Skip to main content
sharethis


 


จักรพันธ์ บุญเม่น : เรียบเรียง


 


หากพูดถึง "นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร" แล้ว หลายคนคงจะจำได้ดีว่า นี่เป็นนโยบายสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในนโยบายประชานิยมที่สามารถเรียกคะแนนจากชาวเกษตรกรได้เป็นอย่างดี  และเมื่อมาถึงในรัฐบาลชุดนี้ ที่มีนายสมัคร  สุนทรเวช เป็นผู้นำรัฐบาล ก็ได้หยิบนโยบายนี้มาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อหวังที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา ซึ่งแท้จริงแล้วนโยบายนี้ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าในอนาคต จะสามารถช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาของเกษตรกรได้แท้จริงหรือไม่


 


ล่าสุด รายการ "ผญาชุมชน" สถานีวิทยุ FM.100 เสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สัมภาษณ์ "สมศักดิ์ โยอินชัย" ตัวแทนเกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งเป็นกองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)และเป็นคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้แสดงความเห็นต่อนโยบายการพักชำระหนี้เกษตรกร ว่ายังคงเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายแห่งรัฐอย่างแท้จริง


 


000


 


อยากให้ย้อนเล่าเกี่ยวกับนโยบายการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ?


นโยบายการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี จำได้ว่ามีมาในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เป็นนโยบายที่ตอนนั้นพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคใหม่ ได้ชูนโยบายนี้ แล้วได้คะแนนเสียงในพื้นที่ชนบท


 


เรียกว่าได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ถล่มถลายเลย ?


ใช่ ซึ่งก่อนนั้นในปี 2544  กลุ่มเกษตรภาคเหนือ เรามีการชุมนุมเรียกร้องกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็ได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร 5 ประเด็นปัญหา ซึ่งปัญหาเรื่องหนี้สินของเกษตรกร ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราเสนอให้กับรัฐบาลในตอนนั้น เพื่อนำไปแก้ไขปัญหามันก็เลยกลายเป็น นโยบายของพรรคไทยรักไทยในสมัยนั้นไปด้วยนะครับ


 


แต่ก่อนปี 2544 สักประมาณปี 2542-2543 คือมีทีมนโยบายของพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น ได้เชิญพวกเราไปร่วมในการเขียนนโยบายของพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็มีทั้งภาคอีสาน ทางภาคเหนือ เราเสนอให้ "ปลดหนี้" ครับ แต่ปรากฏว่า ไทยรักไทย เอาข้อเสนอของเรามาใช้ประมาณ 30เปอร์เซ็นต์ ก็คือ "พักชำระหนี้"  ซึ่งพักชำระหนี้ 3 ปี ตอนนั้นมันยังคลุมเครือๆ ไม่รู้ว่าจะทำการชำระหนี้อย่างไร แต่ปรากฏว่าพอพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลตอนนั้น ก็ประกาศนโยบายออกมาในทางปฏิบัตินะครับ นั่นคือ พักชำระหนี้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี


 


คำว่า "พักชำระหนี้" ก็คือเกษตรกรไม่ต้องชำระหนี้ภายในระยะเวลา 3 ปี อย่างนี้ใช่มั้ย ?


ครับ...ก็หมายความว่า พักใช้หนี้ หยุดไปก่อน 3 ปี เฉพาะคนที่เป็นหนี้ที่ไม่เกินวงเงิน 1 แสนบาทและภายในระยะเวลา 3 ปีนี้ เกษตรกรที่เข้าโครงการ หรือว่าเข้าสู่นโยบายพักชำระหนี้นี้ ก็ไม่สามารถจะไปกู้เงิน สรุปกันง่ายๆ ก็คือว่า ยกตัวอย่าง เกษตรกรเป็นหนี้ ธกส.ก็เอาหนี้ ธกส.ไปพักชำระหนี้ภายใน 3 ปี เราจะไปกู้ ธกส.นั้นไม่ได้นะครับ


 


กลับไปกู้อีกก็ไม่ได้ ?


