เปิดนโยบายรัฐ 18 ข้อ ชูสมานฉันท์ ปราบยาเสพติด "เฉลิม" เดินหน้าตั้งเขตปกครองพิเศษ จชต.

การประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (12)  ที่ประชุม ได้ผ่านความเห็นชอบร่างนโยบายรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดยร่างนโยบายดังกล่าวมีการ ระบุถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในปีแรก มีทั้งหมด 18 ข้อ ได้แก่

 

1. การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. การเร่งรัดปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติด   3. ดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ  โดยดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาพลังงาน

 

4. เพิ่มศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 5. จัดสรรงบประมาณตามขนาดประชากร (Small Medium Large : SML) ให้ครบทุกหมู่บ้านและชุมชน 6. สานต่อโครงการธนาคารประชาชน 7. สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน 8. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

 

9. ปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรรายย่อยและยากจน 10. สร้างระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร 11. ขยายบทบาทของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix-it Center) และสถาบันอาชีวศึกษา 12. สร้างโอกาสให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึง

 

13. เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ 14. ดำเนินมาตรการลดผลกระทบจากราคาพลังงาน 15. ฟื้นความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย 16. วางระบบการถือครองที่ดินและกำหนดแนวเจตการใช้ที่ดินให้ทั่วถึงและเป็นธรรม 17. ขยายพื้นที่ชลประทานและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน 18. เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน

 

 

"เฉลิม" เดินหน้าตั้งเขตปกครองพิเศษ จชต.

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องให้ทหารเป็นหลัก โดยกระทรวงมหาดไทย ในฐานะฝ่ายปกครอง ก็จะมีส่วนผสมผสาน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองศาสนา โดยให้มีการทำประชาพิจารณ์ โดยมีแนวคิด ไม่เพิ่มสถานบริการ ในส่วนที่มีอยู่เดิมก็ไปคิดว่าจะลดลงได้หรือไม่ ใครอยากเที่ยวก็ให้ไปที่สตูลและหาดใหญ่ แล้วลองดูว่าผลกระทบจะมีมากน้อยแค่ไหน

 

"การตั้งเขตปกครองพิเศษ ต้องมาช่วยกันดูว่าจะให้เป็นรูปแบบใด จีนหรือเยอรมนี ให้ช่วยกันคิดไม่ใช่มานั่งเฉยๆ แล้วปล่อยให้เกิดเหตุร้ายรายวันโดยไม่ทำอะไร ประเทศไทยปกครองในระบบรัฐเดียว แบ่งแยกไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีเปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่นั่งรอวันตาย ผมคงไม่เน้นการลงไปในพื้นที่ เพราะเราต้องรู้ว่ากองกำลังฝ่ายตรงข้ามพอมีผู้ใหญ่ลงพื้นที่ ก็จะมีการโต้กลับค่อนข้างรุนแรง และการลงพื้นที่ของผม ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ข้าราชการในพื้นที่ก็เหนื่อย ต้องมารับมาดูแลความปลอดภัย แล้วอยากถามว่าถ้ารัฐมนตรีลงไปแล้วขวัญกำลังใจดีขึ้นหรือเปล่า มันคนละเรื่อง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

 

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การตั้งเขตปกครองพิเศษต้องปรึกษากับกองทัพ กระทรวงมหาดไทยเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ทหารมีบทบาทสำคัญที่สุดในการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธี วันนี้กองทัพได้ส่งแม่ทัพนายกองฝีมือดีลงไปมากแล้ว ส่วนตนในฐานะ รมว.มหาดไทย ก็ต้องเอาของเก่ามาศึกษาว่าเป็นอย่างไร บกพร่องตรงไหนแล้วจะแก้อย่างไร โดยจะต้องทำควบคู่กันไประหว่างมวลชนและการทำหน้าที่ของทหาร โดยการเมืองจะต้องนำการทหาร ต้องทำให้ประชาชนที่ยังมีความคลางแคลงใจกลับมาเป็นพวกให้ได้ และที่สำคัญที่สุดต้องใช้หลักนิติธรรม นิติรัฐ เอาความเป็นธรรมเป็นตัวตั้ง

 

"ในเรื่องของความเด็ดขาดทหารเขาทำหน้าที่อยู่แล้ว ส่วนนี้ต้องให้ทหารเขาเป็นหลัก และการหารือกันเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ผมได้ยืนยันไปแล้วว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงโดยการยกเลิกนั้นไม่มี แต่จะต้องมีการปรับปรุงตามที่ร้องขอว่าประชาชนต้องการและไม่ต้องการอะไร ส่วนจะมีโอกาสได้หารือกับฝ่ายทหารเมื่อไรนั้นคงต้องปรึกษากับนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมก่อน ผมจะเข้ามาทำงาน ไม่ได้นั่งเฉยๆ ผูกเนกไทใส่เสื้อนอกเดินแอคไปแอคมาแถวกระทรวงนั้นไม่ใช่ผม" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

 

"ในส่วนที่ผมระบุว่าอาจเกิดเหตุการณ์ระเบิดในช่วงนี้ ก็เป็นการคาดการณ์ เพราะมักมีเหตุการณ์แบบนี้เกือบทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ซึ่งจุดที่มักจะเป็นเป้า คือ กรุงเทพฯ แถวๆ กระทรวงมหาดไทย หาดใหญ่ และที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการคาดการณ์ของผม และยอมรับว่ามีข้อมูลด้านการข่าวนิดหน่อย" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

 

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ได้หารือกับ ผอ.ศอ.บต. ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด ว่านายอำเภอและปลัดอำเภอในพื้นที่ควรจะต้องได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ย่นระยะเวลาการขึ้นตำแหน่งเป็นปลัดจาก 4 ปี เหลือ 3 ปี การจัดสวัสดิการพิเศษให้แก่ข้าราชการในพื้นที่ รวมทั้งการเสนอขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นเกียรติประวัติในการทำงาน นอกจากนี้จะมีการหารือกับผู้นำศาสนาในพื้นที่ด้วยว่าคิดเห็นอย่างไร ที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องกฎหมายบ้างหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือแนวคิดเรื่องเขตปกครองพิเศษ

 

"ไอ้ชนิดที่ว่าจะมีการออกกฎหมายแบ่งแยกการปกครอง หรือให้มีการเลือกตั้งกันเอง เอาไว้คิดชาติหน้าเถอะ ไม่ใช่ชาตินี้ ซึ่งเนื้อหาของเขตปกครองพิเศษอยู่ที่สาระ ไม่ได้อยู่ที่ชื่อเรียก แต่ที่ผ่านมาคนฟังไม่เข้าใจ รัฐมนตรีก็ไม่เคยคิด เอาแต่กินข้าวร้อน นอนตื่นสาย อย่างนั้นไม่ใช่ผม มันต้องคิดค้นว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสงบเรียบร้อย ดังนั้น คำว่าเขตปกครองพิเศษจึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกดินแดน เพราะประเทศไทยเป็นรัฐเดียว ไม่ใช่สาธารณรัฐ อย่าเข้าใจผิด" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

 

นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าฯ ปัตตานี กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นการเข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นประกอบการประเมินและกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพอใจ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของพื้นที่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่างๆ ก่อนที่รัฐบาลจะพิจารณากำหนดนโยบายใดๆ ออกมา

 

"ทุกฝ่ายพยายามนำเสนอประเด็นที่เชื่อว่าเป็นผลดีต่อพื้นที่โดยภาพรวม ซึ่งต้องได้รับการสานต่อเพื่อไม่ให้งานสะดุดและผลักดันให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพัฒนาต่อยอดจากที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาโครงสร้างการบริหารงานในจังหวัดชายแดนใต้ ยึดหลักบูรณาการอยู่แล้ว มีข้อแตกต่างตรงที่แต่ละจังหวัดสามารถต่อยอดประเด็นเจาะลึกไปสู่ระดับอำเภอ ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน อย่างมีระบบและประสิทธิภาพเพียงใดเท่านั้น" นายภาณุ กล่าว

 

นายภาณุ กล่าวอีกว่า ส่วนที่จะให้สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษนั้น เป็นเพียงการนำเสนอมุมมองต่อทิศทางการแก้ไขปัญหาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำบทเรียนการแก้ไขปัญหาของมณฑลซินเกียง ในประเทศจีน และเยอรมนี มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยเท่านั้น ยังไม่ได้มีการสั่งการหรือกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีการศึกษาและพูดคุยกันอยู่นานแล้วในระดับพื้นที่ เพียงแต่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเท่านั้น โดยเบื้องต้นทุกฝ่ายรับที่จะนำไปศึกษาดูก่อน เช่นเดียวกับประเด็นการทำประชาพิจารณ์ให้สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปลอดสถานบันเทิง ซึ่งจำเป็นต้องกลับไปศึกษาและสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่เพื่อนำเสนอต่อไป

 

"ข้อสรุปในการกำหนดนโยบายเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลจะยึดเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นหลักสำคัญ โดยนับจากนี้ไปสิ่งที่ทุกจังหวัดต้องปฏิบัติ คือ เร่งสำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เพื่อระดมความคิดเห็นนำเสนอรัฐต่อไป" นายภาณุ กล่าว

 

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าฯ นราธิวาส กล่าวว่า การยกเขตปกครองพิเศษมณฑลซินเกียงของประเทศจีน และเยอรมนี เป็นต้นแบบศึกษาแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นเพียงแนวคิดที่จะให้ทุกฝ่ายศึกษาดูก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่เท่านั้น ส่วนจะดำเนินการจริงหรือไม่ยังไม่ชัดเจน เบื้องต้นไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งที่ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้

 

"สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแสดงความคิดเห็นตรงกัน คือ ทุกจังหวัดจะเร่งพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเพื่อเป็นเกราะป้องกันอันตรายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะนราธิวาสตั้งเป้าปี 2551 จะรุกสร้างความเข้มแข็งเจาะลึกรายหมู่บ้านให้ได้ 396 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 500 กว่าหมู่บ้าน โดยยึดแผนแม่บทชุมชนยั่งยืนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นปลอดภัย หรือหมู่บ้านสีเขียว 100%" นายการัณย์ กล่าว

นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า เรื่องเขตปกครองพิเศษ ข้อมูลดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของพี่น้องสื่อมวชนในการตีความประเด็นดังกล่าว เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม เพียงแต่ให้ศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น ไม่ใช่แนวคิดที่จะดำเนินการทันที ที่สำคัญแนวทางที่จะมีการดำเนินการต่อยอด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่นั้น คือ เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 ให้ จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.สตูล และ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา จ.สงขลา เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี (ม.ค.2550-ธ.ค.2552)

 

นายพระนาย กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้รับนโยบายจาก รมว.มหาดไทย เรื่องการแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพ ในการทำงานของข้าราชการทุกภาคส่วนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และหาสาเหตุของความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเร็วที่สุดนั้น ได้เตรียมการเรียกทุกฝ่ายประชุมใหญ่ภายในเดือนนี้ เพื่อเพิ่มความสมัครสมานสามัคคีในการทำงานให้มากขึ้น รวมถึงประชุมร่วมกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และตัวแทนชาวบ้าน ที่สำคัญจะประชุมใหญ่ร่วม 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และปกครอง เพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นเอกภาพมากที่สุด เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจถึงปัญหา

 

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ให้ผู้เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ถึงแนวทางเขตปกครองพิเศษ มาปรับใช้กับพื้นที่ภาคใต้ แม้เรื่องนี้จะมีการพูดกันมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาและวิเคราะห์แนวทางอย่างจริงจัง ทั้งที่ตลอด 4 ปีของปัญหาที่เกิดขึ้น มีเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่จำนวนไม่น้อย ต้องการให้รัฐบาลศึกษาแนวทางเขตปกครองพิเศษ หรือเขตปกครองตนเอง (Autonomous Region) มาใช้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา จำเป็นที่รัฐจะต้องพิจารณาการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ เนื่องจากรูปแบบการปกครองเดิมที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม และไม่เห็นการใช้รูปแบบการปกครองพิเศษจะเป็นการแบ่งแยกดินแดน ประเทศที่เจริญแล้วจะกระจายอำนาจการปกครองไปยังภูมิภาค และสอดรับกับระบบประชาธิปไตย ซึ่งในประเทศจีนมีการใช้รูปแบบดังกล่าวในบางมณฑล หรือที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องเขตปกครองพิเศษ แก่ชาวโมโร ซึ่งมีลักษณะปัญหาที่ไม่ต่างจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย การเปิดโอกาสให้คนมลายูส่วนน้อยของประเทศ แต่เป็นคนส่วนมากในสามจังหวัด ได้บริหารจัดการตัวเอง น่าจะทำให้หลายฝ่ายเลิกใช้ความรุนแรง หากรัฐเข้าใจแก่นแท้และกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

 

 

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า, เว็บไซต์คมชัดลึก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท