รายงาน : เมื่อผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก ในสงครามชิงป่าดงใหญ่ที่อีสานใต้

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ

ปฐมบทแห่งปัญหา  

ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ มีเนื้อที่ 631,250 ไร่  เป็นพื้นที่รอยต่อของ 3 จังหวัด  คือ จังหวัดสระแก้ว  จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์และเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญสองสาย คือ ลำนางรอง และลำปลายมาศ ปี พ.ศ. 2509 กรมป่าไม้เริ่มอนุญาตให้เอกชนเข้าสัมปทานตัดไม้  ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ได้สร้างฐานที่มั่นในเขตป่าดงใหญ่ ในการดำเนินนโยบายปราบปราม พคท. รัฐได้ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าทำกินในพื้นที่ป่า ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และชาวบ้านจากต่างถิ่น เพื่อสร้างแนวปราการต่อต้านคอมมิวนิสต์, ให้สัมปทานตัดไม้, สร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายละหานทราย - ตาพระยา, สร้างเขื่อน จึงมีชาวบ้านเข้าบุกเบิกพื้นที่ป่าและจับจองที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยที่ดินถือครองครอบครัวละประมาณ 50 - 300 ไร่

ปี พ.ศ. 2520 - 2525 ชาวบ้านที่อพยพมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐจึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ตามนโยบายพัฒนาพื้นที่ความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา มีกองทัพภาค 2, กอ.รมน. และกรมป่าไม้ รับผิดชอบดำเนินการ โดยจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านครัวเรือนละ 16 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ที่ทำกิน 15 ไร่ และได้ให้หนังสือแสดงสิทธิทำกิน (สทก.) พื้นที่ที่เคยบุกเบิกเกินกว่านั้นก็จำต้องปล่อยทิ้งร้างไว้ ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้

 

จากอำนาจรัฐ สู่อำนาจทุน

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ธุรกิจการปลูกไม้เศรษฐกิจก็คืบคลานเข้ามา ปี พ.ศ.2526 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้เข้าปลูกยูคาลิปตัสในพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยบุกเบิกทำกินไว้  จากนั้นไม่นานบริษัทเอกชนก็ได้เข้ามารับช่วงเช่าต่อในปี พ.ศ. 2528

 

ปัจจุบันการปลูกสร้างสวนป่าในพื้นที่อำเภอโนนดินแดงมีทั้งสิ้น จำนวน 9 แปลง เนื้อที่ 23,746 ไร่ บริษัทที่เข้าทำประโยชน์ 6 บริษัท อย่างไรก็ตาม ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเนื้อที่ที่มีการปลูกยูคาลิปตัสคาดว่าน่าจะมากถึง 60,000 - 70,000 ไร่ ดูได้จากพื้นที่ป่าธรรมชาติที่อยู่ท่ามกลางสวนยูคาลิปตัสในอดีตได้ลดจำนวนลง

 

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ากลุ่มบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์จากการสัมปทานตัดไม้ และการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าดงใหญ่เพื่อปลูกยูคาลิปตัส เป็นกลุ่มทุนการเมืองใหญ่ ซึ่งมีข้าราชการระดับท้องถิ่นคอยอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าดงใหญ่ เช่น การเรียกเก็บใบเสียภาษีบำรุงท้องที่คืนจากราษฎรในปี พ.ศ. 2537 เพื่อทำลายหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ของชาวบ้าน เป็นต้น

 

เมื่อ อบต.เข้าข้างนายทุน

ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 6,732 ไร่ หมดอายุการอนุญาตในเดือนมิถุนายน 2546 องค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรองและโนนดินแดงจึงได้พิจารณาต่ออายุสัญญาให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในป่าดงใหญ่ตามที่เอกชนยื่นขอมา ชาวบ้านได้ดำเนินการคัดค้าน และเรียกร้องให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและที่ดินทำกินไม่เพียงพอในพื้นที่ตำบลลำนางรองและโนนดินแดง ซึ่งมีมากกว่า 1,800 ราย

 

เมื่อไม่มีการยกเลิกมติจาก อบต. ชาวบ้านจึงได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  พร้อมทั้งร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

ต่อมา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบพื้นที่ที่หมดอายุสัญญาเช่าและลงทะเบียนการจัดสรรที่ดินในพื้นที่สวนป่า

