Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติ(สนช) ทำหน้าที่วุฒิสภา ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอรายงานผลการสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนส่วนราชการ ผู้นำศาสนาและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 คน


 


โดยนายนิรันดร์ พันทรกิจ เลขานุการคณะกรรมการธิการฯ ได้รายงานผลผลการสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเริ่มทำงานมาตั้งแต่มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 โดยมีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา 9 คณะ เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ต้องศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นมา ทั้งเรื่องการศึกษา ศาสนา การว่างงาน การสาธารณสุข เป็นต้น โดยคณะทำงานส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่


 


สำหรับเนื้อหาของรายงาน สรุปได้ว่า ข้อสรุปที่เป็นปัญหาจริงๆ ประเด็นที่หนึ่ง การมาตรการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายเหตุการณ์ ขาดความโปร่งใสและมีข้อกังขาในความรู้สึกของประชาชน ประชาชนรูสึกว่ายังไม่ชัดเจนว่ามีการดำเนินการอย่างไร เช่น เหตุการณ์ที่ตาบใบ หรือที่อื่นๆ


 


สอง ประชาชนรู้สึกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัตินอกลู่นอกทาง แต่ผู้ตกเป็นเหยื่อโดยส่วนใหญ่คือประชาชน จากความรู้สึกนี้มีผลที่ตามมาคือประชาชนไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ยอมบอกความจริงกับเจ้าหน้าที่รัฐ


 


สาม ประชาชนยอมรับว่า ประกฎการณ์ที่เกิดขึ้น มีขบวนการก่อความไม่สงบดำเนินการจริง แต่คณะกรรมการธิการเชื่อว่า ความเชื่อของประชาชนเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย และมีผลต่อการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และเป็นเงื่อนไขสำคัญ ส่วนหนึ่งผู้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้น ไม่เฉพาะผู้มีอุดมการณ์เท่านั้น บางครั้งอาจเข้าไปมีส่วนร่วมเพราะเกิดจากความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม อาจเกิดจากพ่อถูกฆ่าตาย


 


อีกประเด็นที่สำคัญเรามองว่า สายสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิมนั้น ที่เคยมั่นคง กำลังเปราะบาง และมีสิ่งบ่งชี้หลายอย่างว่า ความบาดหมางอาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม


 


ประเด็นต่อมา การจัดการกับปัญหาการใช้ความรุนแรง โดยใช้การปราบปรามควบคู่กับสันติวิธีที่ยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มรูปแบบนั้น ทำให้ด้อยประสิทธิภาพ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติมักจะเห็นว่าสันติวีเป็นอุปสรรคต่อการปราบปราม ต่อการใช้กำลังอาวุธ


 


ประเด็นต่อมา ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ประชาชนรู้สึกไม่โปร่งใสและเลือกปฏิบัติ เช่น การตรวจค้นคนที่สวบชุดแบบมุสลิมมากกว่า ซึ่งพบเห็นบ่อยจากการให้ข้อคิดของประชาชนในพื้นที่


 


ต่อมา ปัญหาการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่อันเป็นผลจากความรุนแรง สร้างบรรยากาศความหวดระแวงปะปนกับความหวาดกลัว เช่น มีการปิดโรงเรียนบ่อย มีการเผาโรงเรียน สถานที่เรียนไม่มี ครูหมดกำลังใจในการทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย


 


ต่อมา ประชาชนส่วนมากในพื้นที่ขาดการสร้างเสริมความเข้าใจในชีวิตและอัตลักษณ์ คือมองเห็นว่าปัญหาในวิถีชิวิตและอัตลักษณ์นั้น ถูกสกัดกั้น อาจจะโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาจเป็นผลมาจากอดีต ขณะเดียวกันการดำเนินงานของรัฐที่ยึดถือรัฐธรรมนูญโดยไม่เข้าใจ ก็เห็นว่า ในการปฏิบัติบางครั้งของพี่น้องประชาชนอาจมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจ


 


ข้อสรุปเหล่านี้นำสู่ข้อคิดหลายอย่าง หนึ่ง กระบวนการต่อไปในการต่อสู้นั้น มันควรจะเปลี่ยนจากการต่อสู้จากกลุ่มคน มาเป็นการต่อสู้กับแนวการใช้ความรุนแรง เพราะเรามองว่ากลุ่มคนนั้นหลงผิด ได้รับข้อมูลไม่สมบูรณ์ ทั้งในเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้นการต่อสู้ไม่ได้มุ่งต่อสู้กับกลุ่มคน แต่มุ่งไปที่การต่อสู้กับวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องของคน ไม่ว่าความคิดเหล่านั้นจะมาจากฝ่ายใด


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต้องเชื่อว่าสันติวิธีนั้น มีทางออกให้กับสังคมได้ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ มักจะเชื่อว่า คิดว่า เมื่อมีความขัดแย้งแล้ว ทางออกคือการใช้ความรุนแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความมั่นใจในกระบวนการสันติวิธี ว่าจะเป็นทางออกให้กับสังคมได้


 


แล้วให้ตระหนักว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงนั้นเป็นพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน ที่มีความคิด ความเชื่อและแรงจูงใจ ของเงื่อนไขความอยุติธรรมที่สั่งคมมาแต่อดีต โดยเฉพาะความหวาดระแวง อิทธิพลของงานข่าวที่ไม่แม่นยำของเจ้าหน้าที่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งทีทำให้เกิดความหวาดระแวง หมายความว่า เมื่อไม่ชัดเจนแล้วไปจับ แทนที่จะส่งผลในทางบวก กลับส่งผลในทางลบ


 


โดยสรุปแล้วปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 3 ปัญหาใหญ่ หนึ่ง กระบวนการ ยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การเยียวยาผลกระทบต่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เวลาบรรยายต้องพูดในสองข้อ หนึ่ง ปัยหาในเรื่องโรค และของแสลง อันนี้ก็เป็นลักษณะของแสลงอย่างหนึ่ง คือ กระบวนการอยุติธรรม การดูถูกดูแคลน การอุ้มฆ่า การทรมาน ปัจจัยเหล่านนี้เป็นของแสลงที่ทำให้เกิดความรุนแรง โรคมีอยู่แล้ว เมื่อได้รับของแสลง ก็ทำโรคกำเริบขึ้น


 


สอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้ง การศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งภาคใต้อยู่ติดกับประเทศเพื่อบ้าน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณภาพชีวิตของคนด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ความรู้สึกเชื่อมโยงมีอยู่แล้ว คือ ความเป็นมลายู มันอาจมองในเชิงเปรียบเทียบว่าทำไม่ถึงเสียเปรียบ ทำไม่ไม่มีชีวิตที่ดีเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นการพัฒนาจึงเป็นปัจจัยสำคัญ


 


สาม คือ โรคของความไม่เข้าใจ แต่ใช้คำให้สุภาพคือการสื่อสารความเข้าใจและการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เรามองว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ความคิดความเชื่อที่ไม่ถูกต้องใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งต้องแก้ไข นั่นคือ


 


ความคิด ความเข้าใจในเรื่องชาติพันธุ์ การอ้างใบปลิวต่างๆ จากเอกสารต่าง ที่นำมาศึกษา ปรากฏว่ามีความพยายามปลุกระดมในเรื่องการต่อสู้เพื่อชนชาติมลายู มองเห็นว่าความเป็นมลายูกับความเป็นไทย มันไปกันไม่ได้


 


ผมบรรยายหลายที่ว่า ความจริงความเป็นคนไทยกับความเป็นมลายูมันไม่ได้ขัดอะไรเลย เพราะความเป็นคนไทยหมายถึงความเป็นสมาชิกของประเทศ จะเชื้อสาย ชาติพันธุ์หรือศาสนาอะไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


อย่างที่มีการพูว่า รัฐบาลแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลพยายามทำให้คนที่นี่เป็นคนไทย แท้จริงเขาไม่ใช่คนไทย แต่เขาเป็นคนมลายู อย่างนี้เป็นต้น คำพูดอย่างนี้ทำให้เกิดความสับสน เกิดความเข้าใจผิดแล้วนำมาเป็นข้ออ้างด้วย


 


เพราะฉะนั้นความเข้าใจเหล่านี้ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลให้เข้าใจ ทั้งในแง่ของหลักการศาสนา หลักความเป็นจริง หลักทางสังคม


 


ประเด็นที่สองที่ต้องแก้ไขคือความคิดความเชื่อในเรื่องหลักคำสอนทางศาสนา ไม่ใช่ของทั่วๆไป แต่เป็นของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ที่พยายามตีความทำให้มองเห็นว่า การต่อสู้เพื่อสร้างรัฐปัตตานี คือการต่อสู้ในทางศาสนา คือ ญีฮาด แต่มีการวินิจฉัยว่ามันไม่ใช่ เพราะถ้าประเทศใดก็ตามที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนทางศาสนาแล้ว ยืนยันได้ว่าตรงนั้น คือ ดารุสลาม เพราะฉะนั้นจะเป็นเงื่อนไขข้ออ้างว่าเป็นการต่อสู้ในทางศาสนา คนที่ตายในการต่อสู้คือ ชาฮีด จะได้เข้าสวรรค์ อย่างนี้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เราคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องชี้แจงทำความเข้าในให้พี่น้องประชาชน


