Skip to main content
sharethis

ทีมงานโลคัลทอล์คและสำนักข่าวประธรรม


 


การนัดรวมตัวชุมนุมกันของ พนักงาน บจก.โฮย่า กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เมื่อวัน 11, 13, 18 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา กับการยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อ พร้อมลงลายมือชื่อเกือบ 4 พันรายชื่อ เพื่อให้มีเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานต่อนายจ้าง และตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูนนั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ ที่แรงงานรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ เนื่องด้วยระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และนายทุนเอารัดเอาเปรียบ - กดขี่ขูดรีดแรงงานมาอย่างยาวนาน...


 


โฮย่า ติดอันดับบริษัททำกำไรสูงสุด!?



บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งบริษัทในเครือ บรรษัทโฮยา (
Hoya Corporation) ซึ่งมีสำนักงานแม่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทย มีบริษัทในเครือโฮยาอยู่ทั้งหมด 5 บริษัท ได้แก่ บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) - มี 3 โรงงาน, บจก.โฮยา ออพติกส์ (ประเทศไทย) มีโรงงานเดียว ทั้งสองแห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน และ บจก. ไทย โฮยา เลนส์ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ, บจก.โฮยา เลนส์ ไทยแลนด์ ตั้งอยู่ที่ปทุมธานี และอยุธยา แพลนท์ (Ayutthaty Plant) ตั้งอยู่ที่นิคมอุสาหกรรม ปางปะอิน อยุธยา



โฮยา มีสาขาอยู่ทั่วเกือบทุกภูมิภาค ทั้งในอเมริกา (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย) ยุโรป (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เนเธอร์แลนด์) และเอเชีย (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์) ทั้งนี้โฮย่า ดำเนินธุรกิจโดยมีบริษัทผลิตสินค้าหลักอยู่
3 ประเภท คือ (1) อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนดิสค์หน่วยความจำ อุปกรณ์เลเซอร์ (2) เลนส์สายตา คอนแท็คเลนส์ และ (3) แก้วคริสตอล เครื่องแก้วต่างๆ



โฮยา คอร์ปอร์เรชั่น จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ด้วยเงินทุนตั้งต้นมากกว่า 6 พันล้านเยน และเมื่อเดือนสิงหาคม ปีนี้เอง ที่โฮยาดึงเอา PENTAX เข้ามาร่วมกิจการด้วย ปัจจุบันมีจำนวนหุ้นประมาณ 85,979 หุ้น ในจำนวนผู้ถือรายใหญ่ประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคล - ธนาคาร กองทุนร่วมจากหลายบริษัท และบริษัทประกันภัย ทั้งสัญชาติญี่ปุ่น อเมริกันและยุโรป



ปัจจุบัน โฮยามีบริษัทเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ดำเนินการผลิตสินค้าจำนวนกว่า
59 ประเภท ในกว่า 29 ประเทศ มีอัตราการจ้างงานทั้งหมดทั่วโลก จำนวน 36,000 คน (กันยายน 2550) ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตเลนส์ อันดับต้นๆ ของโฮยาในเอเชีย และเป็นหนึ่งในศูนย์การผลิตที่ใหญ่ที่สุด (อีกสองประเทศ คือ จีน และฮังการี) เพื่อการส่งออกจำหน่ายทั่วโลก



ในปีที่ผ่าน โฮยา ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตัวเลขของยอดขายเพิ่มขึ้นมาก อยู่ที่
1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้ว่าโฮยาจะมีฐานการผลิตอย่างเข้มข้นในประเทศไทย แต่สำหรับแผนการในปีต่อๆ ไป โฮยาก็มุ่งที่จะขยายฐานการผลิตไปยังเวียดนามตอนใต้ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคให้มากขึ้นด้วย



ผลิตภัณฑ์ ที่โฮยาผลิตและส่งไปเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เราเห็นได้จากยี่ห้อดังๆ อาทิ
Apple, IBM, Toshiba, Samsung, Sharp และ Blomingdales ฯลฯ ในปี 2549 โฮยา ติดอันดับอยู่ใน 100 อันดับสูงสุดของบริษัทด้านเทคโนโลยี โดยนิตยสาร BusinessWeek และในเดือนเมษายนปีเดียวกัน นิตยสาร Forbes จัดให้โฮยาเป็นหนึ่งใน 2000 บรรษัทของโลก ที่มีความโดดเด่นในตลาดธุรกิจประเภทเดียวกันนี้ และมียอดขายที่เติบโต มีการสะสมเงินทุน และทำผลกำไรได้จำนวนมาก!


