Skip to main content
sharethis

โดย  GRAY  SCALE


 


 


หากจับความรู้สึกของผู้ฟังที่ได้ยิน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดเรื่องคณะรัฐมนตรีเงา (Shadow Cabinet) ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ "หล่อเล็ก" คนนี้พูดนั้น ถือว่าเท่ทีเดียว


 


อภิสิทธิ์บอกว่า ระบบรัฐสภาควรก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง การตรวจสอบจะใช้รูปแบบที่อิงอยู่กับการใช้อำนาจนิติบัญญัติอย่างเดียวไม่ได้ การจัดตั้ง "คณะรัฐมนตรีเงา" โดย มีหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีเงานี้ จะทำให้การทำงานของระบบรัฐสภาไทย มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พรรคฝ่ายค้านต้องตรวจสอบด้วยความรับผิดชอบ ใส่ใจ ประเด็นปัญหาของประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยแสดงออกอย่างชัดเจนว่า มีบุคลากรที่พร้อมจะทำงานในทุกๆด้าน ทำให้การทำงานของฝ่ายค้านมีความเป็นระบบมากขึ้น เพราะจะมีการประชุม "คณะรัฐมนตรีเงา" ทุกสัปดาห์ สร้างระบบความรับผิดชอบร่วมกัน


 


สังคม ประเทศชาติและประชาชน มีทางเลือก ทางออก ต่อปัญหาต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ เพราะการทำงานจะไม่อยู่ในรูปแบบของการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านอย่างเดียว แต่จะมีการเสนอแนะทั้งในเรื่อง กฎหมาย นโยบาย มาตรการ และการประเมินปัญหาและสถานการณ์ของประเทศ รวมทั้งอาจมีการริเริ่มผลักดันโครงการต่างๆ ด้วย


 


และ รัฐมนตรีเงาจะเป็นจุดประสานกับภาคประชาชน บุคคล และองค์การต่างๆ ที่ต้องการมีพื้นที่ทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ หากไม่สามารถเชื่อมกับรัฐบาลจริงได้


 


เรื่องใหม่ๆ เข้ามาในสังคมไทยแบบนี้ ใครที่รักใคร่พรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม มีหวังต้องเคลิ้มไปตามกัน รูป รส กลิ่น เสียง เช่นนี้ ฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลดุดัน โผงผาง อย่างรัฐบาลสมัคร ย่อมเทใจให้เป็นธรรมดา


 


แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พูดนี้จะสัมฤทธิ์ผลดั่งที่กล่าวอ้าง เพราะนั่นเป็นเพียงความตั้งใจ มิใช่ผลจากการลงมือปฏิบัติ


 


อย่างที่รู้กัน วิธีคิดการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงาในแถบประเทศตะวันตก ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยแข็งแรง เช่น อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น โปแลนด์ ยูเครน ฯลฯ


 


คณะรัฐมนตรีเงา ประกอบไปด้วยนักการเมืองอาวุโส ที่สังกัดอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน มีบทบาทในการอภิปรายเรื่องสำคัญๆ ต่อรัฐสภา นักการเมืองฝ่ายค้านเหล่านี้จะรวมตัวกันเพื่อแบ่งหน้าที่ตามประกบตัวต่อตัว กับรัฐมนตรีที่มีอำนาจหน้าที่บริหารอยู่ในกระทรวงต่างๆ มีหน้าที่ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรี และยังสามารถนำเสนอนโยบายใหม่ๆ แก่ประชาชนได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องค้านทุกเรื่องเสมอไป เพราะถ้านโยบายของรัฐมนตรีดีจริง รัฐมนตรีเงาก็สนับสนุนได้เช่นกัน


 


แม้จะมีแรงหนุนจากสังคมให้พรรคประชาธิปัตย์ สมัยที่มี ชวน หลีกภัย เป็นผู้นำฝ่ายค้าน (ปลายปี 2539) ให้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงาขึ้นมา เพราะประชาชนเริ่มไม่เชื่อ และเบื่อหน่ายกับวิธีการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ในขณะนั้น สังคมกำลังเต็มไปด้วยปัญหา คล้ายคนป่วยในระยะโคม่า นอนซมไข้ได้สักระยะ ก็ต้องส่งให้วัดทำพิธีฌาปนกิจ หรือที่เรียกกันว่า "วิกฤติต้มยำกุ้ง" นั่นแหละ


 