 


สาม เรื่องการอ้างความเป็นจริงในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่เขาจะเล่าขานในเรื่องประวัติศาสตร์ช่วงใดช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงที่มีการกวาดต้อนของฝ่ายสยาม แต่ไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ในช่วงยาว และไม่ได้พูดถึงในแง่บวกของประวัติศาสตร์


 


เหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปว่าบทบาทประการหนึ่งในการแก้ปัญหานอกเหนือจากภาครัฐ กลไกภาคประชาชน กลไกผู้นำศาสนาในพื้นที่น่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดัน ให้มีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักต่างๆ เหล่านี้


 


ส่วนประเด็นในเชิงปฏิบัติคือ มีข้อเสนอคือ การสร้างสถาบันยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอิสระ และตั้งสภาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายเป็นข้อสรุปว่า ภาคประชาชนจริงๆ ไม่ได้มีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นแต่เพียงที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 แต่สภาที่เขาสามารถตัดสินและรับรู้ถึงความเจ็บปวดยังไม่มี ในรายงานระบุว่า ประชาชนยังไม่มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกรมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของสังคมนี้ ภายใต้กฎหมายของบ้านเมืองนี้


 


นายนิรันดร์ เสริมด้วยกรณีที่มีครูสอนศาสนาคนหนึ่งที่ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยถามเขาว่าถึงแนวคิดว่า คนไทยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยเป็นกาฟีร(คนนอกศาสนาอิสลาม)แบบไหน เขาตอบว่า เป็นกาฟีรฮารบีย์ หมายถึง ผู้ปฏิเสธที่เป็นศัตรู ตนตกใจมาก เลยถามเขาว่าเอาหลักการอะไรมาพูดอย่างนี้ นี่คือปัญหา เพราะฉะนั้นผู้นำศาสนาต้องชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจ ไม่อย่างนั้นเขาจะคิดอย่างนี้คือ คิดว่าคนพุทธเป็นศัตรูทั้งหมด ต้องไปไล่ฆ่าเขา ตนถึงบอกว่าต้องชี้แจงแสดงเหตุผลให้เข้าใจว่า คิดอย่างนี้ไม่ได้


 


การแสดงเหตุผลอย่างนี้ต้องอาศัยคนที่เป็นผู้รู้ทางศาสนา นั่นแสดงว่ามีการสอนอย่างนี้เกิดขึ้น อย่างนี้ต้องรื้อวิธีการสอนศาสนาใหม่เลย ส่วนที่เขาถูกซ้อมน่าจะเป็นเพราะเขาไปยั่วโมโหเจ้าหน้าที่ และจ้าหน้าที่ก็ทำไม่ถูก แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าคือแนวคิดที่เขาสะท้อนออกมา


 


"ถ้ามีการสอนอย่างนี้ในโรงเรียนผมคิดว่าเป็นอันตรายต่อสังคมและต่อศาสนาอิสลามด้วย เพราะฉะนั้นเวลาผมไปพูดที่ไหนจะพูดว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ จากการกระทำของคนกลุ่มเล็กๆ ทำให้ศาสนาอิสลาม คนที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย และสถาบันสอนศาสนาอิสลามตกเป็นจะเลยของสังคม กลายเป็นว่าศาสนาอิสลามสอนให้รังเกียจ เกลียดชัง ทั้งที่ศาสนาอิสลามสอนให้สันติ รักความผาสุกร่มเย็นให้เกิดขึ้นกับมนุษย์"


 


มุสลิมในวันนี้กลายเป็นคนโหดร้ายทารุน เพราะคนเล็กๆ ทำ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็แล้วแต่ และสถาบันสอนศาสนาก็กลายเป็นที่ปลูกฝังแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ทำให้สถาบันตกเป็นจะเลยไปด้วย ทั้งๆที่ ความเป็นจริง สถาบันปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ ไม่ได้มีแนวคิดอย่างนั้น แต่มีคนกลุ่มหนึ่งแฝงเข้าไป ปัญหาอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นต้องพูดความจริง


 


เพราะฉะนั้นนอกจากเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลรักษาความสงบแล้ว ภาระหนักจึงตกอยู่ที่มุสลิมด้วยกันเอง จะทำอย่างไร ถ้าวางเฉยก็กลายเป็นว่าขบวนการเหล่านี้ก็ยิ่งเติบโต กำเริบเสิบสาน เพราะไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมา มีหนังสือชี้แจง แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยกันพูดครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างน้อยที่สุดความชอบธรรมมันเริ่มจะหมดไปในสายตาของประชาชน


 


ส่วนในการแสดงความคิดเห็นนั้น พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ในฐานะกรรมาธิการฯ เปิดเผยในที่ประชุมว่า ยอมรับในข้อเสนอของกรรมาธิการฯ และตำรวจเองก็มีการปรับตัวและยอมรับการตรวจสอบมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการสืบสวนสอบสวนหรือการนำผุ้ก่อความไม่สงบมาเข้ากระบวนการยุติธรรม ตอนนี้คดีที่ขึ้นสู่ศาลแล้ว มีการพิพากษาลงโทษไม่น้อยกว่า 112 คดี มีทั้งติดสินประหารชีวิตและจำคุก


 


"ขณะนี้เราได้ทราบถึงเครือข่ายขบวนการที่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 7,800 กว่าคน และยังสามารถยืนยันได้ว่าเป็นระดับผู้สั่งการเท่าไหร่ ปฏิบัติการเท่าไหร่ แนวร่วมเท่าไหร่ นี่คือที่เราใช้กระบวนการสืบสวนสอบสวนตามหลักนิติธรรม"


 


"วันนี้เราชัดเจนมากใสการปฏิบัติ แต่วันที่สิ่งที่เรายังไม่ได้ทำคือเรื่องความคิดความเชื่อ เพราะถึงแม้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งน่าเห็นใจมากเพราะผู้ก่อเหตุเป็นเด็กดี แต่ถูกปลุกระดมและสาบานตนไปฝึกยิงชาวบ้าน ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการสอดส่องและดูแล ถ้าไม้เร่งปรับระบบเรื่องการศึกษาและผู้ใหญ่ไม่ช่วยกัน คิดว่าคงจะลำบาก เพราะถ้าผมจับคนมาหมื่นคน แต่วันนี้การศึกษายังสามารถบ่มเพาะได้ ผมก็คิดว่าเราคงต้องเหนื่อยไปอีกนาน"


 


พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่ทหารกำลังทำอยู่คือการหยุดการก่อความไม่สงบซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่นักสิทธิมนุษยชนหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การควบคุมคนมาหนึ่งร้อยคน แล้วมีหนึ่งคนที่ถูกทำร้ายร่างกาย แล้วเอาเรื่องของหนึ่งคนมาหยุดการทำงานของทหาร นั่นคือสิ่งทีทหารมอง เพราะฉะนั้นจึงมีการคุยกับองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ข้อยุติว่าต่อไปนี้จะทำงานร่วมกันถ้าสงสัยประเด็นไหนให้ติดต่อมาเพื่อข้อเท็จจริงกระจ่างชัด เพื่อถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะนำเรื่องเหล่านี้เปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะประชาชนเองก็ไม่อยากเอาเรื่องของเขาไปบอกกับคนที่อื่นถึงความไม่ดีของที่นี้ ขณะเดียวกันทหารก็พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดโดยการทำร้ายประชาชน


 


 นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ จากศูนย์ทนายความมุสลิม เสนอให้รัฐให้เครดิตกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชน เพราะเขาเป็นตัวแทนของชาวบ้านได้ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนในเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่ได้แจ้งว่าถูกนำตัวไปที่ไหนถึง 110 เรื่อง ทำให้ต้องมีการประสานงานและอบถามไปยังที่ต่างๆ จนเวลาล่วงเลยไป ทำให้ญาติเป็นห่วง เพราะฉะนั้นถ้าเจ้าหน้าที่แจ้งให้กับผู้นำเหล่านั้นทราบก็จะทำให้ญาติสบายใจได้ระดับหนึ่ง เพราะเขาจะเป็นตัวแทนไปอธิบายให้ชายบ้านเข้าใจได้


 


นายครองชัย หัตถา อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบกระทรวงศึกษาธิการไม่ยอมทำงานออกมาช่วยอธิบายให้สาธารณะได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่เลย ทำให้มีการเรียนประวัติศาสตร์กันคนละเล่ม ทำให้มีความไม่เข้าใจตรงกัน เช่นเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่ได้แสดงบทบาทให้ช่วยการแก้ปัญหาได้อย่างเต็มที่และเหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net