Skip to main content
sharethis

อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)

Shukur2003@yahoo.co.uk


  


จากการที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการซ้อมทรมานและยินยอมให้มีการตรวจสอบการร้องเรียน"

และท่ามกลางการออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมของ นายอมีนูดีน กะจิ ครูสอนศาสนาโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา ที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายขณะถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่หน่วยเฉพาะกิจ
43 (ฉก.43) อ.นาทวี จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น หากเหตุการณ์เหล่านี้เป็นจริงตามที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์และนายอมีนูดีน กะจิ กล่าวอ้าง  แน่นอน เป็นการแสดงถึงว่า หน่วยงานความมั่นคงของรัฐระดับผู้ใหญ่หรือระดับนโยบายยังไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานของลูกน้องระดับล่างบางคนได้จริง ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ใหญ่เหล่านี้ต่างยืนยันกับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดว่า จะใช้หลักนิติธรรมในกระบวนการสอบสวนทุกขั้นตอน และท้ายสุดเมื่อลูกน้องปฏิบัติงานผิดพลาดไปแล้วผู้ใหญ่ที่ว่านั้นหลายคน (ไม่ทั้งหมด) จะปัดความรับผิดชอบ  จะบอกว่าตัวเองไม่รู้  ไม่ทราบ และลูกน้องทำกันเอง

ตลอดระยะเวลา หนึ่งปีที่ผ่านมาในการดำเนินจับกุมและสอบสวนการต่อบุคคลผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบนั้นขอเป็นกำลังใจและเห็นใจต่อเจ้าหน้าที่ถึงแม้หากดูสถิติผู้ถูกจับกุมจะเพิ่มขึ้นมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนกังวลมาก คือรัฐสามารถยึดพื้นที่ได้แต่ไม่สามารถยึดหัวใจคนในพื้นที่ได้  ถึงแม้หลายต่อหลายคนเช่น พ.อ.ประยงค์  กล้าหาญจะเข้าใจ  เข้าถึง และร่วมทำงานมวลชนกับคนในพื้นที่ตลอด แต่ถ้ามีบางคนไม่ทำตามขั้นตอน  และไม่ใช้หลักนิติธรรมในการดำเนินจับกุมและสอบสวนการต่อบุคคลผู้ต้องสงสัย ดั่งที่ท่านเคยกล่าวว่า (หลังเหตุการณ์นายอมีนูดีน กะจิถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย)


 


"เมื่อไปถึงผมเห็นสภาพของนายอมีนูดีนแล้วรู้สึกเสียใจมากที่เจ้าหน้าที่ไปซ้อมเขา ผมจึงบันทึกปากคำเหตุการณ์จากเขา แล้วแจ้งให้ญาติมารับ เมื่อญาติมาเห็นสภาพอย่างนั้น แน่นอนต้องไม่พอใจ ผมจึงบอกว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยจะตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวคนทำผิดมาลงโทษ ส่วนเขาจะแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายก็ได้ โดยผมจะส่งนายทหารพระธรรมนูญติดตามการดำเนินคดี เพราะกลัวจะมีการช่วยเหลือคนทำผิดไม่ให้ถูกลงโทษ.....ผมอุตสาห์ทำงานมวลชนมาตลอดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 มาอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะเราทำตามข้อตกลงที่ได้ตกลงไว้กับสมาคมฯ ตลอด เมื่อเกิดเหตอย่างนี้ขึ้น ชาวบ้านก็จะเสียความรู้สึก หากเจ้าหน้าที่รัฐว่าไม่ทำตามสัญญา แล้วจะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านได้อย่างไร" (โปรดดู ประชาไท   วันที่ : 8/2/2551


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=11121&Key=HilightNews)

ผู้เขียนในฐานะมุสลิมคนหนึ่งที่รักในความยุติธรรมเพราะพระเจ้าเองได้โองการความว่า
"
แท้จริงอัลลอฮฺทรงบัญชาในเรื่องความยุติธรรม และความดีงาม"  (ซูเราะฮฺ อันนะหลุ  : โองการที่90)  และเข้าใจความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานและไม่เคยเห็นด้วยกับผู้ก่อการที่ใช้หลักศาสนานำมาทำร้ายผู้คนและสิ่งสาธารณประโยชน์ส่วนรวม

เพราะพระองค์ได้ดำรัสความว่า
"และท่านจงอย่าแสวงหาความหายนะบนพื้นพิภพนี้เพราะแท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" (ซูเราะฮฺอัลกุรอานบทอัลเกาะศอด. โองการที่ 77)


พระองค์ได้บัญญัติอีกความว่า "จงกล่าวเถิด (โอ้ศาสดามุฮัมมัด) ว่า แท้จริงสิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามสิ่งชั่วช้าและน่ารังเกียจต่างๆ ทั้งที่เปิดเผยและที่ลับ และพระองค์ทรงห้ามกระทำบาปและการข่มเหงรังแกผู้อื่นโดยความอยุติธรรม"(อัลกุรอานบทอัลอะรอฟ โองการที่ 33)

ที่สำคัญพระองค์ห้ามอย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่สร้างความหายนะและกำหนดบทลงโทษหนักในนรก ดั่งที่พระองค์ได้ดำรัสความว่า "และเมื่อเขาหันหลังไปแล้ว เขาพยายามก่อความเสียหายบนพื้นพิภพ ด้วยการทำลายพืชผลการเกษตรและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ และอัลลอฮฺทรงรังเกียจการก่อความเสียหาย
"


 


ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมทั้งสองฝ่ายและ เพื่อให้การดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ผู้เขียนขอเสนอการปฏิบัติการดำเนินจับกุมและสอบสวนการต่อบุคคลผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ดังนี้ (ความเป็นจริงข้อเสนอเหล่านี้บางข้อหน่วยเฉพาะกิจที่ ๔ เคยทำร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา)


 


ข้อ ๑  บุคคลใดต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หรือผู้นั้นได้หลบหนีเข้ามาพักในพื้นที่รับผิดชอบ  แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจะดำเนินการออกหมายจับตามกระบวนการยุติธรรมได้  ให้ดำเนินการดังนี้


           


๑.๑ ให้แจ้งข้อมูลบุคคล  ภูมิลำเนาและสถานที่พักอาศัย    ปัจจุบัน  พร้อมรายละเอียดพฤติกรรมที่น่าสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ  ไปยังหน่วยเฉพาะกิจที่รับผิดชอบ โดยเครื่องมือสื่อสารที่รวดเร็วที่สุด


 


๑.๒ หน่วยเฉพาะกิจที่รับผิดชอบดังกล่าว  จะพิจารณาข้อมูลในข้อ ๑.๑ ถ้าเป็นการสมควรและมีข้อเท็จจริง และควร (จะต้อง) ออกหนังสือ    ฉบับ  พร้อมกันคือ


           


๑.๑.๑ หนังสือเชิญตัวบุคคลต้องสงสัยให้ปากคำ


๑.๑.๒ หนังสือขอตรวจค้นบ้านเรือน  อาคารสถานที่  หรือที่พักอาศัยต่างๆ 


๑.๑.๓ เมื่อหน่วยได้รับหนังสือตามข้อ ๑.๑.๑ และ ๑.๑.๒ แล้ว  ถ้าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน  ซึ่งมีผลต่อการระวังปราบปราม  หรือการรักษาความสงบสุข  ให้ใช้การเข้าปิดล้อมและตรวจค้น  โดยมีเอกสารในข้อ ๑.๑.๒ เป็นหลักฐานนำ  เพื่อค้นหาหลักฐานหรือสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ  ถ้าพบตัวบุคคลผู้ต้องสงสัย  ให้ยื่นเอกสารข้อ ๑.๑.๑  ต่อบุคคลนั้น  และแจ้งต่อผู้นำหมู่บ้านและครอบครัว  ญาติพี่น้องของบุคคลผู้นั้น  โดยให้ผู้นำหมู่บ้านหรือญาติ  ลงนามรับรองและรับทราบเชิญตัวไป  และอื่นๆ  เว้นตรวจพบสิ่งผิดกฎหมาย  ให้ดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้ต้องสงสัย  ไม่มีพฤติกรรมที่ส่อว่าจะหลบหนี  หรืออาจกระทำการใดๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในเวลาอันใกล้  ให้ยื่นหนังสือเชิญตัว  ตามข้อ ๑.๑.๑   ต่อผู้นำหมู่บ้าน  ให้ผู้นำหมู่บ้าน  นำตัวบุคคล  ผู้ถูกเชิญตัวไปพบผู้บังคับหน่วยทหาร  ,  ตำรวจ  ตั้งแต่ระดับผู้บังคับกองพันหรือเทียบเท่าขึ้นไป ( ระบุในเอกสาร ) แต่รัฐควรใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการเข้าปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวประชาชนในบริเวณศาสนสถาน เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขมิให้ประชาชนมีความรู้สึกถึงการถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี และการลบหลู่ทางศาสนา


           


ข้อ ๒ บุคคลใดมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  หรือหมายจับตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  ให้ปฏิบัติดังนี้


 


