๐ คน ที่เสียชีวิตนั้น มีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดถึง ๑,๔๐๐ คน ที่ต้องเป็นเหยื่อของนโยบายดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลต้องสืบสวนสอบสวนหาคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้ เพื่อเยียวยาเหยื่อผู้เสียหาย และสร้างบรรทัดฐานในการดำเนินนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีก  รวมทั้งขอให้รัฐบาล เดินหน้าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ ทั้งนี้ กรณี "แก๊ง ตชด." เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดอันหนึ่งผลที่เกิดจากนโยบายปราบปรามยาเสพย์ติดสมัยรัฐบาลทักษิณ 


 


3.     ขอให้รัฐบาล ช่วยเหลือเยียวยาญาติวีรชนพฤษภา 2535 โดยการเร่งรัดสอบสวนหาศพวีรชนผู้สูญหายในเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 30 ราย ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในคณะทำงานคนหายของสหประชาชาติ  ทั้งนี้ โดยหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้นไม่นาน นายเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนเองรู้ที่ซ่อนศพ ดังนั้นเมื่อมาเป็นรัฐบาลควรเปิดเผยความจริงเพื่อเยียวยาจิตใจครอบครัววีรชนผู้สูญหายโดยเร่งด่วน


 


4.     ขอให้รัฐบาล ยกเลิก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ โดยเร็ว เพราะเป็นกฏหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดและขัดกับหลักนิติรัฐของไทย โดยให้มีการสรุปทบทวนบทเรียนการใช้กฏหมายด้านความมั่นคง เช่น พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก เป็นต้น เพื่อแสวงหามาตรการด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิพลเมืองด้วย  รวมทั้งให้มีการปฏิรูปกองทัพบก เพื่อสร้างสถาบันกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมโดยวางรากฐานสิทธิมนุษยชนและบทบาทหน้าที่เพื่อยุติการแทรกแซงทางการเมืองดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา


 


5.     ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติโดยนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม


 


6.     ขอให้รัฐบาลบริหารประเทศโดยเน้นรัฐสวัสดิการแทนนโยบายประชานิยมแบบการสร้างหนี้ผูกพัน โดยเฉพาะ การบริการด้านสาธารณะสุข การจัดการศึกษาเป็นบริการสาธารณะถึงขั้นปริญญาตรี และการประกันการว่างงานรวมทั้งสวัสดิการด้านแรงงานที่ดี  โดยให้มีการปฏิรูประบบภาษี เพื่อเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก อัตราก้าวหน้า เพื่อเยียวยาช่องว่างความเหลื่อมล้ำและความยากจนในสังคมไทย



 

7.     ขอให้รัฐบาลสนับสนุนทีวีสาธารณะและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ยุติการการแทรกแซงสื่อดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับรายการนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่วิพากษ์นายกรัฐมนตรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net