Skip to main content
sharethis

"..คนจนถูกบังคับให้ประหยัดพลังงานมาตั้งแต่เกิดแล้ว ดังนั้นเราควรทบทวนถึงวิธีการประหยัดพลังงานในกระแสของชนชั้นกลาง ซึ่งมันคล้ายๆ กับวิธีไถ่โทษบางครั้งบางครา แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาไปได้มากนักหรอก นอกจากที่คุณจะยกระดับให้คนทั้งหมดกลายเป็นชนชั้นกลางทั้งหมด หรือเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง ไม่ใช่การปลูกจิตสำนึกแบบปัจเจกของชนชั้นกลางเท่ๆ.."

ประชาไท - 14 ก.พ. 51ที่ร้านเล่า จ.เชียงใหม่ โครงการสื่อสารแนวราบ (Local Talk Project) และประชาไท ได้จัดวงเสวนาว่าด้วย การเมืองในวิกฤตพลังงาน ซึ่งมีการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับวิกฤตพลังงาน ที่นำไปสู่การแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือก/หมุนเวียนใหม่ๆ แต่กลับส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านสังคม สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงทางอาหาร โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วม ได้แก่ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการและนักแปลอิสระ, วิทยากร บุญเรือง คอลัมนิสต์และรับจ้างทั่วไป

 

วิทยากร บุญเรือง คอลัมนิสต์และรับจ้างทั่วไป ได้นำเสวนาในประเด็นเรื่อง 'วิกฤตพลังงานและผลกระทบต่อคนจน' โดยมีรายละเอียดดังนี้..

 

"คนจนถูกบังคับให้ประหยัดพลังงานมาตั้งแต่เกิดแล้ว ดังนั้นเราควรทบทวนถึงวิธีการประหยัดพลังงานในกระแสของชนชั้นกลาง ซึ่งมันคล้ายๆ กับวิธีไถ่โทษบางครั้งบางครา แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาไปได้มากนักหรอก นอกจากที่คุณจะยกระดับให้คนทั้งหมดกลายเป็นชนชั้นกลางทั้งหมด หรือเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง ไม่ใช่การปลูกจิตสำนึกแบบปัจเจกของชนชั้นกลางเท่ๆ"

 

"ราคาพลังงานที่แพงขึ้น ได้ฉุดให้ราคาของพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น นอกจากเกษตรกรจำนวนหนึ่ง พ่อค้าคนกลาง นายทุน และผู้ถือหุ้น ได้ประโยชน์แล้ว กับคนจนส่วนใหญ่แทบที่จะไม่ได้ประโยชน์ เพราะจะมีกี่คนที่ได้ผลประโยชน์เรื่องราคาพืชผลที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยมีเกษตรกรกี่คนและมีที่ทำกินต่างกันไหม ในกลุ่มเกษตรกรเองก็ยังมีคนจนกับคนรวย เกษตรกรไม่ได้ยากจนทั้งหมด"

 

"วิธีการที่ดีที่สุดคือจะต้องจัดสรรการใช้พลังงานเสียใหม่ จัดสรรผลประโยชน์จากพลังงานเสียใหม่ ไม่ว่าคุณจะสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ้ามันจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องสร้างเพิ่ม สร้างแล้วสามารถลดค่าไฟฟ้าหรือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้มันก็ต้องสร้าง รวมถึงต้องชดเชยให้กับคนที่เสียประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ใช่ละทิ้งเขาปล่อยให้ผจญความเลวร้ายจากการพัฒนาไปตามมีตามเกิด"

 

0 0 0

 

มันกระทบคนจนด้านใดบ้าง?

 

วิถีเกษตร - ความมั่นคงทางอาหาร

อาจจะมีผลกระทบหลายปัจจัย แต่ผลกระทบที่น่าจับตาอย่างหนึ่งก็คือการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกที่ใช้พืชอาหาร หรือพืชที่ช่วงชิงพื้นที่ทางการเกษตรผลิตอาหาร

 

สำหรับประเทศไทยวัตถุดิบจากเกษตรกรรมเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจากการศึกษาวัตถุดิบจากภาคเกษตรที่เหมาะสมกับใช้ชื้อเพลิงมีตั้งแต่ แกลบ ซังข้าวโพด ชานอ้อยเหง้ามันสำปะหลัง เปลือกมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง กะลามะพร้าว ทางปาล์ม ไม้กระถินยักษ์ ไม้ยูคาลิปตัส และเปลือกไม้ยูคาลิปตัส

 

น่าจับตามองบ้านเราคือการที่บรรษัทยักษ์ใหญ่นำวิธีการคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาให้ชาวบ้านปลูกพืชพลังงาน มีการให้ราคาสูงจนชาวบ้านต้องปลูกพืชชนิดนั้นเป็นหลัก และขายกลับไปเพื่อทำพลังงานทางเลือก ซึ่งความต้องการของพลังงานทางเลือกมันมีสูงทำให้ราคาของวัตถุดิบแพงไปด้วย ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบชนิดเดียวกัน คือ อุตสาหกรรมอาหาร

 

การที่พืชพลังงานมีราคาสูงนี้ การขยายพื้นที่เพาะปลูกจึงเกิด แต่ด้วยพื้นที่ทางเกษตรกรรมของไทยมันแทบที่จะขยายเพิ่มไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการเสียสละพื้นที่เกษตรชนิดหนึ่งไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับเกษตรอีกชนิดหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัด นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร รัฐและเอกชนกำลังไปส่งเสริมให้มีการปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตเอธานอล โดยในปี พ.. 2551-2552 มีพื้นที่เป้าหมายกว่า 500,000 ไร่

 

ซึ่งมันทำให้เราวิตกไปถึงว่ามันอาจจะส่งผลต่อปริมาณข้าวอาจจะเกิดวิกฤตขาดแคลนหรือราคาแพงขึ้น เพราะพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่สำคัญ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ด้วย -- นอกจากนี้ยังได้ส่งผลกระทบให้มีการขยายพื้นที่ทำกินที่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นในแหล่งต้นน้ำต่างๆ อีกด้วยในเขตภาคเหนือ

 

การเร่งผลิตไบโอดีเซล ทำให้ราคาปาล์มในตลาดโลกสูงไปถึงตันละ 900 ดอลลาร์ ส่งผลให้บางประเทศต้องชะลอการพัฒนาไบโอดีเซลลงไป ซึ่งในเมืองไทยก็เช่นกัน

 

รวมถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพ ที่เห็นได้ชัดในกรณีของบ้านเราก็คือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันพืชที่พุ่งขึ้นสูงขึ้นตามราคาปาล์มและถั่วเหลือง โดยเฉพาะปาล์มนั้นเรียกได้ว่าปริมาณผลิตในประเทศแทบที่จะไม่พอกับความตั้งการ ตั้งแต่มีการนำมาทำไบโอดีเซล

 

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานของคนจน

นอกเหนือจากค่าครองชีพราคาของอุปโภคบริโภคที่ต้องขึ้นตามราคาพลังงานแล้ว คนจนต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานทางตรงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เช่น เมื่อก่อนเราเติมน้ำมันรถมอเตอร์ไซด์ 20 บาท สามารถใช้ได้หลายวัน แต่ขณะนี้ทุกปั้มแทบที่จะไม่ขายให้เราในราคานี้แล้ว หรือแก๊สหุงต้มซึ่งถูกนำมาแทนที่การใช้ฟืน ปัจจุบันก็ถีบตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้า ถึงแม้จะไม่มีการเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับพลังงานตัวอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญคือค่าครองชีพที่สูงขึ้นแต่รายได้ของคนจนกลับเท่าเดิม

 

การละเมิดสิทธิ์ของคนจน

การหาความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการหาแหล่งพลังงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า มักจะไปเบียดเบียนวิถีชีวิตของคนจน ตัวอย่างจากการพัฒนาประเทศการสร้างเขื่อนภายในประเทศเมื่อหลายสิบปีก่อน

 

เมื่อประเทศพัฒนาด้านสิทธิเสรีภาพมาพอสมควร ก็กลับกลายเป็นปัญหาการส่งออกความเดือดร้อนไปให้เพื่อนบ้านแทนที่ เช่น การสร้างเขื่อนสาละวิน หรือเขื่อนที่กำลังจะผุดอีกหลายๆ แห่งในลาว ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเรายังคงไม่ได้พัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

วิกฤตพลังงานเป็นเรื่องชนชั้น

 

การผูกขาด

หน่วยงานไฟฟ้าที่สำคัญของไทยคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดย กฟผ. ทำหน้าที่ในการผลิตและจัดส่ง ส่วน กฟภ. และ กฟน. มีหน้าที่จัดจำหน่ายให้เรา

 

หากแต่หลายคนยังไม่ทราบว่าเบื้องหลังกำไรมหาศาลจากกิจการไฟฟ้าอย่างแท้จริงนั้นคือ ปตท. เพราะว่า ปตท. คือผู้หาวัตถุดิบรายใหญ่ที่สุดให้ กฟผ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกขาดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย พบว่าเราใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดถึง 66.1 % (ข้อมูลเมื่อปี 2549)

 

การที่ ปตท.มีกำไรมหาศาลนั้นเป็นเพราะว่า ปตท.คือผู้ผูกขาดก๊าซธรรมชาติรายแรกรายเดียวของไทย และลูกค้าที่ผูกติดกับ ปตท.มาตลอดก็คือ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) นั่นเอง และกล่าวอย่างรวบรัด การที่กำไรของ ปตท.ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า ก็เนื่องมาจากการแปรรูปและทำการซื้อขายหุ้นเมื่อปลายปี 2544 อาจอนุมานได้ว่ากำไรมหาศาลจำนวนนี้ก็คือเงินของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายผ่านทาง กฟผ.นั่นเอง

 

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2550 นั้น ปตท.สผ. (สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 96,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน มีกำไรสุทธิ 28,455 ล้านบาท

 

นอกจาก ปตท. ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการผูกขาดพลังงานก็คือนายทุนพลังงานซึ่งมีเครือข่ายแทรกซึมอยู่ในหน่วยงานเกี่ยวกับพลังงานของไทย เห็นได้จากการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan PDP) ที่มีตัวแทนจากหน่วยงาน การไฟฟ้าสามหน่วย, ไอพีพี, สภาอุตฯ, สภาพัฒน์ฯ, นักวิชาการ, ปตท. ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของนายทุนพลังงานทั้งสิ้น

 

PDP คือ แผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าในประเทศไทยวางแผนล่วงหน้า 10-15 ปี เป็นผู้กำหนดว่าโรงไฟฟ้าประเภทใดจะถูกสร้างเมื่อไหร่ โดยใคร และมีจำนวนกี่โรง (แต่ไม่ระบุสถานที่ก่อสร้างที่ชัดเจน)

 

แต่ในแผนการนี้ซึ่งเขียนโดยตัวแทนของนายทุนพลังงาน มักที่จะพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าอย่างเกินจริงไว้ เพื่อให้พวกเขาได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมพลังงาน ทั้งในด้านการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า การค้าขายวัตถุดิบผลิตพลังงาน

 

นายทุนพลังงานเหล่านี้ (เช่นปิยสวัสดิ์ ) ยังคัดค้านนโยบายประชานิยมด้านพลังงาน เช่น การนำกำไรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คืนกลับสู่ประชาชน และสนับสนุนให้ยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะพวกเขาคิดว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้มันบิดเบือนกลไกตลาด และมันทำให้ธุรกิจพลังงานถูกแทรกแซงโดยรัฐได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ราคาพลังงานที่แพงขึ้น ได้ฉุดให้ราคาของพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น นอกจากเกษตรกรจำนวนหนึ่ง พ่อค้าคนกลาง นายทุน และผู้ถือหุ้น ได้ประโยชน์แล้ว กับคนจนส่วนใหญ่แทบที่จะไม่ได้ประโยชน์ เพราะจะมีกี่คนที่ได้ผลประโยชน์เรื่องราคาพืชผลที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยมีเกษตรกรกี่คนและมีที่ทำกินต่างกันไหม ในกลุ่มเกษตรกรเองก็ยังมีคนจนกับคนรวย เกษตรกรไม่ได้ยากจนทั้งหมด

 

 

ประหยัดพลังงาน? คนจนประหยัดอยู่แล้ว

กทม.และปริมณฑล ดูดไฟฟ้า 40% ของทั้งประเทศ และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจการใช้พลังงานของครัวเรือนปี 2549 พบว่าเฉพาะค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าเป็นรายภาคจะพบว่าครัวเรือนในกรุงเทพฯและ 3 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายฟ้า 823 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 4 เท่าของภาคตะวันออกเหนือที่มีการใช้จ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพียง 222 บาทต่อเดือน

 

จากการประเมินเมื่อปี 2543 พบปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ 40% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าเป็นการใช้ของธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 22% สำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลาง บ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้มากกว่า 150 หน่วย/เดือน มี 13 % ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้น้อยกว่า 150 หน่วย/เดือน มีเพียง 8% (ที่เหลือมี.. ธุรกิจขนาดเล็ก 10% หน่วยงานราชการ 4% ธุรกิจเฉพาะอย่าง 3%)

 

เมื่อโฟกัสเข้ามาอีกจะพบว่าจำนวนประชากรที่ใช้ไฟฟ้าในบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้น้อยกว่า 150 หน่วย/เดือน นั้นมีสัดส่วนประชากรถึง 73% บ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้มากกว่า 150 หน่วย/เดือน 19% ธุรกิจขนาดเล็ก 7% ซึ่งเราจะพบว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมมหาศาลนัก

 

นับรวมถึงการใช้ยานพาหนะ ที่คนจนส่วนใหญ่ใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่ชนชั้นกลางมีรถยนต์คนละคัน ปริมาณการติดเครื่องปรับอากาศซึ่งชนชั้นกลางและคนรวยคงจะใช้มากกว่าคนจนแน่

 

แต่ผลกระทบจากเรื่องวิกฤตพลังงานมันก็กระทบกับคนจนมากที่สุด ราคาข้าวของที่แพงมากขึ้น แต่รายได้ของคนจนยังคงที่ หรือลดลงจากการโดนปลดออกจากงานเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ

 

ทางออกของคนจน

 

วิธีไถ่โทษแบบชนชั้นกลางไม่ใช่ทางออก

คนจนถูกบังคับให้ประหยัดพลังงานมาตั้งแต่เกิดแล้ว ดังนั้นเราควรทบทวนถึงวิธีการประหยัดพลังงานในกระแสของชนชั้นกลาง ซึ่งมันคล้ายๆ กับวิธีไถ่โทษบางครั้งบางครา แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาไปได้มากนักหรอก นอกจากที่คุณจะยกระดับให้คนทั้งหมดกลายเป็นชนชั้นกลางทั้งหมด หรือเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง ไม่ใช่การปลูกจิตสำนึกแบบปัจเจกของชนชั้นกลางเท่ๆ

 

ชาวบ้านคนจนชนบทเพียงแค่ใช้ไฟส่องทาง ส่องกบส่องเขียด แต่ละบ้านมีไฟกันไม่กี่ดวง ส่วนคนจนเมืองก็ต้องประหยัดค่าไฟกันอยู่แล้ว เพราะหอพักต่างๆ มักจะชาร์จราคาค่าไฟฟ้าสูงมาก แค่ใช้เปิดพัดลม ดูวีซีดี ไฟห้องละดวงสองดวง

 

ต่างจากชนชั้นกลางที่บริโภคไฟฟ้า เปิดคอมทิ้งไว้ทั้งวัน ไฟในห้องมีหลายดวง ไฟตกแต่งบ้าน ดาวน์ไลท์ เพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีสไตล์ แล้ววันดีคืนดีรู้สึกว่าตัวเองผิดบาป จึงกระแดะอยากปิดไฟวันละสองสามนาที แล้วมีการโชว์ตัวเลขกันว่ารัฐประหยัดเงินได้หลายร้อยหลายพันล้าน

 

แต่มันก็แทบที่จะไม่ได้แก้ปัญหาพลังงานเลย คนยังจนยังซื้อของแพงต่อไป เขื่อนสาละวินเขื่อนในลาวยังเดินหน้าต่อ

 

แก้ด้วยสีแดง.. ไม่ใช่เขียวหรือเหลือง

ถ้าให้แก้ด้วยการอนุรักษ์หรือประหยัดแบบปัจเจกทำแบบตัวใครตัวมันด้วยจิตสำนึกสุดวิเศษนั้น หรือใช้การจัดหาพลังงานทางเลือกกันเองอย่างตามมีตามเกิด อยากให้ลองเปลี่ยนทัศนะคติ นำมันมาผูกโยงกับเรื่องประเด็นชนชั้นและการเมือง

 

การจัดสรรการผลิตโดยชุมชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะจะมีซักกี่ที่ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเอง เพราะไม่มีแม่น้ำ น้ำตก ในทุกๆ ชุมชนของประเทศไทย ไม่มีพื้นที่เกษตรในทุกที่ของประเทศไทย คนจนเมืองซึ่งกำลังจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นกลุ่มคนที่เราไม่ควรละทิ้งหรือมองข้ามไป

 

วิธีการที่ดีที่สุดคือจะต้องจัดสรรการใช้พลังงานเสียใหม่ จัดสรรผลประโยชน์จากพลังงานเสียใหม่ ไม่ว่าคุณจะสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ้ามันจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องสร้างเพิ่ม สร้างแล้วสามารถลดค่าไฟฟ้าหรือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้มันก็ต้องสร้าง รวมถึงต้องชดเชยให้กับคนที่เสียประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ใช่ละทิ้งเขาปล่อยให้ผจญความเลวร้ายจากการพัฒนาไปตามมีตามเกิด

 

และต้องจัดสรรด้วยวิธีประชาธิปไตย กระจายให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากพลังงานจริงๆ ไม่ใช่ให้คนที่ถือหุ้นมากได้ประโยชน์ที่สุด ไม่ใช่เอื้อให้แก่นายทุนหรือคนมีเงินซื้อหุนบรรษัทพลังงานแบบในปัจจุบัน

 

 

  • มีการวางแผนอย่างเป็นระบบในการกำหนดโควต้าและพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานและพืชเพื่อการบริโภค เพราะการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดจะสร้างปัญหาใหญ่ๆ ตามมา เช่น การขาดแคลนอาหาร หรือผลผลิตอาจล้นเกิน รวมถึงประเด็นสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม
  • การสลายการรวมศูนย์ทางด้านพลังงาน ประชาชนแต่ละพื้นที่ควรมีอำนาจการตัดสินใจในด้านพลังงาน มีการกำหนดเขตราคาพลังงานให้สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่
  • การแปรรูปจะต้องไม่เอื้อให้กับนักลงทุน แต่ควรเป็นการเอื้อให้ผู้บริโภคพลังงาน เช่น กระจายหุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้า
  • รวมตัวกันเคลื่อนไหวในประเด็นชนชั้น มองเป็นเรื่องการเมือง เพราะไม่สามารถแก้ในจุดเล็กๆ ได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net