๒.๑ เจ้าหน้าที่ตำรวจ  หรือฝ่ายปกครอง  สามารถดำเนินการจับกุมได้เอง  ตามอำนาจหน้าที่


 


๒.๒ ในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองมาขอความร่วมมือให้ช่วย  หรือขอเข้าร่วมจับกุม  โดยเจาหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองนั้น  ได้แสดงหมายจับ  ที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา    หรือกฎหมายอื่น  จะเป็นฉบับจริงหรือสำเนาก็ได้  ให้ทุกหน่วยดำเนินการช่วยเหลือเต็มขีดความสามารถ  โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร  หรือตำรวจ  ที่เป็นหน่วยขึ้นตรงหรือหน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ  หน่วยเฉพาะกิจที่รับผิดชอบ  ที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน


 


ข้อ ๓ การดำเนินการในข้อ ๑ และข้อ ๒ ถ้าเป็นพื้นที่แย่งชิงมวลชน  หรือพื้นที่ที่ฝ่ายตรงข้ามมีอิทธิพลครอบงำ  หรือชี้นำประชาชนในหมู่บ้านได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ  ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง  การดำเนินการใดๆ  ต้องอธิบายและชี้แจงประชาชนได้  ไม่ทำลาย หรือย่ำยี ประเพณี  วัฒนธรรมและกระบวนการยุติธรรม  เคารพสิทธิของประชาชน  และในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ต้องมีการปฏิบัติร่วมทุกฝ่าย  คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นของอำเภอท้องที่, เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอ  หรือตำบลที่รับผิดชอบท้องที่  ร่วมด้วยทุกครั้ง  เว้นกรณีข้อ ๑.๒ เมื่อต้องการเพียงเชิญแค่ตัวบุคคลมาพบเท่านั้น


           


ข้อ ๔  เอกสารหลักฐานต่อไปนี้  คือ หมายจับ  ที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา    และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามข้อ ๒.๒  หรือ หนังสือเชิญตัวบุคคลผู้ต้องสงสัย   ตามข้อ ๑.๑.๑ หรือหนังสือขอเข้าตรวจค้น  อาคาร  สถานที่  และที่พักอาศัยต่างๆที่ออกโดย  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่รับผิดชอบ ซึ่งอาศัยอำอาจตาม  พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗  ดังนั้นเป็นเอกสารสำคัญ  ที่จะต้องนำไปใช้ชี้แจงแสดงต่อประชาชน


           


ข้อ ๕ การปฏิบัติการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน  ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจที่รับผิชอบ ทราบทุกครั้ง  และเจ้าหน้าที่ทุกนาย  ต้องปฏิบัติตามต่อกลุ่มแนวร่วมผู้หลงผิดหรือผู้กระทำผิดอย่างเพื่อนร่วมชาติ


             


ข้อ ๖ ผู้ถูกควบคุมตัวควรมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ หรือญาติที่ผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจแม้รัฐจะได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษแล้วก็ตาม เพื่อแสดงความโปร่งใสในการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวว่าบุคคลคนเหล่านั้นจะไม่ถูกซ้อม ทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ


             


ข้อ ๗ ในช่วงที่ผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างการซักถามของกฎหมายพิเศษ หากพบว่าผู้ถูกควบคุมตัวคนใดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่จะต้องปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยทันที


              


ข้อ ๘ รัฐและหน่วยงานรับผิดชอบทุกระดับชั้นต้อง ยึดหลักนิติธรรมและสันติวิธีเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัด และควรให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความหวาดระแวงและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนให้กลับคืนมา


             


ข้อ   หากผู้รับผิดชอบกระทำผิดต่อผู้ต้องสงสัยให้หน่วยงานผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของผู้กระทำผิด สืบสวน สอบสวนเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กำหนดวันเสร็จสิ้นในการสอบเพื่อความมั่นใจของประชาชนเช่น เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 วัน


             


ข้อ 10.  เมื่อผลสอบสวนว่าผู้ใดกระทำความผิดทางให้ลงโทษทางวินัยอาญาและและรัฐต้องรีบเยียวยาต่อผู้เสียกายอย่างเร่งด่วน


 


ที่สำคัญหากเป็นไปได้ข้อเสนอนี้หากรัฐรับได้ ควรให้สื่อมวลชนเป็นสักขีพยานทำข่าว


 


ผู้เขียนหวังว่า ข้อเสนอทั้ง10 ข้อ จะเกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่ายและ ในการดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม


และจะเป็นไปตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2550 เป็นต้นมา ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวได้ระบุวิธีการดำเนินการและช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายบางประการซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net