Skip to main content
sharethis

เวลาในคุกผ่านไป 3 สัปดาห์แล้ว แต่กวีชาวพม่า "ซอ ไว" ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา และถูกนำตัวไปขังที่คุกอินเซน โทษฐานที่เขาเขียน "กลอนรัก" ความยาว 8 บรรทัด เพียงแต่ว่า "คำแรก" ของแต่ละบรรทัด อ่านรวมกันแล้วจะได้ใจความว่า "นายพลบ้าอำนาจคือตานฉ่วย"

ตติกานต์ เดชชพงศ

 

ปฏิกิริยาที่คนทั่วโลกมีต่อวันแห่งความรัก แตกต่างกันออกไปตามพื้นที่, ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี

 

ประเทศที่เข้มงวดกวดขันกับเทศกาลนี้มากที่สุดเห็นจะได้แก่ "ซาอุดิอาระเบีย" ซึ่งออกกฎห้ามไม่ให้ร้านค้าวางจำหน่ายของขวัญที่มี "สีแดง" รวมถึงห้ามวางขายของขวัญรูปหัวใจในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงวันที่ 14 ก.พ. และห้ามไม่ให้ร้านดอกไม้นำดอกกุหลาบมาขายในช่วงเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่า การซื้อหาของขวัญหรือดอกไม้เพื่อนำไปให้แก่หญิงหรือชายที่พึงใจในวันวาเลนไทน์นั้น "ขัดต่อหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม" จึงไม่ควรเปิดโอกาสให้มีปัจจัยใดๆ มาช่วยส่งเสริม "ค่านิยมตะวันตก" เหล่านั้น

 

เช่นเดียวกับที่ "อินเดีย" ซึ่งหลายๆ เมืองมีชาวฮินดูเคร่งศาสนาจำนวนมากมาเดินขบวนประท้วง เพื่อไม่ให้หนุ่มสาวชาวอินเดีย (ที่นับถือศาสนาฮินดู) ร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความรัก เพราะเซนต์วาเลนไทน์และความหมายดั้งเดิมของวันนี้ มีความเกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนา

 

อย่างประเทศไทยของเรานี่ก็มีข่าวรองผู้ว่าฯ กทม.สั่งเพิ่มมาตรการเข้มด้วยการไฟเขียวให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราตามสวนสาธารณะและพื้นที่อื่นๆ เป็นพิเศษ เพื่อ "ป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้ามามั่วสุมหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม" พร้อมกับที่สื่อมวลชนก็ช่วยกันประโคมข่าวว่า "วันวาเลนไทน์คือวันเสียตัวของวัยรุ่น"

 

โชคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของเราไม่บ้าจี้ตามกระแส "เฝ้าระวังวัฒนธรรมอันดีงาม" และ รมต.มหาดไทยออกมาบอกทันเวลาว่าจะไม่มีการไปส่องไฟตามโรงแรมม่านรูด เพื่อคอยดูว่ามีวัยรุ่นไปแอบพลอดรักกันในนั้นหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ประชาชนคงได้แต่นึกสงสัยในใจว่าตำรวจบ้านเราคงจะว่างงานมาก

 

เรื่องราวทั้งหมดที่ว่ามา ถูกสำนักข่าวต่างประเทศรายงานไปทั่วโลก แต่ข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวพันกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ กลับถูกกลืนหายไปท่ามกลางกระแสวันแห่งความรักในปีนี้...

 

กลอนรักชื่อ "14 กุมภาพันธ์" ของ "เซาเว"

 

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ข่าวคราวของกวีชาวพม่า นามว่าเซาเว (Saw Wai) ได้รับการเผยแพร่ตามสื่อต่างประเทศ โดยเนื้อข่าวระบุว่าเซาเว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะอยู่ในกรุงย่างกุ้ง สืบเนื่องมาจากบทกวีที่เขาเขียนลงในนิตยสารรายสัปดาห์ Love Journal  

 

กวีบทนั้นมีชื่อว่า February Fourteen ซึ่งใครที่อ่านภาษาพม่าออกจะรู้ว่า เนื้อหา 8 บรรทัด ของบทกวี "14 กุมภาพันธ์" พูดถึงความรักที่ไม่สมหวังของชายหนุ่มคนหนึ่งที่หลงรักนางแบบชื่อดัง แต่ถ้าหากอ่านเฉพาะคำแรกของบทกวีจะพบว่า...มีข้อความซ่อนอยู่อีกหนึ่งประโยค

 

ประโยคนั้นมีใจความว่า "นายพลบ้าอำนาจคือตานฉ่วย"

 

หลังจากที่บทกวีของ "เซาเว" ตีพิมพ์ในนิตยสารและออกว่างจำหน่ายได้เพียงไม่กี่วัน เขาก็ถูกจับกุมตัวและถูกส่งไปคุมขังต่อในเรือนจำอินเซน ซึ่งเป็นสถานที่ที่รัฐบาลทหารพม่าใช้กักกุมคุมขังนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก บรรดานักโทษเหล่านั้น ได้แก่ ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล, ผู้ที่ต่อต้านการปกครองระบอบเผด็จการทหาร, ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามสื่อต่างๆ รวมทั้งวีรชนชาวพม่าที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับทหารในเหตุการณ์ 8888 อีกหลายคน

 

ถึงวันนี้ ชะตากรรมของเซาเวจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ ข่าวคราวล่าสุดที่พอจะบอกได้ก็คือว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ภรรยาของเซาเวไปที่เรือนจำอินเซน เพื่อนำผ้าห่มและมุ้งไปเป็นของเยี่ยมให้แก่สามีของเธอ แต่เจ้าหน้าที่ในเรือนจำกลับบอกว่า ต่อจากนี้เซาเวไม่มีสิทธิ์ได้พบญาติหรือใครก็ตามที่มาเยี่ยม และทางเรือนจำไม่อนุญาตให้เขาได้รับสิ่งของที่ผู้มาเยี่ยมฝากไว้ให้ ส่วนเหตุผลหรือสิทธิทางกฎหมายที่ทางเรือนจำใช้ห้ามไม่ให้มีการเยี่ยมเยือนเซาเว กลับไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการควบคุมอันเข้มงวดกวดขันของรัฐบาล มีการสร้างบล็อกขึ้นมาเพื่ออุทิศให้แก่เซาเว มีการรายงานเหตุการณ์และความเป็นไปต่างๆ ในคดีที่เซาเวถูกจับ และมีการเชื่อมโยงข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับคดีมารวบรวมไว้ ทั้งที่เป็นภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ

 

นอกจากนี้ กลุ่ม White Rainbow ซึ่งเป็นเครือข่ายศิลปินแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จิตรกร, กวี, นักเขียน ฯลฯ ก็ยังคงทำงานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งกลุ่ม "สายรุ้งสีขาว" นี้ เป็นการรวมตัวกันของศิลปินพม่า เพื่อทำงานรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมพม่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งได้เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองและสิทธิเสรีภาพไปพร้อมกันด้วย ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย

 

ภาพที่ใช้ในการรณรงค์ให้สาธารณชนรับรู้ถึงกรณีที่เซาเวถูกคุมขัง

 

แต่เดิม เซาเว เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของรัฐบาล เขาทำงานประจำอยู่ที่กองการสื่อสาร แต่เมื่อเกิด "เหตุการณ์ 8888" เขาก็ลาออกจากงาน และกลายเป็นศิลปินที่หาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพ เขียนกวี รวมถึงทำงานร่วมกับเครือข่าย White Rainbow มาจนถึงปัจจุบัน

 

เมื่อครั้งที่เกิด "Saffron Revolution" หรือการเดินขบวนของพระสงฆ์และประชาชนจำนวนมากในพม่า เมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2550 เซาเวและไวท์เรนโบว์ต่างก็ทำงานของตนอย่างขะมักเขม้นเพื่อปลุกใจและเรียกร้องให้ประชาชนชาวพม่าแสดงพลังของตน เพื่อลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่และปิดกั้นของรัฐบาลทหาร แต่การสื่อสารมักเป็นไปอย่างลับๆ หรือไม่ก็มีการซ่อนข้อความวิพากษ์วิจารณ์อย่างแนบเนียน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐระแคะระคาย

 

แต่ในที่สุด การส่งข้อความ หรือส่ง "สาร" ผ่านสื่อในแบบต่างๆ ก็ต้องเจอกับมาตรการเซ็นเซอร์และตรวจสอบอย่างละเอียดยิบของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกับการปิดกั้นหนทางเพื่อเข้าถึงข่าวสารต่างๆ ของประชาชน ทั้งนี้เนื่องมาจากการเดินขบวนอย่างสงบของพระสงฆ์และประชาชนพม่าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ มีส่วนกดดันให้รัฐบาลยิ่งเพิ่มความเข้มงวดกวดขันมากกว่าเดิม

 

หนังสือพิมพ์ที่วางขายได้อย่างเปิดเผยในพม่า คือหนังสือพิมพ์ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล เนื้อข่าวที่ีตีพิมพ์จึงเป็นเหตุการณ์รายวัน เช่น อุบัติเหตุ, ฝนตก, ฟ้าร้อง, น้ำท่วม ฯลฯ แต่จะไม่มีข่าวใดที่วิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงถึงผู้นำระดับสูงในรัฐบาลเป็นอันขาด เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์วิทยุซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปควบคุมเบ็ดเสร็จ

 

ยิ่งรัฐบาลพยายามเข้าไปแทรกแซงและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการคิดและการแสดงความเห็นของประชาชนมากเท่าไหร่ การติดต่อสื่อสารในทางลับ รวมถึงการสร้างข้อความซ้อนข้อความจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแพร่หลายในพม่าระยะหลังๆ

 

จำนวนสถานีวิทยุคลื่นสั้นที่ลักลอบออกอากาศมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และการให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักศึกษาและประชาชนที่สนใจความเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวพม่ายังเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะรัฐบาลจำกัดให้มีเครือข่ายโพรไวเดอร์เพียงน้อยนิด และจะต้องรายงานข้อมูลทั้งหมดให้รัฐบาลรับรู้โดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็ไม่ยกเว้น

 

พระสงฆ์ชาวพม่ารายหนึ่งซึ่งลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวจาก CSmonitor โดยระุบุว่า "ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกเป็นสิ่งสำคัญมาก (สำหรับชาวพม่า) ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อให้รู้เท่าทันเหตุการณ์เท่านั้น แต่เพื่อถ่ายทอดให้ผู้ที่อยู่ในพม่าได้รับรู้ว่าโลกยังไม่ได้หลงลืมพวกเขา"

 

การต่อสู้ของประชาชนในพม่า (และอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก) จึงยังไม่จบ และคงจะดำเนินต่อไปอีกนาน แต่เรื่องราวของการลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยความรักในเสรีภาพของเซาเว น่าจะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจท่ามกลางข่าวคราว "เทศกาลแห่งความรัก" ที่ท่วมท้นในวันนี้

 

 

..............................................................................

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

Poet arrested for writing "Power Crazy Than Shwe"

Burma dissident arrests 'ongoing'

Detained poet denied visits and parcels

Burma's censors monitor Internet, newspapers - and poets

บล็อก sawwai

 

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

 

รายงาน: "กลุ่ม Surrend" การเมือง ศิลปะ และการหลอกด่า

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net