           


โฮย่า ในโลกความเป็นจริงของคนงาน



ในขณะที่ นายธาดา ธิมาเกตุ ตัวแทนพนักงานบริษัทโฮย่า กลาสดิสต์ และหนึ่งในทีมเจรจา เล่าว่า ข้อเรียกร้องของคนงานที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องมาจากนายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างมานาน แม้คนภายนอกมักจะมองว่าบริษัทโฮยาเป็นบริษัทที่สวยหรู - สวัสดิการดี เงินเดือนสูง แต่ในความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม การขึ้นเงินเดือน การให้โบนัส และสวัสดิการต่างๆ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นนับว่าน้อยมาก พนักงานที่ทำงานมานานหลายปี แต่พบว่าไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนเลย ซึ่งสวนทางกับภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น



นายธาดา กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมานายจ้างไม่เคยเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้เลย ทำให้เกิดความอัดอั้นในพนักงานเกือบทั้งหมดเป็นเวลายาวนานหลายปี ครั้งนี้ คนงานจึงออกมาเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับเพื่อแลกกับสิ่งที่เขาทุ่มเทลงไปในการทำงาน ที่ผ่านมาบริษัทประกอบกิจการมีผลกำไรมากมาย แต่ว่าในสัดส่วนที่พนักงานได้รับตอบแทนนั้นกลับคิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิด ซึ่งบริษัทโฮย่านั้นทำกำไรได้เป็นอันดับ
5 ของประเทศไทย



"การชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันของพนักงานจำนวนมากเท่านี้ คือประมาณ 4,000 คน ซึ่งมีคนเข้าร่วมชุมนุมและลงชื่อประมาณ 3,286 คน - เราต้องการอยากให้สังคมภายนอกได้รับรู้ว่าภายในโรงงานนั้นมีการเอารัดเอาเปรียบคนงานเนิ่นนานแล้ว แม้ว่าในวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา จะได้มีการเจรจาระหว่างตัวแทนของกลุ่มพนักงานกับทางบริษัท ซึ่งพนักงานเสนอข้อเรียกร้องไปทั้งหมด 13 ข้อแต่กลับได้รับการตอบรับมาเพียง 3 ข้อ ซึ่งทั้ง 3 ข้อนั้นเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทางบริษัทจะต้องจัดให้มีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานอยู่แล้ว" (ดูรายละเอียดท้ายรายงานพิเศษ)



"เรามีข้อเรียกร้องไปยังบริษัทว่า ระหว่างที่อยู่ในช่วงเวลาของการเจรจากันอยู่นั้น อย่าคิดไม่ซื่อกับพนักงานอีก เพราะในวันที่มีการเจรจาเกิดขึ้นคือวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ตัวแทนคนงานกำลังเจรจากับผู้บริหารอยู่นั้นได้มีการทำหนังสือฉบับหนึ่งออกมาเพื่อให้พนักงานลงรายชื่อ และเป็นสัญญาว่าจะไม่มีการเรียกร้องใด ๆ กับบริษัทอีก แต่ว่าพนักงานทั้งหมดไม่ได้มีการลงชื่อแต่อย่างใด นั่นแสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของบริษัทได้เป็นอย่างดีว่าไม่มีความจริงใจกับพนักงานเลย และยังมีข่าวลือเรื่องที่บริษัทจะย้ายโรงงาน ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นด้วย" นายธาดา กล่าว


 


โฮยา บรรษัททุนนิยมโลกาภิวัตน์



ด้าน อ.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์นั้นทำให้การลงทุนสามารถโยกย้ายข้ามประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว เงินทุนไหลไปมาได้อย่างสะดวกสบาย ทุนใช้จุดนี้มาเป็นเครื่องมือข่มขู่พนักงาน เช่น ในประเทศไทยหากมีแรงงานเรียกร้องมากๆ ก็มีการขู่ว่าอาจย้ายฐานไปลงทุนที่อินเดีย ที่ฝรั่งเศส อย่างตอนนี้เขาบอกว่าถ้าหากที่นี่มีการเรียกร้องมากก็จะย้ายการลงทุนไปที่เขมร แต่ว่าก็พึ่งกลับมาจากกัมพูชามา ซึ่งก็บอกแบบนี้เช่นกัน



รศ.สมเกียรติ ตั้งนะโม
อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทียงคืน กล่าวในประเด็นเดียวกันนี้ว่า การต่อสู้ของพนักงานโฮย่านั้น ขอเสนอว่าน่าจะติดต่อกับสหภาพแรงงานสากล หรือองค์กรระดับประเทศต่างๆ ให้ได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างแรงกดดันบริษัทโฮย่าจากภายนอกได้ เพราะการต่อสู้กันแต่ภายในนั้นเหนื่อยมาก จึงควรจะขอความช่วยเหลือมาจากข้างนอกร่วมด้วย เช่น องค์กรในด้านแรงงาน และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น



รศ.สมเกียรติ กล่าวเสริมต่อว่า กฎหมายหรือข้อสัญญาระหว่างประเทศ หรือคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็ล้วนแต่เห็นด้วยกับนายทุนทั้งนั้น กรณีการนัดหยุดงานก็เช่นเดียวกันก็จะมีมาตรการเพื่อประวิงให้นายทุนเกิดความเสียหายน้อยที่สุดเท่านั้น ฉะนั้นข้อเสนอต่อมาก็คือ เวลามีการต่อสู้กันเกิดขึ้นเมื่อใด นั้นเราควรที่จะกำหนดเวลาไว้เลยว่าบริษัทควรที่จะปฏิบัติเรื่องนี้ให้พนักงานภายในกี่วัน เพราะว่าหากพนักงานไม่ทำงาน ผู้ที่จะได้รับความเสียหายก็คือบริษัทนั่นเอง



นอกจากนี้ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยังสะท้อนไปถึงบทบาทของรัฐ และการผลักดันที่จะให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศไทยด้วย ซึ่ง อธิการบดีได้กล่าวว่า รัฐสวัสดิการ เปรียบเสมือนหมอนหนุนอันสุดท้ายที่เรา (ประชาชน) มี และเราไม่สามารถปฏิเสธมันได้เลย เพราะโดยปกติ สัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น ลูกจ้างมักเป็นผู้เสียเปรียบเสมอ แต่หากเราสามารถผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นได้จริง ย่อมเป็นหมอนหนุนที่เรามีเอาไว้เพื่อต่อสู้กับนายจ้างได้ เพราะอย่างน้อยเราก็มีบ้านอยู่และมีข้าวกิน
"



"ฉะนั้น นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะว่ามันทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของเราเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีรัฐสวัสดิการมันทำให้เราไม่กล้าต่อรอง เพราะว่าเราถอยไม่ได้ และทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในหรือนอกระบบ การต่อสู้ระยะยาวร่วมกัน คือ รัฐสวัสดิการ หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามาตรฐานขั้นต่ำทางสังคมก็ได้"



ในขณะที่ ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงแนวทางความคิดอยู่
2-3 ประเด็น คือ เรื่องที่หนึ่ง คือต่อคำถามที่ว่าทำไมชนชั้นกลางถึงไม่สนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นที่โฮย่า นี่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คิดว่าคนไทยมัวแต่คิดหรือแม้กระทั่งพี่น้องคนงานเองนั้นคิดว่าตนเองจะเข้ามาอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเพียงชั่วคราว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะฉะนั้นการเลิกจ้าง สวัสดิการต่างๆ ทุกคนจึงผลักไปให้อยู่ในความเมตตาปราณีของผู้ลงทุนไป เราจึงขาดความสนใจในส่วนนี้ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นจุดบอด เพราะตนคิดว่าตอนนี้บ้านเมืองเราเปลี่ยนแล้ว บ้านเราเหลือทางเลือกอยู่ ซึ่งผมคิดว่า ก็คือการเดินไปเป็นแรงงานรับจ้างผลิตของโรงงานไทย



