Skip to main content
sharethis

เนื่องจากคำสั่งของนายวีรยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นำมาซึ่งการที่เจ้าหน้าที่หลายร้อยนายเข้าไปควบคุมการจัด "งานรำลึกชนชาติมอญ ครั้งที่ 61" ในวันที่  2-3 ก.พ. ณ วัดบ้านไร่เจริญผล จังหวัดสมุทรสาคร อย่างเข้มงวด มีการตั้งด่านตรวจตราหลายจุดด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง จนชาวไทยเชื้อสายมอญรอบข้างเกิดความวิตกกังวลและไม่ค่อยกล้ามาร่วมงานประเพณีและวัฒนธรรมครั้งนี้  


 


"ประชาไท" จึงขอย้อนนำเอกสารแนวทางการจัด "งานรำลึกวันชาติมอญ ครั้งที่ 61" ซึ่งเป็นมติที่ประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 7 ม.ค. 51 มาเปิดเผย เนื่องจากเป็นต้นทางสู่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีจำนวนมากในประเทศไทยโดยตรง


 


นอกจากนี้ ยังขอเสนอการวิเคราะห์ในแง่มุมกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดย นายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ที่มองไปถึง "ทัศนคติ" ด้าน "ความมั่นคง" ที่ "มีปัญหา" ในสังคมไทย ไม่แตกต่างไปจาก "เงื่อนไข" ที่นำไปสู่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วใน 3 จังหวัดชายแดนใต้


 



เอกสารมติ กอ.รมน. 7ม.ค. 51


 


 


000


 


นายสุรพงษ์ กองจันทึก


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ


 


 


หลักการคือทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการจัดงานหรือรวมกลุ่มอะไรก็ได้ตามที่กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ แต่เอกสารนี้ ข้อแรกระบุว่า "การจัดงานใดๆ ต้องจัดในนาม "สมาคมไทยรามัญ" ซึ่งจัดตั้งโดยถูกต้อง มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งชัดเจน มิใช่จัดในนาม ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย"


 


การจัดกิจกรรมหรือรวมกลุ่มเป็นเรื่องของประชาชนที่สามารถทำได้ การรวมเป็นสมาคมเป็นเพียงการกระทำเพื่อความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจัดการดูแล แต่ถ้าไม่จดทะเบียนก็ไม่เถื่อน อย่างโครงการหลวงเดิมทีก็ไม่มีการจดทะเบียนและสามารถดำเนินกิจกรรมได้ หลักการการรวมกลุ่มหรือจัดกิจกรรมของประชาชนต่างจากเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐคือการห้ามทำอะไรจนกว่าจะมีคำสั่ง แต่สำหรับประชาชนไม่จำเป็นต้องมีคำสั่ง นี่เป็นความแตกต่างกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ


 


คำสั่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจประชาชนไว้อย่างไร


 


ประการที่ 2 คำสั่งระบุว่า "ชื่อการจัดงานให้ใช้ชื่อ ชาวไทยรามัญรำลึกถึงบรรพชนหรือรำลึกถึงบรรพบุรุษ แต่ห้ามใช้ในลักษณะ วันชาติมอญหรือรำลึกชนชาติมอญซึ่งจะทำให้กิดความเข้าใจผิดว่าประเทศไทยสนับสนุนงานการเมืองของชาติมอญ"


 


คำสั่งนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงไม่เข้าใจว่าไทยประกอบด้วยชนชาติต่างๆมารวมกัน เช่น แขก จีน มอญ ลาว เขมร เป็นต้น แต่กลับพยายามแบ่งแยกเช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดในภาคใต้ คือมีความพยายามแบ่งแยกเป็นไทยพุทธกลุ่มหนึ่ง ไทยมุสลิมกลุ่มหนึ่ง แต่หากมองในมุมกลับกัน ทำไมคนไทยเวลาไปอยู่ในสหรัฐจึงสามารถจัดงานแบบนี้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องเสรีภาพ การห้ามใช้ชื่อเป็นทัศนคติของรัฐที่แสดงถึงความไม่เข้าใจและทำให้เกิดความระแวงต่อกัน แบบนี้ปัญหาแบบเดียวกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้อาจจะเกิดขึ้นได้


 


ประการที่ 3 คำสั่งระบุว่า "ในงานสำหรับปีนี้จะต้องงดมิให้มีการเล่นดนตรี ร้อง,รำ, เครื่องดีดสีตีเป่าและงานบันเทิงต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเคารพในกฎหมายของประเทศ"


 


คำสั่งห้ามการเล่นดนตรี ไม่มีในกฎหมายข้อไหน และไม่เกี่ยวกับการแสดงความจงรักภักดี การงดการเล่นดนตรีหรือร้องรำเป็นเพียงการขอความร่วมมือในช่วง 15 วัน หลังสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สวรรคตซึ่งงานนี้จัดหลังจาก 15 วันแล้ว และไม่ใช่การห้ามแต่เป็นการขอร้อง ส่วนข้อเสนองดการเล่นดนตรี 100 วัน ก็ไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี แม้แต่รัฐมนตรีเองหลายคนก็ยังจัดงานการแสดงดนตรีเทิดพระเกียรติ


 


ประการที่ 4 "การจัดงานจะอนุญาตเฉพาะ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน การออกร้านขายของที่ระลึกสินค้าพื้นเมือง นิทรรศการวิถีชีวิต ศิลปวัฒนะรรมไทยรามัญ สดุดีบรรพชน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญอุทิศส่วนกุศล ปาฐกถาพิเศษ และรับประทานอาหาร"


 


ประเด็นนี้ กอ.รมน. เอาอำนาจอะไรไปอนุญาต เพราะทางผู้จัดงานไม่ได้ขออนุญาต และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต จะทำอะไรมากกว่านี้ก็ได้เป็นเรื่องการเข้าใจผิดทางอำนาจ


 


ประการที่ 5 "ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาร่วมงาน ในงานจะเข้มงวดในการตรวจบัตรประจำตัว การดื่มสุรา และการพกพาอาวุธ"


 


คำสั่งนี้ ขอยกตัวอย่างว่า แม้แต่ในสงครามที่มีการรบพุ่งกันระหว่างประเทศหรือศาสนา เขาเกลียดกันจนถึงขั้นลงฆ่ากันได้ แต่เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาของคู่สงคราม เขาจะเคารพในความเชื่อของอีกฝ่ายด้วยการหยุดยิงเพื่อให้ไปทำบุญตามศาสนา แต่เจ้าหน้าที่บ้านเราแม้แต่แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ห้ามเข้าไปในงานบุญความเชื่อ  อาจต้องไปทำความเข้าใจเรื่องคุณธรรมที่มีแม้แต่ในยามสงคราม หน้าเป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความเคารพในพระพุทธศาสนา ในศาสนาและความเชื่ออื่นๆทำให้เข้าไปตรวจค้น จับกุมกันในวัดที่ในอดีตจะเคารพและไม่ทำกัน


 


ประการที่ 6 "กำหนดการจัดงาน 1 วัน"  เรื่องนี้ดังที่กล่าวไปแล้วว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาต


 


ประการสุดท้าย "ตัวหนังสือและภาษาที่ใช้ในบริเวณงานให้ใช้ภาษาไทยเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่ามีการจัดงานของชนชาติอื่นในประเทศไทย"


 


เรื่องนี้น่าเป็นห่วง หมายความว่าชาติอื่นๆห้ามจัดงานในประเทศไทยเลยหรือ ห้ามใช้ภาษาอังกฤษ ห้ามใช้ภาษาจีนในเทศกาลตรุษจีนหรือ ถ้าไปห้ามแบบนี้ที่เยาวราชจะเป็นอย่างไร แสดงถึงคนที่ออกระเบียบไม่มีความเข้าใจทางวัฒนธรรมและสังคมไทยเลย ประเทศนี้ประกอบด้วยความหลากหลายทางภาษาที่ควรส่งเสริมและห้ามเลือกปฏิบัติ


 


ตัวหนังสือไทยเองส่วนหนึ่งก็เอามาจากภาษามอญ และภาษามอญก็เป็นภาษาไทยชนิดหนึ่งในย่านนี้ เพียงแต่ไม่ใช่ภาษาไทยตามแบบราชการ จากคำสั่งที่ออกมาครั้งนี้น่าเป็นห่วงว่าหน่วยงานความมั่นคงยังเข้าใจผิดในหลายเรื่อง


 


สำหรับข้อเสนอ การออกหนังสือแบบนี้นอกจากทำให้เกิดการแบ่งแยกคนไทยเองแล้ว ยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดในนโยบายของรัฐ การทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างคน ต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แต่งานนี้ส่งกำลังลงไปโดยไม่รู้ว่าเขาทำอะไร ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะเข้าไปหาเพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติงานร่วมกัน


 


หากเข้าใจงานนี้ รัฐเองก็จะได้เงินจากการท่องเที่ยว และสามารถแทรกบางเรื่องที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น อาจตั้งซุ้มให้ความรู้เรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้อง วิธีการทำงานร่วมกับนายจ้าง หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพของแรงงานก็ทำได้


 


พอเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องความมั่นคงและส่งกำลังลงมา สุดท้ายไม่สามารถดำเนินคดีใดๆได้ แต่กลับพบว่ามีการรีดไถแรงงานที่ไม่มีบัตร 1 คน เป็นเงิน 2,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงและจะทำให้เกิดเรื่องเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเอง


 


นอกจากนี้ เมื่อถอนกำลังออกไป หรือเมื่อไม่มีด่าน ในงานก็ไม่มีเรื่องอะไร ไม่มีการกินเหล้า งานของกะเหรี่ยงหรือมอญจะไม่มีเรื่องนี้ ตรงกันข้ามกับงานวันชาติของคนไทย ทุกงานต้องเมาเหล้า ทะเลาะกัน ตีกัน จึงน่าห่วงกว่า  คนไทยน่าจะดูตัวอย่างการรักษาวัฒนธรรมดีงามดั้งเดิมว่าเขาสืบทอดสิ่งดีงามกันอย่างไร เพราะบางอย่างของเราหายไปแล้ว งานแบบนี้น่าส่งเสริมเนื่องจากเป็นงานวัฒนธรรมที่สันติและมีสุข


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net