การพัฒนาพลเมือง เพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน: การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไทย - เยอรมนี

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดการสัมมนาเรื่อง  บทบาทของการพัฒนาพลเมือง (Civic Education) เพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไทย-เยอรมนี ที่โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 

บทบาทและโครงสร้างการจัดการพัฒนาพลเมืองในเยอรมนี

ดร.อังเค่ย์ ฟุกส์ ประธานมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท อดีตกรรมการบริหารพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน กล่าวว่า การพัฒนาพลเมืองในเยอรมนีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนักประชาธิปไตยมากๆ เพื่อให้ประชาธิปไตยเติบโต ปัจจุบันจะเห็นว่าคนที่จะเป็นนักประชาธิปไตยต้องมีวิชาชีพสูง ติดตามการเปลี่ยนแปลงระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม มีคนไม่น้อยที่เห็นว่าการเมืองห่างไกล หลายคนรู้สึกกดดัน แปลกแยกออกจากระบบ ทำให้การมีส่วนร่วมลดลง คนเฉยชาไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปการศึกษา เพื่อสนองตอบความรู้สึกของประชาชน ซึ่งปัญหานี้เกิดกับประชาธิปไตยทั่วโลก

ในเยอรมนีหลังจากที่ฮิตเลอร์ลงจากอำนาจและได้ประชาธิปไตยมานั้น ทำให้คนที่เติบโตมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น สนใจในแนวความคิดแบบสังคมประชาธิปไตย เพราะไม่ต้องการให้การปกครองแบบฮิตเลอร์กลับมาอีก

ดร.อังเค่ย์ กล่าวต่อว่า การให้การศึกษาแก่พลเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง โอนถ่ายค่านิยมต่างๆ ให้ประชาชน ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเขามีขีดความสามารถในทางการเมือง เปิดให้เขารู้ว่ามีแนวคิดทางการเมืองอะไรบ้างที่จะเลือกได้

ทั้งนี้ มูลนิธิที่ให้การศึกษาทางการเมือง มี 6 แห่งด้วยกัน เพื่อให้เป็นการเมืองแบบพหุลักษณ์ ต้องการให้พลเมืองมีการวิพากษ์ มีความคิดเห็นของตัวเอง อดทนต่อความคิดทางการเมืองของคนอื่น โดยรัฐบาลจัดสรรเงินให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ มูลนิธิต่างๆ เป็นเอกเทศไม่อยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมือง ดำเนินงานแบบโปร่งใส มีบทบาทสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ไม่ทะเลาะกันรุนแรง ยอมรับความเห็นของคนส่วนใหญ่และให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนส่วนน้อยด้วย

"ไม่ได้บอกว่าโมเดลของเยอรมนีดีที่สุด เพราะแต่ละประเทศต้องหาโมเดลของตัวเอง ผ่านการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน" ดร.อังเค่ย์ กล่าว

 

ด้านนายไรน์ฮาร์ด ไวล์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางการเมือง มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวเกี่ยวกับบทบาทและโครงสร้างของการจัดการพัฒนาพลเมืองในเยอรมนีว่า ในช่วงเผด็จการนาซี รัฐเป็นผู้ให้การศึกษาภาคพลเมือง โดยอัดฉีดความเชื่อความคิดให้ เน้นไปที่การให้ความรู้ ภารกิจ การมีอำนาจในสังคมของภาครัฐ

ต่อมาเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย ภาครัฐและภาคสังคมมีหน้าที่ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวหลักในเรื่องการให้ความรู้ทางการเมือง มีการจัดตั้งมูลนิธิของพรรคการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญลงมาวางหลัก ให้เผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยที่กว้างขวาง ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่ม ทั้งแรงงาน เด็ก เยาวชน สตรี รวมถึงข้าราชการ ผู้พิพากษาและทหาร ซึ่งถูกกำหนดให้มีโอกาสขอลาเพื่อรับการศึกษาภาคพลเมืองได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ แม้จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากฝ่ายการเมือง แต่ต้องแยกการศึกษาด้านการเมืองกับการเมืองออกจากกัน มูลนิธิต้องไม่ขึ้นกับพรรคการเมือง ไม่ช่วยเหลือขับเคลื่อนช่วงเลือกตั้ง ต้องเป็นกลาง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินขบวนหรือประท้วง การเกิดการประท้วงเป็นเรื่องของผู้เข้าเรียนเอง

 

ประสบการณ์จากเยอรมนีสู่ความเป็นไปได้ในบริบทสังคมไทย

นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า การจุดประเด็นเรื่องการศึกษาของประชาชนนั้น ทั้งไทยและเยอรมนีมีวัตถุประสงค์เหมือนกัน คือต้องการเห็นการศึกษาของประชาชนเพื่อพัฒนาการเมืองภาคประชาชน ให้ระบอบประชาธิปไตยของเรารุดหน้าไปโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกส่วน

แต่ทั้งนี้ในสภาพความเป็นจริง ค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง จากการนำเสนอในเยอรมนี รัฐสภาสามารถแทนความคิดทางการเมืองได้ พรรคการเมืองที่หลากหลายใช้เวทีของทางการได้ การมีระบบการให้การศึกษาของประชาชาที่ทุกส่วนมีส่วนร่วมโดยใช้กลไกของรัฐสามารถทำได้ทำได้ แต่สังคมไทย การเมืองภาคประชาชนกับภาครัฐอยู่คนละขั้วมาตลอด มุมต่างของพรรคการเมืองไม่เกิน 40 องศา เยอรมนี 180 องศา เห็นได้ว่าไม่ได้มีความแตกต่างที่หลากหลาย คนรักทักษิณกับเกลียดทักษิณกลายเป็นประเด็นหลัก แต่เอาไม่เอาทักษิณก็กอดคอลงเตียงเดียวกันได้ 40 องศามันพบกันได้ สังคมไทยหมกมุ่นเรื่องนี้

นายจอน กล่าวต่อว่า ความจริงของการให้การศึกษาในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ คือ หลัง 14 ตุลา 2516 การศึกษาทางการเมืองของประชาชนเป็นระบบการศึกษาที่จัดการโดยขบวนนิสิตนักศึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในนั้นด้วย การศึกษาสำหรับกรรมกร ชาวนาเกิดขึ้นในยุคนั้น เป็นการศึกษาทางการเมืองที่มีลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่ออยู่มาก

นายจอน กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อคำพูดของ นายไรน์ฮาร์ด ไวล์ ที่ว่า "การศึกษาทางการเมืองสำหรับประชาชนไม่ควรเป็นการยัดเยียดความคิด" โดยกล่าวว่า ในประเทศไทยเป็น รัฐยัดเยียดความคิดต่างๆ รัฐไปได้ไม่ไกลกว่าขอให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ไม่ตั้งคำถามว่า อะไรคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ตั้งคำถามว่า ไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ไหม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้าม ห้ามพูดห้ามคิด คุณต้องคิดได้แค่นี้

"นี่คือสิ่งที่รัฐพยายามโฆษณาชวนเชื่อ บอกขอให้เป็นคนดี ไม่โกงกิน แต่โกงกินกันทั้งนั้น บอกอย่ารับเงิน แต่ก็แจก" นายจอนกล่าว

ในยุคที่สอง คือยุคการศึกษาภาคประชาชน หรือยุคที่มีเอ็นจีโอลงไปทำงานกับประชาชน นายจอนกล่าวว่ามีความเป็นโฆษณาชวนเชื่อแต่อาจจะน้อยกว่า คือ ครอบงำน้อยกว่า และส่งเสริมให้ชาวบ้านได้คิด มีการจัดเวทีอย่างไม่เป็นทางการพูดคุยในชุมชน ซึ่งยังใช้ได้ผลดี ทำให้ชาวบ้านศึกษาปัญหาของตัวเองและโยงใยปัญหาของตัวเองได้

จากบทบาทผู้กระตุ้น เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านของเอ็นจีโอ ตอนนี้ชาวบ้านเป็นกระบอกเสียงของตัวเอง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ พันกว่าองค์กร สู้เรื่องสิทธิเข้าถึงยา โดยเริ่มต้นจากผลประโยชน์ของเขา ต่อมา ผู้ติดเชื้อฯ ไปรวมกับกลุ่มอื่น ต่อสู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องเอฟทีเอกับสหรัฐ

"ปัญหาของเรา คือ ขณะที่คนที่อยู่ในระบบจัดตั้งของเครือข่ายต่างๆ ก็จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา โดยได้เรียนรู้จากเครือข่าย หรือเอ็นจีโอ แต่คนที่อยู่นอกเครือข่ายได้เรียนรู้แต่แนวคิดแบบภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางโทรทัศน์" นายจอนกล่าวถึงสภาพปัญหาจากมุมภาคประชาชน

สิ่งที่เป็นปัญหาในสังคมไทยตอนนี้คือ มีการเกณฑ์คนมาเป็นพวก ต้องรับความคิดทั้งชุด เช่น ภาคใต้ คนส่วนใหญ่ถูกดึงให้เกลียดมุสลิม โดยไม่พูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา เน้นแต่เรื่องชาตินิยม ทั้งยังมีชนชาตินิยมว่า ไทยภาคกลางดีที่สุด และดูถูกชนชาติอื่นที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ส่วนการศึกษาทางการเมืองที่ดีต้องให้ประชาชนใจกว้าง เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาและศาสนา มีวัฒนธรรมให้เกียรติคนที่เห็นต่าง เพื่อนำไปสู่สังคมที่ก้าวหน้าในอนาคต

นายจอน กล่าวว่า องค์กรของรัฐยังไว้ใจไม่ได้ เพราะยังรับใช้ผู้มีอำนาจ เมื่อผู้มีอำนาจเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปรับใช้ผู้มีอำนาจคนใหม่ ใครมาเป็นนายกฯ ก็ยังมีรายการวิทยุของตัวเอง คนที่เห็นต่างไม่มีทางตอบโต้ สังคมไทยยังเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ แต่การศึกษาและประชาชนต้องตื่นจากระบบอุปถัมภ์ว่าเราถูกดขี่อย่างไร เราต้องเข้าใจการเป็นอิสระจากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งคิดว่าต้องทำในระดับภาคประชาชนต่างๆ เพราะยังไว้ใจองค์กรของรัฐไม่ได้

 

ด้าน รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงลักษณะการจัดการศึกษาทางการเมือง 4 ข้อ คือ 1.เจตจำนง การจัดการศึกษาทางการเมืองในเยอรมนีเป็นเจตจำนงทางการเมืองของอำนาจทางการเมือง ตามทัศนคติของเยอรมนีที่ว่าต้องมีเจตจำนงทางการเมือง ต่างจากของไทยโดยสิ้นเชิง เนื่องจากไทยยังขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะจัดการศึกษาทางการเมืองให้แก่ราษฎร

ทัศนคติทั่วไปก็คือ "ต่างความคิดผิดถึงตาย" ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลา 2519 เพราะเมื่อเกิดการขัดแย้งทางการเมืองในปี 2548-49 บรรยากาศของการเมืองในประเทศไทย คือ "ต่างความคิดผิดถึงตาย" โดยเมื่อคิดว่าต่างความคิด ก็ใช้วิธีโกหกพกลม เช่น กล่าวหาผู้นำรัฐบาลที่ตนไม่ประสงค์ว่า คิดล้มล้างสถาบันกษัตริย์ คิดเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการล้มล้างรัฐบาลนั้น มีมาตลอด ไม่ได้แค่เมื่อปี 48

"เมื่อไม่นานมานี้ มีมหาวิทยาลัยมีชื่อสองแห่งของประเทศไทยถูกขอความร่วมมือไม่ให้มหาวิทยาลัยอนุญาตให้จำหน่ายหนังสือวิชาการทางการเมืองซึ่งเขียนโดยอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยของผมซึ่งมีอธิการบดีที่ได้ชื่อว่า เป็นนักประชาธิปไตย ก็ให้ความร่วมมือให้ไม่จำหน่าย" รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวยกตัวอย่างการปิดกันทางความคิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญของรัฐ และมีวิธีเดียวที่จะรักษาสถาบันนี้ให้มั่นคงได้ คือให้ประชาชนเข้าใจถึงธรรมะที่แฝงอยู่ในประวัติศาสตร์ เข้าใจถึงสายใยและจิตใจของชนชาติที่สั่งสมมาหลายร้อยปีที่อยู่ในสถาบันนี้ แต่ไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น การจะรักษาสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องเข้าใจทั้งข้อเด่นข้อด้อยของสิ่งนั้น ในประเทศไทยเองถ้าไม่มีสิ่งนี้การจัดการศึกษาทางการเมืองเป็นไปไม่ได้

"ถ้าประชาชนไม่ได้รู้สึกว่า จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ ด้วยความเชื่อมั่นในเหตุผล ไม่ใช่ด้วยความเชื่อลอยๆ หรือเพราะโฆษณาชวนเชื่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีวันมั่นคง เช่นเดียวกับ ระบบสหพันธ์รัฐของเยอรมนี ถ้าประชาชนไม่เข้าใจว่าดียังไงก็ไม่ทางสามารถรักษาไว้ได้ เพราะฉะนั้น เจตจำนงทางการเมืองที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชน ต้องแน่วแน่มั่นคงอย่างแท้จริง" รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว

2.หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้กำจัดเผด็จการฮิตเลอร์ออกไปแล้ว เยอรมนีได้เปลี่ยนสภาพจากการสั่งสอนประชาชน มาเน้นการร่ำเรียน ขณะที่ไทยเน้นการสั่งสอน อบรม ไม่ใช่เน้นเล่าเรียนด้วยตนเอง ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่มาก แม้กระทรวงศึกษาธิการจะโฆษณาให้สอนโดยเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็ยังไม่เห็นการพัฒนาอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากการที่ครูให้นักเรียนจัดการสอนกันเอง ส่วนครูไม่ทำการสอนเลย หรือทำการสอนเพียงเล็กน้อย

3.เยอรมนีเน้นการสร้างโอกาส โดยมีการจัดโครงสร้างและผลักดันให้เป็นจริง รวมทั้งการจัดระเบียบกฎหมาย ให้คนงานสามารถเข้าร่วมการศึกษาทางการเมืองโดยไม่ถือเป็นวันลา หรือเป็นวันลาที่ได้รับเงินเดือน ให้ข้าราชการสามารถเลือกเข้าศึกษาทางการเมืองตามที่ตนเองต้องการ รวมถึงหากจะเปิดการศึกษาทางเมืองก็ไม่ควรที่จะจำกัดเฉพาะราษฎรไทย แต่ควรเปิดกว้างให้ชาติอื่นๆ ด้วย และ4.วิธีการจะทำอย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ การศึกษาทางการเมืองจะไม่น่าเบื่อ หากมีการละเล่นเข้ามาน่าจะช่วยได้

 

การพัฒนาพลเมือง: องค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ศาสตราจารย์ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิด การพัฒนาพลเมือง (Civic Education) ในบริบทของสังคมไทย ว่า Civic Education แปลเป็นไทยคือการให้การศึกษาทางการเมืองแก่พลเมือง หรือการสร้างพลเมือง ซึ่งตามความคิดของ ดร.จรัส ในวันนี้ประเทศไทยมีประชาชนซึ่งเป็นเพียงผู้บริโภคยังไม่ใช่พลเมืองที่เป็นเจ้าของประเทศ และการทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่มีการพัฒนาการเมืองในตัวบุคคล เป็นการเรียนรู้เพื่อการใช่ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อมั่น (Trust)

"ในเรื่องของการเมือง ในการเมืองระบอบประชาธิปไตย เราต้อง Trust มากกว่าแค่ระหว่างคนสองคน เราต้อง Trust ในเชิงสถาบันด้วย โดยเชื่อว่าเรามีกลไกลที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้" ดร.จรัสกล่าว

ดร.จรัส เพิ่มเติมว่า Trust รวมไปถึงการทำให้คนเชื่อว่า "คนแปลกหน้า" ซึ่งหมายถึงคนที่มีความแตกต่างทั้งด้านรูปลักษณ์รวมไปถึงมีความคิดเห็นที่ขัดแย้ง เป็นคนที่เหมือนกัน และสามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ เรียกว่าเป็นแนวคิดเรื่องการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่คนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ส่วนจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติอาจเริ่มจากครอบครัว โรงเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีกระบวนการได้มาจากหลายทิศทาง

นอกเหนือจากการเป็นสมาชิกที่อยู่ร่วมกันได้ ในทางการเมืองมีทรัพยากรทางการเมืองซึ่งทุกคนควรสามารถเข้าถึงได้ เป็นเรื่องการมีและการใช้อำนาจเพื่อใช้ทรัพยากรที่เป็นสาธารณะร่วมกัน อีกทั้งทุกคนควรมีทักษะที่จะเข้าถึงทรัพยากรทางการเมืองที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งตามปกติทักษะการรู้ช่องทางและเข้าถึงทรัพยากรทางการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้ และทำให้คนรู้ถึงช่องทาง โดยการให้การศึกษา มีการทดลองเพื่อสร้างทักษะที่เพียงพอ โดยไม่ผูกติดกับแนวคิด อุดมการณ์ทางการเมือง เรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นกลาง และมีจรรยาบรรณ

หากมองตามแนวคิดของเยอรมัน ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพัมนาพลเมือง อาทิ หน่วยงานอิสระอย่างกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สถาบันพระปกเกล้าหน่วยงานอิสระซึ่งทำหน้าที่นี้ในนามรัฐสภา สภาพัฒนาการเมืองซึ่งมีหน้าที่ให้การศึกษาทางการเมืองกับพลเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 และสถาบันการศึกษาซึ่งสามารถจะแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองไว้ในการเรียนการสอน อีกทั้งในภาคประชาชนเองก็มีการเรียนรู้พร้อมกับการทำจริง นอกจากนี้ยังมีอยู่ในกิจกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองด้วย

"การศึกษาทางการเมืองกับพลเมืองน่าจะต้องมีการแยกออกจากการทำกิจกรรมทางการเมืองจริงๆ" ดร.จรัส แสดงความคิดเห็น พร้อมยกตัวอย่างความซ้ำซ้อนว่า หากมีการชุมนุมประท้วงโดยนำเงินจากส่วนนี้ไปใช้แล้วให้เหตุผลเพื่อเป็นการศึกษาก็ยากที่จะแยะแยกได้

ดร.จรัสกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเรียนรู้ทางการเมืองมาจากการต่อสู้ เหมือนการชกต่อยเมื่อเจ็บก็คือการเรียนรู้ ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ฉลาด ดังนั้นควรต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองมาช่วย โดยจะต้องแก้ไขในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการสร้างพลเมือง สำหรับการศึกษาที่สูงกว่านั้นเป็นเรื่องของการสร้างทักษะเพื่อการหาเลี้ยงชีพ

ส่วนประชาชนที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นพลเมืองได้ต้องมีอิสระทางเศรษฐกิจ และมีอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง ดังนั้นพร้อมกับการทำ Civic Education จะต้องต่อสู้กันในเรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองด้วย

 

ด้าน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเกี่ยวกับการฉีกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นอีก ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญและโครงสร้างเพียงเท่านั้น อีกทั้งปัญหาไม่ใช่เพียงประชาชนยังขาดความสำนึก ขาดการศึกษา เพราะที่ผ่านมามีความพยายามในการเผยแพร่ประชาธิปไตยมานาน ซึ่งก็ไม่สามารถบอกได้ว่าประชาธิปไตยที่นำไปเผยแพร่นั้นคืออะไร และขณะนี้จะเผยแพร่ประชาธิปไตยอะไรต่อไป

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า ประเทศเยอรมันเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการเรียนรู้ของประเทศไทย ในส่วนของสาเหตุความผิดพลาดของระบอบประชาธิปไตยในเยอรมนี ซึ่งข้อแรกมาจากระบบการเมืองไม่มีการตรวจสอบ (Check) และการถ่วงดุล (Balance) ทำให้ฮิตเลอร์สามารถครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติรวมทั้งฝ่ายตุลาการ แล้วสถาปนาอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นมา จึงมีการสร้างกฎหมายพื้นฐาน (Basic Laws) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง และสาเหตุข้อต่อมาคือ คนที่เป็นพลเมืองมีน้อยเกินไป ทำให้ฮิตเลอร์สามารถโฆษณาชวนเชื่อให้คนคล้อยตามได้ง่าย เยอรมนีจึงมีการทำ Civic Education ในทุกมิติ ทุกระดับ และทำอย่างหลากหลาย ซึ่งประสบผลสำเร็จในเวลา 10 ปี

สำหรับปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไทย ดร.ปริญญากล่าวว่า คือการมีสิทธิเสรีภาพแต่ไม่มีการดำเนินการให้ตระหนักถึงการใช้สิทธิเสรีภาพที่มี ไม่เคยมีการสอนเรื่องความรับผิดชอบ ทำให้เกิดการละเมิดหรือทำร้ายต่อกันและต่อสังคม อีกทั้งการไม่เคยมี Civic Education ทำให้ภาพของประชาชนที่ถูกพรรคการเมืองและนักการเมืองใช้ประโยชน์ แทนที่ประชาชนจะเป็นผู้ใช้นักการเมืองและพรรคการเมืองกลายเป็นสภาพปัญหาหลักที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งการปฏิวัติทุกครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ นอกจากนี้การอบรมสั่งสอนของครอบครัวก็เป็นปัญหาหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตยด้วย

"ประชาธิปไตยไทยของเราจะกลายเป็นระบอบอำเภอใจ ระบอบที่เงินเป็นใหญ่ และระบอบที่ไร้คุณธรรม เพราะว่าเราให้แต่เรื่องเสรีภาพ ไม่ได้ให้เรื่องความรับผิดชอบ" ดร.ปริญญากล่าว

เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง ดร.ปริญญา กล่าวว่า ความเป็นพลเมืองไม่ใช่เพียงเรื่องของการเมือง แต่มีมิติที่กว้างกว่า เพราะเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ต้องการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเริ่มต้นจากการเคารพในสิทธิของผู้อื่น และในสังคมประชาธิปไตยที่ให้เสรีภาพประชาชนจึงมีทางเลือกของชีวิตที่หลากหลายภายใต้กรอบของกฎหมาย เมื่อมีคนหลากหลาย จึงต้องมีการยอมรับในความแตกต่างและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังต้องใช้เสรีภาพที่มีด้วยความรับผิดต่อสังคมด้วย

"หากสามารถทำประชาชนให้เป็นพลเมืองได้ จะเป็นโอกาสและอนาคตที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง" ดร.ปริญญากล่าว โดยอธิบายความเป็นพลเมืองว่าแตกต่างจากประชาชนหรือชาวบ้านในส่วนที่พลเมืองมีอิสรภาพแต่ชาวบ้านไม่มี

ส่วนการทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองจะต้องทำใน 3 มิติ คือ 1.ด้านการเมือง 2.เศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจัดการแก้ไข และ3.การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ทั้งนี้ปัญหาของการศึกษาในระบบ คือไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไป และส่วนใหญ่มุ่งในกลุ่มคนชั้นนำ อีกทั้งอาจจะถูกขัดขวางจากนักการเมืองเนื่องจากเมื่อประชาชนเป็นพลเมืองจะส่งผลให้ฐานคะแนนเสียงของนักการเมืองไม่มั่นคง เพราะประชาชนจะเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองโดยยึดการทำงานที่สร้างประโยชน์แก่พวกเขาเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องผลักดันต่อไป แต่ในส่วนของการศึกษานอกระบบ เพื่อจะทำให้การพัฒนาพลเมืองเป็นจริงต้องมีการปรับฐานและต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ดร.ปริญญา แสดงความเชื่อมั่นว่าสังคมการเมืองที่มีรากฐานของประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้โดยเริ่มจากทุกคน ประชาชนต้องพึ่งตนเอง ต้องแก้ปัญหาจากตัวเอง ใครสามารถทำอะไรได้ก็ทำไม่ต้องจำเป็นต้องรอรัฐบาล หรือรอผู้มีอำนาจเข้ามาแก้ไข แต่ทั้งนี้ต้องแยกแยะข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และอุดมการณ์ออกจากกัน เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และเป็นการยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่มีในสังคม

 "ผมเชื่อว่าเรามีความหวัง ที่จะมีประชาธิปไตยที่ปกครองโดยประชาชนอย่างแท้จริง" ดร.ปริญญากล่าว

ในส่วนผู้เข้ารับฟังการสัมมนา นายประมวล รุจนเสรี หัวหน้าพรรคประชามติ กล่าวเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาพลเมือง 2 ประการคือ 1.ด้านเศรษฐกิจ จะต้องมีการล้างบางการใช้ทุนเขาสู่อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มในการแสวงหาทุนเพิ่ม และสร้างนักธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งไม่แสวงหาประโยชน์จากการเมือง ให้เขามาสนับสนุนพรรคการเมืองขนาดเล็ก 2.สนับสนุนให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเสริมพรรคการเมืองในการพัฒนาให้ความรู้แก่สมาชิกพรรคและประชาชน อีกทั้งให้มีโรงเรียนพัฒนานักการเมืองเพื่อให้การศึกษาแก่นักการเมืองท้องถิ่น ในการมาสู่นักการเมืองระดับชาติ ไม่ให้เข้ามาหวังผลประโยชน์จากการโกงกินประเทศ

นายเดช พุ่มคชา นักพัฒนาอาวุโสกล่าวว่า การศึกษาในระบบเป็นสิ่งจำเป็นแต่มีประโยชน์ไม่มากนัก เพราะอาจารย์ในระบบการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากไปกว่าเนื้อหาความรู้ที่ตนเองมี การสอนอย่างมีความสุข และให้เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไปได้เรียนรู้จึงไม่เกิดขึ้น การเรียนรู้ทางการเมืองและการเป็นพลเมืองของคนจึงต้องเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นในการจัดการศึกษาต้องมีความหลากหลายไม่ควรเน้นเฉพาะในระบบที่มีสถาบันการศึกษารองรับเท่านั้น

"ถ้าจะทำ Civic Education โปรดให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายๆ และทำแบบคู่ขนานอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่หน่วยงานการศึกษาเอาไป 30 ล้าน คุณเป็นภาคประชาชน เอาไปล้านหนึ่งแต่อย่าให้เงินเดือน โปรดอย่าทำอย่างนี้" นายเดชกล่าว

 

ทิศทางและแนวโน้มของการพัฒนาพลเมืองไทย

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล จากสถาบันพระปกเกล้า นำเสนองานวิจัยปฏิบัติการ "การเมืองภาคพลเมือง" เกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมือง โดยใช้ความเชื่อมั่นในระหว่างบุคลและต่อสถาบันเป็นฐานคิดในการสร้างพลังของการเป็นพลเมือง ซึ่งเริ่มต้นการสำรวจตั้งแต่ปี 2544 ถึงปลายปี 2550 มีเนื้อหาระบุถึง ความเชื่อมั่นในสถาบันซึ่งมีมากกว่าความเชื่อมั่นในตัวบุคคล และพบว่ามีความเชื่อมั่นสูงมากในสถาบันการเมืองและสถาบันอิสระ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองความเชื่อมั่นในสถาบันต่างๆ ลดลงมาก ไม่ว่าจะต่อสถาบันทหาร ต่อสื่อโทรทัศน์ ต่อคณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระต่างๆ ข้าราชการ เอ็นจีโอ รวมทั้งระบบศาล

"เราเริ่มมีความไว้วางใจกันมากขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะไว้วางใจสถาบันได้ เราต้องไว้วางใจกัน รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อที่ช่วยกันมากขึ้น เพราะสถาบันเหล่านั้นเค้าไม่สามารถที่จะช่วยอะไรเราได้เลย ตอนหลังประชาชนได้มีมาตรการในการพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมการรวมตัวกันเป็นกลุ่มมากขึ้น" ดร.ถวิลวดี กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจในตัวบุคคล

นอกจากนี้ ดร.ถวิลวดี ได้นำเสนองานวิจัย "ค่านิยมประชาธิปไตยของเยาวชนอายุ 15-25 ปี" ประเมินค่านิยมประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชนเพื่อนำไปสู่การวางแผนการสร้างเสริมการศึกษาเพื่อความเป็นผลเมือง (Civic Education) โดยทำการศึกษาเมื่อปี 2550 จาก 9308 ตัวอย่าง ระบุว่าความเชื่อมั่นในสถาบันในกลุ่มเยาวชนไม่ได้สูงกว่าผู้ใหญ่ โดยกลุ่มที่ได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดคือศาล

ส่วนกระบวนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจากสื่อใน 2 อันดับแรกคือ สูงสุดโทรทัศน์ ร้อยละ 71 จากโรงเรียนร้อยละ 10 แสดงให้เห็นว่าโทรทัศน์เป็นช่องทางการเรียนรู้ของเยาวชน อีกทั้งเยาวชนยังต้องการใช้โทรทัศน์เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองถึงร้อยละ 86 รองลงมาคือหนังสือพิมพ์ร้อยละ 6.9 ส่วนที่น่าสังเกตก็คือเยาวชนไม่มีการเสนอถึงความต้องการที่จะเรียนรู้การเมืองผ่านทางโรงเรียน แสดงถึงการไม่อยากเรียนรู้การเป็นพลเมืองผ่านทางโรงเรียนเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีช่องทางอื่นของการเรียนรู้ที่จะสร้างความเป็นพลเมืองนอกโรงเรียน

จากการสำรวจยังพบว่ามีครอบครัวไทยที่ไม่เคยคุยเรื่องการเมืองในครอบครัวเลยร้อยละ 11 ในส่วนของวัฒนธรรมประชาธิปไตยเกี่ยวกับการเคารพสิทธิของผู้อื่น เยาวชนร้อยละ 64 เห็นว่า "เราควรยึดความคิดเห็นของตัวเองเป็นหลักโดยไม่สนใจความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน" เยาวชนร้อยละ 18 เห็นว่า "การเอาเปรียบคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดา" นอกจากนี้เรื่องการคอรัปชั่นมีเยาวชนราวร้อยละสิบยอมติดคุกสิบปีเพื่อแลกกับเงินสามสิบล้าน อีกทั้ง 1ใน 4 ของเยาวชนเห็นว่าประชาชนควรสนับสนุนโครงการของรัฐแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

"มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ยังงงและสับสนว่าอะไรคือประชาธิปไตย อะไรเป็นเรื่องจริง อะไรเป็นเรื่องที่จะเคารพสิทธิของคนอื่น คือเรายังมีปัญหาของการวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงเหตุและผล หากไม่เคารพสิทธิของคนอื่นจะเกิดผลอย่างไร เพราะเราไม่เคยได้สอนกันในสังคม" ดร.ถวิลวดี กล่าวแสดงความคิดเห็น

ดร.ถวิลวดี สรุปถึงผลการศึกษาจากงานวิจัยว่า แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อมั่นในสถาบันที่ค้ำจุนประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างระหว่างคนกรุงเทพและคนต่างจังหวัด ซึ่งจากการศึกษาได้เน้นย้ำถึงความเป็นสองนคราประชาธิปไตยอย่างชัดเจนโดยการศึกษาในเชิงประจักษ์ ตัวเลขที่เห็นเด่นชัดคือ คนกรุงเทพฯ ยอมรับเผด็จการมากกว่าคนต่างจังหวัด อีกทั้งไม่ยอมรับการเดินขบวนประท้วงยกเว้นเมื่อปัญหามีผลกระทบโดยตรงต่อตนเอง

จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยโยงใยกันมากมาย แค่จะสอนเด็กอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการฝึกในหลายเรื่อง นอกจากนี้องค์กรสถาบันต่างๆ ต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือเป็นแบบอย่าง อีกทั้งยังต้องสร้างระบบสามัญสำนึกให้เกิดขึ้น ให้คิดเป็นระบบ ทางออกแนวโน้มคือการสร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาล สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น จึงจะเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องเสริมสร้างในกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยเพื่อมุ่งมั่นสู่คุณภาพของประชาธิปไตย

 

ด้าน รศ.วิทยากร เชียงกุล คณะบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงภาพรวมของประเทศ ว่า ประเทศไทยเป็นทุนนิยมด้อยพัฒนา มีปัญหาความแตกต่างทางฐานะ การศึกษา และรายได้ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการครอบงำทางความคิดซึ่งมาจากประวัติศาสตร์การปกครองแบบศักดินา สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่ได้เป็นพลเมือง และการศึกษาที่ผ่านมาก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ตามความคิดของ รศ.วิทยากร การให้การศึกษาด้านพลเมือง เป็นทางแก้เรื่องความด้อยพัฒนาประชาธิปไตยที่สำคัญ แต่ต้องแก้ในหลายๆ มิติ ไม่ฝากไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้รวมถึงการเลี้ยงดู ระบบการศึกษา และประชาธิปไตยในที่ทำงาน ต้องมีการเปลี่ยนแปลง อีกส่วนหนึ่งคือความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นพลเมือง ไม่รู้ตัวว่าเป็นเจ้าของร่วมในสาธารณะสมบัติและทรัพยากรของประเทศ สิ่งเหล่านี้คือสิทธิที่ต้องให้การศึกษา และทำให้เกิดการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติที่เป็นจริง

 

ด้าน นายไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการสร้างความเป็นพลเมือง ว่า มี 3 รูปแบบซ้อนทับกันอยู่คือ 1.การสร้างคนดีมีศีลธรรม คือมีหน้าที่ต่อรัฐ และต่อกฎหมายบ้านเมืองโดยการให้ความเคารพและพึงพาเป็นหลัก 2.การสร้างพลเมืองที่เป็นผู้บริโภคที่ดีงาม ซึ่งเป็นผลมาจากระบอบทุนนิยมโดยการสร้างปัจเจกบุคคลที่บริโภคนโยบายทางการเมืองเพื่อความอยู่ดีมีสุข มีระบบการศึกษาเพื่อสร้างคนให้ดำรงอยู่แบบตัวกูของกู เน้นการบริโภคข่าวสารจากสื่อมวลชนกระแสหลัก

3.การศึกษาในภาคประชาชนแท้ๆ เน้นให้ประชาชนดูแลจัดการตนเองโดยใช้ศักยภาพของตนเอง ซึ่งมีมาตลอดในการศึกษากลุ่มเล็กๆ เช่น การศึกษาเพื่อสังคมดีงาม ซึ่งในช่วงหลัง 14 ตุลา การศึกษารูปแบบนี้กว้างขวางมาก และปัจจุบันก็มีตัวอย่างของการจัดการป่าชุมชน การตั้งกองทุนสัจจะออมทรัพย์ หรือการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ซึ่งชุมชนลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากรัฐและทุน เพื่อการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินชีวิตของตัวเอง กำหนดความสัมพันธ์กับรัฐ รวมถึงกำหนดความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้ง 3 รูปแบบต่อสู้แย่งชิงในพื้นที่ที่เป็นจริง

เงื่อนไขของการสร้างความเป็นพลเมืองตามรูปแบบที่ 3 คือ หนึ่งต้องปฏิรูปสื่อเพื่อเปลี่ยนจากการอยู่ในมือรัฐและทุนมาให้ภาคประชาชน เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สองการประกันสิทธิบางอย่างของประชาชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางการเมืองที่เป็นจริง เช่น 1.การประกันสิทธิในการรวมตัว โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนเพื่อขึ้นต่อรัฐ 2.การประกันสิทธิในการแสดงออกทางความคิดเห็นในทุกรูปแบบ รวมทั้งการให้เสรีภาพในการชุมนุม สิ่งเหล่านี้แม้จะประกันอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีการประกันในความเข้าใจของคน ของฝ่ายรัฐและประชาชนทั่วไป ให้มีความเคารพ และเปิดโอกาสให้ผู้อื่นใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง

3.การประกันสิทธิในการป้องกันชุมชนท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและทุน ซึ่งปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 ได้มีการให้จัดตั้ง "สภาองค์กรชุมชน" เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ปกป้องท้องถิ่นของตัวเองเหล่านี้ โดยมีบทบาทในการเสนอให้ตรวจสอบโครงการพัฒนาของรัฐที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ตามรัฐธรรมนูญ 50 ในส่วน "สภาพัฒนาการเมือง" นั้นถูกตั้งขึ้นโดยเจตนารมณ์ต้องการสร้างการเมืองอีกระบบหนึ่งนอกเหนือจากระบบตัวแทนที่มีอยู่แล้ว เป็นการเปิดพื้นที่ให้องค์กรภาคสังคมต่างๆ ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาการเมือง รวมทั้งมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมขององค์กรทางสังคมต่างๆ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างที่มีการต่อสู้แย่งชิงทางการเมือง

"ในสังคมไทยมีการพัฒนาการสร้างพลเมืองอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกระแสนอกระบบรัฐและทุน เราจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาอย่างไร เมื่อเราเห็นมันอยู่ว่ากระบวนการเหล่านี้คือกระบวนการที่เป็นจริง และมีชีวิตชีวา" นายไพโรจน์กล่าว

 

นายไรน์ฮาร์ด ไวล์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางการเมือง มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวเพิ่มเติมว่าบทบาทของรัฐในการให้การศึกษาภาคพลเมืองที่มีประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดนั้น รัฐเป็นเพียงกลไกลส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม มีหน้าที่จะต้องทำตาม และสนับสนุนภาคประชาชน อีกทั้งในบริบทสังคมของเยอรมนีการปฏิบัติการทางการเมืองก็มีการแยกกับการศึกษาภาคพลเมือง นอกจากนี้ได้ยกตัวอย่างบทเรียนที่สำคัญของเยอรมนี คือ การมีฮิตเลอร์เป็นผู้นำเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกล่าวว่าเป็นปัญหาเรื่องคุณค่าของพลเมือง ซึ่งทั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่คนที่มีการศึกษาหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าของการตระหนักถึงความเป็นประชาธิปไตย และคุณค่าของความเป็นพลเมืองเพื่อสังคมประชาธิปไตยที่จับต้องได้

นายไรน์ฮาร์ด ฝากทิ้งท้ายไว้ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่หนทางที่สั้นๆ แต่เป็นหนทางระยะยาวที่จะต้องดำเนินต่อไป และไม่สามารถทำทุกเรื่องได้ในทันทีและพร้อมๆ กัน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการพูดคุยปรึกษากัน ที่สำคัญคือการที่จะต้องเชื่อมระหว่างเครือข่าย สุดท้ายสังคมประชาธิปไตยต้องการคนที่เป็นนักประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท