Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.51 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์ "นโยบายหลักของรัฐบาลประชาธิปไตยคือการธำรงสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน เนื้อหาความว่า ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50 พรรคพลังประชาชนคือพรรคการเมืองได้รับเสียงข้างมากจึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 51  มีกำหนดแถลงนโยบายการบริหารและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐภายในระยะเวลา 15 วัน ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ


 


ความเคลื่อนไหวและท่าทีเบื้องแรกที่มีต่อสื่อของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายก นายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อของรัฐ สะท้อนผ่านการแสดงความคิดความเห็นที่พยายามจะเข้ามาควบคุมจัดการสื่อในภาพรวม อาทิ แนวความคิดในการจัดระเบียบการนำเสนอเนื้อหาในสื่อของรัฐ เช่น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ  การเปิดสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ รวมถึงการจัดระเบียบสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและวิทยุชุมชน นำมาสู่กรณีการกดดันให้ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ลาออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุ "มุมมองของเจิมศักดิ์" ที่ออกอากาศทางคลื่น 105 วิสดอม เรดิโอ ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุที่บริษัทฟาติมาเป็นผู้ผลิตรายการโดยอยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ สืบเนื่องจากผู้จัดรายการได้เผยแพร่ข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีหลังให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนต่างประเทศกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519


 


นำมาสู่ความกังวลถึงปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชนตามอำนาจที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมือง เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจำกัด แทรกแซง ควบคุม สื่อและกลุ่มคนที่เห็นแตกต่างทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นถ้ารัฐบาลประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคพลังประชาชนไม่ตั้งต้นด้วยการเปิดใจกว้าง พร้อมที่จะเปิดรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและการวิพากษ์วิจารณ์ แต่กลับใช้โอกาสในขณะมีอำนาจ ควบคุม สกัดกั้นความคิดเห็นทางการเมือง สุดท้ายไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยแต่ยังส่งผลลบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง


 


คปส. เห็นว่า นโยบายแรกและนโยบายหลักของรัฐบาลประชาธิปไตยคือ การธำรงและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก ของสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ยุติการแทรกแซงทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เน้นการปฏิรูปสื่อแทนการจัดระเบียบสื่อ ไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือกระบอกเสียงของรัฐในทุกรัฐบาล เคารพเจตจำนงเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทั้งสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญของประชาชนทุกคน


 


นอกจากนี้ คปส. เรียกร้องให้ รัฐบาล เปิดพื้นที่สื่อของรัฐให้กับพรรคฝ่ายค้าน และ ภาคพลเมืองในการเข้าถึงสื่อของรัฐอย่างเสมอภาคและใช้พื้นที่สื่อในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างเปิดกว้าง เพื่อนำไปสู่การลดอคติ ความลำเอียง จากการเสนอข้อมูลข่าวสารด้านเดียวดังเช่นที่ผ่านมา


 






แถลงการณ์


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


 


นโยบายหลักของรัฐบาลประชาธิปไตย คือการธำรงสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน


 


ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนคือพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตามครรลองของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายสูงสุด โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551  และมีกำหนดแถลงนโยบายการบริหารและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐภายในระยะเวลาสิบห้าวัน ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ ทำให้สังคมทุกภาคส่วนจับตาทิศทางนโยบายการบริหารประเทศและติดตามความเคลื่อนไหวของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด


 


ความเคลื่อนไหวและท่าทีเบื้องแรกที่มีต่อสื่อของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายก นายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อของรัฐ ปรากฏขึ้นผ่านการแสดงความคิดความเห็นที่สะท้อนความพยายามในอันที่จะเข้ามาควบคุมจัดการสื่อในภาพรวม อาทิ แนวความคิดในการจัดระเบียบการนำเสนอเนื้อหาในสื่อของรัฐ เช่น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ  การเปิดสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ รวมถึงการจัดระเบียบสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและวิทยุชุมชน เป็นต้น


 


จากนั้นนำมาสู่กรณีการกดดันให้ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ลาออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุ "มุมมองของเจิมศักดิ์" ที่ออกอากาศทางคลื่น 105 วิสดอม เรดิโอ ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุที่บริษัทฟาติมาเป็นผู้ผลิตรายการโดยอยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ สืบเนื่องจากผู้จัดรายการได้เผยแพร่ข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีหลังให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนต่างประเทศกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519


 


            ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นำมาสู่ความกังวลถึงปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชนตามอำนาจที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมือง เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจำกัด แทรกแซง ควบคุม สื่อและกลุ่มคนที่เห็นแตกต่างทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นถ้ารัฐบาลประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคพลังประชาชนไม่ตั้งต้นด้วยการเปิดใจกว้าง พร้อมที่จะเปิดรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและการวิพากษ์วิจารณ์ แต่กลับใช้โอกาสในขณะมีอำนาจ ควบคุม สกัดกั้นความคิดเห็นทางการเมือง สุดท้ายไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยแต่ยังส่งผลลบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง


 


            คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)  เห็นว่า นโยบายแรก และนโยบายหลักของรัฐบาลประชาธิปไตยคือ การธำรงและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก ของสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการยุติการแทรกแซงทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หรือการเน้นการปฏิรูปสื่อ แทนการจัดระเบียบสื่อ เพื่อ ปลดปล่อยให้สื่อของรัฐมีความเป็นอิสระที่แท้จริง ไม่ใช่ตกเป็นเครื่องมือหรือกระบอกเสียงของรัฐในทุกรัฐบาล  อีกทั้งการเคารพเจตจำนงเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทั้งสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญของประชาชนทุกคน


 


คปส. ขอเรียกร้องให้ รัฐบาล เปิดพื้นที่สื่อของรัฐให้กับพรรคฝ่ายค้าน และ ภาคพลเมืองหลากหลายกลุ่มในการเข้าถึงสื่อของรัฐอย่างเสมอภาคและใช้พื้นที่สื่อในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างเปิดกว้าง เพื่อนำไปสู่การลดอคติ ความลำเอียง จากการเสนอข้อมูลข่าวสารด้านเดียวดังเช่นที่ผ่านมา  


 


 คปส. เห็นว่านโยบายการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลประชาธิปไตยอันจะนำไปสู่การฟื้นฟูสังคมไทยให้มีความมั่นคงทางการเมืองได้อย่างแท้จริง


 


 


 


                            คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


                                                                                                 14 กุมภาพันธ์ 2551   


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net