Skip to main content
sharethis

ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม


ท้ายปี 2550 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานผลการงานวิจัยตามโครงการศึกษาผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอของไทยที่มีต่อสาขาเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นจิ๊กซอว์ หรือภาพชิ้นเล็กๆ อีกหนึ่งชิ้น ที่ช่วยลบช่องว่างให้กับภาพผืนใหญ่ และความสงสัย ที่อาจไม่วันทำความเข้าใจได้ว่า "เรา" (ประชาชน) ได้หรือเสียอะไรในการปล่อยให้ เขา (คณะเจรจาฯ) ไปแลกนั่นแลกนี่ โดยที่เขาไม่เปิดเผยอะไรให้เรารู้เลยนอกประโยคที่ว่า "เอฟทีเอ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ"


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการทำเอฟทีเอของไทยที่มีต่อสินค้าเกษตรและเกษตรกรทั้งที่ได้ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว และที่อยู่ในระหว่างเจรจา และมุ่งนำเสนอแนวทางการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป


 


สินค้าเกษตรไทยในอุ้งมือประเทศพัฒนา


จากข้อค้นพบ ระบุว่า สินค้าเกษตร 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธัญพืช เนื้อสัตว์ และผักผลไม้  ภายหลังปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ซึ่งเป็นปีที่สินค้าเกือบทุกรายการได้ยกเลิกภาษีหรือยกเลิกโควตาแล้ว สถานการณ์ด้านการผลิตและบริโภคของสินค้าทั้ง 3 กลุ่ม จะถูกกำหนดทิศทางทั้งการผลิต และการบริโภคโดยเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นสภาพใกล้เคียงกับในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีกำลังผลิตเพียงพอกับความต้องการภายใน และบางประเทศยังส่งออกอีกด้วย     


ขณะที่ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีผลิตและการขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูกในประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ขีดความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการบริโภคลงน้อยลง เพราะไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ง่ายเหมือนในอดีต และยังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้เนื่องจากขาดแคลนเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยเรื่องการขนส่งและความแตกต่างในทางภูมิอากาศ โดยข้อสังเกตที่น่าสนใจสำหรับไทยคือ สินค้าผักผลไม้ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ ของความต้องการในตลาดโลก


กล่าวความเพิ่มเติมคือ เมื่อพิจารณาความสามารถในการส่งออกของสินค้าเกษตรไทย พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีความได้เปรียบ ได้แก่ ข้าวสาร และผลิตภัณฑ์ข้าว น้ำตาล กลุ่มพืช กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ข้าวกล้องข้างเปลือก กลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ประมง ส่วนกลุ่มที่ไม่มีความได้เปรียบ ได้แก่ กลุ่มผักผลไม้และผลไม้มีเปลือกแข็ง กลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ น้ำมันพืชและไขมัน กลุ่มธัญพืช กลุ่มเครื่องดื่มและยาสูบ กลุ่มผลิตภัณฑ์นม ป่าไม้ กลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยจากพืช กลุ่มเมล็ดพืชน้ำมัน อ้อย  กลุ่มวัว แพะ และแกะ กลุ่มเนื้อวัว แพะ และแกะ นมสด กลุ่มขนสัตว์ ไหม และดักแด้ ข้าวสาลี


อย่างไรก็ตามแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่เสนอในรายงานฉบับดังกล่าว พิจารณาจากสวัสดิการรวมสุทธิที่ไทยได้รับ แต่ในทางปฏิบัติผลประโยชน์ที่จะได้รับจริงอาจไม่ไม่มากเท่าคาดการณ์ไว้ อีกทั้งอาจมีตันทุนในการจัดการที่เพิ่มขึ้น และมีต้นทุนจากการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ อาทิ 1.ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับอาจสูงเกินจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงสินค้าออกของไทย ยังต้องเผชิญกับมาตรการปกป้องที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ภาษีท้องถิ่น มาตรการสุขอนามัย หรือการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า


2. ประโยชน์ที่ได้จากการขยายปริมาณการผลิตอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเกษตรกรผู้ผลิต สามารถขยับขยายการผลิตได้ เนื่องจากเข้าถึงแหล่งทุน เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตลาด หรือการจัดหาแรงงาน ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจมีปัญหาสำหรับการผลิตสินค้าที่เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก ทำให้ประโยชน์ของเอฟทีเอตกกับเกษตรกรรายใหญ่ มากกว่ารายเล็ก


และ 3.ผลเสียจากการทำเอฟทีเอ คือ จะมีภาคการผลิตบางส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในด้านราคา ทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำการเกษตรด้านอื่นๆ หรืออาจกลายเป็นผู้ว่างงานชั่วคราว การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคน ทักษะในการประกอบอาชีพ และวิถีการดำรงอยู่ของชุมชน นับเป็นต้นทุนการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ยากที่จะประเมินมูลค่า และมีการดำเนินการล่วงหน้าเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวแก่ผู้เสียประโยชน์


นอกจากนั้น สินค้าเกษตรของไทยยังเจอมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหลายๆ ด้านอาทิ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัยด้านพืช มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านเทคนิค เป็นต้น  ขณะที่การเตรียมพร้อมของภาครัฐทั้งช่วงก่อนและหลังจากเจรจาเอฟทีเอไม่สอดคล้องกับความกระตือรือร้นของฝ่ายการเมืองที่จะหาข้อสรุปเพื่อลงนาม


 


เกษตรกรไทยในเวทีการค้าเสรี


            ส่วนผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรไทย จากการศึกษาผลกระทบของเอฟทีเอต่อเกษตรกร กระเทียม หอมหัวใหญ่ ชา โคนม โคเนื้อ ผักผลไม้เมืองหนาว และไหม พบว่า แม้ผลกระทบจะมีความรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่ม แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเปิดการค้าเสรี และยังไม่ถูกเตรียมพร้อมให้รับมือกับการเปิดเสรีด้วย ซึ่งผลการศึกษาขยายความว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ระดับ โดยระดับแรกเป็นผลจากการค้าเสรีโดยตรง กล่าวคือ เกษตรกรไม่สามารถขายผลผลิตได้เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับผลผลิตที่นำเข้าจากคู่สัญญา ระดับที่สอง การค้าเสรีตอกย้ำปัญหาในภาคเกษตรที่เรื้อรังมานาน และยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การใช้สารเคมี หนี้สิน การจัดการอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตร บทบาทที่ควรจะเป็นของสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรเป็นคนชายขอบ มีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น


            อย่างไรก็ดี เกษตรกรมีข้อเสนอแนะต่อรัฐ โดยกลุ่มพืชเห็นว่ารัฐต้องรับฟังความเห็นของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และรัฐควรมีบทบาทในการลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดราคาปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยชีวภาพ สนับสนุนการทดลองปลูกพืชนอกฤดูกาล สนับสนุนการหันเหการเพาะปลูกพืช โดยสนับสนุนการปลูกพืชชนิดอื่นพร้อมหาตลาดและกำกับดูแลระบบเกษตรพันธะสัญญา หาตลาดสำหรับผลผลิต ให้ความรู้ด้านการตลาด และควบคุมการขายสารเคมี กำหนดเขตการเพาะปลูก เสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์การเกษตร สนับสนุนการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร


            ส่วนเกษตรกรในกลุ่มปศุสัตว์เห็นว่ารัฐควรมีบทบาทในการลดต้นทุนการผลิต โดยส่งเสริมการปลูกอาหารหยาบ ควบคุมคุณภาพและราคาอาหารข้น ส่งเสริมความเข้มแข็งของสหกรณ์ และเครือข่ายผู้ผลิต และรัฐควรมีบทบาทในด้านส่งเสริมการวิจัยพัฒนา และบริหารตลาด


สำหรับแนวทางลดผลกระทบต่อ และสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้น งานวิจัยมีข้อเสนอดังนี้


            มาตรการระยะสั้น (กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรกระเทียม หอมหัวใหญ่ ชา ผักผลไม้เมืองหนาว ซึ่งได้รับผลกระทบแล้ว


1.       รับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกษตรกรเผชิญอยู่ อันเนื่องจากเกษตรกรต่างๆ มีทุนไม่เท่ากัน ส่งผลถึงการปรับตัว


2.       รัฐบาลควรมีข้อมูลกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีอย่างชัดเจน ทั้งเกษตรกรรายย่อย รายกลาง รายใหญ่ เช่น จำนวนที่เลิกอาชีพ สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีรายได้ลดลง เป็นต้น ด้วยเหตุที่ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญทั้งในฐานะข้อมูลประกอบการพิจารณาก่อนทำเอฟทีเอในอนาคต และแนวทางสร้างอาชีพทดแทนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงการกำหนดนโยบายสังคมด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือด้านต่างๆ


3.       จัดหาตลาดผลผลิตให้แก่เกษตรกร อาจผ่านระบบสหกรณ์ รวมถึงจัดตั้งระบบแลกเปลี่ยนชุมชน


4.       สนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการตลาดเพิ่มเติมจากความรู้ด้านการผลิต


5.       ให้การสนับเกษตรกรอินทรีย์และเกษตรพอเพียงอย่างจริงจัง


6.       ให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิต


7.       สนับสนุนให้เกษตรกรที่มีความพร้อมปรับตัวเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น หรือสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ธุรกิจบริการ


8.       ให้ความสำคัญต่อการจัดการอบรมทักษะอาชีพแก่เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรรับจ้าง รวมทั้งสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่แล้ว


9.       ในส่วนเกษตรผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อ และไหม ซึ่งผลกระทบยังไม่รุนแรงเท่ากับกลุ่มพืช รัฐบาลควรเร่งดำเนินการสำรวจสถานะของเกษตรกร รวมทั้งความต้องการการสนับสนุนด้านการปรับตัว


สำหรับมาตรการระยะยาว ควรสนับสนุนให้เกษตรกรที่มีความพร้อมเข้ารับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ส่งเสริมให้เกษตรกรมีกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนับสนุนให้มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการลดอุปทานส่วนเกินของการผลิต เช่น การโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก ให้ความสำคัญต่อการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีความทันสมัย สอดคล้องกัน เข่น สถิติเกษตรกร พื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มการเกษตรและสหกรณ์ และให้ความสำคัญต่อการทำงานเชิงภาคี โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


จากข้อมูลเหล่านี้ จึงตอกย้ำว่า การใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และการลดผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะด้านเกษตรยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดหน้าต้องเร่งแก้ไข นอกเหนือจากสร้างกฎกติกากำกับการเจรจาเอฟทีเอที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะที่หน่วยงานรัฐต้องทำอะไรที่มากกว่าการบอกกล่าวว่าวันนี้ไทยได้ดุลเพิ่มขึ้น หรือขาดดุลเท่าไหร่ เพราะมันเป็นเพียงปรากฏการณ์ ซึ่งไม่สามารถสะท้อนให้เห็นหนทางข้างหน้าได้อย่างแท้จริง ดังเช่นที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2551-2553 สินค้าส่งออกไทยที่ได้ประ โยชน์จากการเข้าสู่ตลาดประเทศที่จัดทำความตกลงเอฟทีเอ ในปัจจุบัน จะต้องเตรียมตัวแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งที่ได้ประโยชน์จากการจัดทำเอฟทีเอ กับประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทยเช่นกัน


 


อ้างอิง


โครงการศึกษาผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอของไทยที่มีต่อสาขาเกษตร  โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ปี 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net