Skip to main content
sharethis


วันที่ 12 ก.พ.51  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายแถลงข่าวว่าด้วย นโยบายประเทศที่ประชาชนต้องการ โดยนำเสนอแนวทางนโยบายด้านต่างๆ แก่รัฐบาลใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายในการบริหารประเทศที่ดีเพื่อที่จะก้าวผ่านภาวะยากลำบากที่กำลังดำเนินอยู่ และนโยบายที่ดีจะต้องยืนอยู่บนหลักของการตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน คำนึงถึงคนจนและคนด้อยโอกาส ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และเป็นไปเพื่อดำรงอธิปไตยของประเทศ

 


รายละเอียดมีดังนี้


 


นโยบาย 13 ประการที่รัฐบาลต้องดำเนินการ


 


1.   การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อมภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ในอัตราก้าวหน้า


2.   การควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศ เช่น ภาษีการค้าเงินตราระหว่างประเทศ


3.   จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การกำกับ และบริหารกิจการสาธารณูปโภค ไม่แปรรูปหรือขายวิสาหกิจของรัฐ


4.   การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นใด ต้องทำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้หลักการความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ และหลักการความเป็นธรรม


5.   สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยทั้งด้านการบริการโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ทุนเพื่อการผลิต การแปรรูป การตลาด


6.   ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย ชนเผ่าดั้งเดิม และผู้ไร้ที่ดินทำกินมีกรรมสิทธิ์ และสิทธิในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยดำเนินมาตรการการปฏิรูปที่ดิน มาตรการทางภาษี การจัดตั้งธนาคารที่ดิน รวมถึงมาตรการอื่นๆ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการปฏิรูปที่ดินทุกขั้นตอน 


7.   มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการทำงาน และการเข้าถึงสวัสดิการและหลักประกันทางสังคมที่จำเป็นอื่นๆ เช่น การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ และการเสียชีวิต คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน การบริหารงานและการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิการเจรจาต่อรอง ตลอดจนการจัดระบบแรงงานสัมพันธ์


8.   สร้างสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น การศึกษา สวัสดิการผู้สูงอายุ แรงงานตกงาน และผู้ทุพพลภาพ


9.   ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการตัดสินใจ กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ


10. ประชาชนทุกคน และโดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไตวาย มีสิทธิเข้าถึงการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐาน ทั่วถึงเท่าเทียม และครอบคลุมกลุ่มคนที่เข้าถึงยาก รวมทั้งต้องให้มีการดำเนินการมาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนและการพึ่งตนเองของประเทศ


11. สร้างหลักประกันด้านที่อยู่อาศัยให้แก่คนจนเมือง และคนไร้บ้าน โดยดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงอย่างต่อเนื่อง และปฏิรูปที่ดินในพื้นที่เมืองเพื่อรับรองสิทธิด้านที่อยู่อาศัย


12. ออกกฎหมายให้มีองค์การอิสระผู้บริโภค องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน อย่างเร่งด่วน ตามหลักการในรัฐธรรมนูญ


13. 

ออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการใช้บริการทางการแพทย์ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ ชดเชยความเสียหาย และยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์


 


นโยบาย 3 ประการที่รัฐบาลต้องหยุดดำเนินการ


 


1.   ทบทวนแก้ไข "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP2007)" และยกเลิกแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยุบสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์  (สพน.) ที่นำเงินหลายพันล้านบาทที่เพิ่งอนุมัติไป คืนกลับสู่กองทุนอนุรักษ์พลังงาน


2. ระงับกระบวนการเจรจา การทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการ จนกว่าจะออกกฎหมายหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ และประเมินผลกระทบข้อตกลงที่ได้บังคับใช้แล้วในช่วงที่ผ่านมา


3.  แก้ไขชุดกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร กฎหมายความผิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์ กฎหมายภาพยนตร์และวีดีทัศน์ฯ กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น


 


 000000


 






 


 


น โ ย บ า ย ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย ที่ ป ร ะ ช  า ช น ต้ อ ง ก า ร


 


 


ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่าย มีประสบการณ์ในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประชาชนทั้งในภาคชนบท และภาคเมือง และมีการสร้างพันธมิตร ความร่วมมือกับนักวิชาการ ประชาสังคม และนักปฏิบัติการทางสังคมกลุ่มต่างๆ กป.อพช. ได้จับตาดูทิศทางและนโยบายของรัฐบาลของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาบริหารประเทศและมีความเห็นในเชิงวิพากษ์ว่า ล้วนแต่มีทิศทางที่มุ่งเน้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเสรีการค้า การเงิน การลงทุน เปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมไปสู่การตอบสนองตลาดและการส่งออก กระตุ้นการบริโภคของประชาชน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความยากจนของเกษตรกรในชนบท  ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน  คนจนในเมือง นำไปสู่การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสูญสลายของสังคมชุมชนท้องถิ่น และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งไปกว่านั้น ความเติบโตทางเศรษฐกิจยังมิได้ถูกกระจายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมระหว่างกลุ่มคนต่างๆ สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน  ซึ่งนับวันจะกลายเป็นช่องว่างที่ถ่างกว้างออกไปทุกกขณะและมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงขึ้น


 


กป.อพช.และเครือข่ายภาคประชาชน เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายในการบริหารประเทศที่ดี  เพื่อที่จะก้าวผ่านภาวะยากลำบากที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งนโยบายที่ดีนั้นจะต้องยืนอยู่บนหลักของการตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน คำนึงถึงคนจนและคนด้อยโอกาส ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และเป็นไปเพื่อดำรงอธิปไตยของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


 


 


นโยบายด้านเศรษฐกิจ


ปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และระบบเศรษฐกิจเสรี รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมหภาค และภาคการเงินเป็นหลัก มาเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง บนรากฐานสังคมเกษตรกรรม บนหลักการของความเป็นธรรม ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ภราดรภาพ และการให้หลักประกันทางสังคมแก่ประชาชน


 


-  การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม  เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อมภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ในอัตราก้าวหน้า


 


-  การควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศ  เช่น ภาษีการค้าเงินตราระหว่างประเทศ


 


-  จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การกำกับ และบริหารกิจการสาธารณูปโภค  ไม่แปรรูปหรือขายวิสาหกิจของรัฐ


 


 


นโยบายด้านพลังงาน


- ทบทวนแก้ไข "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP2007)" และยกเลิกแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยุบสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) ที่นำเงินหลายพันล้านบาทที่เพิ่งอนุมัติไป คืนกลับสู่กองทุนอนุรักษ์พลังงาน


 


 


นโยบายด้านต่างประเทศ


-  ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศบนพื้นฐานของอธิปไตย ความเสมอภาค สันติภาพ และการเคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักกติกาอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ทำไว้กับองค์การสหประชาชาติ


-  ระงับกระบวนการเจรจา การทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการ จนกว่าจะออกกฎหมายหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ และประเมินผลกระทบข้อตกลงที่ได้บังคับใช้แล้วในช่วงที่ผ่านมา


 


 


นโยบายด้านทรัพยากร


การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นใด ต้องทำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน  ภายใต้หลักการความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ และหลักการความเป็นธรรม


 


 


นโยบายด้านการเกษตร


-   สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยทั้งด้านการบริการโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ทุนเพื่อการผลิต การแปรรูป การตลาด


-   มีมาตรการปกป้องคุ้มครองภาคเกษตรกรรม การพยุงราคาสินค้าเกษตร และการแทรกแซงราคาอย่างมีประสิทธิภาพ และการอุดหนุนปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม


- ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย ชนเผ่าดั้งเดิม และผู้ไร้ที่ดินทำกินมีกรรมสิทธิ์ และสิทธิในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยมาตรการการปฏิรูปที่ดิน มาตรการทางภาษี การจัดตั้งธนาคารที่ดิน รวมถึงมาตรการอื่น ๆ  และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการปฏิรูปที่ดินทุกขั้นตอน 


-  คุ้มครองให้เกษตรกรรายย่อยเป็นเจ้าของ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางพันธุกรรม และปัจจัยการผลิต รวมทั้งสิทธิในมรดกทรัพย์สินทางปัญญา และนวัตกรรมใดๆของชุมชน จะต้องได้รับการรับประกันและคุ้มครอง


           


 


นโยบายด้านแรงงาน


-  ให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองการทำสัญญาจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองความเสมอภาคการจ้างงาน และกำจัดการเลือกปฏิบัติการจ้างงานหรือความแตกต่างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสภาพการจ้างภายใต้สภาพการทำงานเดียวกัน รวมทั้งการประกันรายได้และค่าตอบแทนที่เป็นธรรมของแรงงาน


-  มีมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงมีครรภ์ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและโอกาสการจ้างงานสตรี และรวมทั้งการคุ้มครองแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติให้ได้รับความเป็นธรรม


- มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการทำงาน และการเข้าถึงสวัสดิการและหลักประกันทางสังคมที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ และการเสียชีวิต


- คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน การบริหารงานและการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิการเจรจาต่อรอง ตลอดจนการจัดระบบแรงงานสัมพันธ์


 


 


นโยบายด้านสวัสดิการสังคม


-   สร้างสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น การศึกษา สวัสดิการผู้สูงอายุ แรงงานตกงาน และผู้ทุพพลภาพ


-  สร้างหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน


 


 


นโยบายด้านผู้หญิง


- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการตัดสินใจ กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ


 


 


นโยบายด้านเด็ก


ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็ก และการพัฒนาเด็กที่สอดคล้องกับวัย และวุฒิภาวะในด้านสติปัญญา อารมณ์ความรู้สึก การเรียนรู้และการปลูกฝังคุณธรรม


 


 


นโยบายด้านผู้ติดเชื้อ


-  ประชาชนทุกคนที่ติดเชื้อเอชไอวี และป่วยด้วยเอดส์ มีสิทธิเข้าถึงการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐาน ทั่วถึงเท่าเทียม และครอบคลุมกลุ่มคนที่เข้าถึงยาก


-  สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ได้รับการพัฒนาศักยภาพในทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา การอยู่ร่วมในสังคม ความมั่นคงทางจิตใจ อารมณ์ และอื่นๆ รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ผู้ดูแล ทั้งในครอบครัว ชุมชนและสถานสงเคราะห์ มีความสามารถมากขึ้นในการดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ


-  สนับสนุนและส่งเสริมความเข้าใจ ในการอยู่ร่วมกันของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ ต่อสังคมและชุมชนโดยไม่ใช้สถานะของการมีเชื้อเอชไอวีมาเป็นอุปสรรคในการมีงานทำ การเข้ารับการศึกษา และการมีถิ่นอาศัยในสถานที่ต่างๆ รวมถึงการได้รับสวัสดิการต่างๆ


 


 


นโยบายด้านที่อยู่อาศัย


สร้างหลักประกันด้านที่อยู่อาศัยให้แก่คนจนเมือง และคนไร้บ้าน โดยดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงอย่างต่อเนื่อง และปฏิรูปที่ดินในพื้นที่เมืองเพื่อรับรองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและแก้ไขปัญหาการไล่รื้อ


 


 


นโยบายด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสาธารณสุข


ออกกฎหมายให้มีองค์การอิสระผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน ตามหลักการในรัฐธรรมนูญออกกฎหมายครองผู้เสียหายจากการใช้บริการทางการแพทย์ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ ชดเชยความเสียหาย และยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ให้มีการดำเนินการมาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชน  และการพึ่งตนเองของประเทศ


ให้มีมาตรฐานเดียวในการรักษาพยาบาล จากระบบหลักประกันสุขภาพทั้งสามประเภท และสร้างความเท่าเทียมในระบบสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานด้านบริการสาธารณสุข    


 


 


นโยบายการปฏิรูปสื่อ


-  แก้ไขชุดกฎหมายสื่อที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น กฎหมายความผิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์ กฎหมายภาพยนตร์และวีดีทัศน์ฯ กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น


-  ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ และการเข้าถึงและใช้ประโยชน์กองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543


- ให้ประชาชนเข้าถึง ได้รับสิทธิ และมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่  เช่น วิทยุชุมชน โทรทัศน์ชุมชน


           


 


กป.อพช. และเครือข่ายภาคประชาชนจะใช้แนวนโยบายเหล่านี้ในการติดตาม ตรวจสอบ การบริหารประเทศของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและจริงจังตามวิถีทางประชาธิปไตยทุกประการ


 


 


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551


 


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net