ดร.อรรถจักร กล่าวต่ออีกว่า อีกส่วนหนึ่งคือเรากำลังอยู่ในภาวะขยายตัวของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในหลายๆ ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น แถบอาเซียน หรือในละตินอเมริกา ในความเปลี่ยนแปลงอันนี้ เราต้องถามว่าเราจะจัดเตรียมอะไรเพื่อสังคมบ้าง ตนคิดว่าสิ่งที่พนักงานโฮย่าทำอาจจะเป็นอิฐก้อนแรกๆ ในการถมทางว่าเราจะต้องสร้างระบบของการจ้างงานที่มีมาตรฐานขึ้นมา



"ดังนั้นยุทธศาสตร์ของเราก็คือเราต้องเสนอภาพต่อสังคมให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันมีความหมายยุทธศาสตร์อันนี้ คือ การเสนอข้อเรียกร้องให้มีมาตรฐานการทำงานที่ดีในสังคมไทย ยุทธวิธีคือการสามัคคีหลายฝ่าย สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ คนที่เห็นตรงกับเราใน 3,000 กว่าคนนั้นเราต้องเก็บไว้ให้ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการขยายความช่วยเหลือออกไปในสังคมให้มากขึ้น"


 


โฮยา ขู่ย้ายทุน ย้ายฐานการผลิต!?



การรวมตัวชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานในประเทศไทยต่อไป แม้ว่าจะมีความกดดันทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่จากการวิเคราะห์ของวิทยากร บุญเรือง ในบทความเรื่อง
"มุมมองทางเศรษฐกิจ จากกรณีการต่อสู้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน" (18 ธ.ค.50) ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า



"เป็นความเข้าใจผิดในเรื่องของมิติการลงทุน ที่มักจะมีคำขู่เสมอว่าหากมีการต่อรองกับนายจ้างเมื่อใด นายจ้างก็จะย้ายโรงงานหนีไปยังประเทศอื่น... ซึ่งหากติดตามข่าวสารและข้อมูลทางเศรษฐกิจ จะพบได้ว่าอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังคงมีอนาคตสดใสอยู่ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ"



"เพราะว่าอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนในการผลิตในสัดส่วนสูง (capital intensive) เช่น เครื่องจักรราคาแพง หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเน้นการใช้แรงงานในการผลิตในสัดส่วนสูงกว่าทุน (labor intensive)"



"การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ เพื่อไปยังประเทศที่มีแรงงานราคาถูก ในระยะสั้น เช่น เวียดนามหรือจีนนั้น จึงมีความเป็นไปได้ต่ำ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาคนี้ รวมถึงปัจจัยทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม กฎระเบียบข้อกฎหมาย ของประเทศไทยนั้นยังเอื้อประโยชน์ให้กับการลงทุนจากต่างชาติมากกว่าคู่แข่งรายอื่น ในบางกรณี" ฉะนั้นการต่อสู้ของแรงงานซึ่งเป็นพลังสำคัญในการผลิต นายทุนปฏิเสธไม่ได้ แรงงานจึงน่าจะมีกำลังใจในการต่อสู้ และพยายามรวมตัวกัน เพื่อเสริมสร้างอำนาจในการต่อรองต่อไป



หากมองย้อนกลับไป นับแต่ปี พ.ศ.2526 ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519) ซึ่งเน้นนโยบายส่งเสริมการกระจายอุตสาหกรรมออกสู่ภูมิภาค และยังถูกคาดหวังว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ จะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคด้วย



แต่เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ที่นิคมอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคแห่งนี้ แทบไม่เคยมีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นตัวแทนของคนงาน เพื่อเข้ามาเจรจาต่อรอง หรือเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่ดีขึ้นให้เหล่าคนงานมาก่อนเลย เพราะอาจด้วยปัจจัยกดดันจากนโยบายของรัฐ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ-โลก ที่ต้องการจูงใจให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ด้วยแรงงานราคาถูก เพื่อกดให้ต้นทุนต่ำลง เงินสวัสดิการ เงินค่าตอบแทนของแรงงานก็ต่ำแสนต่ำ



จนเมื่อกลางปี 2549 คนงานในบริษัท อี เอฟ ดี (ไทยแลนด์) จำกัด จ.ลำพูน ก็สามารถจัดตั้ง
"สหภาพแรงงานงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน)" ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งนับเป็น สหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือ ก็คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป สำหรับคนงานบริษัทโฮยาในช่วง 1-2 เดือนนี้


 


โฮยา บทสะท้อนถึงระบอบประชาธิปไตย



ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการและนักแปลอิสระ กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียใจ ในขณะนี้ที่มีการรวมตัวของพนักงานโรงงานโฮยาเป็นจำนวนมาก แต่ก็พบว่าในสื่อมวลชนกระแสหลักก็แทบไม่ค่อยนำเสนอข่าวเรื่องนี้เลย แล้วคนไทยส่วนใหญ่เองก็มองการเคลื่อนไหวของแรงงานไปในเชิงลบ จริงๆ แล้วในสังคมไทย ที่มันเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เรายังไม่มีสำนึกในเรื่องของระบอบประชาธิปไตยจริงๆ



"เมื่อเราพูดถึงระบอบประชาธิปไตยคืออะไร เรามองว่ามันคือ "การปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน" คำว่าประชาชนมันเป็นคำที่เป็นพหูพจน์ในตัวมันเอง คือหมายถึงคนจำนวนมาก แล้วคนจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ในโลกด้วย ก็คือ "แรงงาน" ประชาชนจำนวนมากที่สุดคือ แรงงาน!"



"ถ้าแรงงานไม่มีสิทธิใดๆ ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยนั้นมีรากฐาน ซึ่งสร้างมาจากแรงงาน ถ้าสังคมไม่มีสำนึกในส่วนนี้ ระบอบประชาธิปไตยที่เราคิดว่าเรามีอยู่นี้ มันไม่ใช่เลย มันเป็นแค่ระบอบของการปกครองของคนกลุ่มน้อยที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่แรงงานต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองอย่างมาก เพื่อเข้าไปกดดันให้ได้รัฐบาลที่เราต้องการด้วย"



"เพราะฉะนั้น จึงอยากจะบอกว่า การต่อสู้ของแรงงานโฮยาครั้งนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อพนักงานโฮยาเท่านั้น แต่ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วย แล้วมันมีความสำคัญมากกว่า การที่เราจะไปเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวานี้เสียอีก การหย่อนบัตรนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรเลย การต่อสู้ของพนักงานโฮยานี้ มีความหมายมากกว่าเสียอีก"



"แรงงาน คือรากฐานของระบอบประชาธิปไตย และสังคมที่ดี เท่าที่เราจะใฝ่ฝันกันได้ ถ้าไม่มีสิ่งนี้แล้ว เราก็คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงอุดมคติอะไรอีกเลย" ภัควดี กล่าวทิ้งท้าย



... ... ... ...   ... ... ...  ... ... ...


 


อนึ่ง สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันนัดหมายการเจรจาข้อเรียกร้องระหว่างตัวแทนพนักงาน 7 คนกับนายจ้าง (ชาวญี่ปุ่น) เป็นครั้งที่ 2 โดยการชุมนุมของพนักงาน บจก.โฮยา ในช่วงเย็นวันนั้น พบว่ามีจำนวนพนักงานเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากกว่าครั้งก่อน



และนับจากวันที่
11 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่พนักงานได้รวมตัวชุมนุม และยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อ จนกระทั่งมาถึงในวันที่ 13 ธันวาคม ที่ทีมเจรจาเข้าพบนายจ้างชาวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ซึ่งนายจ้างได้ยอมรับในข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และภายหลังการเจรจาครั้งที่ 2 ก็พบว่ามีความคืบหน้าของข้อเรียกร้องในบางข้อ - เวลาผ่านมาแล้วกว่า 1 สัปดาห์ ที่พนักงาน บจก.โฮยา ได้ร่วมแรงร่วมใจ รวมพลังกัน ลุกขึ้นมาต่อสู้ และเรียกร้องสิทธิ เพื่อความยุติธรรม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์



ในวันที่
26 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ก็จะมีการเจรจาอีกเป็นครั้งที่ 3 ก็ขอให้ทุกคนติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ พี่น้องแรงงานของเราต่อไป ...