แต่เวลานั้น ฝ่ายค้านมีพรรคร่วมหลายพรรค จะตั้งคณะรัฐมนตรีเงาได้ ต้องอาศัยเสียงจากพรรคอื่นมาเสริมแรงกัน เมื่อหลายเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เอาด้วย ก็เป็นอันต้องล้มความคิดนั้นไป พูดง่ายๆ ว่า ครั้งนั้นฝ่ายค้านยังอ่อนแออยู่ ไม่แข็งแรงเท่าวันนี้ โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านพรรคเดียวคุมกำลังพลตั้ง 164 เสียง แล้วไหนจะแนวร่วมภายนอกอีก ทั้งภาคประชาชน คนชั้นกลางและข้าราชการในทุกหน่วย กรม กอง ที่สนิทชิดเชื้อกับประชาธิปัตย์มานมนาน มีหรือจะไม่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ


 


เมื่อประชาชนได้เห็นหน้าค่าตาคณะรัฐมนตรีตัวเป็นๆ แล้ว คณะรัฐมนตรีเงาก็ปรากฏโฉมต่อสาธารณะตามมาในเร็วพลัน ถ้าสังคมให้โอกาสคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ถึงแม้จะขี้เหร่) ได้พิสูจน์ฝีมือ สังคมก็ควรให้โอกาสคณะรัฐมนตรีเงาจะได้พิสูจน์ฝีมือเช่นกันมิใช่หรือ


 


แต่ ปมปัญหามีอยู่ว่า ความตั้งใจของประชาธิปัตย์ จะออกดอกออกผลอย่างไร ในเมื่อย้อนหลังไปจะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งติดต่อกันมาแล้วถึง 11 ปี ไฟที่สุมในอก นานวันเข้าย่อมมีวันปะทุได้ ไม่ใช่เต็มไปด้วยความเคียดแค้นชิงชัง แต่อาจเป็นเพราะถึงวันที่ประชาธิปัตย์สำนึกรู้แล้วว่า วิธีการทำงานนั้น สื่อสารกับสาธารณะ โดยเฉพาะคนรากหญ้าไม่ได้ผล


 


ถึงขนาดเคยมีความเห็นว่า "เพราะประชาชนที่กำลังอดอยากปากแห้ง เขาไม่สนใจหรอกว่ารัฐบาลจะขี้เหร่หรือหน้าตาดี ถ้าสามารถทำให้เขามีกินมีใช้ได้ เขาก็เลือกคนนั้น"


 


มากไปกว่านั้น อย่าลืมว่าประชาธิปัตย์เคยได้แผลฉกรรจ์ จากกรณีที่ถูกส.ส.กลุ่ม 16 ใช้ทั้งกลทั้งเล่ห์ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชวน หลีกภัย จนล้มมาแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อหน้าตาประชาธิปัตย์ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ แล้วไหนจะถูกครหาว่าเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อีกแผลใหญ่ๆ ทั้งนั้น


 


ฉะนั้น เครื่องมือไหนที่ประชาธิปัตย์จะเอามาใช้ในการรีแบรนดิ้งตัวเอง มองซ้ายมองขวา เป็นอันว่าจัดตั้ง ครม.เงาเข้าท่าที่สุด เพราะไม่ใช่แค่เป็นพรรคชำนาญการกฎหมายแล้วจะหาเหตุผลมาค้านนโยบายรัฐบาลใน สภาอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน บางทีนี่อาจมีผลในวันข้างหน้าได้ ถ้าประชาชนเชื่อว่า ครม.เงา เข้าท่ากว่า ครม.จริง


 


"ไม่มีเงินจ้างให้ ซ้ำยังต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพราะถือว่าเป็นการบ้านสำหรับคนที่อยากเป็นรัฐมนตรีในอนาคต ถ้าสอบผ่านการเป็นรัฐมนตรีเงา ก็มีหวังได้นั่งเป็นรัฐมนตรีจริง" องอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกร่างสูงแห่งประชาธิปัตย์ เคยให้เหตุผลไว้ และยังยืนยันด้วยว่าครม.เงาจะทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่หน่อมแน้ม ไม่เป็นขี้แพ้ชวนตี


 


คงต้องรอเพื่อพิสูจน์ว่า ประชาธิปัตย์จะมุ่งทำงานสร้างสรรค์ หรือจะใช้ ครม.เงาทำหน้าที่เป็นดาบสองรองจาก กกต.และ ป.ป.ช เพื่อฟาดฟันรัฐบาลให้ล้ม เพื่อรอเป็นรัฐบาล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net