ไม่ได้แล้ว อันนี้คือรายละเอียดในการพักชำระหนี้ ที่นี้ผลที่ตามมา คือเกษตรกรส่วนใหญ่ เขาเป็นหนี้ที่มันเกินกว่าแสนบาท คนบางคนไปกู้มาเงินต้น 1แสน 2ร้อยบาท อย่างนี้มันก็เข้าโครงการนี้ไม่ได้ ฉะนั้น คนที่กู้มาต่ำกว่าแสนลงมานี้ สามารถเข้าโครงการนี้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดปัญหาขึ้นมาว่าในระหว่าง 3 ปีนี้ ทำให้พบว่า เกษตรกรที่เข้าสู่โครงการพักชำระหนี้ต้องไปกู้นอกระบบ เพราะว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนี้เฉพาะสหกรณ์กับ ธกส.ที่เดียวนี่ครับ


 


ก็ต้องไปกู้นอกระบบ ?


คือ เกษตรกรจำนวนหนึ่งจะได้ประโยชน์ เพราะว่าสามารถที่จะมีกำลังที่จะไปชำระหนี้ภายใน 3 ปีได้เลย พอเข้าปีที่ 3 เอาไปโปะหนี้อันนี้ได้ แต่ว่าเกษตรส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้นี้ได้นะครับ เพราะอะไร....เพราะว่าเรื่องหนี้สิน มันไปพ่วงกับปัญหาพืชผลผลิตตกต่ำ เรื่องราคาพืชผล โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ยิ่งลำไยนี้ไม่ต้องพูดถึง ราคาลำไยมันแทบไม่มีราคา เมื่อก่อนนี้เราภูมิใจว่าลำไยเชียงใหม่ ลำพูน นี้มีชื่อมาก  ปัจจุบันมันมีอยู่ทั่วประเทศ เกษตรกรก็เลยไม่สามารถจะดิ้นหลุดจากปัญหาหนี้สิน...ถ้าจะว่าโซ่ตรวน ก็คือโซ่ตรวน จะว่าแอกก็คือแอก นะครับ ตรงนี้คือมันก็หนักพอๆ กับปัญหาหนี้สินของเกษตร ที่ต้องดูจากผลผลิตของเกษตรกรว่ามันเป็นอย่างไร และว่าได้รับผลกระทบจากอะไรบ้าง


 


แล้วเกษตรกรที่มีหนี้เกิน 1 แสนบาทเหล่านี้จะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ?


เออ...ถ้ามีใช้ก็ใช้ไป แต่ถ้าไม่มีใช้ก็ไม่รู้จะเอาที่ไหนมาให้เจ้าหนี้ ก็ถูกฟ้องบ้าง ถูกยึดบ้าง ขายที่ไปบ้าง


 


หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างหนี้เกินแสนไปนี้ จะต้องโดนฟ้องอย่างไรบ้าง


ถ้าไม่มีปัญญาใช้  ผิดนัดเขา ค้างชำระเขา คือคล้ายๆ ผิดสัญญานั้นแหละ  ผิดสัญญาเงินกู้นี้แหละ แต่ก็ไม่รู้ว่าการพักชำระหนี้ 3 ปี มันเป็นยังไง ตอนนี้บอกแค่ว่า พักชำระหนี้ 3 ปีนะครับ แต่ว่าเงื่อนไข 3 ปี ในตรงนั้นมันคืออะไร เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้...


 


คิดว่าการพักชำระหนี้ 3ปีนี้ มันได้เกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์หรือว่าผลกระทบที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์กับเกษตรบ้างไหม ?


คือ...ผมว่าเป็นเป็นนโยบายที่ดี เพียงแต่ว่า..มันจะต้องมอง 2 ด้านว่า...อย่างช่วงรัฐบาลทักษิณ ช่วงนั้นเนี่ยมันไม่มีประโยชน์ เพราะว่ามันไม่ทำอีกด้านหนึ่ง..จริงอยู่คุณเอาหนี้ของเกษตรกรแขวนไว้บนหิ้ง ไม่ต้องไปแตะไปต้องมัน แต่เกษตรกรมีเวลาหายใจ 3 ปี แต่ในขณะเดียวกัน ภายใน 3 ปี  เกษตรกรนี้จะเอาทุนที่ไหนมา? คุณไม่ได้คิดเรื่องนี้นะครับ คุณคิดเพียงว่า พักชำระหนี้ 3 ปีแล้ว เกษตรกรสามารถอยู่ได้  แต่จริงๆ แล้ว เกษตรกรจะต้องมีทุนอยู่จำนวนหนึ่ง อาจจะบอกว่าเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้สำหรับในการลงทุนด้านการเกษตร ซึ่งครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ทำอย่างนี้เลย


 


เกษตรกรที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ 3 ปี แต่พอครบ 3 ปีไปแล้ว ก็ต้องคืนหนี้ให้เขาเหมือนเดิมแล้วเกษตรกรก็ต้องกลับไปกู้ยืมนอกระบบ เป็นหนี้เหมือนเดิม มีกรณีแบบนี้มากไหม ?


อันนี้ผมคิดว่ามากพอสมควร


 


เราจะแก้ปัญหาแบบนี้ยังไงละคะ


ปัญหานี้จะว่าง่ายก็ง่ายนะ  จะว่ายากก็ยาก คือเจ้าหนี้เขามีงวดที่จะทวง...เหมือน ธกส.ทุกเดือนมีนาของปีเขาก็จะทวง เขาก็จะมีหนังสือมาว่าถึงเวลาชำระหนี้แล้ว ตามงวดที่ได้ทำสัญญาไว้ ฉะนั้น มีปัญหาว่าคนที่กู้ออกไป โดยเฉพาะเกษตรกรเนี่ย เอาไปลงทุนการผลิต..มันได้ผลตามที่คิดว่าจะได้หรือไม่  นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่นะ...ซึ่งผมอยากเสนอให้มีการปลดหนี้ 20 ปี?


 


หมายความอย่างไร ปลดหนี้ 20 ปี ?


คือหมายความว่า เอาหนี้ของเกษตรกรทั้งหมด..ไม่ใช่บอกว่า 5หมื่นบาท 1 แสนบาท แต่ต้องดูว่าเกษตรกรทั้งหมดมีกี่ราย แล้วก็เป็นหนี้เท่าไหร่ เอาแขวนไว้ เอาไว้บนหิ้งก่อนเลย เอาใส่ห้องเย็นไว้ ไม่ให้มันเน่าก็แล้วแต่....และในระหว่างนี้ คุณก็จัดสรรงบประมาณมาอีกก้อนหนึ่งที่จะให้เกษตรได้มีเวลาหายใจหรือลืมตาอ้าปากได้ มีสตางค์ในระยะเวลา 20 ปี คุณมีสตางค์เก็บออมไว้ ก็ค่อยไปเอาหนี้ตรงนั้นลงจากหิ้งแล้วก็เอามาใช้  อันนี้ในความคิดผมนะ แต่รัฐบาลเขาไม่ทำแบบนี้ครับ  ซึ่งผมคิดว่านโยบายนี้จึงเป็นเพียงนโยบายของพรรคการเมืองแค่นั้นเอง  ไม่ใช่นโยบายแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30บาทรักษาทุกโรค หรือว่าให้เด็กเรียนฟรี 12 ปี 


 


การพักชำระหนี้ 3 ปีนี้มันน้อยไปหรือว่าอย่างไร ?


มันไม่ใช่ว่า 3ปีมันน้อยไป แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เกษตรกรที่เป็นหนี้มากนี้ เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องของการตลาด เรื่องของปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น เดี๋ยวนี้ปุ๋ยตรากระต่ายโดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย เมื่อก่อนกระสอบละ 400-500 บาท แต่ตอนนี้กระสอบเกือบพันบาทแล้วนะ ตรงนี้มันทำให้ปัจจัยการผลิตมันสูงขึ้น แต่ถ้าถามว่าแต่ก่อนนี้ ลำไยคนลำพูน คนเชียงใหม่ ขายกิโลละ 20 บาท 30 บาทนะ แต่ตอนนี้ขายกิโลเท่าไหร่ละ 10 บาท ขายไม่ได้ขาย


 


พอประเมินได้หรือไม่ว่า นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ในสมัยรัฐบาลทักษิณสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้จริงหรือไม่ ?


คือ เกษตรกรไม่สามารถหลุดหนี้จากตรงนี้ได้ หนี้มันพักเฉยๆ นะครับ...มันไม่ได้หายไปไหน


 


แล้วทุกวันนี้ หนี้เกษตรกรมันเบาลงหรือมันหนักขึ้น หรือมันจะเป็นอย่างไร เคยได้วิเคราะห์กันบ้างไหม ?


ผมไปสำรวจดูแล้ว  เฉพาะที่ได้พูดกับพี่น้องในพื้นที่ พบว่า เกษตรกรที่เป็นหนี้ประมาณสัก 2-3 หมื่นบาท มีโอกาสหลุด...แต่ถ้าเกิน 5 หมื่นบาทนี้หมดสิทธิ ไม่มีโอกาสชำระหนี้ได้


 


ในฐานะที่เป็นผู้แทนเกษตรกร เป็นคณะกรรมการคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรประสบปัญหาอะไรบ้าง และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรในช่วงรัฐบาลชุดใหม่นี้


คือผมในฐานะเกษตรกรที่เคยเสนอให้รัฐบาลเป็นคนแก้ไขปัญหาแล้วผมก็ได้มีโอกาสเข้าเป็นคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ซึ่งจะพูดถึงปัญหาของเกษตรกร 2 อย่าง นั้นคือ หนึ่ง จะจัดการปัญหาหนี้ของเกษตรกรได้อย่างไร  สอง หลังจากมีการพักชำระหนี้หรือว่าได้รับการจัดการหนี้ไปแล้ว จะได้รับการฟื้นฟูชีวิตของเกษตรกรอย่างไร  ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เห็นความสำคัญของ


กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งสถานะมันเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลก็ประกาศ


จะชำระหนี้อย่างนี้ ในขณะที่ภาครัฐก็ไม่เคยใช้กลไกตัวนี้ในการแก้ไขปัญหาเกษตรกรแต่อย่างใดเลย


 


หมายความว่ารัฐบาลประกาศออกมาแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการถูกต้องอย่างที่ได้พูดไว้อย่างนี้ใช่ไหม


ครับ คือผมคิดว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ตัวนี้มีคนทำงานอยู่แล้วนะครับ อย่างสำนักงานสาขาของจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอนก็มีอยู่ ของเชียงรายก็มีของลำปางก็มีของลำพูนก็มี


 


มีคนมาจดรายชื่อของกองทุนฟื้นฟูนี้เยอะไหม ?


ที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูตอนนี้ ข้อมูลเมื่อปีที่แล้ว ปี2550 มีสมาชิกเกือบ 7ล้านคน แล้วคนที่ขึ้นทะเบียนหนี้ตอนนี้ที่ได้สำรวจแล้ว พบว่ามีเกษตรกรเกือบ 4แสนรายที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้


 


สรุปแล้วว่ามีอะไรจะบอก อยากจะฝากถึงพี่น้องเกษตรกรบ้างไหมครับ?


ครับ ก็ไม่รู้จะฝากอะไร เพราะพวกเรามันก็ทุกข์ยากกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะทำยังไงถึงจะให้รัฐบาลไม่ว่าชุดไหน ไม่ว่าพรรคไหนที่เข้ามา ซึ่งตอนนี้ทุกพรรคก็ได้ชูนโยบายประชานิยมทั้งนั้น แต่จะทำอย่างไรถึงจะให้นโยบายประชานิยมที่นักการเมืองประกาศให้เป็น "นโยบายของรัฐ" แท้จริง ไม่ว่าจะนโยบาย 30บาทรักษาทุกโรค ด้านสุขภาพ นโยบายด้านการศึกษา นโยบายด้านการเกษตร เหล่านี้จะต้องเป็นนโยบายของรัฐ  ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง เพราะว่า เวลามีการเลือกตั้งก็เอามาพูดครั้งหนึ่งเพื่อขอคะแนนชาวบ้าน 


 


ดังนั้นใครจะไปใครจะมา ผมคิดว่าในฐานะที่เราเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องผลักดันให้พรรคการเมืองเอานโยบายที่ดีมาเป็นนโยบายของรัฐจริงๆ ผมคิดว่าต่อไปเราจะได้ไม่ต้องง้อนักการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net