 


 







 


บทสัมภาษณ์  ตัวแทนพนักบจก.โฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย)



พนักงานชาย
(อายุงาน 10 ปี): สิ่งที่พวกเราพนักงานโรงงานโฮยาต้องการ คือขอให้บริษัทมีการปรับปรุงเรื่องสวัสดิการในการทำงานของพนักงานให้ดีขึ้น และขอให้มีการปรับค่าแรงให้อย่างเหมาะสมด้วย อยากให้บริษัทคำนึงถึงปากท้องของพนักงานให้มากขึ้น โรงงานก่อตั้งมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่แทบจะไม่มีการปรับปรุงเรื่องสวัสดิการเลย



บริษัทไม่เคยแจ้งว่าบริษัททำกำไรได้เท่าไรต่อปี แต่มักจะประกาศอยู่บ่อยๆ ว่าบริษัทขาดทุนไปเท่าไร และก็ขอให้พนักงานช่วยกันลดต้นทุนการผลิตในด้านต่างๆ ไม่นานมานี้ จากเดิมทีพนักงานได้รับค่ายืนจากการทำงานวันละ
7 บาท แต่ประกาศลงวันที่ 15 ต.ค. 2550 ปรับลดค่ายืนเหลือเพียง 5 บาท ส่วนอีก 2 บาท บริษัทนำไปรวมไว้ในค่าทำงานล่วงเวลา ซึ่งประกาศบริษัทดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2550 เป็นต้นมา กระทบต่อค่าแรงของพนักงานอย่างมาก ต้องทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น



พนักงานที่ทำงานกันมาทั้งปี โบนัสอยู่ที่ประมาณ
1,000-2,000 บาท ถ้าเทียบกับโรงงานอื่น ก็ถือว่าได้น้อยมาก พนักงานเดือดร้อนมาโดยตลอด หลายคนมักมองว่ามาทำงานที่โฮยา นั้นหรูหรา ดูดี แต่สภาพของพนักงานในโรงงานจริงๆ แล้วทำงานเหนื่อยหนักมาก แลกมากับค่าตอบแทนซึ่งก็ไม่มากเลย



ไม่เพียงแค่นั้น บริษัทไม่เคยมีการประเมินสุขภาพของคนงานเลย ว่าก่อนมาทำงานและตอนนี้ สุขภาพของพนักงานเป็นอย่างไรบ้าง แม้ว่าจะมีการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ก็เป็นการตรวจทั่วไป ตรวจความดันต่างๆ แต่ตรวจสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่พนักงานต้องสัมผัสอยู่ทุกวัน นั้นไม่มีเลย มีพนักงานหลายคนที่ประสบปัญหาทางด้านสุขภาพจากสารเคมี



สำหรับพนักงานที่อยู่ใกล้กับนิคม อยู่บ้าน ก็พอมีเงินเหลืออยู่บ้างนิดหน่อย แต่สำหรับพนักงานจากต่างถิ่น ที่ต้องมาเช่าบ้านอยู่ที่นี่ พอถึงสิ้นเดือนมา บัญชีนี่ติดลบกันเลย รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย พนักงานเดือดร้อนมาก จึงต้องออกมารวมตัวกันและเรียกร้องสิทธิเบื้องต้นเหล่านี้



การรวมตัวกันของพนักงานโฮยาในครั้งนี้ ตนทราบดีว่าจะต้องมีการชุมนุมกันหลายครั้งแน่นอน เพราะนายจ้างคงไม่ยอมรับข้อเสนอง่ายๆ แต่ก็จะสู้กันต่อไป จะไม่ท้อถอย จะสู้ต่อไปเพื่อสวัสดิการของแรงงานที่ดีขึ้น ซึ่งในการทำให้พนักงานมีสวัสดิการที่ดี ย่อมเป็นการส่งเสริมคุณภาพในการทำงานของพนักงาน ซึ่งก็ส่งผลดีต่อโรงงาน ต่อบริษัท ไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมบริษัทมองไม่เห็นในจุดนี้



พนักงานหญิง
(อายุงาน 8 ปี) : การทำงานในโรงงานเป็นงานที่หนักมาก แต่หลายต่อหลายปีมาแล้วที่สวัสดิการก็ยังเหมือนเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนเลย ระยะมานี้ก็ยังมีการตัดลดลงอีก ทั้งๆ ที่สภาพเศรษฐกิจ ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าน้ำมัน ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น อีกทั้งคนจำนวนมาก มีภาระแบกรับมากมาย ต้องเลี้ยงดูลูก ค่าเล่าเรียนของลูก ต้องดูแลพ่อแม่ แต่ไม่มีการปรับอัตราค่าแรงของพนักงาน ปีหนึ่งๆ ขึ้นเงินเดือน 1-2 บาท เปรียบเทียบกับโรงงานอื่น ก็แตกต่างกันมาก



โฮยา ถือเป็นความฝันของคนงานนิคมฯ ลำพูน ใครได้มาอยู่โฮยานี่คิดกันว่า ครอบครัวไม่มีปัญหาแน่นอน แต่จริงๆ แล้ว สภาพการทำงาน ค่าจ้าง และความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานระดับบน กับระดับการผลิต (ในสายการผลิต) แตกต่างกันมาก มีการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานระดับล่าง เหมือนมีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะในโรงงาน



ทุกวันนี้ ที่บริษัทพยายามลดต้นทุนการผลิต จึงทำให้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ของพนักงานถูกลดลง มีให้ใช้อย่างจำกัด ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และความปลอดภัยของพนักงานด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผ้าปิดจมูกในระหว่างการทำงาน ที่ต้องทำตลอดทั้งวันก็ให้ใช้ได้เพียง
1 ชิ้น ถุงมือให้ใช้วันละ 2 คู่เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะต้องใช้มือสัมผัสกับสารเคมี กับเหล็กอยู่ทุกวัน แต่ให้ใช้เพียงวันละ 2 คู่เท่านั้น พนักงานจะพูดมากก็ไม่ได้ เพราะบริษัทประกาศว่าต้องลดต้นทุนการผลิต ลดคอสท์ ลดคอสท์



มีบ้างเช่นกัน ที่พนักงานต้องทำหนังสือยื่นขอในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว คิดว่าบริษัทต้องใส่ใจ และต้องเข้ามาดูแลตรงจุดนี้ ไม่ใช่ให้พนักงานต้องมาร้องขอ โดยขั้นตอนในการทำเรื่องขอก็มีความยุ่งยาก และใช้เวลานานมากๆ กว่าจะมีการอนุมัติ



พนักงานทุกคนก็จะร่วมมือร่วมใจ รวมพลังกันต่อสู้ต่อไป สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องสามัคคีกันไว้
!


 


สรุปความคืบหน้า การเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ยื่นต่อ บจก.โฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย)  หลังการเจรจาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม, ครั้งที่ 2 วันที่ 18 ธันวาคม 2550


 














































ข้อเรียกร้อง


ผลการเจรจา


1.ขอให้บริษัทฯ จ่ายโบนัสให้กับพนักงานครั้งละ 2.5 เท่าทุกคนโดยไม่มีการตัดเกรด


บริษัทรับไปพิจารณาและจะแจ้งผลในนัดเจรจาครั้งต่อไป


2.ขอให้บริษัทฯ เพิ่มค่าน้ำมันให้กับพนักงานทุกคนจากเดิมที่บริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันให้พนักงานวันละ 20 บาท เป็นวันละ 50 บาท


บริษัทเสนอให้เป็นวันละ 32 บาท จา พนักงานยังไม่ยอมรับข้อเสนอ ขอให้อยู่ที่วันละ


 35-40 บาท


3. ขอให้บริษัทฯ ปรับค่าจ้างของพนักงานรายวันและพนักงานรายเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิมคนละ 20% และให้ปรับค่าจ้างให้กับพนักงานขึ้นตามส่วนต่างของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด


ยังไม่สิ้นสุด


4. ขอให้บริษัทฯ ปรับสภาพการจ้างของพนักงานรายวันที่ทำงานติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไปให้เป็นพนักงานรายเดือน


บริษัทเสนอให้ปรับที่ 5 ปีขึ้นไป พนักงานไม่รับข้อเสนอ ยืนยันที่ 5 ปี


5. ขอให้บริษัทฯ ปรับเปลี่ยนเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงาน จากเดิมที่พนักงานสามารถใช้สิทธิ์ในสวัสดิการรักษาพยาบาลได้เพียงตนเองเท่านั้น ให้สามารถใช้ครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน เช่น พ่อ,แม่,สามี ภรรยา,บุตรและญาติร่วมสายโลหิต 3 คน


ยังไม่สิ้นสุด


6. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงที่จอดรถของพนักงานโดยการลาดซีเมนต์คอนกรีตบริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์และทำหลังคาลานจอดรถยนต์ ทั้งหมด


ผู้บริหารยอมรับข้อเสนอ


7. ขอให้บริษัทฯ เพิ่มวันหยุดตามประเพณีจากเดิม 13 วันเป็น 15 วันโดยให้มีวันหยุดสิ้นปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ถึง วันที่ 4 มกราคม ของทุกปี และวันหยุดสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึงวันที่16 เมษายน ของทุกปี


ยังไม่สิ้นสุด


8. ขอให้บริษัทฯ เพิ่มเงินสวัสดิการตามสภาพการทำงานของพนักงาน โดยงานที่มีลักษณะยืนทำงานให้มีค่ายืนจากเดิมที่เคยได้วันละ 7 บาท เป็นวันละ 10 บาท และงานที่มีลักษณะใช้สายตาในการทำงานให้มีค่าสายตาคนละ 10 บาทต่อวัน ค่าเสี่ยงภัยในการทำงานสำหรับพนักงานที่ทำงานกับสารเคมีอันตราย และการทำงานบนที่สูง คนละ 10 บาทต่อวัน


ยังไม่สิ้นสุด


9. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค


9.1 บริเวณที่เป็นจุดน้ำดื่มซึ่งแต่เดิมมีแต่ระบบน้ำเย็นขอให้เปลี่ยนเป็นเครื่องที่มระบบทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน


9.2 เปลี่ยนก๊อกน้ำที่เป็นแบบเซ็นต์เซอร์ให้เป็นแบบมือกด


9.3 ปรับปรุงสภาพโรงอาหารและเพิ่มจำนวน TV พร้อมติด UBC


ผู้บริหารยอมรับข้อเสนอ


10. ขอให้บริษัทฯ เพิ่มสวัสดิการในการลากิจของพนักงานทุกคนคนละ 5 วันต่อปี และให้มีวันลาพักร้อนสำหรับพนักงานทุกคนปีละ 15 วัน


ยังไม่สิ้นสุด


11. ขอให้มีสวัสดิการกับพนักงานที่มีอายุงานต่อเนื่อง ดังนี้


พนักงานที่ทำงานครบ 5ปี ได้รับเงิน 5,000 บาท


พนักงานที่ทำงานครบ 10ปี ได้รับเงิน 10,000 บาท


พนักงานที่ทำงานครบ 15ปี ได้รับเงิน 15,000 บาท


ยังไม่สิ้นสุด


12. ในบรรดาข้อตกลง/สวัสดิการอื่นใด และ/หรือ ประเพณี ปฏิบัติที่ไม่มีข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้คงสภาพการจ้างเหมือนเดิม


ยังไม่สิ้นสุด


13. ห้ามมิให้นายจ้างรังแก/เปลี่ยนแปลงหน้าที่ หรือ เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้


ผู้บริหารยอมรับข้อเสนอ


 


หมายเหตุ: อ่านข่าวและบทความประกอบเพิ่มเติม ได้ที่


สำนักข่าวประชาธรรม www.newspnn.com


หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทดอทคอม www.prachatai.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net