อรรถจักร สัตยานุรักษ์ : ความคาดหวังของสังคมไทย ความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่

จักรพันธ์ บุญเม่น : เรียบเรียง

 

 

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา รายการ"มองคนละมุม"สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน FM.100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนายมาณพ คีรีภูวดล ผู้ดำเนินรายการ ได้สัมภาษณ์ "รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงประเด็นความคาดหวังของประชาชนกับรัฐบาลชุดใหม่ โดยได้บอกย้ำว่า สังคมควรจะตระหนักในระบบประชาธิปไตยนี้ สังคมต้องมีส่วนกำกับรัฐบาล สังคมต้องสามารถสร้างญัตติสาธารณะที่นักการเมืองในรัฐบาลหรือรัฐมนตรีเองจะต้องฟังและนำไปปฏิบัติ

 

000

 

 

 

 

อาจารย์คาดหวังอะไรไหมกับรัฐบาลชุดนี้?

ถามว่าเราจะคาดหวังอะไรได้ไหมนี้คงไม่ใช่ เราคาดหวังว่าเขาจะทำอะไรให้เรานะครับ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมคาดหวัง คือ คาดหวังว่าสังคมจะตระหนักในระบบประชาธิปไตยนี้ สังคมต้องมีส่วนกำกับรัฐบาล สังคมต้องสามารถสร้างญัตติสาธารณะที่นักการเมืองในรัฐบาลหรือรัฐมนตรีเองจะต้องฟังและนำไปปฏิบัติ หวังว่าประสบการณ์ของเราที่ผ่านความ จะใช้คำว่าความเจ็บปวดก็ได้ หลังรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ เราต้องคิดตรงนี้มากขึ้น เราอย่าไปหวังว่ารัฐบาลจะทำโน้นทำนี้ให้เรานะครับ เพราะว่าคงไม่ใช่สิ่งที่นำไปสู่ความเติบโตด้านประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ผมหวังว่าภาคสังคมเรานี้น่าจะจับตา แล้วก็สร้างญัตติสาธารณะขึ้นมา และในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยนี้มันเป็นจังหวะดีที่เราจะสร้างญัตติสาธารณะได้อย่างมีพลังและถูกต้อง

 

ถึงแม้รัฐบาลชุดนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติของระบบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ดูจากตัวรัฐมนตรีก็ดีหรือว่ารัฐบาลทั้งชุดก็ดี ดูเหมือนว่ามันยังมีอำนาจที่เหมือนจะไม่ได้เปิดโอกาสให้กับกระบวนการประชาธิปไตยเต็มร้อย มันติดปัญหาใหญ่ๆ ตรงไหนหรือครับ

คือ ผมคิดว่ามี 2 อย่างนะครับ อย่างหนึ่งก็คือ สำหรับผมถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเราต้องดูแลระบบกันให้ดีหน่อย ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่อำนาจของคณะรัฐประหารที่กำกับคนบางกลุ่มออกนอกการเมืองไป ก็ทำให้อำนาจอดีตนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งก็กลายเป็นคนกำกับการเมืองอยู่นอกประเทศไป ซึ่งอำนาจที่มันยังไม่เปิดเผยตรงนี้ เราจะทำยังไงให้ค่อยๆ ตะล่อมให้เข้าสู่กระบวนการที่เปิดเผย เช่น เออ...อดีตนายกรัฐมนตรีก็อาจจะเข้ามาสู้คดีที่ดินรัชดาฯ      และคดีอื่นๆ แล้วค่อยๆปรับตัวเองเข้ามาสู่การเมือง

 

แน่นอนครับว่า ในบ้านเลขที่ 111 ก็อาจจะยังไม่ชัด ก็หวังว่าช่วงนี้เราอย่าเพิ่งไปขัดแย้งอะไรกัน แล้วรัฐบาลใหม่ชุดนี้..รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้อาจจะดูขี้เหร่นะครับ อาจจะดูแล้วไม่เหมาะสมก็ไม่เป็นไร คงต้องทนกันไปในช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ โดยหวังว่าเราจะค่อยๆ ตะล่อมไปก่อน ตะล่อมไปเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะต้องทำกันในปีสองปีสามปีข้างหน้าก็คือว่า "ทำให้เกิดการจัดระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่"

 

อย่าลืมนะครับ รัฐธรรมนูญปี 50 นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจนอกเหนือการเลือกตั้ง หรือนอกเหนือการควบคุมของประชาชนมีอยู่จำนวนหนึ่ง เราคงต้องมานั่งทบทวน แล้วก็สำหรับผมเอง ผมคิดว่าควรจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และร่างโดยที่ไม่ใช่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล แต่น่าจะร่างโดยคณะกรรมการที่เลือกกันเข้ามาจากประชาชน และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่น้อยกว่าปี 2540 ที่เสนอตรงนี้เพื่อที่ทำให้ความสัมพันธ์ของอำนาจที่จะปรากฏในรัฐธรรมนูญนี้มันเหมาะสมมากที่สุด ผมหวังว่าถ้าหากเราทำตรงนั้นได้ เราจะค่อยๆ ปลี่ยนผ่านช่วงการต่อสู้ของอำนาจแบบนี้ไปได้อย่างสันติ

 

ขอย้ำนะครับว่า รัฐธรรมนูญนี้คือกฎหมายจัดระบบความสำคัญของอำนาจว่าใครอยู่ตรงไหน อยู่อย่างไร ประชาชนจะอยู่ตรงไหน ตรวจสอบได้อย่างไร ตรงนี้เป็นหัวใจในการที่ปกครองที่เราจะต่อสู้กันต่อไป ผมหวังตรงนั้น...ผมคิดว่าเราคงต้องทน เราอาจจะเห็นรัฐมนตรีที่ดูแล้วไม่เหมาะสมบ้าง ก็ลองดูเขาไปก่อน ใจเย็นๆ ดูเขาทำงานเพื่อที่เราหวังในอนาคตที่ไกลกว่านี้

 

 

หมายความว่ารัฐธรรมนูญปี 50 นี้ ยังมีอำนาจที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้ๆ เข้าไปแทรกซึมอยู่ แต่ทำยังไงจะปรับตรงนี้ให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ?

ก็โดยเรียนรู้จากรัฐธรรมนูญปี 40 ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจไม่มีการตรวจสอบ ก็ค่อยๆ ปรับให้มีการตรวจสอบมากขึ้น ให้ประชาชนสามารถมีที่ทางในรัฐธรรมนูญมากกว่านี้

 

 

แล้วเมื่อมองระบบราชการทุกวันนี้ มันก็ยังขึ้นอยู่กับการเมืองที่เปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงแต่ละระยะอยู่ใช่ไหม หรือว่ามันยังคงเป็นระบบราชการที่อาศัยอำนาจแบบไทยๆ แบบนี้ ?

นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือตัวระบบราชการไทยนี้เสื่อมทรุดที่สุดแล้ว 2 ด้านนะครับ ด้านแรกก็คือ ความจงรักภักดี แล้วก็ภูมิปัญญาของหน่วยงานราชการลดลง จนกระทั่งหน่วยงานราชการเริ่มไม่เป็นสถาบันอีกแล้ว สถาบันที่มีในลักษณะความหมายว่า มีศักยภาพในการสืบต่อองค์ความรู้รุ่นต่อรุ่นไปได้ อันนั้นคือความเสื่อมโทรมอันที่หนึ่ง

 

เมื่อบวกกับความเสื่อมทรุดนี้ มันนำไปสู่ความเสื่อมทรุดประการที่สอง คือ ระบบราชการไทยกลายเป็นหน่วยงานที่พร้อมจะรับใช้อำนาจ โดยที่ไม่ยึดถึงความถูกต้องถูกผิด หรือเจ้าหน้าที่รัฐเองสามารถที่จะบิดพลิ้ว เบี้ยวเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

 

ผมอยากยกตัวอย่างที่เป็นเรื่องที่คิดว่าคาใจพี่น้องประชาชนเยอะเลย ก็คือ กรณีของตชด.ยัดยาเสพติดและทำร้ายร่างกายชาวบ้าน นี้ชี้ชัดให้เห็นถึง 2 อย่าง คือ ตัวระบบราชการไม่มีการตรวจสอบ ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งร้อยตำรวจเอกกระทำอย่างน่าหวาดกลัว..น่ากลัวนะครับ ทุกคนมีสิทธิจะโดนหมด....นอกจากผู้บังคับบัญชา หรือระบบราชการไม่มีการตรวจสอบแล้ว สิ่งที่หน้าตกใจก็คือ กระบวนการสืบสวนสอบสวนของ police power ผมใช้คำว่า police power ซึ่งกินความหมายมากกว่าตำรวจ รวมอัยการรวมอื่นๆ ไปด้วยนี้ ผมคิดว่าเราไม่มีความเป็นสถาบัน เราไม่สามารถสืบทอดความสามารถในการสืบสวนสอบสวนได้อย่างมีหลักฐานมีประสิทธิภาพ ถ้าเรานึกถึงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราจะนึกภาพไปถึงการดีดไข่ ไฟฟ้าช็อต

 

หมายถึงว่า ยังคงมีการกดขี่ทำร้าย ทรมานอยู่แบบนี้ต่อไปใช่ไหม?

ใช่ นั่นแปลว่าศักยภาพของการสืบสวนสอบสวนที่ควรเป็นสถาบัน เช่น พลตำรวจเอกธนู หอมหวน ซึ่งดังมาก ก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้ นี่เป็นตัวอย่างของความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการไทย หน่วยงานราชการไม่สามารถหนุนสร้างความรู้ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ตำรวจก็ใช้วิธีแบบเดิมนะครับ คือทำอย่างที่คุยกันเมื่อกี้ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ก็ตามก็ยังผลิตซ้ำหรือถ่ายทอดหรือผลิตซ้ำความรู้เก่าๆ ไม่เป็นความรู้ใหม่ขึ้นมาเลย

 

ทำให้เรานึกถึงกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เรานึกไปถึงมหาวิทยาลัย ทำให้เราไปนึกถึงอีกหลายๆ แห่ง ตัวระบบราชการไทยนี้ผมถึงบอกว่าถึงจุดที่เสื่อมทรุดอย่างยิ่ง

 

เพราะฉะนั้น จังหวะของการเปลี่ยนแปลงนี้ เราจะทำอย่างไร เพื่อที่จะให้เราเข้าไปกำกับรัฐบาล ทำให้หน่วยราชการต่างๆ มีความเป็นสถาบันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น police power นะครับ อำนาจตำรวจหรืออำนาจความรู้อื่นๆ ผมคิดว่าวันนี้ สังคมไทยมันเปลี่ยนไปเยอะมาก กลุ่มคนมันเปลี่ยนไปเยอะมาก และระบบราชการเราล้าหลัง ล้าหลังอย่างที่เราเห็นชัด...เรื่องการตัดสินใจรัฐประหาร ก็ถือว่าล้าหลังแบบหนึ่ง เราต้องไม่ใช่แค่ปฏิรูปการเมือง นอกจากปฏิรูปการเมืองแล้ว ก็นึกถึงการกำกับของระบบราชการด้วย เราต้องทำให้อำนาจของระบบราชการตรงนั้น เราต้องผลิตความรู้ของตัวเอง ขยันกว่านี้แล้วก็มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่งั้นชีวิตของพวกเราทุกคนก็จะพร้อมที่จะรับความเดือดร้อน ที่จะเผชิญกับระบบราชการ

 

 

ตอนนี้ก็คือ รัฐบาลชุดใหม่เข้ามา หมายความว่านโยบายต่างๆ ของระบบราชการก็ต้องใช่ไหม?

ครับ

 

 

ที่นี้เขาบอกว่าระบบราชการเป็นระบบที่แข็ง อย่างนี้นี่มันมีลักษณะยังไง?

ผมคิดว่า คนที่เข้าใจว่าระบบราชการไทยแข็งนี้ก็ตรงที่เขามีอำนาจในการวินิจฉัยเต็มเปี่ยม แต่การแข็งในการที่มีระบบอำนาจวินิจฉัยไม่ได้แปลว่าระบบราชการนั้นมีปัญญาหรือมีประสิทธิภาพ

 

นึกถึงตำรวจนึกถึงอื่นๆ เขามีอำนาจ police power จับเรา แข็งจับได้ หรือทำอะไรเราได้อีกเยอะแยะเลย แต่ถามว่าเขามีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยคดีไหม คิดว่าไม่มี แต่นั้นคำว่า แข็งกับประสิทธิภาพต้องแยกจากกัน อำนาจวินิจฉัยที่ให้กับหน่วยงานราชการมากๆ นะครับ ทำให้หน่วยราชการมีความเข้มแข็งแต่กลับทำให้สูญเสียประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ตรงนี้เอง ที่ผมคิดว่าจะทำอย่างไรหลังรัฐบาลใหม่ เราจะหวังนักการเมืองไหม? ผมคิดว่าไม่ หวังไม่ได้ เพราะตัวรัฐบาลหรือนักการเมืองทั้งหมดยินดีที่จะให้ระบบราชการหรือหน่วยราชการเป็นแบบนี้ เพราะเขาจะบังคับได้ เพราะเขาสามารถสั่งเจ้าหน้าที่บางกรมออกมาตีหัวชาวบ้านได้ เหมือนที่เคยมีประสบมา โดยเจ้าหน้าที่บางคนไม่ได้ตระหนักว่า อำนาจของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีไว้ตีหัวชาวบ้านคนนั้น

 

 

เราจะถ่วงดุลอำนาจอย่างไรดี หากข้าราชการพยายามอยู่ภายใต้ความถูกต้อง ความเป็นธรรมแต่ว่ามันมีอำนาจทางการเมืองเข้ามาควบคุม แล้วก็สั่งการให้ข้าราชการทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย?

เพราะว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าระบบราชการเรานี้ปรับตัวไม่ทัน การช่วงชิงอำนาจจนลืมถึงความจงรักภักดีของภาระหน้าที่ตัวเอง กลไกตรงนี้เองจึงเปิดโอกาสให้นักการเมืองหรือรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงได้อย่างเต็มเปี่ยม

 

ผมยกตัวอย่างนะครับ ในตอนก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะหมดไปนี่ ผมจำได้ว่ามีการพยายามจะต่ออายุของปลัดกระทรวงยุติธรรม สิ่งที่หน้าตกใจ คือผมไม่พบว่ามีคนในกระทรวงนั้นขึ้นมาบอกว่า "เฮ้ย...ไม่ถูกต้องนะ"มันจะต้องเป็น 1 2 3 4 5 หรือแม้กระทั่งในการโยกย้ายทหารในช่วงก่อนหน้านี้ กลายเป็นว่าทุกคนจะได้ดีต่อเมื่อวิ่งหาเข้าหาผู้มีอำนาจ...ไม่คิดถึงประสิทธิภาพหรือคุณภาพของการทำงาน ตรงนี้คือสิ่งที่หน้าวิตกนะครับ

 

ดังนั้นถามว่า..รัฐบาลทั้งหมดกังวลไหม ผมคิดว่าไม่กังวล เขายินดีด้วยซ้ำ ถ้าหากระบบราชการรับใช้เขาทุกวิถีทาง เหลือแต่เราเท่านั้นละครับที่ประชาชนจะต้องไปบีบบังคับราชการบีบบังคับว่า เฮ้ย...คุณต้องสร้าง สร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพนั้นออกมา

 

ข้าราชการดีๆ มีมากนะครับ แต่คนดีก็ไม่สามารถเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำอะไรได้นะครับ เป็นแกะดำไปหรือถูกบังคับให้ "อยากอยู่ไหม...ถ้าไม่อยากอยู่คุณก็ออกไป" ถ้าคุณอยู่..จงอยู่แบบนี้ ซึ่งตรงนี้เองเรากำลังทำลายอนาคตร่วมกันของสังคมไทย ถ้าหากเราไม่ช่วยทำให้ตัวระบบราชการมีพลังขึ้นมา มีความจงรักภักดีต่อเนื้องานของตัวเอง มีความรู้ในการจัดนี่งานของตัวเอง ถ้าเราไม่ช่วยกัน ไม่ช่วยสังคมกันตรงนี้ ผมคิดว่าจะเกิดวิกฤติ..วิกฤติครั้งใหม่ที่จะแรงกว่าเดิม

 

 

ในแง่ทางการปฏิรูปการเมืองที่อาจารย์อยากเห็น คือ ระบบราชการมันจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงยังไง ถึงจะทำให้จิตวิญญาณของความเป็นราชการเคารพต่อการจงรักภักดีต่อภารกิจตัวเองตรงนี้ ?

อย่างแรกก็คือว่า ทำให้อำนาจในการตัดสินความเป็นความตายหรือความถูกผิด ที่มีต่อในระดับราชการต่างๆ นั้น ไม่ถูกผูกขาดโดยผู้บังคับบัญชาฝ่ายเดียว จะต้องถ่วงดุล อาจจะเป็นคณะกรรมการของแต่ละหน่วยงาน อาจจะถ่วงดุล การลงมติของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ อาจจะลง...อื่นๆ เยอะแยะเลยที่ทำให้อำนาจของการตัดสินถูก-ผิดอื่นๆ นี้ มันไม่ถูกผูกขาดอยู่ในที่มืด โดยผู้บังคับบัญชาอันนี้อันที่หนึ่ง

 

ถ้าทำอย่างนั้นได้ ข้าราชการก็พร้อมที่จะยืน...ยืนตรง เพราะว่าเขารู้สึกว่า เออ..เขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เขามีประชาชน เขามีคณะกรรมการอื่นๆ สื่อก็อาจจะต้องหยิบเรื่องนี้มาเล่น

 

อันที่สอง ผมคิดว่า จำเป็นที่จะต้องทำให้อำนาจวินิจฉัยต่างๆ ลดหลั่นกันลงมา เราเคยพูดถึง "การกระจายอำนาจ" ไม่ได้แปลว่าการโยนนโยบายอำนาจไปให้ เช่น โยนอำนาจจากรัฐมนตรีมหาดไทยมาให้ผู้ว่าฯเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่การกระจายอำนาจ แปลว่าการทำให้อำนาจวินิจฉัยของแต่ละส่วน มันสามารถตัดสินในระดับต่างๆ และตรวจสอบในระดับล่างๆ ไม่ยังงั้นแล้ว เราจะพบทรราชในระดับผู้ว่าฯ อีกนะ

 

ดังนั้น ถ้าเราจะคิดสองระดับ เพื่อหวังว่าจะมีระบบราชการ สร้างกระดูกสันหลังนะครับ พูดง่ายๆ คุณต้องคิดถึงตรงนี้ เพื่อทำให้ราชการทั้งหมดกล้าที่จะยืน อย่างที่ผมเรียนเมื้อกี้ว่า ราชการดีๆ มีอีกมากมาย คนเก่งๆ เยอะ คนดีๆ ก็เยอะนะครับ แต่ตัวโครงสร้างมันทำให้คนดี ไม่อยากจะเสี่ยง..ไม่อยากจะเสี่ยง เราจะต้องทำให้เขาพร้อมที่จะกล้าขึ้นยืน เสี่ยงก็เสี่ยง...นะครับ

 

 

อาจารย์มองว่าต้องไปสร้างกลไกที่ไม่ใช่อำนาจในการผูกขาดที่ใดที่หนึ่งใช่ไหมครับ ควรกระจายไปในชุมชน ในระดับตำบล ในระดับอำเภอใช่ไหม?

ครับ เราต่างหากที่จะต้องทำให้เป็นญัตติสาธารณะ แล้วไปบอกรัฐบาลว่าคุณต้องทำ ผมย้ำนะครับ ผมไม่คิดว่ารัฐบาลที่ไหนอยากจะแก้ระบบราชการเพราะว่าถ้าเป็นอย่างนี้เขาได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น พวกเราจะต้องรวมกันสร้างยติผ่านสื่อ อาจจะล่าลายเซ็นกันหรือทำทุกอย่างเราต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น "พลเมืองผู้กระตือรือร้น" เพื่ออนาคตของเราและลูกหลานเรา เราต้องช่วยกดดันให้เขาทำ ตำรวจนี้เห็นชัดนะครับ ถ้าคืนให้ประชาชนคืนโรงพักให้ชุมชน เราจะเห็นอะไรอีกมากมายเลย เราต้องช่วยกันสร้างญัตติสาธารณะตรงนี้นะครับ เพื่อทำให้นักการเมืองทั้งหลายนี้ทำตามเรา

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีข้ออ่อนเยอะนะครับ เรามักจะโยนภาระให้นักการเมืองหรือคนดีหรือคนอื่นๆ ผมคิดว่าเราต้องเลือกคนดีปกครอง เราควรให้คนดีจำนวนมากร่วมกันปกครอง เราต้องคิดตรงนี้ให้หนักขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ายากนะครับ เพราะเราไม่เคยมีประเพณีตรงนี้ แต่เราต้องสร้าง ยืนยันสำหรับทัศนะผม มันเหลือทางนี้ทางเดียว คือ หาทางที่จะสร้างพลังทางสังคมปฏิรูประบบราชการ

 

 

อาจารย์คิดว่าญัตติสาธารณะที่จำเป็นและเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน หรือเป็นญัตติที่จะวางไว้ในระยะยาว มีอะไรบ้างครับ?

ผมอยากพูดตรง "police power" กรณีนี้เป็นกรณีที่ทุกคนสนใจและมีพลัง ก็คือกรณีของการตรวจสอบการจับกุม การตรวจสอบการตัดสินฟ้อง-ไม่ฟ้องของอัยการ ผมคิดว่าน่าจะเริ่มตรงนี้เลย ในรัฐธรรมนูญพยายามที่จะถ่วงดุลตรงนี้โดยต้องการว่า การจับกุมจะต้องมีหมายศาล ใช่ไหมครับ แต่ในกรณีนี้เราจะพบว่าไม่มีการทำแบบนี้ ทันทีที่มีการจับกุมโดยไม่มีหมายศาลและหลุดออกไปสู่สื่อ คนที่จะต้องออกจากระบบราชการ อันนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะทำให้ police power นี่ ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ ด้านการสืบสวนที่มีคุณภาพ ผมอยากจะให้เริ่มตรงนี้เลย เพราะมันเป็นประเด็นที่จะต้องแก้นะครับ

 

เมื่อวันก่อน รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เขาบอกว่า เขาจะแยกคดีผู้ต้องหา ผู้ต้องขังที่ออกมาร้องเรียนเรื่องร้อยตำรวจเอกณัฏฐ์ (ร.ต.อ.ณัฏฐ์ ชนนิธิวณิชย์) นี่ออกเป็น 2 อัน อันหนึ่ง ก็อยู่ในกระบวนการดำเนินคดี ก็จะช่วยเหลือ แต่ถ้าถูกตัดสินแล้วเขาจะไม่ช่วย อันนี้ผมคิดว่าผิดแล้วนะครับ แทนที่กรมราชทัณฑ์หรือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาพูดว่า เออคดีเยอะต้องมาตรวจสอบใครฟ้องผิดจะต้องถูกลงโทษ...การพูดอย่างนี้ผิดล่ะ..ทั้งสองท่าน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ควรจะบอกว่า พร้อมที่จะตรวจสอบทั้ง300กว่าคดี ของร้อยตำรวจเอกณัฏฐ์..และถ้าใครร้องเรียนอีกก็จะตรวจสอบอีก โดนใครก็โดนคนนั้น ถ้าทั้งสองท่านประกาศแบบนี้ ผมคิดว่า สังคมไทยจะมีพลังเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะเลย แต่ถ้าสองท่านพูดแบบนี้คนบางคนจะถอย ผมก็ต้องเรียนสังคมไทยนะครับว่า อย่าเพิ่งไปหลงประเด็น ตกประเด็นกับสองท่านนี้

 

ผมคิดว่าทุกคนต้องร้องเรียนให้มากขึ้น และสร้างการตรวจสอบทุกคดี เราต้องรื้อกระบวนการที่เรียกว่า police power นี้ให้ได้นะครับ เพื่อตำรวจเองด้วยนะครับ ตำรวจทุกคนก็จะได้ปฏิบัติราชการอย่างมีความสุขมากขึ้นนะครับ ผมไม่เคยคิดว่าตำรวจเลว หรือตำรวจทั้งกรมเลว ไม่ใช่!! แต่มันมีแบบนี้เพราะอำนาจมันถูกปิดลับ ไม่ให้มีการตรวจสอบ

 

 

คือมันไม่มีการถ่วงดุล การถูกตรวจสอบใช่ไหม ?

ครับใช่ครับ เพราะฉะนั้น ถ้าหากเป็นผมเองในวันนี้ จะคิดถึง police power ที่ให้มีอำนาจอธิปไตยเบื้องต้นที่สัมพันธ์กับชีวิตของเรา

 

 

ชาวบ้านที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในลักษณะที่ ร.ต.อ.ณัฏฐ์กระทำต่อชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะเป็นคนจนเยอะที่สุด และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ?