สวนป่า : ทำลายสิ่งแวดล้อมและปล้นชิงทรัพยากร

ผลการตรวจสอบพื้นที่พบว่า พื้นที่สวนป่าแปลงหนึ่ง (เนื้อที่ 2,830 ไร่) มีลำห้วยต้นน้ำลำนางรอง 2 สาย ไหลผ่าน  บริษัทเอกชนได้ทำการปรับและถมพื้นที่ จนทำให้ลำห้วยมีลักษณะแคบ และตื้นเขิน รวมทั้งทำลายแหล่งอาหารสัตว์ป่า(ถมโป่งดิน) ซึ่งอาศัยอยู่อย่างชุกชุมในพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ล้อมรอบแปลงสวนป่า  นอกจากนี้ ยังได้มีการขุดร่องเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน (คล้ายสวนผลไม้) ขนาดร่องลึกตั้งแต่ 30 - 300  เซนติเมตร กว้างตั้งแต่ 150 - 320 เซนติเมตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางเดินหากินของฝูงช้างป่า ทำให้ช้างที่เดินหากินตกลงไปในร่องน้ำที่มีขนาดลึกมาก

 

ขณะที่อีกแปลง ซึ่งมีเนื้อที่ในการอนุญาต  3,902 ไร่ แต่ทำประโยชน์เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต 1,186.3 ไร่  พื้นที่บางส่วนมีกลุ่มนายทุน นักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงชาวบ้านเข้าไปซื้อที่ดินจากบริษัท  อีกทั้งพื้นที่รอบแนวเขตปลูกสร้างสวนป่า ยังมีการขุดหินลูกรังออกไปจนเป็นบ่อขนาดใหญ่จำนวนหลายบ่อ

 

นอกเหนือจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นในการดูแลสวนป่าทั้ง 2 แปลง  ส่งผลให้มีการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำธรรมชาติ  ซึ่งมีผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคของชุมชนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงสัตว์ป่าที่หากินในบริเวณดังกล่าว

 

หลังการตรวจสอบพื้นที่ คณะทำงานจึงได้มีมติในวันที่ 29 กันยายน 2547 ไม่ให้มีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ให้เอกชน ทั้งที่หมดอายุการอนุญาตแล้ว และที่กำลังจะหมดในปี 2552 และ 2560, ให้ระงับการนำอาสิน(สินทรัพย์และผลผลิตทุกอย่าง)ออกจากสวนป่า ในขณะที่ ยังไม่มติในเรื่องพื้นที่ที่หมดสัญญา โดยกรมป่าไม้ต้องการเข้าฟื้นฟูสภาพป่า  แต่ชาวบ้านยืนยันข้อเรียกร้องให้จัดสรรแก่ราษฎร ในแปลง 3,902 ไร่ ส่วนแปลง 2,830 ไร่ ซึ่งติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้ฟื้นฟูสภาพป่า โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

อย่างไรก็ดีหลังการมีมติของคณะทำงาน  เอกชนก็ยังคงเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาต เช่น  ฉีดพ่นสารเคมี, กรีดยางพารา, เก็บผลไม้ เป็นต้น มีการนำไม้ออกจากพื้นที่  โดยกลไกรัฐในระดับต่างๆ ไม่มีความจริงใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหาและมีท่าทีเข้าข้างนายทุน หรือแม้แต่การดำเนินงานของคณะทำงานชุดดังกล่าว นอกจากมีความล่าช้าแล้ว ยังปิดบังรายละเอียดผลการตรวจสอบพื้นที่ที่พบความไม่ชอบมาพากล รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่ดินทำกิน

วงเวียนปัญหา : การต่อสู้ที่ไม่คืบหน้าและไม่มีวันสิ้นสุด

ในขณะที่ ข้อพิพาทเดิมยังไม่ยุติ  ชาวบ้านที่เดือดร้อนยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน  มีแต่การเข้าไปจับจองทำกินโดยชาวบ้านทั้งในและนอกอำเภอโนนดินแดง  ในปี 2552 พื้นที่ป่าดงใหญ่ที่เอกชนเข้าปลูกสวนป่าจะหมดอายุการอนุญาตอีก 6 แปลง เนื้อที่ 16,045 ไร่ ทางบริษัทเอกชนจึงเริ่มยื่นหนังสือขอความเห็นชอบต่ออายุสัญญาต่อ อบต.ลำนางรอง  โดยใช้วิธียื่นขอแปลงละไม่เกิน 2,000 ไร่ เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการขอความเห็นชอบจาก ครม.

ในการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำกินอำเภอโนนดินแดง จำนวนกว่า 800 คน ก็ได้ชุมนุมเพื่อคัดค้านการต่อสัญญาเช่า และเรียกร้องให้ อบต.มีมติเห็นชอบให้นำพื้นที่ที่หมดสัญญาเช่ามาจัดสรรให้กับประชาชนที่เดือดร้อนในอำเภอโนนดินแดง โดยการที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ สปก.ทำการจัดสรร

ท่ามกลางข่าวลือที่สะพัดว่า "มีสมาชิก อบต. กว่า 10  คน รับเงินรายละ 100,000 บาท จากบริษัทเอกชนที่ขอเช่าพื้นที่เพื่อให้ยกมือเห็นชอบ" ที่ประชุม อบต.ซึ่งเผชิญกับการชุมนุมคัดค้านของชาวบ้านก็มีมติเลื่อนการพิจารณาออกไป ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ก็ยืนยันให้นำพื้นที่มาฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่า(1)

รัฐ นายทุน ชาวบ้าน ความต้องการที่ไม่บรรจบกัน

ต่อกรณีปัญหาดังที่กล่าวมา  เห็นได้ว่ามีผู้เกี่ยวข้องสามฝ่ายที่แสดงความต้องการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ที่หมดอายุการอนุญาตลง กล่าวคือ

กลุ่มทุน ซึ่งขอต่อสัญญาการเข้าทำประโยชน์  ที่ผ่านมากลุ่มทุนได้ผูกขาดการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐเป็นเวลากว่า 20 ปี โดย จ่ายค่าเช่าเพียงแค่ไร่ละ 10 บาท/ปี ในขณะที่มีการใช้ประโยชน์เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตทั้งในเชิงพื้นที่และวัตถุประสงค์ ปลูกสร้างสวนป่าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสวนทางกับข้ออ้างในการเพิ่มพื้นที่ป่า  ทั้งนี้ ประสบการณ์ในหลายพื้นที่ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าการทำสวนป่าลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบนิเวศน์

กรมป่าไม้ ยืนยันในหลักการว่าจะต้องนำพื้นที่ที่หมดสัญญาการทำประโยชน์ มาฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งสอดคล้องกับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ และพระราชเสาวนีย์ของพระราชินีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550  แต่ก็ยังคงมีคำถามว่า กรมป่าไม้มีศักยภาพและความจริงใจเพียงไหน งบประมาณและกำลังคนที่จะต้องใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า 23,746 ไร่ จะต้องมากมายเพียงใด  โดยเฉพาะการฟื้นฟูสภาพป่าโดยมองคนกับป่าแยกออกจากกัน บนความขัดแย้งกับผลประโยชน์เรื่องที่ทำกินกับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ซึ่งไม่อาจหวังความร่วมมือของประชาชนในการฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าได้  ความหวังที่จะเห็นป่าที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเช่นในอดีตอาจเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง  หรือว่าวาระที่ซ่อนเร้นของกรมป่าไม้อาจเป็นเรื่องของงบประมาณที่ต้องการเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

และชาวบ้าน ซึ่งในอดีตพวกเขาคือกองหน้าของรัฐในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันพวกเขากลายเป็นผู้บุกรุกป่า ชาวบ้านได้คัดค้านการต่อสัญญาเช่าของเอกชนและเรียกร้องให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรแก่ผู้ที่เดือดร้อนเรื่องที่ทำกินในเขตอำเภอโนนดินแดง อันมีจำนวนกว่า 4,000 รายในปัจจุบัน ข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ลงมาตรวจสอบสภาพพื้นที่เมื่อปี 2546 แต่ได้รับการเพิกเฉยตลอดมา

สภาพการณ์ที่ความต้องการของทั้ง 3 ฝ่ายไม่สามารถบรรจบกันได้เช่นนี้ หากผู้มีอำนาจรับผิดชอบในทุกระดับ ไล่ตั้งแต่ อบต.ไปจนถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งได้อานิสงส์ในการเข้ามาเป็นรัฐบาลจากนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลไทยรักไทย  รวมถึงสาธารณชนโดยรวม  พิจารณาชั่งน้ำหนักด้วยใจที่เป็นธรรม และเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะทำให้เกษตรกรกว่า 4,000 ราย มีที่ดินทำกิน เป็นกำลังในการสร้างฐานเศรษฐกิจของประเทศ และดูแลรักษาป่าดงใหญ่ที่เหลืออยู่ให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป  

แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ปัญหาที่คุกรุ่นนี้ก็มีแต่จะปะทุเป็นความรุนแรงออกมา และแน่นอน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นประชาชนที่หลังพิงฝา ไม่มีทั้งทุนและอำนาจรัฐอยู่ในมือ

 

(1)    อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง อีสานใต้ระอุ!! ศึก 3 เส้ารับรัฐบาลใหม่ รัฐต้องการป่า นายทุนต้องการยูคาฯ คนจนต้องการที่ทำกิน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=11132&Key=HilightNews

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท