Skip to main content
sharethis


เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

 


 


ปรากฎการณ์ของปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุด และโรงงานนอกนิคมในจังหวัดระยอง และผลพวงจากการติดตามตรวจสอบร้องเรียนของนายสุทธิ  อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก บอกกล่าวปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมแถบนี้ให้เรารับรู้อย่างจริงจัง จนต้องทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโรงงาน อย่างการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ออกมารับผิดชอบและหาเหตุยุติเรื่องการร้องเรียน


 


อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของกองทุนสิ่งแวดล้อม 2 กองทุน กำลังส่งผลแบ่งแยก ย่อยสลาย และสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เครือข่ายอนุกรักษ์สิ่งแวดล้อม


 


เพราะการให้เงินกองทุนกับชุมชน 25 ชุมชนในเทศบาลมาบตาพุด  และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง  เพื่อบอกกับสังคมว่าได้รับผิดชอบ ดูแลประชาชนชาวระยองแล้ว โรงงานสร้างประโยชน์กับชุมชน อยู่กับชุมชนอย่างไม่มีปัญหา  ทำให้ทุกกลุ่มที่เคยร่วมเรียกร้อง โยเฉพาะกับคุณสุทธิ  ต้องหันเหไปรับเงินกองทุนจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ตามที่ กนอ. เสนอมา และนั่นทำให้ปัญหาด้านมลพิษยังไม่ถูกแก้ไขอย่างถูกต้องและเป็นระบบ รวมถึงให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้


 


นายสุทธิ  จึงเปรียบเทียบกองทุนแบบนี้ว่า  "เป็นกองทุนเพื่อปิดปาก  ทำให้หยุดเรียกร้อง และถึงที่สุดคือกองทุนฌาปนกิจศพชาวระยองในท้ายที่สุด เพราะต้นตอของมลพิษยังไม่ถูกจัดการแก้ไขอย่างแท้จริง"


 


มาทำความรู้จัก 2 กองทุนที่ว่านี้ดูกันดีกว่า


1.กองทุนระยองแข็งแรง มีงบประมาณทั้งหมด ณ ปัจจุบัน 31 ล้านบาท


-  จาก  กนอ.  10  ล้านบาท


-   จาก ปตท.  10  ล้านบาท


-   จาก  ปูนซีเมนต์ SCG   10  ล้านบาท


-   BLCP  และโรงงานอื่นๆ  1  ล้านบาท


 


การบริหารกองทุน  จัดตั้งเป็นมูลนิธิระยองแข็งแรง  โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเป็นประธานมูลนิธิ และมีคณะกรรมการดูแลร่วมกัน


 


วัตถุประสงค์


-       เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ของชาวระยองทั้งจังหวัด


-      เฝ้าระวังอุบัติภัย


-       ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวระยอง


-       อื่นๆ


เดิมทีมีการคิดตั้งกองทุนระยองแข็งแรงมาตั้งแต่สมัยที่มีการแย่งชิงน้ำกันระหว่างโรงงานกับชาวสวนผลไม้เมื่อปี 2548 แต่ก็ยังไม่สามารถนำเงินจากโรงงานมาเข้ากองทุนได้เลย  จนกระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวเรื่องปัญหามลพิษของกลุ่มนายสุทธิ  อัชฌาศัย ทำให้เกิดการบริจาคเงินเข้ากองทุนดังกล่าวจำนวน  31 ล้านบาท  แต่ที่น่าสังเกตคือ ยังไม่มีใครทราบว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนระยองแข็งแรงนี้มีใครบ้าง ชื่ออะไรบ้าง มีการประชุมเดือนละกี่ครั้ง และ ใครเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ รวมถึงตรวจสอบความโปร่งใสของกองทุนนี้เลย  ชาวระยองไม่มีใครทราบเลย


 


นอกจากความอึมครึมในโครงสร้างคณะกรรมการบริหารแล้ว  สถานะของเงินกองทุนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบเช่นกันว่า  มีเงินเหลืออยู่ในกองทุนนี้กี่บาท ใช้ไปกับเรื่องอะไรบ้างแล้ว  ใช้ไปแล้วเกิดผลสำเร็จประการใดกับใครบ้าง ไม่มีการชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์รวมถึงไม่สามารถตรวจสอบได้  จึงเป็นความน่ากังขาถึงความโปร่งใสในการบริหารกองทุน รวมถึงชาวระยองจะได้อะไร  จริงหรือเปล่า...?


 


2.กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวมาบตาพุด มีงบประมาณทั้งหมด  31  ล้านบาท


-   จาก  กนอ.  10  ล้านบาท


-   จาก ปตท.  10  ล้านบาท


-   จาก  ปูนซีเมนต์ SCG   10  ล้านบาท


-   BLCP  และโรงงานอื่นๆ  1  ล้านบาท


การบริหารกองทุนจัดตั้งเป็นมูลนิธิพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมชาวมาบตาพุด  โดยมีชมรม คณะกรรมการชุมชน 25 ชุมชน มาบตาพุด เป็นผู้บริหาร และมีนายอิทธิพล  แจ่มแจ้ง ประธานชุมชนหนองแฟบ เป็นประธานมูลนิธิ


 


วัตถุประสงค์
                                 -       เพื่อดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวมาบตาพุด
                       -      อื่นๆ


เดิมทีก็มีการคิดก่อตั้งกองทุนนี้มาตั้งแต่ปี 2548 เช่นกัน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีเงินบริจาคลงสู่กองทุนนี้เลย  จนกระทั่งปี 2550  เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โดยนายสุทธิ  อัชฌาศัย  เคลื่อนไหวเรื่องปัญหามลพิษ ถึงมีเงินเข้ากองทุนนี้  มีการเปิดตัวกองทุนนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23  มกราคม  2551 ที่ผ่านมา  โดยมีคณะกรรมการชุมชน 25 ชุมชนมาบตาพุดเป็นผู้ดูแลจัดการ  การดำเนินงานยังไม่เห็นผล  เพราะเพิ่งได้เปิดกองทุนไปไม่นานนี้เอง  จึงยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่ได้ลงสู่การปฎิบัติตามวัตถุประสงค์ของกองทุน  แต่มีข้อสังเกตจากชุมชน เช่นเดียวกับกองทุนระยองแข็งแรง ถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมถึงมีส่วนร่วมจากทุกๆ คน ที่มาบตาพุดได้อย่างแท้จริง  นับว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย  ถึงความน่าเป็นห่วงว่า การใช้เงินกองทุนมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองแบบนี้นั้นจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดและชาวระยองได้อย่างแท้จริงหรือไม่  หรือจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ อันมิอาจจะแก้ไขได้อีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net