คนจนจะถูกทำแบบนี้ จะถูกกระทำแบบนี้เยอะ แล้วก็ร้องเรียนหรือต่อสู้ได้น้อย เพราะว่าไม่รู้จักใคร อย่างมากก็อาจจะรู้จักจ่าสิบตรีคนหนึ่ง ซึ่งเขาก็ไม่มีอำนาจอะไร คนชั้นกลางที่มีสตางค์ผ่านการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท พวกนี้เขาจะมีความสัมพันธ์กับพวกพันตำรวจเอก เออ...พลตำรวจโท ต่างๆ ก็จะถูกกระทำน้อยลง ดังนั้นพี่น้องคนจนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็น่าจะมีสัก 30ล้านคน คือคนที่จะถูกระบบราชการรังแก ซึ่งน่าสงสาร ในระบบราชการที่ทำให้คนจนๆ เองกลับหลุดได้น้อย เอาง่ายๆนะครับ ถูกจับใบขับขี่นี่ ผมเชื่อว่าชนชั้นกลางที่มีเพื่อนเป็นตำรวจจำนวนหนึ่งก็จะ "เฮ้ย...เอาออกให้ผมหน่อย" แต่คนจนก็จะไม่สามารถทำได้

 

 

กรณีตำรวจรีดค่าไถ่ ที่ถูกเปิดเผยนี่มันไม่ได้ถูกเปิดเผยเพราะคนจน ?

ถูกเปิดเผยเพราะกรณีสุดท้าย ไปจับ...รีดเงินจาก...จะเรียกก็ได้ว่าเศรษฐินี โดยเรียก 8 - 9 ล้านบาทอย่างนี้ เพราะฉะนั้นซึ่งคนมีตังค์ขนาดนี้ เขาก็ไม่ใช่ไม้ซีกผู้โดดเดี่ยว เขาก็มีพวกเพื่อน คดีมันถึงดังขึ้นมา ถ้าจับคนในระดับรีด 5 หมื่น 3หมื่น มันก็คงยังต้องถูกรีดต่อไป ดังนั้น การไปรีดชนชั้นกลางที่มีเครือข่ายมีญาติมิตร เป็นเรื่องที่ยากเพราะเขาสามารถโหมประโคมข่าวได้

 

 

นี่เป็นญัตติสาธารณะแรก อาจารย์คิดว่าเป็นญัตติสาธารณะที่จะสร้างให้สังคมได้รับความเป็นธรรม แล้วมีญัตติสาธารณะประเด็นอื่นๆอีกไหม ?

ญัตติสาธารณะระยะยาว ที่ผมคิดว่าสังคมจะต้องทำ เหมือนที่เราพูดกันเมื่อกี้ ก็คือ การทำการร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีความสัมพันธ์กันใหม่ ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อยู่ร่วมกันอย่างเห็นซึ่งกันและกัน เห็นใจซึ่งกันและกัน มองความเป็นจริงซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ฉีกขาดชนชั้นกลาง คนจน

ทุกวันนี้คนจนเริ่มหมั่นไส้ชนชั้นกลาง อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ร่างความสัมพันธ์ของอำนาจใหม่หรือร่างรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผมร่วมกันผลักดันและร่างมันขึ้นมาใหม่ ร่วมใจกันจริงๆ ผมคิดว่าเรากำลังจะร่วมกันสร้างอนาคตให้ลูกหลานเราครับ

 

 

คิดว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้มีอะไรน่าเป็นห่วงบ้าง ?

ผมคิดว่าความสามัคคี หรือการพูดคุยกันน่าจะเป็นประเด็นหลักนะครับ ความสามัคคีในที่นี้ไม่ใช่ว่ารวมๆ กันไป หมายถึงไม่ฟังเหตุปละผล ไม่ดื้อดึง ผมคิดว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด ส่วนเรื่องการทำการก็ต้องรอดูกัน ก็คงต้องดูกันถึงแม้ว่า เราอาจจะไม่เชื่อมั่นในคุณวุฒิของคนบางคน แต่อย่าลืมว่าคุณวุฒิที่ปรากฏในใบปริญญาไม่ได้ชี้ขาด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท