Skip to main content
sharethis

ภายหลังการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ของนายไชยา สะสมทรัพย์ ก็เกิดข้อถกเถียงกันอีกครั้งว่าด้วย การประกาศใช้มาตราบังคับใช้สิทธิ หรือ CL (Compulsory License) เพราะรัฐมนตรีคนก่อน นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีคนก่อนได้ลงนามประกาศใช้ซีแอลกับยามะเร็งเพิ่มเติมอีก 4 ตัวหลังจากประกาศไปแล้ว 3 ตัว (ยาต้านไวรัส 2 ตัว และยาโรคหัวใจ 1 ตัว) โดยรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคพลังประชาชน ประกาศชัดทันควันว่าจะทบทวนนโยบายซีแอลนี้ เนื่องจากบริษัทยาได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ และจะมีการกดดันในการประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย


 


เรื่องนี้จะได้คุ้มเสียหรือไม่คงต้องมีการถกเถียงกัน "ได้" อะไร "เสีย" อะไร และจะมีทางออกอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เหตุผลของกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ซีแอลกับยามะเร็งอีก 4 ตัว.....และนี่คือ เหตุผล 5 ข้อใหญ่เบื้องหลังการตัดสินใจและกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น


 


 


00000


 


 


CL (Compulsory License) ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่อยู่ในข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สิน


ทางปัญญาขององค์การการค้าโลกเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบด้านสาธารณสุขที่เกิด


จากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี และสำหรับยา


ปัจจุบันนอกจากจะต้องคุ้มครอง "กรรมวิธีการผลิต" แล้ว ยังจะต้องคุ้มครอง "ตัวผลิตภัณฑ์"


ของยานั้นๆ ด้วย ทำให้การผูกขาดยิ่งหนักหน่วงขึ้น ตามกฎเกณฑ์ของมาตรการใช้สิทธิ


ประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยาจำเป็นบางชนิด สามารถประกาศมาตรการใช้สิทธิ


แล้วผลิตเองภายในหากประเทศนั้นมีศักยภาพเพียงพอ หรือนำเข้ายาชื่อสามัญที่ราคา


ถูกกว่าในประเทศอื่นที่มีศักยภาพในการผลิตก็ได้ หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วน, เกิด


วิกฤตด้านสาธารณสุขขึ้นในประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์


 


 


 


1. ยาแพง : รวยไม่จริง อย่าคิดรักษา


โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงเป็นอันดับหนึ่งของไทย การรักษาต้องใช้เงินเยอะ หลายคนประสบภาวะล้มละลายเมื่อต้องรักษาคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ เพราะยามะเร็งมีสิทธิบัตรคุ้มครอง สามารถผูกขาดตลาดได้จึงราคาสูงมาก


 


ลองเปรียบเทียบราคายามะเร็งที่ใช้กันอยู่ซึ่งติดสิทธิบัตร กับยาชื่อสามัญที่ผลิตในประเทศอื่นๆ (ราคาทั่วไปก่อนการต่อรองโดยคณะกรรมการต่อรองราคายาฯ)


 


 
























ชื่อยา


 


ราคายาที่ติดสิทธิบัตร


ราคายาชื่อสามัญ


 


ยา Docetaxel (ชื่อทางการค้า Taxotere)


ใช้รักษาโรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม


 


 


25,000 บาทต่อเข็ม


 


4,000 บาทต่อเข็ม


 


ยา Letrozole (ชื่อทางการค้า Femara)


ใช้รักษามะเร็งเต้านม กิน 1 เม็ดทุกวัน


 


 


230 บาทต่อเม็ด


 


6-7 บาทต่อเม็ด


 


ยา Erlotinib (ชื่อทางการค้า Tarceva)


ใช้รักษามะเร็งปอด กิน 1 เม็ดทุกวัน


 


 


2,750 บาท ต่อเม็ด


 


735 บาทต่อเม็ด


 


ยา Imatinib (ชื่อทางการค้าว่า Glivec)


ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาด มะเร็งทางเดินอาหาร ใช้ยานี้อย่างน้อยวันละ 400 มก.


 


 


917 บาทต่อเม็ด


(ขนาด 100 มก.)


 


50-70 บาทต่อเม็ด


(ขนาด 100 มก.)


 


ด้วยราคายาที่สูงขนาดนี้ รัฐแบกรับไม่ไหวโรคมะเร็งจึงไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแบบใดๆ ใครป่วยต้องจ่ายเอง แต่เมื่อทำซีแอล รัฐจะสามารถสั่งซื้อยาชื่อสามัญทั้ง 4 รายการจากที่อื่นที่ราคาถูกกว่ามากเพื่อรักษามะเร็งมาใช้รักษาประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้


 


ส่วนเรื่องคุณภาพของยาชื่อสามัญนั้นอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพยาของประเทศไทย คือ ระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะตรวจสอบตัวอย่างยาอย่างรวดเร็วและเข้มงวด และมีการเดินทางไปดูสภาพและคุณภาพโรงงานที่ทำการผลิตยาชื่อสามัญที่ประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ไทยจะนำเข้ายาชื่อสามัญด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบภายหลังการนำเข้า และระบบการรับข้อมูลจากแพทย์ผู้ใช้


 


 


2. คุยกับบริษัทยา : ต่อรองกันได้ผล - ไม่ได้ผล


ตามกฎหมายไทยและข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO) รัฐสามารถประกาศใช้ซีแอลได้โดยไม่ต้องเจรจากับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร (เพียงแต่แจ้งให้ทราบ) ในกรณีที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ


 


อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลงนามประกาศใช้สิทธิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร ไปดำเนินการเจรจากับบริษัทยาหลายครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ตกลงกันได้ ซึ่งได้ผลระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงตามที่กระทรวงคาดหวัง


 


คณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาฯ ได้เจรจาต่อรองกับ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซาโนฟี-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรของยาทั้ง 4 รายการ รวมเป็นการเจรจาถึง 12 ครั้ง ในช่วงเกือบ 3 เดือน ผลปรากฏว่า


 


 ยา Erlotinib ลดราคาลงร้อยละ 30


 


 ยา Docetaxel ลดราคาจนอาจเหลือเพียงร้อยละ 20 ของราคาเดิม


 แต่บริษัทลดราคาให้แบบมีเงื่อนไข โดยให้แบ่งความรับผิดชอบในการ


 รักษากับภาครัฐ ซึ่งมีรายละเอียดมากและเป็นไปได้ยากในการจัดการ


 


 ยา Letrozole ลดราคาลง 1 ใน 3


 


 ยา Imatinib บริษัทยืนยันให้ความช่วยเหลือโดยการให้ยาฟรีเฉพาะ


 ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยภายใต้เงื่อนไขของบริษัท ซึ่งจะมีคนไทยประมาณ


 10 ล้านคนที่ไม่เข้าข่ายโครงการดังกล่าว


 


โดยสรุปจึงถือว่าการเจรจาไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ว่าราคายาน่าจะลดลงจนอยู่ในวิสัยที่ไม่เป็นภาระแก่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากนัก และเป็นราคาสุทธิที่ไม่รวมเงื่อนไขที่ยากต่อการปฏิบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ลงนามในประกาศซีแอลทั้ง 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551


 


แต่เพื่อให้โอกาสอีกครั้งแก่ผู้ทรงสิทธิบัตร จึงให้มีการเจรจาครั้งสุดท้าย ปรากฏว่า ความคืบหน้าที่น่าสนใจและนับเป็นการเจรจาที่ได้ผลคือ กรณีที่บริษัท โนวาร์ตีส ได้เสนอให้ยา Imatinib โดยไม่คิดมูลค่า แก่ผู้ป่วยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยกำหนดเพดานรายได้ครัวเรือนไว้ไม่เกิน 1.7 ล้านบาทต่อปี ภายใต้โครงการที่เรียกว่าโครงการ GIPAP (Glivec International Patient Assistance Program)


 


และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโครงการนี้จะเป็นไปอย่างไม่ขาดตอน บริษัทจึงเสนอให้ประกาศใช้ซีแอลต่อยาดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขว่า ให้ดำเนินการใช้ซีแอลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกโครงการ GIPAP ดังกล่าว


 


 


3. ซีแอล : เลือกยาแบบมี "ขอบเขต" "เหตุผล"


การประกาศซีแอลกับยามะเร็งเพิ่มอีก 4 ตัว จึงยิ่งทำให้เกิดคำถามถึงขอบเขตของการใช้มาตรการนี้ ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์ในการเลือกว่าจะประกาศซีแอลกับยาตัวใดนั้น คือ


 


 1. เป็นยาหรือเวชภัณฑ์ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือที่จำเป็นในการแก้ปัญหาสาธารณสุข หรือต้องใช้ในภาวะฉุกเฉิน หรือต้องใช้ในโรคระบาด หรือต้องใช้เพื่อการช่วยชีวิต (Life-saving drugs )


 2. ยาหรือเวชภัณฑ์นั้น มีอุปสรรคต่อการเข้าถึง หรือเป็นภาระด้านการเงินที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถรองรับได้


 


ส่วนการที่กระทรวงฯ ได้จัดตั้งกลไกการทำงานเรื่องนี้อย่างชัดเจนถึง 3 กลไกคือ คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ, คณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ, คณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่า จะมีการประกาศซีแอลอย่างต่อเนื่องกับยาทุกตัว แต่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันชัดเจนว่าการมีกลไกเช่นนี้ก็เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเป็นระบบ รอบคอบ โปร่งใส มีส่วนร่วมจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้มีการเจรจากับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร


 


เครื่องยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่าซีแอลจะไม่ใช่มาตรการที่ใช้พร่ำเพรื่อ คือ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงฯ กับผู้แทนสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัช มีวัตถุประสงค์ สำคัญคือ


 


1.การปรับปรุงการเข้าถึงยาแก่ประชาชนรายได้น้อย


2.ช่วยลดปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เช่น neglected disease


3.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านสาธารณสุข


 


 


4. ความกังวล : จะโดนตอบโต้อย่างไร หรือจะได้ไม่คุ้มเสีย


จากประสบการณ์การประกาศซีแอลที่ผ่านมา ไทยถูกจัดสถานะประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากระดับ "เฝ้าระวัง" (Watch List - WL) เป็นประเทศที่ต้อง "เฝ้าระวังเป็นพิเศษ" (Priority Watch List - PWL) มาคราวนี้จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าการตัดสินใจดำเนินการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาทั้ง 4 รายการเพิ่มเติมจากเดิม จะทำให้ประเทศไทยถูกจัดสถานะที่แย่กว่าเดิม ถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร หรือ (GSP) และจะเกิดผลเสียต่อภาคธุรกิจหรือไม่ เพราะจะมีการพิจารณาจัดสถานะประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้ามาตรา 301 ของสหรัฐฯ อีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นี้


 


เหตุผลที่สหรัฐให้เมื่อปีที่แล้ว ที่สำคัญคือความสงสัยในความเข้มงวดในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะคือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์และซีดี/ดีวีดีของภาพยนตร์และเพลง ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยานั้น สหรัฐไม่เคยบอกว่าไทยดำเนินการผิดกกฎหมายไทยหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่มีความกังวลในปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการใช้สิทธิโดยรัฐ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดพิมพ์สมุดปกขาวชี้แจงรายละเอียดทั้งหมด และทางสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าความไม่โปร่งใสนั้นคืออะไร นอกจากการระบุให้มีการเจรจากับผู้ทรงสิทธิบัตรก่อน ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ทำอยู่แล้ว


 


อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์และภาคธุรกิจของไทยก็มีความชัดเจนว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่จะต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษทางศุลกากรนั้นมีน้อยมากและน้อยลงไปเรื่อยๆ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากถึงระดับที่ไม่ต้องพึ่งพา GSP ในการส่งออกไปสหรัฐฯ อีกต่อไป


 


นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์นี้ คณะผู้เชี่ยวชาญ จากองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การการประชุมเรื่องการค้ากับการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNCTAD) และองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็ได้มาศึกษาระบบและกระบวนการทำงานในเรื่องการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตรของไทย ซึ่งจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ถึงรายละเอียดของกระบวนการทำงานมากขึ้น และยังจะได้นำข้อเสนอแนะนำต่างๆ ไปปรับปรุงการดำเนินการในโอกาสต่อไป


 


 


5. ประกาศซีแอล ทิ้งทวนตำแหน่งรัฐมนตรี ?


ข้อเสนอในการประกาศซีแอลนั้นได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 แต่ทางกระทรวงฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการโดยทันทีเพื่อให้โอกาสแก่บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรในการเสนอข้อเสนอที่อาจจะเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องประกาศซีแอล จึงมิใช่เพิ่งจะมาเร่งดำเนินการในช่วงปลายรัฐบาลนี้ หรือในช่วงรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด


 


การเจรจามีขึ้นหลายระลอก กระทั่งได้ข้อเสนอที่ดีกว่าเดิมของบริษัทโนวาร์ตีส คือยา Imatinib และหลังจากนั้นจึงมีการอนุมัติให้ดำเนินการตามประกาศที่ลงนามไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2551 ในส่วนที่เหลืออีก 3 รายการ


 


ในกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีข่าวออกมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเดินทางไปอินเดียและได้ทำความตกลงไว้กับบางบริษัทแล้วนั้น มีการชี้แจงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เดินทางไปดูสภาพและคุณภาพของโรงงานผลิตยาที่ประเทศอินเดียหลายแห่งเพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพ และในระหว่างการเดินทาง ไม่ได้มีการลงนามข้อตกลง หรือทำการตกลงด้วยวาจาเกี่ยวกับการจัดซื้อยาจากบริษัทใด อีกทั้งผู้ซื้อยาที่มีการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐนี้ คือ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งจะต้องดำเนินการตามระเบียบขององค์การเภสัชกรรม


 


บริษัททุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร หรือบริษัทยาที่ผลิตยาชื่อสามัญ ที่มียาซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ก็สามารถมานำเสนอราคาได้ บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด หรือกรณีที่บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรเสนอราคาสูงกว่าบริษัทยาชื่อสามัญไม่เกินร้อยละห้า ก็จะเป็นผู้ได้รับการทำสัญญาและเป็นผู้จัดหายาดังกล่าวให้แก่องค์การเภสัชกรรมเพื่อนำไปจำหน่ายในราคาที่ไม่บวกกำไร เพื่อบริการแก่ผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net